สายตรงท้องถิ่น: บุคลากรท้องถิ่นเสนอแนะผู้บริหารท้องถิ่น |
สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ |
ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม ผมมีงานวิจัยเรื่อง "โครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปีงบประมาณ 2560" เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้โครงการฯ ได้ดำเนินการมาถึงขั้นตอนการวิเคราะห์/ สังเคราะห์ข้อมูลออกมาเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพจากข้อเสนอแนะของบุคลากรท้องถิ่น เมื่อมองในภาพรวมสามารถแบ่งข้อเสนอแนะออกเป็น 2 ด้าน คือ 1) ความคิดเห็นของบุคลากรที่มีต่อหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และ 2) ความคิดเห็นของบุคลากรที่มีต่อผู้บริหารท้องถิ่น ในส่วนความคิดเห็นของบุคลากรที่มีต่อหน่วยงาน อปท. นั้น บุคลากรได้แสดงความเห็นต่อหน่วยงานของตนเองอย่างกว้างขวาง สามารถสรุปประเด็นเป็นประเด็นร่วมได้ ดังนี้ 1.การบริหารงานที่โปร่งใสและยึดมั่นในหลักคุณธรรม บุคลากรที่ปฏิบัติงานจำนวนมากล้วนมีความคาดหวังให้ในการบริหารงานของ อปท. จำเป็นต้องยึดมั่นในหลักการความโปร่งใสและการถือหลักคุณธรรมโดยบุคลากรส่วนใหญ่มักมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า กระบวนการต่างๆ ในการบริหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงการดำเนินโครงการต่างๆ ควรต้องเป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์โดยเคร่งครัด และต้องไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ นอกจากนั้น บุคลากรยังให้ความเห็นว่าในบางอปท. ยังพบว่า มีการเรียกรับผลประโยชน์จากกลุ่มผู้รับเหมาที่ดำเนินโครงการต่างๆซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง 2.การมีส่วนร่วมของประชาชนและการตรวจสอบที่สม่ำเสมอ สอดคล้องกับความต้องการของบุคลากรที่ต้องการเห็นการบริหารงานท้องถิ่นมีความโปร่งใส ดังที่กล่าวมาข้างต้น บุคลากรท้องถิ่นยังมีความคาดหวังที่จะเห็นกระบวนการมีส่วนร่วม ของประชาชนในการบริหารงานของ อปท.เช่น การเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการโครงการต่างๆ ของ อปท. เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชน จะทำให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบถึงขั้นตอนและกระบวนการในการบริหาร อันจะช่วยให้การ บริหารงานเกิดความโปร่งใสได้มากขึ้น นอกจากนั้น บุคลากรยังคาดหวังที่จะเห็นกระบวนการตรวจสอบโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมออีกด้วย 3.การบริหารงานที่ถูกแทรกแซง ในบางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคลากรท้องถิ่นยังได้ระบุว่า สมาชิกสภาท้องถิ่นได้เข้ามามีบทบาทแทรกแซงการตัดสินใจทางด้านการบริหาร หรือในบางกรณี อาจมากดดันการทำงานของบุคลากรใน อปท. ทำให้การดำเนินการต่างๆ มิได้เป็นไปโดยธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น และในบางพื้นที่ผู้บริหารท้องถิ่นเอง ก็อาจแทรกแซงและกดดัน การดำเนินการในเรื่องต่างๆ ของบุคลากรในฝ่ายประจำค่อนข้างมาก 4.จำนวนและศักยภาพของบุคลากรที่เหมาะสม บุคลากรท้องถิ่นได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับจำนวนและขีดความสามารถของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในอปท. กล่าวคือ ในบาง อปท. บุคลากรที่ปฏิบัติงานมีความเห็นว่า บุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ในองค์กรอาจยังมีจำนวนที่ไม่เพียงพอทำให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่มีภาระงานที่หนักมาก ในขณะที่อีกหลาย อปท. มองว่าความรู้ ความสามารถของบุคลากรที่ปฏิบัติงานภายในองค์กรยังคงมีอยู่อย่างจำกัด บุคลากรยังคงขาดความรู้ความเข้าใจในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของ อปท. 5.ความเป็นเอกภาพและความสามัคคีระหว่างบุคลากรท้องถิ่น บุคลากรท้องถิ่นหลายแห่ง ยังได้สะท้อนสภาพปัญหาที่สำคัญอีกข้อหนึ่งของ อปท. ก็คือ การที่บุคลากรท้องถิ่นยังคงขาดความสามัคคี มีสภาพที่แตกแยกแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ซึ่งสภาพลักษณะเช่นนี้ นับเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการทำงานของ อปท. เพราะทำให้ขาดพลังในการปฏิบัติงาน ด้านความคิดเห็นของบุคลากรท้องถิ่นที่มีต่อผู้บริหารท้องถิ่น นอกจากความคิดเห็นของบุคลากรที่มีต่อหน่วยงานแล้ว ในข้อคำถามยังได้สอบถามถึงความคิดเห็นของบุคลากรที่มีต่อผู้บริหารด้วยซึ่งความคิดเห็นที่มีต่อผู้บริหารอาจกล่าวโดยสรุปเป็นประเด็นร่วมได้ ดังนี้ 1.ระบบอุปถัมภ์ภายในองค์กรและความเป็นธรรมในการบริหาร บุคลากรที่ปฏิบัติงานใน อปท. จำนวนหลายแห่ง ต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบอุปถัมภ์ยังเป็นปัญหาที่สำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ ผู้บริหารท้องถิ่นมักให้ความสำคัญกับพรรคพวก ญาติพี่น้อง ทำให้การปฏิบัติงานของ อปท. ขาดความเป็นธรรม การให้คุณให้โทษแก่บุคลากรไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรม การบริหารงานมีลักษณะของการเอื้อประโยชน์ให้กับเครือข่ายที่มีความสนิทสนมไม่ตรงไปตรงมา 2.การรับฟังความคิดเห็นของบุคลากรผู้ใต้บังคับบัญชา เนื่องจากระบบการบริหารงานบุคคลของ อปท. อาจมีลักษณะเป็นระบบที่ให้อำนาจกับผู้บริหารท้องถิ่นค่อนข้างมาก ทำให้ในการบริหารงานบุคลากรท้องถิ่นมักพบว่า ผู้บริหารมักไม่ค่อยรับฟังคำแนะนำจากบุคลากรที่เป็นข้าราชการประจำ ซึ่งบางครั้งเป็นการให้คำแนะนำในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบ การไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชาอาจทำให้ข้าราชการประจำไม่ได้แสดงศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ 3.ความรู้ความสามารถของผู้บริหารท้องถิ่น บุคลากรท้องถิ่นจำนวนหนึ่งมองว่าผู้บริหารท้องถิ่น แม้จะมีวิสัยทัศน์และเอาใจใส่ในทุกข์ สุขของประชาชนก็ตาม แต่ผู้บริหารจำนวนไม่น้อยยังคงขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องระเบียบและหลักเกณฑ์ต่างๆที่สำคัญและจำเป็น ตลอดรวมไปถึงทักษะหรือความรู้ด้านการบริหารใหม่ๆ ที่อาจจำเป็นต้องมีการพัฒนาให้เป็นผู้บริหารที่มีความทันสมัย ที่ได้สรุปมาให้เห็นข้างต้นนี้ เป็นประเด็นข้อเสนอแนะที่ได้จากมุมมองของบุคลากรท้องถิ่นที่มองไปยังหน่วยงานและผู้บริหารท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาวการณ์ของปัญหา และสถานการณ์จริงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กำลังเผชิญในปัจจุบัน |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560
สายตรงท้องถิ่น: บุคลากรท้องถิ่นเสนอแนะผู้บริหารท้องถิ่น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น