วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2561

Smart ไทยแลนด์: สถ.เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Cluster) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

Smart ไทยแลนด์: สถ.เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Cluster) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โพสต์ทูเดย์  ฉบับวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๑

          นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ว่า ตลอดปี 2560 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้ผลักดันนโยบายของกระทรวงมหาดไทยในการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามารวมกลุ่มในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย จนเมื่อสิ้นปี 2560 ได้มีการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วจำนวน 324 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มขนาดใหญ่ (L) ปริมาฝรขยะมากกว่า 500 ตัน/วัน จำนวน 10 กลุ่ม 2. กลุ่มขนาดกลาง (M) ปริมาณขยะ 300-500 ตัน/วัน จำนวน 11 กลุ่ม และ 3. กลุ่มขนาดเล็ก (S) ปริมาณขยะน้อยกว่า 300 ตัน/วัน จำนวน 303 กลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและความพร้อม ดังนั้น ในปี 2561 นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงกำหนดนโยบายให้เป็นปีแห่งการผลักดันให้ทั้ง 324 กลุ่ม มีการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีกลไกสำคัญ 3 ประการ ดังนี้ 1. กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่ออำนวยการและผลักดันในระดับนโยบาย 2. แต่งตั้งคณะทำงานของผู้บริหารของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจำนวน 6 คณะลงพื้นที่ใน 18 กลุ่มจังหวัดร่วมกับท้องถิ่นจังหวัดในการขับเคลื่อนนโยบายในพื้นที่ 3. กำหนดบทบาทท้องถิ่นจังหวัดให้เป็นผู้กำกับการขับเคลื่อนในพื้นที่
          นอกจากการขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะโดยภาคราชการแล้ว กระทรวงมหาดไทยยังให้ความสำคัญกับภาคเอกชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำจัดมูลฝอยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกระทรวงมหาดไทยได้เล็งเห็นว่าภาคเอกชนมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีมีความพร้อมของบุคลากร งบประมาณ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้ปรับปรุงและลดขั้นตอนตามกฎหมายต่างๆ  เพื่ออำนวยความสะดวกให้เอกชนเข้ามาร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำจัดขยะได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจึงขอเชิญชวนให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อมและความสนใจ เข้ามาร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาการกำจัดขยะของประเทศ โดยเข้ามาศึกษาพื้นที่ เสนอเทคโนโลยีที่เหมาะสม จะเป็นบ่อฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล เตาเผาขยะ หมักก๊าซชีวภาพ แปรขยะเป็นเชื้อเพลิงหรือกำจัดขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น