สายตรงท้องถิ่น: ปฏิรูปท้องถิ่นไทย เราจะปฏิรูปอะไร เพื่อใคร? |
สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ |
ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม ผมได้รับเชิญจากคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อไปบรรยายเรื่อง "ปฏิรูปท้องถิ่นไทย: ประชาชนอยากได้อะไร" ตามโครงการสัมมนาทางวิชาการและรับฟังความคิดเห็น ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี (26 กุมภาพันธ์)ที่จังหวัดอุดรธานี (5 มีนาคม) และจังหวัดระยอง (19 มีนาคม) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น จากผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ รวมทั้งรับฟังความต้องการของประชาชนในการปฏิรูปท้องถิ่นคืออะไร เพื่อจะประมวลหาแนวทางในการปฏิรูปท้องถิ่นไทยให้เหมาะสม ผมจึงเห็นด้วยว่า การไปรับฟังความคิดเห็นของผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ เพื่อรับฟังข้อเสนอในการนำมาหาแนวทางปฏิรูปท้องถิ่นให้ตรงตามความต้องการและตรงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญในการนำผลข้อมูลจากการรับฟังไปเป็นแนวทางการปฏิรูปท้องถิ่นให้เหมาะสมต่อไป และเห็นด้วยอย่างยิ่งกับหลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ของโครงการสัมมนาทางวิชาการและรับฟังความคิดเห็น เรื่อง "ปฏิรูปท้องถิ่นไทย : ประชาชนอยากได้อะไร" ที่กำหนดไว้ ส่วนการตั้งชื่อเรื่องว่า "ปฏิรูปท้องถิ่นไทย : ประชาชนอยากได้อะไร" ผมเห็นว่า จะไม่ค่อยตรงกับหลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ ที่กำหนดไว้ตามที่กล่าวถึง โดยเมื่อผมได้อ่านและพิจารณาเจตนารมณ์ในหลักการและเหตุผล ที่เขียนไว้ระบุถึงปัญหาและอุปสรรคในกระบวนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายๆ เรื่องจึงจำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปท้องถิ่นใหม่และต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้บริหารท้องถิ่นสมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และนักวิชาการว่า "จะเสนอการปฏิรูปท้องถิ่นอย่างไรจึงจะเหมาะสม" ซึ่งจะตรงกับวัตถุประสงค์ที่เขียนไว้ แต่การตั้งชื่อว่า "ปฏิรูปท้องถิ่นไทย : ประชาชนอยากได้อะไร" คำว่า "อยากได้อะไร" จะทำให้มีความสับสน และอาจจะกลายเป็นอารมณ์ ความรู้สึกที่ต้องการอยากได้มากกว่าข้อเสนอการปฏิรูปท้องถิ่น ผมจึงหวั่นเกรงว่า "ผู้คนที่มาร่วมประชุมสัมมนา"ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ "ประชาชน" อย่างที่ตั้งหัวข้อเรื่องไว้ แต่พบว่าเป็นระดับผู้นำ กับ ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และข้าราชการส่วนท้องถิ่น จึงทำให้ชื่อที่ตั้งไว้ ผมเข้าใจว่าจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ที่ต้องการสัมมนา ผมฟันธงว่า การสัมมนาเป็นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำข้อมูลไป "ปฏิรูปท้องถิ่นไทย" ว่าจะปฏิรูปอะไร อย่างไรบ้างให้เหมาะสม โดยให้ผู้นำท้องถิ่น บุคลากรท้องถิ่นตามกลุ่มเป้าหมายได้เสนอความคิดเห็น เพื่อคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นจะได้นำไปประมวลเพื่อปฏิรูปท้องถิ่น ทั้งในแง่โครงสร้าง รูปแบบ อำนาจหน้าที่ งบประมาณรายได้ รวมทั้งพิจารณาร่างกฎหมายให้เหมาะสม ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ว่า ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะเสนอให้ทำอย่างไร หรือเป็นอย่างไร ในฐานะที่ถูกเชิญให้เป็นวิทยากร ผมคงจะพูดหรือบรรยายลำบากมาก ถ้าหัวข้อเรื่องเป็น "ปฏิรูปท้องถิ่นไทย:ประชาชนอยากได้อะไร" แต่ถ้าจะปรับเปลี่ยนให้เป็นหัวข้อเรื่องว่า"ปฏิรูปท้องถิ่นไทย : เราจะปฏิรูปอะไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์" หรืออาจจะเป็น "ปฏิรูปท้องถิ่นอย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์" ก็จะพูดได้ง่ายและตรงกับหลักการและเหตุผล รวมทั้งวัตถุประสงค์ที่วางไว้ข้างต้น นอกจากนี้แล้วก็สามารถยกตัวอย่าง หรือกรณีศึกษา (Case Study) จากต่างประเทศที่เขาปฏิรูปท้องถิ่นแล้วประสบความสำเร็จ และสามารถใช้ฐานองค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่อเป็นฐานการพัฒนาประเทศได้จนประสบความสำเร็จ ดังนั้น การปฏิรูปท้องถิ่นไทยต้องปฏิรูปท้องถิ่นเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพ โดยมีความรู้ความสามารถที่เพียงพอต่อการจัดบริการสาธารณะที่มีคุณภาพและมีความเป็นนวัตกรรมท้องถิ่นที่มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่สามารถเป็นแบบอย่างหรือต้นแบบ (Best Practice) ได้เป็นอย่างดี จึงกล่าวได้ว่า "การปฏิรูปท้องถิ่นไทย" จึงเป็นการทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งในแง่ของขนาด รายได้ งบประมาณ(ภาษีอากร ค่าธรรมเนียม) สัดส่วนประชากรต่อหน่วยท้องถิ่น อำนาจหน้าที่ การบริหารจัดการที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ และแนวทางการบริหารที่มีหลักธรรมาภิบาลท้องถิ่น เป็นต้น ผมจึงเข้าใจว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ต้องยอมรับถึงจุดอ่อนของตนเองที่มีอยู่หลายประการเพื่อจะก้าวต่อไปในการปฏิรูปท้องถิ่นว่าจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้างสำหรับรัฐบาลและส่วนราชการก็ต้องยอมรับทิศทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคตว่ามีความจำเป็นต้องถ่ายโอนอำนาจให้แก่ท้องถิ่น และมีทิศทาง เป้าหมายประเทศตรงกันว่า มีความจำเป็นต้องปฏิรูปท้องถิ่น มีเป้าหมายเพื่อช่วยแบ่งเบาภารกิจของรัฐบาลและส่วนราชการ โดยเฉพาะการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยแก้ปัญหาประเทศ ทั้งในแง่ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความด้อยโอกาสของกลุ่มคนที่ดำรงอยู่ในท้องถิ่น เป็นต้น ทั้งนี้เพราะเราเห็นว่าทุกตารางนิ้วของพื้นที่ประเทศไทยเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นต้น องค์กรท้องถิ่นเหล่านี้ จำเป็นจะต้องมีพื้นฐานข้อมูลทั้งในระดับประชาชน ครอบครัว และชุมชนเป็นอย่างดี ดังเช่นต้องรู้ว่า คนจนอยู่ที่ไหน แต่ละครัวเรือนในพื้นที่ท้องถิ่นเป็นอย่างไร ทั้งในแง่อาชีพ รายได้ ที่ดินทำกินและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ความด้อยโอกาส ท้องถิ่นต้องรู้ว่าจะพัฒนาอย่างไรให้เขาหลุดพ้นจากสิ่งนี้ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องแบกรับภาระและความรับผิดชอบ โดยรัฐบาล ส่วนราชการต้องไว้วางใจ และกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปดำเนินการ หรือหาแนวทางร่วมในการแก้ไขปัญหาทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนภาคประชาสังคม นอกจากนี้ต้องปฏิรูปท้องถิ่นเพื่อให้ท้องถิ่นได้แสดงศักยภาพของตนเองโดยรัฐบาลและส่วนราชการจะปฏิรูปเพื่อพัฒนาศักยภาพท้องถิ่น พัฒนารายได้ท้องถิ่นให้มีพลังอำนาจ (Empowerment) เพื่อให้ท้องถิ่นช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศ นี่คือการปฏิรูปท้องถิ่นไทย ในทำนองเดียวกันการปฏิรูปท้องถิ่นจะต้องปฏิรูปองค์กรปกครองท้องถิ่นให้เหมาะสมกับการแบกรับภารกิจ และจะต้องคำนึงถึงการปฏิรูปผู้ที่จะเข้าสู่กลไกอำนาจท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และข้าราชการส่วนท้องถิ่น ให้มีขีดความรู้ความสามารถที่เหมาะสม มีความเป็นธรรมาภิบาลท้องถิ่นเพื่อการรองรับภารกิจต่างๆ ของประเทศได้ในอนาคต |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
สายตรงท้องถิ่น: ปฏิรูปท้องถิ่นไทย เราจะปฏิรูปอะไร เพื่อใคร?
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น