มิ.ย.ปลดล็อกจัดเลือกตั้งท้องถิ่นส.ค.บิ๊กตู่ลงพื้นที่พายเรือชมบัวอารมณ์ดีมาก
ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
กกต.คาดเลือกตั้งท้องถิ่น ส.ค.61
วันเดียวกัน
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ.
กกต.ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น
ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(อปท.) จำนวน 3,847 คน และนำมาปรับปรุงเป็นร่างล่าสุด คาดว่าจะนำส่ง
ครม.ได้ภายในวันที่ 28 ก.พ.
จากการประเมินเป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นชุดแรก
จะเกิดขึ้นประมาณกลางเดือน ส.ค.2561 โดยความน่าสนใจของร่างกฎหมายนี้ อาทิ
กำหนดให้วาระการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารและสภาท้องถิ่น
เริ่มต้นและสิ้นสุดพร้อมกัน ดังนั้นการเลือกตั้งจะกระทำในวันเดียวกัน
ไม่มีการแทงกั๊กเปลี่ยนที่ลง กรณีลาออกก่อนครบวาระ
ห้ามทำกิจกรรมที่นำไปสู่การหาเสียง ใช้งบประมาณของท้องถิ่น
สร้างความได้เปรียบต่อคู่แข่งย้อนหลังไป 90 วันก่อนการลาออก
“วิษณุ” เผยปลดล็อกคำสั่ง คสช.มิ.ย.
ด้านนายวิษณุ
เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.
ประเมินการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นประมาณเดือน ส.ค.2561 ว่า
การประเมินใครก็ทำได้ตามประสบการณ์ แต่ตนไม่มีประสบการณ์ ตอบไม่ถูก
ร่างกฎหมายคงจะเข้าสภานาน 2 เดือน จากนั้นใช้เวลาทูลเกล้าฯอีก
กำหนดเวลาโดยรวมประมาณ 3 เดือน และเมื่อกฎหมายประกาศใช้
กระทรวงมหาดไทยยืนยันว่าขอเวลา 45 วัน สามารถจัดเลือกตั้งได้
อยู่ที่จะให้เลือกตั้งท้องถิ่นประเภทใดก่อน อบจ.-อบต.-เทศบาล
จึงยังตอบไม่ได้ว่าจะเลือกตั้งเดือน ส.ค.หรือ ก.ย. แต่ปีนี้น่าจะได้เลือก
เมื่อถามว่า แสดงว่าต้องมีการปลดล็อกประกาศ
คสช.ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจการทางการเมือง รวมทั้งคำสั่ง
คสช.ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป ทั้งสองฉบับก่อนใช่หรือไม่
นายวิษณุตอบว่า แน่นอน ประมาณเดือน มิ.ย.น่าจะปลดล็อกได้แล้ว คือ มี 4
ปัจจัย 1.ต้องออกกฎหมายก่อน 2.กกต.ต้องพร้อมจัดการเลือกตั้ง เช่น
ไม่ใกล้ไม่ไกลกับการเลือกตั้งระดับชาติจนเกินไป 3.การแบ่งเขตเลือกตั้ง
4.ต้องมีการปลดล็อกเพื่อหาเสียง
สนช. เตรียมคลอด 7 เสือ กกต.
ที่รัฐสภา
นายสมชาย แสวงการ โฆษกกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ
ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง
กกต. กล่าวว่า ในการประชุม สนช. วันที่ 22 ก.พ.
จะมีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็น กกต. 7 คน
ตามที่คณะกรรมาธิการสามัญฯพิจารณาตรวจสอบประวัติเสร็จแล้ว
โดยเป็นการลงคะแนนลับ ทั้งนี้
ที่ประชุมอาจให้ความเห็นชอบรายชื่อทุกคนหรือบางคนที่ผ่านการสรรหาก็ได้
จากนั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป และเมื่อมีการโปรดเกล้าฯ กกต.ชุดใหม่แล้ว
จะมีผลให้ กกต.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทันที
เช็กประวัติผ่านฉลุยไร้ปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
สำหรับรายชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็น กกต.จำนวน 7
คนที่คณะกรรมาธิการสามัญฯตรวจสอบประวัติเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย
1.ตัวแทนจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา 5 คน ได้แก่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์
นายเรืองวิทย์ เกษสุวรรณ นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ นายอิสสรีย์
หรรษาจรูญโรจน์ นายประชา เตรัตน์ 2.ตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้แก่
นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี นายปกรณ์ มหรรณพ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบประวัติ
และความประพฤติของคณะกรรมาธิการสามัญฯพบว่า รายชื่อผู้ได้รับการสรรหาทั้ง 7
คน ไม่มีปัญหาเรื่องปัญหาทางจริยธรรม และพฤติกรรมความผิดร้ายแรง
มีเพียงบางรายที่มีปัญหาถูกร้องเรียนเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
แนวโน้มจะได้รับเสียงเห็นชอบจากที่ประชุม สนช. ครบทั้ง 7 คน
กมธ. หั่นเวลากาบัตร 08.00–17.00 น.
ช่วงเย็นวันเดียวกันที่รัฐสภา
นายสมชาย แสวงการ โฆษกกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่าง
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กล่าวภายหลังการประชุม
กมธ.ว่า ที่ประชุมพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง
เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน
ไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองขนาดเล็กและขนาดใหญ่
โดยกำหนดให้
กกต.มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องค่าใช้จ่ายการหาเสียงของพรรคการเมือง
แต่จะต้องหารือกับพรรคการเมืองให้เห็นสอดคล้องด้วย
ส่วนเรื่องระยะเวลาลงคะแนนเลือกตั้งจาก 07.00-17.00 น. ที่ประชุม
กมธ.ร่วมปรับแก้เป็นเวลา 08.00-17.00 น. เพื่อให้เจ้าหน้าที่
กกต.มีความสะดวกในการเตรียมการเลือกตั้งก่อนเปิดหีบบัตรมากขึ้น
เพราะช่วงเวลา 07.00 น. อาจฉุกละหุกมากเกินไป
กรธ.สนช.ถกเสียงแข็ง ก.ม.ลูก ส.ว.
นายสมคิด
เลิศไพฑูรย์ ประธานกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณาร่าง
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.กล่าวว่า ที่ประชุม
กมธ.ร่วมฯได้หารือกันใน 3 ประเด็นหลักคือ 1.จำนวนกลุ่มอาชีพผู้สมัคร ส.ว.
2.วิธีการเลือก ส.ว. 3.การแบ่งประเภทผู้สมัคร ส.ว.แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป มี
กมธ.ร่วม 2-3 คน เสนอว่าแนวคิด สนช. ที่กำหนดให้การแบ่งกลุ่มอาชีพ
ส.ว.เหลือ 10 กลุ่ม วิธีการเลือก ส.ว.ที่ให้เลือกกันเองในกลุ่ม
การแบ่งประเภท ส.ว. เป็นผู้สมัครอิสระ และผู้สมัครในนามองค์กรนั้น
ขอให้นำไปเขียนในบทเฉพาะกาล ว่าให้มีผลบังคับใช้กับ ส.ว.ชุดบทเฉพาะกาล 5
ปีเท่านั้น ส่วนแนวคิดของ กรธ.ที่ให้มีผู้สมัคร 20 กลุ่ม
การใช้วิธีเลือกไขว้ ส.ว. และให้มีเฉพาะผู้สมัคร ส.ว.อิสระ
ไม่ต้องผ่านองค์กรใด ขอให้ใช้เป็นบทหลักในร่างกฎหมายลูกฉบับนี้
หลังจากที่หมด ส.ว.ชุดบท เฉพาะกาลไปแล้ว
ซึ่งจะมีการลงมติเรื่องดังกล่าววันที่ 27 ก.พ. เวลา 15.00 น.
ด้านนายสมชาย
แสวงการ เลขานุการ กมธ. พิจารณาร่าง
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กล่าวว่า
เหตุที่ยังไม่ได้ข้อสรุปใน 3 ประเด็นหลัก เนื่องจาก กรธ. และ สนช.
ยังมีวิธีคิดที่แตกต่างกันอยู่ จึงให้แต่ละฝ่ายไปทำการบ้าน
เพื่อหาแนวทางที่เป็นข้อยุติร่วมกัน โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
มองว่าอาจไม่ถึงขั้นที่ต้องลงมติโหวตตัดสินเพื่อชี้ขาดก็ได้
ยังไม่ถึงขั้นที่เป็นความขัดแย้งระหว่างสนช. กับ กรธ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น