วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

การใช้อำนาจรือถอนอาคารที่ผิด พ.ร.บ.

คดีหมายเลขดำที่   อ.๑๔๗/๒๕๔๙
คดีหมายเลขแดงที่ อ.๕๕๒/๒๕๕๑
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลปกครองสูงสุด
วันที่   ๑๗    เดือน ธันวาคม  พุทธศักราช ๒๕๕๑
            นายสมพล หรือเพ็ญ  ทรัพย์สถิตย์        ผู้ฟ้องคดี
ระหว่าง
            เมืองพัทยา                                      ผู้ถูกฟ้องคดี           


เรื่อง    คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย (อุทธรณ์คำพิพากษา)

    ผู้ถูกฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๔/๒๕๔๘ หมายเลขแดงที่ ๘/๒๕๔๙ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองระยอง)
    คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้ปลูกสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นบ้านพักอาศัยโดยไม่มีเลขที่ อยู่ที่ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มาเป็นเวลานานกว่า ๒๐ ปี ต่อมา เจ้าพนักงานท้องถิ่นเมืองพัทยาได้มีคำสั่งเลขที่ ๑๘๖/๒๕๔๗  ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๗ ให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนอาคารดังกล่าวภายใน ๔๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ยื่นหนังสือลงวันที่
๑ ธันวาคม ๒๕๔๗ เพื่ออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดี ต่อมา ในวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๘ ในขณะที่เรื่องดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี
ได้เข้าไปรื้อกระเบื้องมุงหลังคาบ้านของผู้ฟ้องคดีออกบางส่วนพร้อมกับรื้อโครงหลังคาเหล็กและกระเบื้องมุงหลังคาโรงเก็บของของผู้ฟ้องคดีออก ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย
เป็นเงินทั้งสิ้น ๔๘,๓๘๐ บาท โดยคิดเป็นค่ากระเบื้องมุงหลังคาและค่าแรงมุงหลังคาเป็นเงิน ๔๖๐ บาท ค่าโครงหลังคาเหล็กโรงเก็บของและค่าแรงก่อสร้างเป็นเงิน ๓๗,๐๐๐ บาท ค่ากระเบื้องโรงเก็บของและค่าแรงมุงหลังคาโรงเก็บของเป็นเงิน ๑๐,๙๒๐ บาท
    ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน ๔๘,๓๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่า
จะชำระเสร็จ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการรื้อถอนอาคารไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา
    ศาลทำการไต่สวนคู่กรณีแล้ว จึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการรื้อถอนอาคารของผู้ฟ้องคดีไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
    ผู้ถูกฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่ง
ของศาลปกครองชั้นต้น
    ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า คำสั่งรื้อถอนอาคารที่ผู้ถูกฟ้องคดีนำไปปิดนั้นด้านหลังของคำสั่งมีข้อความที่เป็นการแจ้งสิทธิอุทธรณ์แก่ผู้ฟ้องคดีถูกต้องแล้ว ผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งรื้อถอนอาคารเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๗ แต่มายื่นอุทธรณ์คำสั่ง
ในเดือนธันวาคม ๒๕๔๗ จึงล่วงเลยกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ได้ส่งคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีไปให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทำการพิจารณา การที่ผู้ถูกฟ้องคดีเข้าทำการรื้อถอนอาคารของผู้ฟ้องคดีในวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๘ จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
    ศาลไต่สวนคู่กรณีและพยานได้ความดังนี้
    ผู้ฟ้องคดีให้ถ้อยคำว่า คำสั่งรื้อถอนอาคารเลขที่ ๑๘๖/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๗ ที่ผู้ฟ้องคดีส่งต่อศาลไม่ปรากฏข้อความใดๆ ที่เป็นการแจ้งสิทธิอุทธรณ์โดยคำสั่งดังกล่าวได้ถูกนำมาปิดที่หน้าบ้านของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นบ้านไม่มีเลขที่ ระบุชื่อ
นายเพ็ญ ทรัพย์สถิตย์ ผู้ฟ้องคดีไม่ทราบว่ามีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่เมื่อได้ปรึกษาเจ้าหน้าที่ศาล ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์ตามหนังสือลงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๗ และต่อมาในวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๘ เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้รื้อถอนอาคารบางส่วนออก โดยรื้อถอนกระเบื้องมุงหลังคาบ้านบางส่วน รื้อโครงหลังคาเหล็กกับกระเบื้องมุงหลังคา
โรงเก็บของออกทั้งหมด
    นายชูเกียรติ ฉิมบุญ พยาน ให้ถอยคำว่า พยานได้รับคำสั่งให้รื้อถอนอาคารเช่นเดียวกัน แต่คำสั่งที่ได้รับนั้นเป็นคนละคำสั่งกับที่ได้แจ้งผู้ฟ้องคดี คำสั่งที่พยานได้รับไม่มีคำเตือนด้านหลัง โดยปิดประกาศบริเวณหน้าบ้านของผู้ฟ้องคดีและหน้าบ้านของพยาน
ในวันเดียวกัน วันที่เจ้าหน้าที่ทำการรื้อถอนอาคารของผู้ฟ้องคดี พยานได้เห็นเจ้าหน้าที่รื้อหลังคากระเบื้องบ้านของผู้ฟ้องคดีออกไปเล็กน้อย ส่วนอาคารโรงเก็บของนั้นเจ้าหน้าที่ได้รื้อโครงหลังคาเหล็กโรงเก็บของพร้อมด้วยกระเบื้องหลังคาโรงเก็บของออกทั้งหมด
โรงเก็บของของผู้ฟ้องคดีมีขนาดกว้างประมาณ ๓.๕๐ เมตร ถึง ๔ เมตร ยาวประมาณ ๕ เมตร ถึง ๖ เมตร
    นายสมศักดิ์  นามประสิทธิ์ พยาน ให้ถ้อยคำว่า พยานได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคารเช่นเดียวกับผู้ฟ้องคดี ในวันที่เจ้าหน้าที่มารื้อถอนบ้านพักและโรงเก็บของของผู้ฟ้องคดีนั้น พยานเห็นเจ้าหน้าที่รื้อกระเบื้องบ้านพักอาศัยลงมา
บางส่วนประมาณ ๕ ถึง ๖ แผ่น และรื้ออาคารโรงเก็บของโดยรื้อหลังคากระเบื้องประมาณร้อยกว่าแผ่น และได้ใช้แก๊สตัดโครงเหล็กโรงเก็บของ อาคารโรงเก็บของกว้างประมาณ ๖ เมตร ยาวประมาณ ๑๒ เมตร วัสดุที่ถูกรื้อจากบ้านและโรงเก็บของที่เป็นกระเบื้องแตกทั้งหมด
ส่วนโครงหลังคาเหล็กใช้ได้เป็นบางส่วน คำสั่งรื้อถอนอาคารที่ปิดที่บ้านของพยานไม่ปรากฏข้อความด้านหลังเช่นเดียวกับของผู้ฟ้องคดี บ้านของพยานรวมอยู่ในบ้านจำนวน ๕ หลังตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าว
    นายเทวินทร์ บุตรดี ผู้ช่วยนิติกร งานนิติการ เมืองพัทยา ให้ถ้อยคำว่าเมื่อประมาณเดือนมกราคม ๒๕๔๘ พยานพร้อมด้วยนายธนาฤทธิ์ วิเศษสุวรรณ ผู้ช่วยนิติกร ได้ประสานงานกับนายตรวจเขตของเมืองพัทยาพาเจ้าหน้าที่ไปทำการรื้อถอนอาคารที่พิพาท ได้ทำการรื้อถอนบ้านของผู้ฟ้องคดีเป็นบางส่วนกับอาคารโรงเก็บของทั้งหมด พยานไม่ทราบขนาดความกว้างยาวของโรงเก็บของของผู้ฟ้องคดี
    นายมารุต ชลหาญ สถาปนิก ๕ สำนักการช่าง เมืองพัทยา ให้ถ้อยคำต่อศาลว่าเหตุที่คำสั่งรื้อถอนอาคารระบุว่าแจ้งความมายังนายเพ็ญ ทรัพย์สถิตย์ และระบุว่าก่อสร้างอาคารจำนวน ๕ หลังนั้น เนื่องจากขณะที่พยานตรวจพบการกระทำผิด พยานได้ถาม
ผู้อยู่อาศัยในบ้านพักทั้ง ๕ หลัง ได้ความว่าบ้านทั้ง ๕ หลัง มีนายเพ็ญ ทรัพย์สถิตย์ เป็นเจ้าของและปลูกไว้เพื่อให้เช่า จึงได้เสนอผู้บังคับบัญชาทำเรื่องเสนอเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ลงนามในคำสั่งรื้อถอนอาคาร พยานเป็นผู้นำคำสั่งรื้อถอนอาคารไปติดที่บ้านทั้ง ๕ หลัง รวมทั้งบ้านของผู้ฟ้องคดี พยานไม่ทราบว่าคำสั่งรื้อถอนอาคารที่พยานนำไปติดนั้น
ลายเซ็นของนายสิทธิภาพ เมืองคุ้ม ผู้อำนวยการสำนักการช่าง จะเซ็นด้วยหมึกหรือเป็นการถ่ายสำเนาเอกสาร แต่เห็นว่าคำสั่งรื้อถอนอาคารที่ออกจากกองช่างทุกฉบับไม่ว่าจะเป็นฉบับที่มีลายเซ็นที่แท้จริงหรือถ่ายเอกสารตามกฎหมายถือว่าเป็นต้นฉบับทั้งสิ้น
คำสั่งรื้อถอนอาคารที่พยานนำไปติดที่บ้านของผู้ฟ้องคดีกับอาคารอีก ๔ หลัง นั้น ทุกคำสั่งมีข้อความด้านหลังซึ่งระบุว่าเป็นคำเตือน พยานจำไม่ได้ว่าผู้อำนวยการกองช่างหรือบุคคลใดเป็นผู้รับรองสำเนาถูกต้องในคำสั่งรื้อถอนอาคารที่นำไปปิด อาคารโรงเก็บของ
มีความกว้าง ๔ เมตร ความยาว ๘ เมตร ถ้านำวัสดุที่ยังคงเหลือจากการรื้อถอนไปปลูกสร้างในลักษณะเดิมอาจใช้เงินประมาณ ๒๕,๐๐๐ บาท แต่ถ้าเป็นการสร้างใหม่ทั้งหมดน่าจะใช้เงินประมาณ ๔๐,๐๐๐ บาท ถึง ๕๐,๐๐๐ บาท
    นายพัทธ ศรีรัตน์ดา นิติกร ๕ กองวิชาการ เมืองพัทยา ให้ถ้อยคำว่า ตามคำสั่งรื้อถอนอาคารที่แจ้งไปยังผู้ฟ้องคดีนั้นปรากฏข้อความว่าให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนอาคารจำนวน ๕ หลัง กรณีของผู้ฟ้องคดีนี้ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมิได้แจ้งคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ
ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ คงกระทำเพียงนำคำสั่งให้รื้อถอนอาคารไปติด ณ อาคารที่สั่งให้รื้อถอนเท่านั้น ในเดือนมกราคม ๒๕๔๘ ผู้ฟ้องคดีได้นำคำสั่งรื้อถอนอาคารมาให้พยานดู พยานพบว่าคำสั่งดังกล่าวไม่มีด้านหลังซึ่งเป็นการแจ้งสิทธิอุทธรณ์ พยานจึงได้แจ้งให้
เจ้าหน้าที่ระงับการรื้อถอนอาคารไว้ก่อน หากไม่มีการแจ้งสิทธิอุทธรณ์ระยะเวลาในการอุทธรณ์จะขยายเป็นหนึ่งปี พยานเห็นว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นยังไม่มีอำนาจรื้อถอนอาคารของผู้ฟ้องคดี และคำสั่งรื้อถอนอาคารตามที่ปรากฏในสำนวนมีลักษณะเช่นเดียวกับเอกสารที่ผู้ฟ้องคดีนำไปให้พยานดูเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๘ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้นำคำสั่งรื้อถอนอาคารจำนวน ๕ ฉบับ มาให้พยานดู ทุกฉบับไม่มีข้อความด้านหลังทั้งสิ้น
    ศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว จึงมีคำสั่งงดเว้นไม่ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงในชั้นทำคำคัดค้านคำให้การและคำให้การเพิ่มเติม
    ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า พิเคราะห์จากพยานหลักฐานประกอบถ้อยคำพยานแล้ว เชื่อได้ว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเมืองพัทยาที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนอาคาร ซึ่งเจ้าหน้าที่นำไปปิด ณ อาคารที่สั่งให้รื้อถอนไม่มีข้อความ
ที่เป็นการแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์ ระยะเวลาสำหรับอุทธรณ์ตามมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งมีกำหนดสามสิบวันจึงต้องขยายเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งตามมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีปิดคำสั่งเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๗ และผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๗ จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องจัดส่งอุทธรณ์และเอกสารหลักฐาน
ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะต้องมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ แล้วแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยเหตุผลเป็นหนังสือไปยัง
ผู้อุทธรณ์และเจ้าพนักงานท้องถิ่น ในระหว่างอุทธรณ์ห้ามมิให้ผู้อุทธรณ์หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นกระทำการใดแก่อาคารอันเป็นมูลกรณีแห่งการอุทธรณ์ เว้นแต่อาคารนั้นจะเป็นภยันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินหรือมีลักษณะซึ่งไม่อาจรอได้ตามมาตรา ๕๒ วรรคสาม และวรรคหก แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ไม่ปรากฏว่าในระหว่างอุทธรณ์ อาคาร
ของผู้ฟ้องคดีจะเป็นภยันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินหรือมีลักษณะซึ่งไม่อาจรอได้ การที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนอาคารของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันเกิดจากการวินิจฉัยสั่งการที่ผิดพลาด เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหายแก่ทรัพย์สิน
จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปดังกล่าว ส่วนค่าเสียหายที่เป็นค่ากระเบื้อง ๖ แผ่น
แผ่นละ ๖๐ บาท ค่าแรง ๑๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๔๖๐ บาท ศาลเห็นว่าเป็นจำนวนค่าเสียหายที่เหมาะสมแล้ว แต่ค่าเสียหายจากการถูกรื้อถอนอาคารโรงเก็บของนั้น ศาลเชื่อว่าถ้านำวัสดุที่ยังเหลือจากการรื้อถอนไปปลูกสร้างในลักษณะเดิมจะใช้เงินประมาณ ๒๕,๐๐๐ บาท แต่ศาลเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายจากการที่ต้องนำโครงเหล็กที่ถูกรื้อถอนโดยการตัดด้วยแก๊สไปทำการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อไป ซึ่งเห็นสมควรกำหนด
ค่าซ่อมแซมโครงเหล็กในส่วนนี้ให้เป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายของอาคารโรงเก็บของจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท เมื่อรวมกับค่าเสียหายของบ้านพักจำนวน ๔๖๐ บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องชดใช้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีจำนวน ๓๐,๔๖๐ บาท
     ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีจำนวน ๓๐,๔๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จ ทั้งนี้ให้ชำระให้เสร็จสิ้นภายในสามสิบวันนับแต่คดีถึงที่สุด คืนค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนที่ผู้ฟ้องคดีชนะคดีให้แก่ผู้ฟ้องคดี และให้คำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อน
การพิพากษาสิ้นผลไปนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
    ผู้ถูกฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า เนื่องจากอาคารของผู้ฟ้องคดีตั้งอยู่บริเวณเนินเขาทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีมีโครงการที่จะก่อสร้างปรับปรุงผิวจราจร ค.ส.ล. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนใช้ประโยชน์ในการสัญจรร่วมกัน และมีความจำเป็นต้อง
ส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้าง เพื่อให้โครงการเสร็จสิ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรื้อถอนอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่จะถูกฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างได้ อันเป็นกรณีที่ถือได้ว่ามีลักษณะมิอาจรอได้ตามมาตรา ๕๒ วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. ๒๕๒๒ ขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้องคดีนี้เสีย
     ผู้ฟ้องคดีแก้อุทธรณ์ว่า อาคารของผู้ฟ้องคดีไม่ได้อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมแต่มีสภาพมั่นคงแข็งแรงและใช้งานต่อไปได้ อีกทั้งไม่เกิดภยันตรายต่อบุคคลทั่วไป หรือมีลักษณะถึงขนาดมิอาจรอการรื้อถอนได้แต่ประการใด จึงไม่ใช่กรณีที่ไม่อาจรอได้
ตามมาตรา ๕๒ วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ส่วนปัญหาในการส่งมอบพื้นที่แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างตามสัญญาจ้างนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีทราบอยู่ก่อนแล้วว่าเมื่อลงนามในสัญญาจ้างแล้วต้องส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้รับจ้าง จึงเป็นความผิดของ
ผู้ถูกฟ้องคดีเองที่ไม่ได้ดำเนินการรื้อถอนอาคารให้ชอบด้วยกฎหมายเสียก่อนที่จะลงนามในสัญญาดังกล่าว ขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

     ศาลปกครองสูงสุดออกนั่งพิจารณาคดี โดยได้รับฟังสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวน และคำชี้แจงด้วยวาจาประกอบคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดี
     ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดี กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว
     ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ปลูกสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นบ้านพักอาศัยโดยไม่มีเลขที่ อยู่ที่ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ต่อมา เจ้าพนักงานท้องถิ่นเมืองพัทยาได้นำคำสั่งเลขที่ ๑๘๖/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๗ ไปปิดไว้ที่อาคาร
ของผู้ฟ้องคดี โดยระบุข้อความว่าให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนอาคารดังกล่าวออกทั้งหมดภายใน ๔๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนี้ ซึ่งหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีได้รับทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสือลงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๗ เพื่ออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดี
โดยผู้ถูกฟ้องคดีได้รับหนังสืออุทธรณ์คำสั่งของผู้ฟ้องคดีในวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๗ แต่เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการยื่นอุทธรณ์เมื่อล่วงพ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว จึงไม่ได้ส่งหนังสืออุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีไปให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณา
ตามมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ หลังจากนั้นในวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๘ เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้เข้าไปรื้อกระเบื้องมุงหลังคาบ้านของผู้ฟ้องคดีออกบางส่วนพร้อมกับรื้อโครงหลังคาเหล็กและกระเบื้องมุงหลังคาโรงเก็บของ
ของผู้ฟ้องคดีออก ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน ๔๘,๓๘๐ บาท
    คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า การที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทำการรื้อถอนอาคารของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำละเมิดแก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ หากเป็นการกระทำละเมิดแก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีเพียงใด
    พิเคราะห์แล้วคดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า การที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทำการรื้อถอนอาคารของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๐ จะบัญญัติว่า
ในกรณีที่มีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการดังนี้ (๑) มีคำสั่ง
ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน ผู้ดำเนินการ ลูกจ้างหรือบริวารของบุคคลดังกล่าว ระงับการกระทำดังกล่าว (๒) มีคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าว และจัดให้มีเครื่องหมายแสดงการห้ามนั้น
ไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณดังกล่าว และ (๓) พิจารณามีคำสั่งตามมาตรา ๔๑ หรือมาตรา ๔๒ แล้วแต่กรณี ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีคำสั่ง
ตาม (๑) และมาตรา ๔๒ บัญญัติว่า ถ้าการกระทำตามมาตรา ๔๐ เป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ หรือเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา ๔๑ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร
ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และในกรณีที่ผู้รับคำสั่งไม่ทำการรื้อถอนอาคารตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ วรรคหนึ่ง (๒)
แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน จะบัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นในการดำเนินการหรือจัดให้มีการรื้อถอนอาคารดังกล่าวได้เองก็ตาม แต่การรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยผิดกฎหมายดังกล่าวก็ย่อมอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ กล่าวคือหากเจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารได้อุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น
ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กรณีก็ย่อมอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา ๕๒ วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่บัญญัติว่า ในระหว่างอุทธรณ์ ห้ามมิให้ผู้อุทธรณ์หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นกระทำการใด
แก่อาคารอันเป็นมูลกรณีแห่งการอุทธรณ์ เว้นแต่อาคารนั้นจะเป็นอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินหรือมีลักษณะซึ่งไม่อาจรอได้ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นว่า ในการแจ้งคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนอาคารดังกล่าว เจ้าหน้าที่
ของผู้ถูกฟ้องคดีมิได้แจ้งสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งแก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด กรณีเช่นนี้ จึงมีผลทำให้ระยะเวลาในการอุทธรณ์คำสั่งรื้อถอนอาคาร ซึ่งมีกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งตามมาตรา ๕๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ต้องขยายเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งตามมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙  ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีปิดคำสั่งเมื่อวันที่
๖ กรกฎาคม ๒๕๔๗ และผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๗ กรณีจึงถือว่าเป็นการยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีหน้าที่ต้องส่งอุทธรณ์ดังกล่าวไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์
เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ส่งอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีไปให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาตามมาตรา ๕๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ แต่ได้ให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าไปรื้อถอนอาคารของผู้ฟ้องคดี ทั้งที่เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ กรณีจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และแม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะอ้างในอุทธรณ์ว่า อาคารของผู้ฟ้องคดีตั้งอยู่บริเวณเนินเขาสาธารณประโยชน์ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีมีโครงการ
ที่จะก่อสร้างปรับปรุงผิวจราจร ค.ส.ล. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนใช้ประโยชน์ในการสัญจรร่วมกัน และมีความจำเป็นต้องส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้าง เพื่อให้โครงการเสร็จสิ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรื้อถอนอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างได้ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าว
ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีลักษณะซึ่งไม่อาจรอได้ตามมาตรา ๕๒ วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารแล้ว เห็นได้ว่ามีความมุ่งหมายโดยรวมในการควบคุมเกี่ยวกับความมั่นคง แข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข
การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรมและการอำนวยความสะดวกแก่การจราจรเป็นสำคัญ ดังนั้น อาคารที่มีลักษณะซึ่งไม่อาจรอได้ตามนัยมาตรา ๕๒ วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงย่อมหมายถึงอาคารที่มีการก่อสร้างโดยไม่มั่นคงแข็งแรง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยจากอัคคีภัย ปัญหาด้านสาธารณสุข ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจรโดยตรง ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้โดยมิได้ทำการรื้อถอนอาคารออกไปเป็นการเร่งด่วนแล้ว จะก่อให้เกิดภยันตรายต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของบุคคลหรือเป็นการไม่สะดวกแก่ประชาชนเท่านั้น ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ว่าหากไม่ทำการรื้อถอนอาคารออกไปอาจทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีถูกฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง จึงเป็นกรณีที่มีลักษณะซึ่งไม่อาจรอได้ตามมาตรา ๕๒
วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงฟังไม่ขึ้น
    คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการกระทำละเมิดแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่
                         พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โดยที่มาตรา ๔๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย
ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติ
ให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ดังนั้น
เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า การที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีใช้กำลังเข้าไปรื้อถอนอาคารของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำละเมิดแก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดี
ในฐานะหน่วยงานของรัฐจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่ค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีควรได้รับจะพึงมีได้เพียงใดนั้น เมื่อคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมิได้อุทธรณ์คัดค้าน
คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายจึงรับฟังเป็นที่ยุติตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน ๓๐,๔๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จ ภายในสามสิบวันนับแต่คดีถึงที่สุด และคืนค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนแห่งการชนะคดีให้แก่ผู้ฟ้องคดี นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย
     พิพากษายืน
      
นายนพดล  เฮงเจริญ                                                       ตุลาการเจ้าของสำนวน
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

นายหัสวุฒิ  วิฑิตวิริยกุล
ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด

นายวิชัย  ชื่นชมพูนุท
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

นายวิษณุ  วรัญญู
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

นายวรวิทย์  กังศศิเทียม
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

                            ตุลาการผู้แถลงคดี  :  นายประวิทย์  เอื้อนิรันดร์


1 ความคิดเห็น:

  1. ประเด็นที่น่าสนใจ คือ คำสั่งทางปกครอง ต้องแจ้งสิทธิอุทธรณ์ให้ผู้รับคำสั่งทราบด้วย สิทธิอุทธรณ์นั้นอาจเกิดโดยกฎหมายที่ใช้บังคับกับเรื่องนั้นๆเอง เช่น สิทธิอุทธณ์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร แต่ถ้ากฎหมายที่ใช้บังคับในเรื่องนั้นๆไม่ได้กำหนดในเรื่องสิทธิอุทธรณ์ไว้ สิทธิอุทธรณ์ก็จะเกิดตาม พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

    มาตรา 40 คำสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปได้ให้ระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่น คำอุทธรณ์หรือคำโต้แย้ง และระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งดังกล่าวไว้ด้วย

    ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้ระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งเริ่มนับใหม่ตั้งแต่ วันที่ได้รับแจ้งหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีการแจ้งใหม่และระยะเวลาดังกล่าวมีระยะเวลาสั้นกว่าหนึ่งปี ให้ขยาย เป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งทางปกครอง

    มาตรา 44 ภายใต้บังคับมาตรา 48 ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฎหมาย กำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้นโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว

    คำอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย

    การอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง เว้นแต่จะมีการสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง

    ดังนั้นในการออกคำสั่งทางปกครอง ต้องละเอียดรอบคอบ และต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามแบบและต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ไม่เช่นนั้น ผู้ออกคำสั่งอาจจะเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง และหากเข้าข่ายละเมิด ก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายด้วย และโดนตั้งกรรมการสอบวินัยอีกต่างหาก

    ตอบลบ