รายงานพิเศษ: ก.ม.เลือกตั้งท้องถิ่นกทม.รอคำตอบตัดทิ้งส.ข. |
พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๑ |
มณฑ์ สุทธา/รายงาน คงต้องติดตามจับตาสำหรับการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต.ในที่ 16 มกราคม ที่จะมีการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ.ศ.... พร้อมให้สำนักงานกกต.ทำไทม์ไลน์กรณีต้องนำร่างกฎหมายดังกล่าวไปจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 77 กำหนด รวม 15 วัน และระยะเวลาการพิจารณาของกกต.การเสนอร่างกฎหมายไปยังรัฐบาลมาให้ที่ประชุม กกต.พิจารณาด้วย สำหรับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ...ที่สำนักงานกกต.ได้ยกร่างขึ้นนั้นมีทั้งสิ้น 68 มาตราเนื้อหาหลักจะเป็นการแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 ใน 4 ประเด็น คือ 1.แก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 เกี่ยวกับอำนาจของ กกต.เช่นอำนาจในการสั่งเลือกตั้งใหม่ ที่สั่งได้ก่อนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง การสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพิกถอนสิทธิสมัครเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ทั้งก่อนและหลังประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง 2.แก้ไขให้เป็นไปตามพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต.เช่น การมีผู้ตรวจการ เลือกตั้ง แทนกกต.จังหวัด โดยเขียนเปิดช่องให้เป็นอำนาจของกกต.ที่จะพิจารณาว่าในการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น ๆ จะตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งหรือไม่ก็ได้ 3.แก้ไขให้สอดคล้องกับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในเรื่องมาตรฐานการจัดการ เช่น ระยะเวลาการลงคะแนนเลือกตั้งเป็น 08.00-16.00 น. ระยะเวลาการหาเสียงเลือกตั้ง การที่รัฐจะต้องเป็นผู้จัดสถานที่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งปิดป้ายหาเสียง 4.แก้ไขปัญหาการบริหารงานท้องถิ่นที่ผ่านมา เช่นการที่ผู้บริหารท้องถิ่นชิงความได้เปรียบด้วยการลาออกก่อนครบวาระ โดยแก้ไขให้ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นมีวาระเท่ากัน ซึ่งถ้าบริหารงานไปแล้วผู้บริหารลาออกก่อน แต่หากวาระของสภาท้องถิ่นเหลือน้อยกว่า 180 วันก็ไม่ต้องมีการเลือกผู้บริหาร แต่ให้ปลัดท้องถิ่นนั้นๆ ทำหน้าที่รักษาการไปจนกว่าสภาท้องถิ่นจะครบวาระ แต่หากระยะเวลาสภาท้องถิ่นเหลือเกินกว่า 180 วัน ให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่ ดำรงตำแหน่งได้เท่าวาระของสภาท้องถิ่นที่เหลืออยู่ อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่า หลังที่ประชุม กกต.ได้มีการพิจารณาและมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวในการประชุมวันที่ 16 ม.ค.แล้ว ไม่เกินวันที่ 3 ก.พ.จะมีการจัดส่งร่างกฎหมายให้กับกกต.จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อส่งต่อไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในพื้นที่ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซด์ของกกต.เพื่อรับฟังความคิดเห็น จากนั้น ไม่เกิน 13ก.พ.จะทำการรวบรวมข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นและสรุปผลการรับฟังเพื่อเสนอกกต.โดยในวันที่ 20 ก.พ.จะมีการรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้กับที่ประชุมกกต.ได้รับทราบและคาดการณ์ว่าไม่เกินวันที่ 23 ก.พ. จะมีการส่งร่างกฎหมายดังกล่าวพร้อมกับผลการรับฟังความคิดเห็นให้กับคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้หากพิจารณาขั้นตอนการออกกฎหมายดังกล่าว ถ้า กกต.ส่งร่างไปยัง ครม. ในวันที่ 23ก.พ.แล้ว และ ครม.พิจารณาในการประชุม ครม. นัดถัดไปคือวันที่ 27 ก.พ จากนั้นจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทำการตรวจสอบ คาดว่า จะแล้วเสร็จช่วงกลางเดือนมี.ค.ก่อนส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณาซึ่งจะใช้เวลารวม60 วัน ในส่วนของขั้นตอนการทูลเกล้าฯเพื่อลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ น่าจะเสร็จสิ้นได้ในเดือนพ.ค.ขณะเดียวกันร่างกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่ขณะนี้รัฐบาลมีการแก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว จะมีการทยอยพิจารณาควบคู่ไป ดังนั้นการเลือกผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งอาจจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.)นั้นคาดว่า จะเกิดขึ้นได้ในเดือน มิ.ย.นี้ แต่อย่างไรก็ตามการแก้ไขพ.ร.ป.ระเบียบบริหารราชหารกรุงเทพมหานคร กับข้อเสนอของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)ต่อประเด็นการปรับปรุงการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ที่ คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น ที่มีนางนินนาท ชลิตานนท์ อดีตปลัดกทม.เป็นประธาน ได้มีการเสนอให้แก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติโดยได้เสนอให้มีการยกเลิกการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต(ส.ข.)และใช้ คณะกรรมการประชาคมเขต"จำนวน 20คนต่อเขต มีที่มาจากการคัดเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพ 10 คน, กลุ่มอาสามัครในพื้นที่ 6คน และมาจากผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน ที่ผู้อำนวยการเขต คัดสรร 4 คน ทั้งนี้เจตนารมณ์ที่สำคัญ คือ จากกรณีที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา78 และ มาตรา 253 กำหนดบทบาทให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาประเทศ การจัดทำบริการสาธารณะ การตัดสินใจในกิจการที่มีผลกระทบต่อตนเองหรือชุมชม พร้อมเขียนล็อคให้อค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องจัดกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงาน ทำให้ต้องปรับ"พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฉบับปัจจุบัน" ให้สอดคล้อง สำหรับเหตุผลสำคัญที่ต้องยกเลิก"สภาเขต"นั้น ด้วยเหตุผลคือ ผลงานของ สมาชิกสภาเขต หรือ ส.ข.ที่ผ่านมา คือ การเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง และใช้บทบาทเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้กับตัวเอง มากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือคุณภาพชีวิตที่ดีที่ประชาชนในพื้นที่ได้รับ อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของฝ่ายการเมือง เช่น ทำหน้าที่เป็นหัวคะแนน หรือฐานพิทักษ์คะแนนเสียงให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น จึงขาดความเหมาะสมที่จะให้มีอยู่ต่อ อีกทั้งการมีอยู่ของส.ข.นั้น ยังสร้างปัญหาต่องานบริหารระดับเขต เดิมในหลักปฏิบัติ ผู้อำนวยการเขต จะถูกกำกับโดย ผู้ว่าฯกทม.ถูกตรวจสอบโดยสมาชิกสภากทม.(ส.ก.)และส.ข.อีก ทำให้ขาดความเป็นอิสระในการทำงาน ดังนั้นเมื่อตัด"สภาเขต"ออก สิ่งที่ต้องมาสานต่อ โดยยึดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้กมธ.ปกครองท้องถิ่น ออกแบบให้ตัวแทนของภาคประชาชนเข้ามาทดแทน และใช้ชื่อว่า "กรรมการประชาคมเขต"เพื่อหวังให้เป็นกลไกเชื่อมระหว่างภาคราชการ กับประชาชนในพื้นที่ และอาศัยที่มาลักษณะเดียวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ตามรัฐธรรมนูญ คือ เลือกกันเองเพราะเชื่อว่าวิธีเลือกกันเองจากคนที่สมัครเข้าคัดเลือกจะทำให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติหลากหลายมาทำงาน เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของคนในพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตามแม้วิธีนี้ จะถูกตั้งแง่เรื่องการฮั้วคะแนนเสียง หรือ ฝ่ายการเมืองส่งนอมินีเข้าสู่ระบบ แต่เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ระบบทำงาน ที่ประชาชนในพื้นที่คอยตรวจสอบ คงไม่ง่ายที่จะแสวงประโยชน์เข้าตัวเอง โดยสังคมไม่ได้ประโยชน์อะไรเหมือนการเลือกตั้งส.ข.ที่ผ่านมา สำหรับที่มาของ"คณะกรรมการประชาคมเขต"ตามร่างกฎหมายระบุไว้ว่า ให้ ผู้อำนวยการเขต เป็นประธาน และมีกรรมการมาจากตัวแทนประชาชนที่มีภูมิลำเนาในเขตพื้นที่ ซึ่งแบ่งสัดส่วนมาจากกลุ่มอาชีพ, กลุ่มอาสาสมัคร และ กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน รวม 20 คน ให้มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี และห้ามเป็นเกิน 2วาระติดต่อกัน เสียงค้านกระหึ่ม!จากฝั่งนักการเมืองขณะที่มีเสียงคัดค้านมาจากฟากนักการเมือง ได้ประสานเสียงกระหึ่ม!ซึ่งก็คงมิใช่สิ่งแปลกที่แตกต่างแต่อย่างใด โดยนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ เห็นตรงกันข้าม อาทิ แทนที่จะมีกรรมการประชาคมเขต แต่ไปเพิ่มอำนาจให้ส.ข.ดีกว่า เช่นให้มีอำนาจเห็นชอบ ในกรณีที่เขตจะเบิกงบที่ส่วนกลาง เหมือนเป็นสภาย่อย ซึ่งประเทศที่เป็นประชาธิปไตยก็มีลำดับขั้นการดูแลงาน สภาต่างๆก็มีหน้าที่ต่างกันไป เราเองก็กำลังทำให้เป็นแบบนั้น แต่กลับทำไม่สุด ส่วนที่ระบุว่า ส.ข.เป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองนั้น ต้องขอถามว่าคณะกรรมการประชาคมเขตเป็นตัวแทนของใคร เป็นนอมินีของผอ.เขต หรือไม่ เพราะที่มาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เขาก็คำนึงผลประโยชน์ของคนที่แต่งตั้งเขาเข้าไปเป็นคณะกรรมการ แล้วถามว่าเขาจะกล้าเสนออะไรที่ขวาง ผอ.เขตหรือไม่ ขณะที่นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีต ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย(พท.)ระบุว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้ยกเลิก เพราะของเดิมดีอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง และทำงานใกล้ชิดกับประชาชน อำนาจหน้าที่ของ ส.ข. ก็เหมือนเป็นที่ปรึกษาของผอ.เขตเท่านั้น ส่วนที่จะใช้สรรหาและแต่งตั้งจะยืนยันได้อย่างไรว่าบริสุทธิไม่เล่นพรรคพวก เขาจึงสนับสนุนให้มี ส.ข.ต่อไป ถ้าไม่ดีจริงเขาคงไม่เลือกมา ขอเสนอว่าหากจะทำจริงก็อยากให้มีการทำประชาพิจารณ์ นายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา อดีตประธานสภากทม.และอดีตส.ก.เขตบางรัก อ้างว่า ตามหลักการแล้ว ผู้แทนท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง อย่างน้อยต้องให้ประชาชนเป็นผู้คัดเลือก ประชาชนเขาตัดสินใจได้ ต้องให้ประชาชนเป็นผู้คัดสรร จึงต้องสอบถามประชาชนด้วย อย่างน้อยต้องทำการสำรวจความเห็นของประชาชนในเรื่องนี้ว่าประชาชนชอบแบบไหนเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียงแสดงความคิดเห็น ก็จะเป็นเรื่องที่ดี แต่หากมีคณะกรรมการประชาคมเขต จะเป็นคนของฝ่ายข้าราชการ คณะกรรมการประชาคมเขต จะลงพื้นที่หรือไม่ จะรับเรื่องจากประชาชนอย่างไรถ้าเทียบจากผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง จะรับเรื่องได้จากประชาชนในทางตรง นายอิทธิชัย ไพสินสมบูรณ์ อดีตส.ข.เขตดุสิต พรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ส.ข.เป็นตำแหน่งที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ถ้าตัดส.ข.ออกไปจะไปตัดช่องทางที่ประชาชนเข้ามาเรียกร้อง จากเดิมที่การดูแลประชาชนของสำนักงานเขต อาจม่ทั่วถึง ส.ข.ทุกเขตกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนในพื้นที่ เมื่อเทียบกับผู้อำนวยการเขต กลับไม่ใช่คนพื้นที่ เพราะมีการแต่งตั้งโยกย้ายไปมา เมื่อได้รับการแต่งตั้งมาลงที่เขตนี้ ก็ไม่ทราบปัญหาของพื้นที่จริงๆ ไม่ทราบอัตลักษณ์ของพื้นที่ ไม่ทราบความเป็นอยู่ของคนในชุมชน "พอผู้อำนวยการเขตไม่ทราบพื้นที่ ก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้ เมื่อต้องใช้เวลาเรียนรู้ ก็ทำให้ประชาชนเสียโอากาสในสิ่งที่จะได้รับประโยชน์ ขณะที่เรื่องตัวแทนของคณะกรรมการประชาคมเขต คนที่เป็นตัวแทนก็จะพัฒนาชุมชนตัวเองให้ได้ประโยชน์เป็นอันดับแรกๆ ผิดกับหน้าที่ของส.ข.ที่ต้องมองการพัฒนาพาพรวมทุกชุมชน" จากหลากหลายมุมมองสะท้อนปัญหา ทั้งฝ่ายที่อยากสังคายนา และฝ่ายที่หวังยื้อในสิ่งที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน นั้น ที่สุดบทสรุปจะออกมาแบบไหน อย่างไร คงต้องติมตามแต่จากที่มาของพ.ร.บ.ระเบียบบริหารกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 การให้มีสมาชิกสภาเขตหรือส.ข.นั้น ได้ยินได้ฟังมาว่า เป็นการเสนอของข้าราชการประจำ ระดับปลัดกทม.ในยุคนั้น ที่มีการเสนอให้มีการเลือกตั้งส.ข.ขึ้นมา เพื่อจุดประสงค์(ใหญ่)นั่นก็คือการตอบแทนบรรดา"หัวคะแนน"ของนักการนเมืองนั่นเอง มิใช่หรือ???!! สมาชิกสภาเขตหรือ ส.ข.เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเกิดขึ้นตาม พ .ร .บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 โดยส .ข .มีหน้าที่ต่าง ๆ ดังนี้ ให้ข้อคิดเห็นและข้อสังเกตเกี่ยวกับแผนพัฒนาเขตต่อผู้อำนวยการเขตและสภากทม.การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาเขต ตามที่กำหนดในข้อบัญญัติ กทม. ว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรืองบประมาณรายจ่ายการสอดส่องและติดตามดูแลการดำเนินการของสำนักงานเขต เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎร การให้คำแนะนำหรือข้อสังเกตต่อผู้อำนวยการเขตเกี่ยวกับการปรับปรุง หรือแก้ไขการบริการประชาชนในเขต หาก ผอ .เขตไม่ดำเนินการใด ๆ โดยไม่แจ้งเหตุผลให้ทราบให้สภาเขตแจ้งให้ผู้ว่าฯกทม. พิจารณา ดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ ส.ข. ยังมีหน้าที่ให้คำปรึกษาตามที่ผู้อำนวยการเขตร้องขอ แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวกับการงานของสภาเขต ทั้งนี้ตามที่กำหนดในข้อบัญญัติ กทม .ว่าด้วยการนั้น รวมทั้งมีหน้าที่อื่น ๆตามที่กำหนดในกฎหมายหรือที่สภากทม. มอบหมาย "จากหลากหลายมุมมองสะท้อนปัญหา ทั้งฝ่ายที่อยากสังคายนา และฝ่ายที่หวังยื้อในสิ่งที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน นั้น ที่สุดบทสรุปจะออกมาแบบไหน อย่างไร คงต้องติมตามแต่จากที่มาของพ.ร.บ.ระเบียบบริหารกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 การให้มีสมาชิกสภาเขตหรือส.ข.นั้น ได้ยินได้ฟังมาว่า เป็นการเสนอของข้าราชการประจำ ระดับปลัดกทม.ในยุคนั้น ที่มีการเสนอให้มีการเลือกตั้งส.ข.ขึ้นมา เพื่อจุดประสงค์(ใหญ่)นั่นก็คือการตอบแทนบรรดา"หัวคะแนน"ของนักการเมืองนั่นเอง มิใช่หรือ???!" |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2561
รายงานพิเศษ: ก.ม.เลือกตั้งท้องถิ่นกทม.รอคำตอบตัดทิ้งส.ข.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น