วันศุกร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2561

ท้องถิ่น'ส่องชะตา ทิศทางที่เป็นไปในปี 2561


'ท้องถิ่น'ส่องชะตา ทิศทางที่เป็นไปในปี 2561
มติชน (กรอบบ่าย)  ฉบับวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๑

          นับว่าชัดเจนมากยิ่งขึ้นต่อกระแสข่าวที่อยากให้มีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขึ้นก่อนในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แล้วค่อยให้มีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
          โดยเมื่อวันที่ 6 พ.ย.2560 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมผู้เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กรณีการปลดล็อกการเลือกตั้งท้องถิ่น ว่า จะมีแก้ไขกฎหมายท้องถิ่นจำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กฎหมายเกี่ยวกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อบจ. เทศบาล กรุงเทพมหานคร และเขตปกครองพิเศษเมืองพัทยา เกี่ยวกับการแก้เรื่องคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และผู้บริหารต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยกร่างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น ก่อนจะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป คาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่นาน แต่คงไม่แล้วเสร็จทันในปีนี้ (2560)
          ต่อมา 22 พ.ย.2560 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดช่วงเวลาใดนั้น คิดว่าถ้าแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เสร็จตามกรอบเวลา คงทันตามเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุไว้ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดก่อนการเลือกตั้งระดับประเทศ แนวคิดที่มีอยู่คือจะให้เลือก อบจ. ก่อนเลือกตั้ง อบต.และเทศบาล ซึ่ง 2 องค์กรหลังจะเกิดพร้อมกัน หากเลือกตั้งท้องถิ่นพร้อมกันทั้งหมด จะทำให้ประชาชนสับสนได้
          ขณะที่นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรม ปกครองส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)ตอกย้ำ
          เพียงเท่านี้ สนามเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศเกิดความคึกคักทันที เพราะต่างมองเห็นทิศทางของ อปท.ในปี 2561 อีกครั้ง ส่วนจะเป็นอย่างไร คงต้องให้คนท้องถิ่นช่วยกัน "ส่องกล้อง" กันว่า เส้นทางของท้องถิ่นจะราบรื่นเพียงใดหรือยังมีหล่มที่ต้องเดินกันอย่างระมัดระวังอีกครั้ง
          ชัยมงคล ไชยรบ
          อดีตนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แห่งประเทศไทย
          ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าในปี 2561 จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะเป็นปัญหาภายในของผู้มีอำนาจ ส่วนตัวเชื่อว่าถึงเวลาเหมาะสมควรมีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน จะช่วยผ่อนคลายเพื่อนำร่องสู่การเลือกตั้งระดับชาติ ยอมรับว่ามีความพยายามมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อกฎหมายพรรคการเมือง จะส่งผลกระทบกับการเลือกตั้งท้องถิ่นแน่นอน จะทำให้นักการเมือท้องถิ่นรับอานิสงส์เพื่อรักษาการตามมาตรา 44 ไปอีก การตอบโจทย์สู่ประชาชน ผมยังเชื่อมั่นกระบวนการการเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน หากให้รักษาการไปเรื่อยๆ เท่ากับฝังรากลึกอยู่ในอำนาจที่ไม่ชอบธรรม วันนี้ประชาชนไม่ได้ใช้อำนาจ ผู้ที่ผ่านการเลือกตั้งอาจทำงานผิดพลาดแต่ไม่สามารถเอาออกได้ เหตุที่ให้ท้องถิ่นรักษาการก็ต้องการให้สอดคล้องกับอำนาจระดับประเทศ ต้องการอยู่ยาวจากการยึดอำนาจ
          ผู้บริหารท้องถิ่นส่วนใหญ่พึงพอใจไม่ได้เรียกร้องหรือสะท้อนมุมให้มีการเลือกตั้ง เพราะต้องการรักษาการไปนานๆ เห็นแก่ตัวเป็นอย่างยิ่ง แต่บางส่วนต้องการเลือกตั้ง แต่ถ้าไม่มีการเลือกตั้งในปี'61 ก็อาจจะมีการเซตชีโร่ให้ปลัดท้องถิ่นรักษาการแทน จะเลวร้ายหนักเข้าไปอีก ไปสอดคล้องกับการรวมศูนย์อำนาจที่รัฐบาลต้องการให้ข้าราชการประจำมีบทบาทเพิ่มขึ้น จากสายงานที่กำกับดูแลในระบบราชการบริหารส่วนภูมิภาค มีความเชื่อกันว่าข้าราชการคือกลุ่มคนดี แต่นักการเมืองคือ คนเลว ทั้งที่คนดีคนเลวมีแทบทุกวงการ ผู้บริหารท้องถิ่นควรมีความคิดอิสระในพื้นฐานของการกระจายอำนาจ ส่วนผู้ที่จะสั่งนักการเมืองได้คือประชาชน
          สำหรับการปฏิรูปท้องถิ่นขณะนี้ยังไม่เห็นความชัดเจน ก้าวเข้าปี 2561 ยังเหมือนเดิมทั้งแนวคิดการกระจายอำนาจ การกระจายงบประมาณ การหารายได้ การปรับโครงสร้าง เพราะผู้มีอำนาจไม่มีความจริงใจ การปฏิรูปที่แท้จริงที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุดจะไม่เกิดขึ้นจริง ทั้งที่หัวใจของท้องถิ่นคือการกระจายอำนาจ สุดท้ายถ้าปี'61 อาจจะยังไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นตามที่คาดหมาย อ้างว่าบ้านเมืองยังไม่สงบ กฎหมายยังไม่เสร็จ กลัวความขัดแย้งจากการหาเสียง
          บุญธรรม รุ่งเรือง
          นายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำฉวาง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช
          การเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีขึ้นในห้วงเวลาใดเห็นด้วยตลอด หากรัฐบาลมีความพร้อม ฝ่ายจัดการเลือกตั้งมีความพร้อม แต่ละส่วนราชการก็พร้อม เพราะท้องถิ่นไม่ได้เป็นผู้กำหนด ทุกอย่างอยู่ที่รัฐบาลและ คสช.เป็นผู้กำหนด
          จะเห็นว่านักการเมืองท้องถิ่นไม่มีอำนาจต่อรองหรือนำเสนอร่างกฎหมายใดๆ แต่พวกเราในนามคนท้องถิ่น ก็ให้กำลังใจรัฐบาลเสมอ รอว่าวันเวลาใดที่จะปลดล็อก โดยหลักแล้วท้องถิ่นอยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด การมีท้องถิ่น
          นั้นผมมองว่าดีอยู่แล้ว การจะเข้ามาเป็นผู้นำท้องถิ่นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมที่ดี มีหลักธรรมาภิบาลในทุกฝ่าย ที่สำคัญควรมีบทลงโทษที่จริงจัง รวดเร็ว ขั้นตอนไม่สลับซับซ้อน เมื่อพบว่ามีการกระทำความผิดในทุกกรณี นอกจากนี้ ท้องถิ่นจะต้องเพิ่มขีดความสามารถให้การบริหารคล่องตัวเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านได้อย่างทันท่วงที
          ส่วนอนาคตการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็น่าจะเข้าสู่การเมืองสีขาว การเลือกตั้งต้องลดความรุนแรงในการชิงความเป็นผู้นำ การเข้าสู่ตำแหน่งแต่ละตำแหน่ง ผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติที่โดดเด่นหลายประการ ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เป็นนักการเมืองอาสาทำงานเพื่อชาวบ้าน มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มองไปข้างหน้าแล้วมองรอบตัว มองแบบ 360 องศา เพื่อให้มีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
          สุดท้ายการเลือกตั้งไม่ว่าระดับไหน ในอนาคตยังคิดกันแบบเดิมๆ ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับกรรมการตัดสินไม่เป็นกลาง ขอฝากทุกฝ่ายช่วยกันปลูกต้นไม้ต้นจิตสามัญสำนึก กันเยอะๆ เมื่อเรามีเมล็ดข้าวพันธุ์ดีแต่ไม่มีนาที่จะปลูก เราก็เอาเมล็ดพันธุ์ข้าวไปฝากปลูกในนาแปลงอื่น ถามว่านี่คือเมล็ดพันธุ์ข้าวดีจริงหรือไม่ นาแปลงอื่นปล่อยให้ว่าง เพื่อรอเมล็ดพันธุ์ข้าวของเราอย่างนั้นหรือ ไม่คิดเอง ทำเอง ปลูกเอง ประมาณนี้ ไม่ใช่ระบบตกเขียว การพัฒนาบ้านเมืองจะมาคิดแบบย้อนยุค ดึกดำบรรพ์เหมือนรำวงเวียนครกไม่ได้ ต้องก้าวไปข้างหน้าอย่างมีวิสัยทัศน์ ที่กว้างไกล
          ทัศนัย บูรณุปกรณ์
          นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่
          เห็นด้วยที่จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 61 ก่อนเลือกตั้งใหญ่ว่า เนื่องจากในปี 2560 ผู้บริหารท้องถิ่นทั่วประเทศครบวาระแล้ว 90% อยู่ระหว่างรักษาการ บางส่วนครบวาระพฤษภาคม ปี 2561 หรือครบ 100% แล้ว หลังเกิดการยึดอำนาจทำรัฐประหาร เมื่อพฤษภาคม ปี 2557 หรือเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา
          ประชาชนเห็นว่าผู้บริหารท้องถิ่นส่วนใหญ่ครบวาระแล้ว เพียงรักษาการเท่านั้นจึงอยากให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยเร็ว เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เลือกผู้เสนอตัวหรืออาสามารับใช้ทำหน้าที่ดังกล่าว ส่วนแนวโน้มอาจมีนักการเมืองระดับชาติลงเลือกตั้งท้องถิ่นมากขึ้นหรือไม่นั้น เป็นสิทธิที่กระทำได้ อยากให้เสนอตัวกันมากๆ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก หากเป็นคนดี คนเก่ง มีความสามารถ ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นแต่ห่วงว่าไม่กล้าเสนอตัวมากกว่า เพราะกลัวการเมืองหรือกลัวการตรวจสอบจากสังคม
          นอกจากนั้น รัฐบาลบริหารประเทศมีงบประมาณปีละ 2 ล้านล้านบาท แต่ท้องถิ่นมีงบจำกัด บางแห่งมีเพียงหลักสิบล้านบาทต่อปี ขนาดกลาง 100-500 ล้านบาท ขนาดใหญ่ 500-1,000 ล้านบาท แตกต่างกันมาก ตามระบอบประชาธิปไตย ต้องมีตัวแทนหรือท้องถิ่นแทนประชาชน กฎกติกาช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คุณภาพนักเมืองดีขึ้น ทั้งความรู้ ความสามารถ วิสัยทัศน์ ตอบสนองความต้องการประชาชนได้ นักการเมืองปัจจุบันอาจต้องแก้ผ้าให้องค์กรอิสระ สังคมและสื่อตรวจสอบได้ โดยเฉพาะทรัพย์สิน ในอนาคตการตรวจสอบยิ่งเข้มข้น
          ดังนั้นต้องสนับสนุนส่งเสริมคนดี คนเก่ง มีฝีมืออาสารับใช้ประชาชนมากขึ้น อยากฝาก คสช.และรัฐบาล ควรกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ไม่ควรรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางหรือภูมิภาค เป็นผลเสียต่อการพัฒนาท้องถิ่นมากกว่า ไม่สามารถตอบสนองความต้องการประชาชนหรือชุมชนได้ตรงจุด การกระจายอำนาจได้พิสูจน์ตัวมันแล้วว่า สามารถตอบสนองความต้องการประชาชนได้ตรงจุด
          วีระศักดิ์ เครือเทพ
          นักวิชาการประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
          ไม่แน่ใจว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นหรือไม่ วันนี้การเลือกตั้ง ส.ส.ตามโรดแมปมีน้อยมาก แม้อียูจะส่งสัญญาณที่ดี แต่จากสถานการณ์ ผลงานรัฐบาล สภาวะเศรษฐกิจยังไม่เอื้ออำนวย เมื่อมองมาที่สนามเลือกตั้งท้องถิ่นเริ่มริบหรี่ มีประเด็นที่ทราบว่ากลุ่มการเมืองออกมาเรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองก็เป็นอีกจุดที่สะท้อนให้โรดแมปถูกเลื่อน ที่สำคัญหลายฝ่ายเกรงว่าจะมีการสร้างกระแสความวุ่นวายเพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง
          ผมคุยกับผู้ใหญ่รายหนึ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญบอกว่าใน สนช.เริ่มคุยกันเกี่ยวกับการแก้กฎหมาย หรือตรา พ.ร.ป.ให้เรียบร้อย เรื่องนี้จะมีการดึงไปเรื่อยๆ ยื้อไปให้นานที่สุด หรืออาจจะล้มกระบวนการและเริ่มเขียนกันใหม่ เพราะ สนช.ไม่รับรองไม่สามารถสรุปหลักการได้ ยกตัวอย่างจากกรณีการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค
          ส่วนร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่น 6 ฉบับ ยังไม่ชัดเจนหลายประเด็น ที่กังวลมากที่สุด คือการปรับแก้คุณสมบัติของ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกำหนดวาระของผู้บริหารท้องถิ่นไม่เกิน 2 วาระตามที่ สปท.ศึกษาแนวทางไว้ ยังไม่มีข้อสรุปและผู้บริหาร อปท.ส่วนใหญ่อาจไม่เห็นด้วย แต่กระแสต่อต้านยังไม่มีเพราะส่วนใหญ่ยังพอใจกับการรักษาการหลังหมดวาระ ตามมาตรา 44 เชื่อว่าหลังจากมีการเลือกตั้งตามปกติก็จะมีการเสนอให้แก้ไขเหมือนในอดีต
          ที่สำคัญการกำหนดอำนาจหน้าที่ โครงสร้างของ อปท.จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรหลังจากมีข้อเสนอให้ยุบหรือควบรวม คงไม่มีแก้ไขเพราะเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากการแก้ไขจะทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องเลื่อนออกไป จะสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองสูงมาก เช่นเดียวกับการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.และเมืองพัทยา อปท.ในรูปแบบพิเศษผู้มีอำนาจก็ยังไม่ปล่อย จะสร้างแรงกดดันให้มีการเลือกตั้ง อบจ. อบต.และเทศบาล แม้ว่าการบริหารงาน กทม.และเมืองพัทยา ค่อนข้างเงียบมากผลงานไม่เข้าตาประชาชน ต่างจากยุคที่มีผู้ว่ามาจากการเลือกตั้งอย่างชัดเจน ดังนั้น คสช.จะตัดสินใจโดยประเมินจากผลการเลือกตั้งเป็นหลัก ถ้าเลือกตั้งแล้วคุมไม่ได้ก็คงไม่ปล่อย
          คสช.เริ่มมองเกมออกแล้วว่า ยังเป็นรองทางการเมืองกับคู่แข่งต่างขั้ว จึงจะยืดการเลือกตั้ง ส่วนนักการเมืองท้องถิ่นที่รักษาการที่ได้ประโยชน์ก็จะต้องนิ่งและเป็นฐานให้ เนื่องจาก คสช.ยังมีมาตรา 44 เป็นทีเด็ดสั่งแขวน หรือใช้ยาแรงสั่งยุบทิ้งหรือควบรวม ผมมองว่าพอมีข่าวจะเลือกตั้งกระแสท้องถิ่นค่อนข้างเงียบมาก ไม่มีท่าทีที่โดดเด่น เพราะได้รักษาการแม้ว่าจะไม่ชอบธรรมจากคำสั่ง ม.44 แต่มีอำนาจตัดสินใจตามปกติ
          ผมมองว่า คสช.จะดึงการเลือกตั้งออกไปจนกว่าวงจรเศรษฐกิจ จะเป็นขาขึ้น คล้ายกับรอตัวช่วยจากระยะเวลาและโชคชะตา เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น คสช.จึงจะยอมปล่อยให้เลือกตั้งเพราะหวังผลทางการเมือง ฉะนั้นในปี'61 ผมฟันธงว่าไม่มีการเลือกตั้ง ส่วนข้อตกลงกับต่างชาติอาจจะมีปัญหาบางประการที่มีเหตุผลในการเลื่อนออกไป เช่นการสร้างสถานการณ์ไม่สงบและอ้างความชอบธรรมเพื่อรักษาความสงบต่อไป ดังนั้น ช่วงที่ใกล้จะถึงโรดแมปอาจจะได้เห็นสถานการณ์บางอย่างเด่นชัดมากขึ้น ผมขอมองโลกในแง่ร้ายการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติไม่สดใสอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น