วันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2561

ทิศทางการขับเคลื่อน'อปท.'แก้กม.-กระจายอานาจ-ใช้งบสะสมคุ้มค่า


ทิศทางการขับเคลื่อน'อปท.'แก้กม.-กระจายอานาจ-ใช้งบสะสมคุ้มค่า
มติชน (กรอบบ่าย)  ฉบับวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๑

          ทีมข่าวภูมิภาค
          ปี2560 นับเป็นปีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แทบจะอยู่ในภาวะแช่แข็ง ด้วยเงื่อนไขทางการเมือง สนามการเมืองท้องถิ่น ปิดดำเนินการยาวนาน แต่คนท้องถิ่น ทั้งผู้บริหาร ข้าราชการท้องถิ่น ยังต้องบริหารงาน ดูแลประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งในปี 2561 คน อปท.ยังมีภารกิจต้องติดตาม ขับเคลื่อนหลายประเด็นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา
          'ช่วยเกษตรกรขยายตลาดสินค้าท้องถิ่น'
          วิชัช ไตรรัตน์
          นายสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย
          สมาคม อบต.สนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวทางของรองนายกรัฐมนตรี ด้วยการนำเงินสะสม อปท.จ้างงานประชาชนเพื่อก่อให้เกิดรายได้ ทั้งการพัฒนา ซ่อมแซมสาธารณูปโภคตามความจำเป็น แต่รัฐบาลต้องแก้ไขระเบียบการใช้งบประมาณดังกล่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่วนนโยบายการทำงานของ อบต.ในปี 2561 ได้เน้นย้ำให้ อบต.ดูแลประชาชนจากปัญหาราคาสินค้าการเกษตรที่ผลิต ต้องขายได้ในราคาที่เหมาะสม ถ้าเป็นไปได้ ท้องถิ่นพร้อมเป็นคนกลาง เป็นตลาดกลางให้เกษตรกร แต่ยังติดขัดที่ระเบียบ
          "ผมและทีมงานมีความตั้งใจนำสินค้าไทยออกไปสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าโอท็อป สินค้าพื้นบ้าน ที่มีมาตรฐาน ได้ประสานกับนายพินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่มีความสัมพันธ์กับประเทศจีนอย่างดี ที่ผ่านมาได้เดินทางไปศึกษาดูงาน เพื่อดูสถานที่แสดงสินค้า ตั้งใจว่าจะนำสินค้าไทยไปจัดแสดง โดยติดต่อให้บริษัทเอกชนเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศจีนที่มีกำลังชื้อมหาศาล ถ้าทำสำเร็จจะสามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้มาก"
          อำพล ยุติโกมินทร์
          อุปนายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย
          'ลดเหลื่อม ขรก.ท้องถิ่น- ส่วนกลาง-ภูมิภาค'
          ขณะนี้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำหนดทิศทางการปฏิรูปภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายประเทศไทย 4.0 เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อการพัฒนา การจัดทำบริการสาธารณะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน แต่หัวใจสำคัญของการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ต้องสร้างจุดสมดุลระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจน ควรบูรณาการ ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการระบบราชการทั้ง 3 ส่วน โดยคำนึงถึงความพร้อมทางด้านงบประมาณ บุคลากร และภารกิจเป็นหลัก หลังจากการปฏิรูปท้องถิ่นซึ่งเป็น 1 ใน 11 ด้านหายไป จากระยะเวลากว่า 3 ปีที่มีการจัดทำข้อเสนอต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการควบรวม อปท.ขนาดเล็กเข้าด้วยกัน พยายามลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของ อปท. แต่ขณะเดียวกันมีภารกิจที่ลงไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น สวนทางกับงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลมีน้อยลง
          หากรัฐบาลไม่มีนโยบายกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ควรกำหนดบทบาทและภารกิจระหว่างราชการทั้ง 3 ส่วนให้ชัดเจน การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารภาครัฐต้องมีการถ่วงดุล ไม่ควรให้ระบบราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคมีอำนาจแบบรวมศูนย์ ควรส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้น สำหรับเวลาที่เหลือของรัฐบาลชุดนี้ ควรสร้างความชัดเจนเรื่องการควบรวม อปท. ไม่ควรปล่อยให้ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น พนักงาน ลูกจ้าง และข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีความกังวลจากความไม่แน่นอนในอนาคต ควรกำหนดโครงสร้างบุคลากรของ อปท.ให้ชัดเจน เตรียมความพร้อมรองรับภารกิจที่จะกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น, นำเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาบูรณาการให้สอดคล้องเป็นรูปแบบและมาตรฐานเดียวกันทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อลดขั้นตอนการบริหารจัดการภาครัฐ ลดรายจ่ายด้านงบประมาณ
          รัฐบาลควรสร้างแรงจูงใจให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สร้างกระบวนการถ่วงดุลในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้คล่องตัว โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน รูปแบบที่ใช้ต้องคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานที่ทำหน้าที่โดยสุจริต, ควรจัดทำร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่นให้เสร็จโดยเร็ว โดยเฉพาะประเด็นการกำหนดให้มีหน่วยงานดูแลข้าราชการส่วนท้องถิ่นเหมือนสำนักงาน ก.พ.ดูแลข้าราชการพลเรือน
          โดยกำหนดให้สำนักงาน ก.ถ. สำนักงานคณะกรรมการการกระจาย อำนาจให้ อปท. และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) อยู่สังกัดเดียวกัน ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เมื่อรวมแล้วต้องกำหนดให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นสามารถโอนย้ายระหว่างกันได้ กำหนดให้มีองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรม เพื่อถ่วงดุลกันระหว่างหน่วยตรวจสอบอย่าง ป.ป.ช., ป.ป.ท และ สตง.
          ศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล
          ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย
          'ติดตามการแก้ไขกฎหมายท้องถิ่น 6 ฉบับ'
          ในปี 2561 จะต้องติดตามการเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายท้องถิ่น 6 ฉบับ เรื่องคุณสมบัติผู้สมัครเป็นผู้บริหารสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งมีเป้าหมายกีดกันผู้มีอิทธิพล ผู้มีผลประโยชน์ขัดกันแห่งรัฐ เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งท้องถิ่นตามที่โยนหินถามทางไว้ก่อนหน้านี้ สิ่งที่น่าจับตาเป็นพิเศษ อาจมีการแก้ไขที่มาของ ผู้บริหาร สมาชิกสภาท้องถิ่น จากเดิมมาจากการเลือกตั้งโดยตรง เปลี่ยนเป็นจากการสรรหาหรือเลือกโดยสมาชิก และอาจมอบให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานที่จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นแทน กกต. ซึ่งการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ อาจเป็นการย้อนกลับมาใช้รูปแบบท้องถิ่นเดิมๆ เมื่อ 20 ปีที่แล้วที่มีรูปแบบ สภาตำบล สุขาภิบาล และสภาจังหวัด โดยกระทรวงมหาดไทยมีบทบาทสำคัญ
          ส่วนการยุบและควบรวม อบต. ยกฐานะเป็นเทศบาลตามข้อเสนอของ สปท.นั้น เชื่อว่า คสช.คงไม่สร้างความขัดแย้งกับนักการเมืองท้องถิ่นเพื่อรักษาฐานอำนาจ ที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงจะต้องรับฟังความเห็นจากประชาชน ยกเว้นว่า คสช.จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อหักดิบด้วยการยุบและควบรวม
          ดังนั้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนักการเมืองท้องถิ่นจะให้ความสนใจการเลือกตั้ง น้อยมาก และพยายามเสนอแนวทางสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลทุกด้าน ไม่มีการออกมาเสนอความเห็นที่ขัดแย้งเท่าที่ควร การยุบและควบรวมคงปล่อยให้ดำเนินการในรัฐบาลหน้า เพื่อให้มีข้อสรุปว่าจะออกมา รูปแบบใด โดยมี ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย
          นิพนธ์ บุญญามณี
          กรรมการบริหาร สมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย
          'แก้ปัญหาความขัดแย้งภาษีล้อเลื่อน'
          ในปี 2561 อบจ.ทั่วประเทศต้องเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง เนื่องจากทุก อบจ.ทำงานครบวาระแล้ว หาก คสช.จะเดินหน้าการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม อบจ.ถือเป็นท้องถิ่นแรกที่เลือกตั้งเร็วกว่าท้องถิ่นอื่น ยืนยันว่ามีความพร้อมทั้งหมด คาดหวังว่า ปี 2561 จะเป็นปีที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกครั้ง คืนอำนาจให้ประชาชนเลือกคนที่เหมาะสมทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการ นำความเจริญไปสู่ท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสร้างสังคมสันติสุข
          ส่วนการพิจารณาร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่นทั้ง 6 ฉบับ มีข้อกังวลว่าการเขียนกฎหมายอาจย้อนยุคไปมาก ถือว่าไม่สนับสนุนการกระจายอำนาจ ฝากผู้ร่างควรดูวิวัฒนาการของการกระจายอำนาจซึ่งมีมาเป็นลำดับ มีความก้าวหน้า ถ้าจะออกกฎหมายให้ถอยหลังก็ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ในที่สุดก็ต้องแก้ไข หากต้องการให้ท้องถิ่นทำหน้าที่บริการสาธารณะเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศ คิดว่ากฎหมายทั้ง 6 ฉบับมีความสำคัญกับอนาคตของท้องถิ่น
          ส่วนการกำหนดผู้บริหารให้ทำหน้าที่ไม่เกิน 2 วาระ เคยมีบทเรียนมาแล้วและมีการแก้ไข เพราะสังคมไม่ยอมรับ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะร่างใหม่เพื่อสร้างกติกาที่ล้าหลัง ขอให้ผู้เกี่ยวข้องศึกษารายงานผลวิจัยในอดีตก่อนการแก้ไขในร่างใหม่ ไม่อยากให้ผู้ร่างเอาความรู้สึกมาตัดสินใจ ควรดูเหตุผลให้รอบด้าน ถ้าไม่กำหนดวาระ หากประชาชนยอมรับ ถือว่าให้โอกาสคนมีความสามารถไปทำงาน และแม้ไม่กำหนดวาระ ถ้าประชาชนไม่ต้องการก็ไม่ได้รับเลือกเข้ามา ขอให้ไปดูสถิติว่าบุคคลที่จะทำงานเกิน 2 วาระมีน้อยมาก เงินอย่างเดียวไม่ใช่ตัวชี้วัด อย่าเหมารวมว่าอยู่นานแล้วรากงอก เพราะในระบอบประชาธิปไตยควรเปิดโอกาสให้ทุกคนเสนอตัว ขอให้ทุกฝ่ายเปิดรับฟังความเห็นก่อนมีข้อสรุป
          ในปี 2561 ปัญหาการแบ่งภาษีล้อเลื่อนปีละกว่า 30,000 ล้านบาท ระหว่าง อบจ. เทศบาล และ อบต.น่าจะยังไม่มีข้อยุติ และมีความขัดแย้งต่อไป ในอดีต อบจ.ปฏิเสธการแบ่งภาษีจากส่วนอื่น เพื่อขอภาษีล้อเลื่อนอย่างเดียว แต่เมื่อมีข้อตกลงแล้ว ต่อมาภาษีล้อเลื่อนกลับมีรายได้เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ อบต.และเทศบาลขอส่วนแบ่งเพิ่ม ดังนั้น ต่อไปการแบ่งภาษี ควรนำภารกิจมาเป็นหลักเกณฑ์ในการจัดสรร และไม่ต้องประชุมทุกปี แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องกำหนดให้ตายตัว ไม่ต้องให้ท้องถิ่นมีความขัดแย้ง สงสัยว่าหน่วยงานที่แบ่งงบประมาณต้องการเห็นท้องถิ่นทะเลาะกันหรือไม่ จึงไม่กำหนดหลักเกณฑ์ตายตัวมาใช้ให้มีมาตรฐานตามอำนาจหน้าที่และภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
          ศุภสัณห์ หนูสวัสดิ์
          กรรมาธิการบริหาร สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
          'ใช้งบสะสมตามความต้องการของประชาชน'
          ปี2561 การเลือกตั้ง อปท. จะเป็นหมากที่รัฐบาลนำมาเล่น หลายฝ่ายมองว่า ถ้าไม่ปฏิรูป อปท.ก็ไม่ควรเลือกตั้ง เพราะจะทำให้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งภารกิจ อำนาจหน้าที่ รายได้ การบริหารงานบุคคล ปัญหาการทุจริตที่เป็นโจทย์
          สำคัญของ อปท. ดังนั้น รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะนับหนึ่งใหม่ หรือ เดินหน้าบริหารจัดการ อปท.ให้มีประสิทธิภาพ ต้องเปลี่ยนวิธีการจัดสรรเงินให้ อปท.ใหม่ โดยให้ อปท. สามารถหาเงินด้วยตัวเองมากขึ้น ทั้งแบ่งให้และให้เก็บรายได้ ไม่ควรรอรัฐจัดสรรให้ตามความพอใจเหมือนที่ผ่านมา ส่วนจำนวนและรูปแบบ อปท.ปัจจุบันมีมากเกินไป ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ควรมีรูปแบบเดียวหรือ 2 รูปแบบคือ อปท.ทั่วไปกับ อปท.รูปแบบพิเศษ ผู้มีอำนาจต้องคิดและทำก่อนการเลือกตั้ง อปท. ถ้าใช้ อปท.เป็นตัวชี้วัดและดูทิศทางทางการเมือง ก็ต้องเลือกตั้งภายใต้เงื่อนไขเดิมๆ จากนั้นจะมี อปท.แบบเดิม ปัญหาเดิม หรือรอให้มีรัฐบาลใหม่แล้วกลับมาคิดปฏิรูป คิดว่าคงไม่มีโอกาสดีเช่นนี้อีก
          ดังนั้น คสช.ต้องระดมความเห็นว่าจะจัดการอย่างไรกับ อปท. หวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ อปท. มีคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิม และเป้าหมายสุดท้ายคือ ประชาชนต้องได้รับสิ่งที่ดีเพิ่มขึ้น
          ในปี 2561 ขอย้ำเรื่องใช้เงินสะสมของท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องรีบดำเนินการ แต่ต้องให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในแต่ละท้องถิ่น ส่วนกฎหมายท้องถิ่น ถ้าจะปฏิรูปจริงต้องทำประมวลใหม่ ถ้ายังไม่ดีพอก็นำมาถกเถียงกันใหม่ อย่ากังวลเฉพาะเรื่องควบรวม ผู้มีอำนาจควรมีความกล้าหาญเพื่อเป็นมรดกให้ลูกหลาน
          สุทธิพงษ์ จุลเจริญ
          อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
          'ช่วยเพิ่มความเข้มแข็งของท้องถิ่น'
          จากการประชุมคณะทำงานที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า อปท.ควรมีรูปแบบเดิมไปก่อน แต่กฎหมายใหม่จะมีความเข้มข้นเรื่องการปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งให้มีความพิเศษมากขึ้น มีความผูกพันกับคนในท้องถิ่น ไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน ส่วนอำนาจหน้าที่ก็เป็นไปตาม
          กฎหมาย และในเชิงคุณภาพผู้นำท้องถิ่นทุกรูปแบบต้องเพิ่มความเข้มเรื่องคุณภาพในการทำงาน ต้องตอบสนองกับปัญหาความต้องการของประชาชน เพราะโลกปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารรวดเร็ว ดังนั้น ผู้นำท้องถิ่นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ทันปัญหาที่เกิดขึ้น
          ส่วน สถ.ต้องเพิ่มคุณภาพงานของหน่วยสนับสนุน ต้องกำกับดูแลให้การทำงานของข้าราชการเป็นผู้ช่วยเหลือผู้บริหาร อปท. ให้สามารถทำงานได้โดยสะดวก ต้องเร่งรัดปรับปรุงแก้ไขระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรค ข้อขัดแย้งขององค์กรอิสระที่มีต่อการทำงานของ อปท.ให้สามารถทำงานได้โดยไม่ถูกเรียกเงินคืน หรือ ถูกลงโทษ
          เพื่อให้งานเดินหน้าตามเป้าหมายทั้ง สถ. ระบบราชการส่วนภูมิภาคทั้งจังหวัดและอำเภอ ผู้นำท้องถิ่นต้องหันหน้ามาพูดคุยสะท้อนปัญหาอย่างใกล้ชิด และในเชิงคุณภาพที่มีความสำคัญจะช่วยกันขับเคลื่อนให้มีความเข้มแข็ง มีการแบ่งงานออกเป็นหลายส่วน โดยเฉพาะการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียน เพื่อให้เด็กได้รับบริการและมีคุณภาพชีวิตที่ดี เรื่องสิ่งแวดล้อมมีการหยิบยกปัญหาการจัดการให้เป็นวาระแห่งชาติ ทุกฝ่ายต้องเพิ่มน้ำหนักการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ส่วนแนวทางที่ อปท.จะหนุนนโยบายของรัฐบาลมีซักซ้อมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ อปท.ทราบว่าต้องทำหน้าที่เหมือนรัฐบาล ทุกกระทรวง ทบวง กรม หวังให้ อปท.ช่วยขับเคลื่อนงานร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ดังนั้น ต้องทำงานตามอำนาจหน้าที่ ไม่เกี่ยงงอน เพื่อประโยชน์ตกอยู่กับประชาชน
          ในปี 2561 จะเป็นปีที่ทุกภาคส่วนช่วยกันทำให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีผู้บริหารที่ดี มีธรรมาภิบาลในการทำหน้าที่ ส่วนเงินสะสม 1.5 แสนล้านตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะนี้กระทรวงการคลังได้แจ้งแนวทางชัดเจนว่าวงเงินไม่เกิน 2 ล้านจะใช้วิธีการสอบราคาได้แทนการใช้ระบบอีบิดดิ้ง ซึ่งจะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณรวดเร็วมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น