บทความพิเศษ: ปฏิรูป อปท. |
โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ |
ปกรณ์ นิลประพันธ์ รองเลขากฤษฎีกา รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเปลี่ยนแปลงหลักการเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไปมากมายไม่ใช่เพียงแค่ "กระจายอำนาจ" แต่มุ่งเป้าไปที่ "การพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นให้เข้มแข็ง จะได้เป็นเรี่ยวแรงพัฒนาชาติ" เหตุที่เปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับ อปท. เป็นเช่นนี้ก็เพราะคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ไม่ได้คิดว่า อปท.เป็นเรื่องของ "การปกครอง" แต่เป็นเรื่อง "การบริหารจัดการท้องถิ่นโดยผู้คนในท้องถิ่นนั้นเอง" เหตุที่คิดเช่นนี้ก็เพราะเชื่อว่าคนในท้องถิ่นย่อมรักท้องถิ่นของ ตัวเอง เชื่อว่าไม่มีใครต้องการให้บ้านของตัวเองหายนะ แต่เชื่อว่าคนในแต่ละท้องถิ่นล้วนต้องการให้ท้องถิ่นของตนเองมีความเจริญและไม่ใช่เจริญแบบฉาบฉวย หากเป็นการเจริญอย่างมีอัตลักษณ์ เจริญอย่างยั่งยืน มีรากฐานการพัฒนาที่ดีเพื่อลูกหลานของคนในท้องถิ่นในอนาคต จะได้ไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นไปทำมาหากินที่อื่นจนละเลยถิ่นฐานรากเหง้าของตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ กรธ.จึงเห็นว่าแนวทางการบริหารจัดการ อปท. ไม่ใช่การมุ่งเน้นไปที่การปกครองอันเป็นเรื่องของการใช้อำนาจ แต่เน้น "การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น" หลักการสำคัญที่วางไว้ก็คือ อปท.จะทำกิจใดๆ ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของคนในท้องถิ่นประกอบด้วยมีการคิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบ มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างเพียงพอและรอบด้าน ไม่ใช่ทำตามแต่เฉพาะนโยบาย หรือความคิดของท่านนายก อปท.เหมือนเคยๆ ที่สำคัญ อปท.ต้องมีอิสระในการดำเนินการ ไม่ใช่ต้องทำตามคำสั่งของส่วนกลาง หรือตามคำสั่งหรือหนังสือสั่งการของอค์กรกำกับดูแล อปท.ทุกเรื่อง เพราะหากเป็นเช่นนั้น อปท.ก็คงเป็นเพียงกลไกของราชการที่อยู่ในท้องถิ่นเท่านั้น รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติว่าการกำกับดูแล อปท. พึงกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และโดยที่ อปท.แต่ละท้องถิ่นมีอัตลักษณ์แตกต่างกัน มีบริบทแตกต่างกัน การกำกับดูแล อปท. โดยใช้หลักการเดียวกันทั้งประเทศหรือ One Size Fitsall จึงไม่เหมาะสมอีกต่อไป การให้ อปท.มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการนั้น รัฐต้องเป็น พี่เลี้ยงในการพัฒนาให้ อปท.มีความเข้มแข็งในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเงินการคลังและการงบประมาณ ในระหว่างที่ อปท.ยังไม่เข้มแข็งจนหารายได้ได้มากพอที่จะใช้จ่ายในการบริหารจัดการตนเอง รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณให้แก่ อปท. แต่ที่สำคัญ อปท.เองต้องไม่คอยแต่งบประมาณจากรัฐ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ยากที่ อปท.จะมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการท้องถิ่นได้เอง ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าไหนๆ ก็จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแล้ว สมควรที่ อปท.ทั้งหลายจะได้ร่วมกันมีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ อปท.เป็นการบริหารจัดการท้องถิ่นโดยผู้คนในท้องถิ่นนั้นเองที่มีความเป็นอิสระตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้อย่างแท้จริงไปเสียในคราวเดียวกันด้วย เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ "ชุมชนและท้องถิ่นเข้มแข็ง จะได้เป็นเรี่ยวแรงพัฒนาชาติ" ได้อย่างแท้จริง เพราะคงไม่มีใครที่รู้เรื่องนี้ดีไปกว่า อปท.เอง ฝากไว้ท้ายนี้นิดหนึ่งว่าอย่าทำแบบ One Size Fits all อีกล่ะ |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
บทความพิเศษ: ปฏิรูป อปท.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น