สตง.เข้ม-โรคสุนัขบ้าพุ่ง เผยสูงขึ้น2เท่าจากปีก่อน แก้ข้อห้าม'ท้องถิ่น'แล้ว ให้จัดซื้อวัคซีนป้องกันได้ |
มติชน ฉบับวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๑ |
'กรมควบคุมโรค'แจงพบเชื้อพิษสุนัขบ้าระบาดเพิ่ม 2 เท่า เทียบปีก่อน รับปัญหาส่วนหนึ่งมาจาก สตง.ทักท้วงอำนาจท้องถิ่นใช้งบ ชี้พบเชื้อสุนัขบ้าเพิ่ม2เท่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศเขตโรคระบาดพิษสุนัขบ้าไปแล้ว 13 จังหวัด ซึ่งถูกจัดเป็นพื้นที่สีแดง เพราะอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง คือ สุรินทร์ ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา น่าน บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ร้อยเอ็ด สงขลา ระยอง ตาก และศรีสะเกษ นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังโรคระบาดพิษสุนัขบ้าในอีก 42 จังหวัด ซึ่งจัดให้อยู่ในพื้นที่สีเหลือง ปรากฏว่าในสังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลถึงปัญหาการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่ามีการทักท้วงการใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เนื่องจากไม่ใช่ภารกิจของท้องถิ่น และหากดำเนินการจะขัดต่อกฎหมาย จนส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักการซื้อวัคซีนฉีดสุนัขเพื่อป้องกันโรค จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของโรคพิษสุนัขบ้า นสพ.พรพิทักษ์ พันธ์หล้า หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เห็นได้จากช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ปี 2561 พบหัวสุนัขที่มีเชื้อบวก หรือเชื้อพิษสุนัขบ้าสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2560 ถึง 2 เท่า อย่างปี 2560 เฉพาะเดือนมกราคมพบหัวสุนัขเชื้อบวก จำนวน 81 ตัว ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ปี 2560 พบหัวสุนัขเชื้อบวก 79 ตัว ส่วนปี 2561 ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์พบหัวสุนัขมีเชื้อบวก จำนวน 155 ตัว และ 160 ตัว ตามลำดับ ซึ่งจำนวนที่เพิ่มขึ้นแสดงว่ามีการค้นหามากขึ้น ประกอบกับปัญหาเรื่องการฉีดวัคซีนในสุนัขมีข้อจำกัดทำให้พบมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ จะประกาศว่าพื้นที่ไหนเสี่ยงน้อยเสี่ยงสูง ซึ่งหากเสี่ยงน้อยก็จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนในสัตว์เพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ทุก 3 ปี แต่หากประเทศไหนเสี่ยงสูงต้องฉีดวัคซีนทุกปี ซึ่งประเทศไทยจัดในกลุ่มเสี่ยงสูง แต่ที่ผ่านมา ก็ติดขัดเรื่องวัคซีน รับสตง.ติงใช้งบมีผลพบเพิ่ม ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ข้อจำกัดในการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าของท้องถิ่น เพราะถูก สตง.ทักท้วงห้ามใช้งบฯ ในการสั่งซื้อวัคซีนเพราะไม่ใช่ภารกิจ นสพ.พรพิทักษ์ กล่าวว่า เดิม สตง.มองเช่นนั้นจริง อาจเพราะไม่เข้าใจตัวกฎหมายที่มุ่งเน้นให้หลายภาคส่วนช่วยกันขจัดปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไป โดยเข้าใจว่าเป็นการทำงานซ้ำซ้อน อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในปี 2561 สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย ได้ผลักดันจนมีประกาศให้ท้องถิ่นสามารถซื้อวัคซีนมาฉีดในสุนัข เพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ แม้ขณะนี้จะผ่อนคลายลงได้ แต่ก็ยังต้องสร้างความตระหนักให้กับบุคลากรในพื้นที่ที่ยังไม่เข้าใจ และยังมองว่าไม่ใช่หน้าที่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนในการช่วยเหลือกัน ไม่ใช่แค่ในส่วนของการฉีดวัคซีนในสุนัขหรือแมวเท่านั้น แต่ในส่วนของคนที่ถูกกัดก็ต้องฉีดวัคซีนให้ครบด้วย เพราะข้อมูลปี 2560 พบเสียชีวิตไป 11 ราย นสพ.พรพิทักษ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ คนเลี้ยงสุนัขก็ต้องมีความรับผิดชอบ ต้องเลี้ยงแบบปิดและพาไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าด้วย เนื่องจากข้อมูลที่ผ่านมา พบว่าจากการตรวจสอบหัวสุนัขที่มีเชื้อบวก พบว่าเป็นสุนัขเลี้ยงถึงร้อยละ 54.87 เป็นสุนัขจรจัดร้อยละ 35.8 นอกนั้นไม่ทราบประวัติ นสพ.พรพิทักษ์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ก็มีความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เมื่อพบพื้นที่ไหนเสี่ยงก็จะมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไปเคาะประตูบ้านต่างๆ เพื่อค้นหาผู้สัมผัสโรคและสัตว์เลี้ยงมารับวัคซีน ที่สำคัญรัฐบาลยังมีคำสั่งสำนัก นายกฯที่ 214/2559 มีการตั้งอนุกรรมการต่างๆ ในการทำงานตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี โดยมีพระปณิธานให้ประเทศไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2563 ตามพันธสัญญากับองค์การอนามัยโลก สถ.แจงแนวทางป้องกันระบาด ด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สถ.ได้ทำแผนซักซ้อมแนวทางในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อแจ้งเวียนแนวทางการปฏิบัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รับทราบแล้ว เพื่อดำเนินการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งสุนัขที่มีเจ้าของและสุนัขจรจัด ถือเป็นอำนาจหน้าที่เพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยให้แนวทางที่ชัดเจนพร้อมจัดสรรงบประมาณ เพื่อฉีดวัคซีนและงบสำรวจจำนวนสุนัขในพื้นที่รับผิดชอบตัวละ 3 บาท ให้ อปท.ตั้งแต่ปีงบประมาณปี 2560-2563 เพื่อป้องกันปัญหาจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงเรียกเงินคืนหลังจากมีการประกาศเขตโรคระบาดสัตว์จากกรมปศุสัตว์ "ขณะนี้ สถ.ได้สนับสนุนให้ อปท.ทั่วประเทศ ให้ความสนใจศึกษาแบบอย่างแนวทางการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของเทศบาลนครรังสิต จ.ปทุมธานี หลังจากมีการจัดสร้างศูนย์ดูแลสุนัขจรจัดต้นแบบ ยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ อปท.บางแห่งอาจมีปัญหาอุปสรรคจากงบประมาณและการจัดหาสถานที่ที่เหมาะสม แต่ระยะต่อไปเชื่อว่า อปท.ทั่วประเทศจะมีแนวโน้มในการพัฒนาที่ดีมากขึ้น เพื่อร่วมกันลดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความสุข สำหรับการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อนำไปบังคับใช้ทุกฝ่ายก็ต้องหารือเพื่อความเหมาะสม แต่กฎหมายที่มีใช้ปกติ เช่น พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ก็น่าจะเพียงพอในการทำงานของเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาภายหลังมีการร้องเรียนเหตุรำคาญจากสุนัขจรจัดในแหล่งชุมชน" นายสุทธิพงษ์กล่าว เสียชีวิตแล้ว2-สัตว์ติดเชื้อ251 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของไทยขณะนี้ยังเป็นที่น่ากังวลอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมายังมีการตรวจพบสุนัขที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง กรมปศุสัตว์รายงานว่า ปี 2561 เพียง 2 เดือน พบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้ว 2 ราย ขณะนี้มีการตรวจพบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 251 ตัว ซึ่งสูงกว่าระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 1.5 เท่า โดยพบว่าสุนัขเป็นสัตว์ที่ติดเชื้อมากที่สุดกว่าร้อยละ 90 นอกนั้นพบในแมวและโค ซึ่งมีรายงานการตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในโคเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์รายงานว่า ปี 2561 จังหวัดที่พบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ยโสธร กาฬสินธุ์ และอำนาจเจริญ ตามลำดับ โดยสาเหตุที่ทำให้ยังมีสัตว์ติดเชื้อและมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น 1.ไม่นำสุนัข แมวไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 2.ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกไปนอกบ้าน ทำให้เสี่ยงต่อการถูกกัดจากสัตว์ที่มีเชื้อ 3.ขาดความตระหนักถึงการป้องกันการติดเชื้อ เช่น เมื่อถูกลูกสุนัข ลูกแมวกัด ข่วน เลีย ก็มักจะคิดว่าไม่เสี่ยง และไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค "ได้สั่งการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขตและสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ให้เพิ่มการประชาสัมพันธ์ความรู้ที่จำเป็นแก่ประชาชน และเร่งค้นหาติดตามผู้ที่มีประวัติสัมผัสโรคทุกรายให้มารับวัคซีนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมทั้งกำชับ อสม.ให้เคาะประตูบ้านเพื่อเพิ่มค้นหาและติดตามผู้ถูกกัดหรือสัมผัสโรคมารับวัคซีนให้ครบทุกราย สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ให้ช่วยกันสอดส่องสัตว์แปลกหน้าที่มีอาการดุร้ายและแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์โดยเร่งด่วน" นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า นครพนมกักสุนัข3พันตัวดูแล ที่ด่านกักกันสัตว์นครพนม บ้านภูเขาทอง ต.หนองญาติ อ.เมือง จ.นครพนม นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ลงพื้นที่เพื่อตรวจดูแลความพร้อมในการเลี้ยงดูสุนัขที่รับมาจาก จ.ร้อยเอ็ด หลังจากพบว่าทางด้านเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์นครพนมได้มีการรับสุนัขกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จำนวนกว่า 3,000 ตัว จากพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด มาดูแลตรวจรักษาไว้ที่ศูนย์ฟื้นฟูสุนัขด่านกักกันสัตว์นครพนม เนื่องจากพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ดไม่มีศูนย์ดูแล นายณรงค์ รัตนตรัยวงศ์ หัวหน้าด่านกักกันสัตว์นครพนม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 ได้ตัดหัวสุนัขที่ล้มตายโดยไม่ทราบสาเหตุจำนวน 5 หัว ส่งไปตรวจยังศูนย์วิจัยการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จ.ขอนแก่น ผลออกมาเป็นลบ ทำให้มั่นใจได้ว่าสุนัขที่ตายไม่ได้ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้าตามที่เข้าใจกัน ประกอบกับทางด่านกักกันมีสัตวแพทย์ประจำการถึง 2 คน ที่หมั่นตรวจสุนัขในสถานพักฟื้นประจำ ให้ความมั่นใจแก่ประชาชนได้ว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าแน่นอน ชม.ลุยฉีดวัคซีน-ประชาสัมพันธ์ ที่ จ.เชียงใหม่ นายรุ่งปรีชา ปั๋นแก้ว นายกเทศมนตรีตำบลป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เผยว่า สำนักสาธารณสุขเทศบาล ได้ออกสำรวจสุนัขในพื้นที่ เพื่อจัดทำโครงการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ช่วงมีนาคมนี้ ปีที่แล้วมีผู้ลงทะเบียนนำสุนัขมาฉีดวัคซีนกว่า 200-300 ตัว ส่วนใหญ่เป็นสุนัขที่มีเจ้าของ ไม่ใช่สุนัขจรจัด ก่อนรายงานให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด เพื่อจัดซื้อจัดจ้างวัคซีนดังกล่าว ทั้งนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อนุญาตให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามความเป็นจริง เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตีความและมีความเห็นว่าการป้องกันและควบคุมโรคดังกล่าวตาม พระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 เป็นอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น ตามประกาศของกรมปศุสัตว์ ซึ่งสามารถใช้งบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการได้ และเบิกจ่ายได้ตามปกติ "ช่วงมีนาคมถึงพฤษภาคม เป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูแล้ง และมีอากาศร้อนจัด จำเป็นต้องฉีดวัคซีนสุนัข เพื่อป้องกันแพร่ระบาดโรคดังกล่าว เนื่องจากแต่ละปี มีผู้ถูกสุนัขกัดจนได้รับบาดเจ็บหลายสิบราย จึงได้ประสานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน และกลุ่มแม่บ้าน เพื่อรณรงค์ป้องกันประกาศเสียงตามสาย พร้อมลงพื้นที่ฉีดวัคซีนแก่สัตว์เลี้ยงในชุมชนรวม 14 หมู่บ้าน เนื่องจากบางส่วนเป็นประชากรแฝงที่มาอาศัย และทำงาน กว่า 10,000 คน ซึ่งมีสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน ซึ่งผู้มาใช้บริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งนี้ เจ้าของสุนัขบางส่วนได้นำสุนัขไปฉีดวัคซีนเอง โดยไม่ได้มาลงทะเบียนใช้บริการดังกล่าว" แนะอปท.สำรวจจำนวนสุนัข ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ นสพ.สาโรช จันทร์ลาด หัวหน้าฝ่ายสงเสริมสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้ประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ โรคพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศ 55 จังหวัด ภาคอีสานระบาดมากที่สุดมีพื้นที่ระบาดขั้นวิกฤตพื้นที่สีแดง 13 จังหวัด สำหรับ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นวิกฤตที่ อ.หัวหิน และ อ.ปราณบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เคยเกิดโรคแล้ว และต่อมาพบว่ามีการเกิดโรคซ้ำซาก ส่วน อ.สามร้อยยอด มีการประกาศเป็นพื้นที่สีเหลือง ส่วนอำเภออื่นยังไม่มีการประกาศเขตโรคระบาดแต่อย่างใด ยอมรับว่าปัญหาการระบาดของโรคส่วนหนึ่งเกิดจาก อปท.บางแห่งไม่ได้ให้ความสนใจในการจัดซื้อวัคซีนป้องกัน เช่น สำรวจสุนัขมี 3,000 ตัว แต่ซื้อวัคซีนเพียง 500 ชุด ทั้งนี้ อ.หัวหิน อยู่ระหว่างการสำรวจจำนวนสุนัขทั้งระบบ ส่วน อ.ปราณบุรี ยกเว้น ต.ปากน้ำปราณ มีสุนัขมากกว่า 4,000 ตัว "ขณะที่สำนักงานปศุสัตว์ทำได้เพียงทำหนังสือแจ้งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดใช้อำนาจสั่งการ ทั้งนี้การจัดซื้อวัคซีนของ อปท.จะต้องซื้อเผื่อสุนัขที่ไม่มีเจ้าของในแหล่งสาธารณะ เนื่องจากวัคซีนของกรมปศุสัตว์มีไม่มากจะนำไปใช้ได้ในช่วงที่พบการระบาดเพื่อยับยั้ง รวมทั้งออกหน่วยเคลื่อนที่เพื่อฉีดซ้ำในจุดบอด ส่วน อปท. หากจะแก้ไขปัญหาจริงจึงจะต้องออกสำรวจจำนวนสุนัขทั้งระบบ จากนั้นซื้อวัคซีนให้ครบและบวกเพิ่มไปอีก 10% เผื่อไว้สำหรับลูกสุนัขหรือแมวที่เกิดใหม่ ยอมรับว่าอุปสรรคในการทำงานเกิดจาก อปท.บางแห่งไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร เช่นเดียวกับเจ้าของสัตว์ ทำให้ปัจจุบันการระบาดของโรคกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ และขอย้ำว่าหาก อปท.แห่งใดจัดซื้อวัคซีนปลอมหรือด้อยคุณภาพหากพบว่ามีการทุจริตจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด" นสพ. สาโรชกล่าว 'หัวหิน'เร่งแก้รับไฮซีซั่น นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน กล่าวว่า ขณะนี้เทศบาลกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอเร่งทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา หลังจากมีการประกาศเขตโรคระบาดเต็มพื้นที่ ขณะที่เดิมในเขตเทศบาลพบโรคพิษสุนัขบ้าครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนธันวาคม 2560 และได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเข้าสู่สภาวะปกติแล้วจนถึงปัจจุบันไม่มีการระบาดเพิ่มแต่อย่างใด แต่เมื่อมีการประกาศเขตโรคระบาดแล้วเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกฝ่ายจะบูรณาการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน สร้างความตระหนักให้กับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ขอยืนยันว่าเทศบาลสนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่ตามนโยบายแก้ไขปัญหาเร่วงด่วนของจังหวัด เนื่องจากหัวหินเป็นเมืองท่องเที่ยวและขณะนี้อยู่ในช่วงไฮซีซั่น ขณะที่ปัจจุบันศูนย์รักษ์สุนัขหัวหินต้องดูแลสุนัขมากกว่า 1,000 ตัว ซึ่งเกินปริมาณของสถานที่ ดังนั้น เทศบาลจะต้องใช้งบประมาณจัดหาสถานที่เพื่อดูแลสุนัขจรจัดเพิ่มเติมต่อไป ที่ จ.สงขลา นพ.อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ข้อควรปฏิบัติของประชาชนนั้น หากถูกสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นกัดหรือข่วน หรือกระทำด้วยประการใดให้เกิดบาดแผล ไม่ว่าสัตว์นั้นจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาแล้วก็ตาม ต้องล้างแผลฟอกสบู่อย่างน้อย 15 นาที เช็ดแผลให้แห้งใส่ยาเบตาดีนแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที "สำหรับจังหวัดสงขลาปี 2560 ส่งหัวสัตว์ตรวจรวม 135 หัว ผลพบเชื้อพิษสุนัขบ้าจำนวน 65 หัว คิดเป็นร้อยละ 48.15 โดยพบเชื้อพิษสุนัขบ้าในหัวสัตว์ที่ส่งตรวจทุกอำเภอ จึงต้องเร่งรณรงค์สร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า" นพ.อุทิศศักดิ์กล่าว |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2561
สตง.เข้ม-โรคสุนัขบ้าพุ่ง เผยสูงขึ้น2เท่าจากปีก่อน แก้ข้อห้าม'ท้องถิ่น'แล้ว ให้จัดซื้อวัคซีนป้องกันได้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น