วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2561

สายตรงท้องถิ่น: การพัฒนาประเทศโดยท้องถิ่น

สายตรงท้องถิ่น: การพัฒนาประเทศโดยท้องถิ่น
สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๑

          ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
          คำถามที่น่าสนใจนั้นก็คือเราจะทำอย่างไรให้ท้องถิ่นเป็นฐานในการพัฒนาประเทศ สิ่งแรกที่น่าจะช่วยกันทำก็คือ การช่วยกันอธิบายว่าท้องถิ่นได้ทำอะไรในเชิงประจักษ์ที่ก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาสังคมต่างๆ ของประเทศหรือสิ่งที่ได้ทำมาแล้วนั้น ก่อให้เกิดนวัตกรรมท้องถิ่นที่มีแนวคิด กระบวนการทำที่ก่อให้เกิดสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ แตกต่างจากการกระทำแบบเดิมๆซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ผู้บริหารประเทศ ผู้นำทางการเมืองและราชการในส่วนกลาง เปลี่ยนฐานความคิดและมุมมองใหม่ เพื่อให้เชื่อมั่นว่าท้องถิ่นเป็นฐานในการพัฒนาประเทศได้
          การเปลี่ยนฐานความคิดหรือกระบวนทัศน์ใหม่ นับว่ามีความสำคัญที่มีความหมายในการเปลี่ยนความเชื่อ จากที่เคยเชื่อว่ารัฐบาลและส่วนกลางเป็นผู้พัฒนาประเทศมาเป็นการเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า "ท้องถิ่นจะเป็นกลไกหลักในการพัฒนาประเทศในอนาคต"
          ทั้งนี้เพราะพื้นที่ในประเทศไทยในปัจจุบัน ทุกตารางนิ้วหรือทุกพื้นที่ของประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเขตองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เขตเทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และในพื้นที่เขตท้องถิ่นที่กล่าวมานี้ก็ถือว่าเป็นฐานในการพัฒนาประเทศทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าเราจะให้ใครเป็นกลไกหลักในการพัฒนาประเทศ
          ดังนั้น การเปลี่ยนฐานคิดในการส่งเสริมสนับสนุนให้ท้องถิ่นทั้งเทศบาลอบต. และ อบจ. เป็นผู้ทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการพัฒนาประเทศ ถือว่าเป็นการแบ่งเบาภารกิจของรัฐบาลทั้งที่เป็นราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค แต่หากรัฐบาลยังมีความกังวลว่า ท้องถิ่นที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งยังไม่แข็งแรงพอ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลางและส่วนราชการที่ต้องทำให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและมีศักยภาพ หากรัฐบาลเชื่อมั่นในการเปลี่ยนฐานความคิด
          รัฐบาลกลางต้องมีหน้าที่ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้มแข็งมีศักยภาพ และมีความสามารถเพียงพอ โดยเฉพาะการพัฒนาขีดความสามารถของผู้บริหารท้องถิ่นและบุคลากรของท้องถิ่น "การเพิ่มศักยภาพด้านรายได้ของท้องถิ่น ตลอดจนการส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่นในแนวทางธรรมาภิบาล"
          ประสบการณ์เรียนรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นในต่างประเทศทั้งในยุโรปและในอเมริกา หากได้พิจารณาความเจริญก้าวหน้าของท้องถิ่นในรูปแบบของเมืองต่างๆ ที่ถือว่าเป็นฐานของท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเมืองในลักษณะนครหรือมหานครก็จะพบว่าความเจริญก้าวหน้าของเมืองต่างๆ ล้วนแล้วแต่พิสูจน์ให้เราเห็นว่าคนที่ทำให้เมืองเจริญก้าวหน้านั้นก็คือ คนในท้องถิ่น ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีเป็นคนทำหรือรัฐบาลกลางทำ ตัวอย่างที่น่าจะจับต้องได้อีกประเทศหนึ่งก็คือประเทศญี่ปุ่น ที่เราได้เห็นว่าประเทศญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้าไปมากนั้น เพราะการพัฒนาประเทศของญี่ปุ่นอยู่ที่การพัฒนาจังหวัดและเทศบาลต่างๆ ซึ่งจังหวัดในประเทศญี่ปุ่นได้แปลงโฉมไปหมดแล้ว มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นผู้แก้ปัญหาของจังหวัดนั้นๆ
          ในประเทศจีน แม้ว่าในประเทศจีนไม่ได้ปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย "แต่ผู้นำประเทศของจีน กลับกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นจัดทำการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง" ดังนั้นเมืองกับนครหรือมหานครของประเทศจีน ผู้ทำการพัฒนาเมืองก็คือ เทศบาลหรือมหานครของจีน ซึ่งผู้ว่ามหานครหรือนายกเทศมนตรีไม่ว่าจะเป็นที่ปักกิ่ง เทียนสิน เซินเจิ้น และเซี่ยงไฮ้ ตลอดจนเมืองอื่นๆเมืองต่างๆ เหล่านี้จะถูกกระจายอำนาจและมอบหมายจากรัฐบาลกลางให้เป็นผู้พัฒนาเมืองแทนรัฐบาลกลางของจีน ซึ่งจะทำให้เห็นว่าเมืองหรือนครที่สำคัญๆต่างๆ ของจีนมีความเจริญก้าวหน้าเป็นรูปธรรมไปอย่างรวดเร็ว
          การมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมและมีประสบการณ์ รวมทั้งการพบเห็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ก็ถือว่าเป็นวิธีเปลี่ยนฐานความคิดอย่างหนึ่ง "ผมจึงอยากเรียกร้องว่า การเปลี่ยนฐานความคิดใหม่ และกระบวนทัศน์ใหม่ จึงเป็นมรรควิธีในการเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาประเทศในแนวใหม่ แตกต่างไปจากการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ และเห็นว่าความเจริญก้าวหน้าของประเทศถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง ซึ่งทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปปอย่างล่าช้า และการแก้ปัญหาต่างๆไม่สามารถแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
          ผมจึงอยากเสนอว่า รัฐบาลกลางทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคถึงเวลาที่ต้องลดอำนาจของภาครัฐและแบ่งเบาภารกิจหรือถ่ายโอนอำนาจไปให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหาของประเทศที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ
          ทั้งนี้เพราะผมเข้าใจว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นคนรู้ดีว่าปัญหาของชุมชนท้องถิ่นนั้นอยู่ตรงไหน เช่นจะรู้ว่าคนจนอยู่ตรงไหน คนไม่มีที่ดินทำกินอยู่ตรงไหน คนด้อยโอกาสอยู่ตรงไหน และผู้สูงอายุและคนพิการอยู่ตรงไหนเป็นต้น สิ่งเหล่านี้ท้องถิ่นสามารถวางยุทธศาสตร์ โดยการทำแผนพัฒนา จัดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ตรงจุด ตรงความต้องการ และสามารถติดตามและประเมินผลว่าจะได้ผลหรือไม่ได้ผลเป็นอย่างไร
          ข้อเสนอที่ให้การพัฒนาประเทศโดยใช้ฐานของท้องถิ่นนั้น จึงเป็นการปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ ความคิดใหม่ทั้งระบบของสังคมไทยและถ้าการเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางนี้เกิดขึ้นรัฐบาลจะต้องปรับกลไกในหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นกลไกในเชิงกฎหมายที่ต้องจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับท้องถิ่น และกลไกในเชิงกฎหมายเพื่อพัฒนศักยภาพท้องถิ่นซึ่งมีรัฐธรรมนูญรองรับอยู่แล้ว
          ผมจึงขอฝากไปยังคณะปฏิรูปประเทศทั้งคณะปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะปฏิรูปสังคม และคณะปฏิรูปการเมืองจะต้องปรับเปลี่ยนฐานคิดเช่นกัน มิฉะนั้นการปฏิรูปประเทศจะไม่มีความหมายในการเปลี่ยนแปลงอะไร และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการปฏิรูปประเทศก็คือการเปลี่ยนฐานคิดให้ท้องถิ่นพัฒนาประเทศที่จะเป็นผู้พัฒนาและไขปัญหาต่างๆ ของประเทศในอนาคตนี่คือความหวังของสังคมไทยต่ออนาคตของประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น