วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คอลัมน์ หมายเหตุประเทศไทย: ตลาดประชารัฐ ต่อลมหายใจฐานราก

คอลัมน์ หมายเหตุประเทศไทย: ตลาดประชารัฐ ต่อลมหายใจฐานราก
ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

          ลมกรด
          ตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจไทยปีนี้ดูดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกที่ขยายตัวตามสภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการท่องเที่ยวที่ทำรายได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย แต่มีแค่คนระดับบนเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ส่วนคนยากคนจนระดับล่างกลับไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเลย เงินทองฝืดเคืองเหมือนเดิม ตอกย้ำถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งนับวันยิ่งรุนแรงขึ้น
          การค้าขายยุคนี้ใช้เงินต่อเงิน คนรวยยิ่งรวยขึ้น ทุนใหญ่กินรวบมีอำนาจต่อรองสูง ส่วนพ่อค้าแม่ค้า ชาวบ้านฐานราก มีทุนน้อยแถมขาดโอกาส ก็ยิ่งทำมาหากินลำบากขึ้นทุกวัน
          การที่รัฐบาลจัดโครงการ ตลาดประชารัฐไทยช่วยไทย ขึ้นมาจึงเหมือนกับ ต่อลมหายใจให้ฐานราก เป็นการเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้ขายสินค้า ทั้ง ทำเลดี และ ค่าเช่าถูก เมื่อต้นทุนถูกลงก็พอจะมีโอกาสต้านทานกระแสยักษ์ใหญ่ห้างค้าปลีกได้บ้าง
          ตลาดประชารัฐมีทั้ง ตลาดทำขึ้นใหม่ กับ ตลาดที่มีอยู่แล้วแต่จะขยายพื้นที่และเพิ่มวันทำการ เพื่อให้เกษตรกร กลุ่มโอทอป กลุ่มเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน ร้านอาหาร หาบเร่ แผงลอย มีพื้นที่ขายของมากขึ้น
          ตามแผนที่วางไว้ตลาดประชารัฐมี 9 ประเภท จำนวน 6,447 แห่ง ได้แก่ 1.ตลาดประชารัฐ GreenMarket ดำเนินการโดยองค์การตลาด 2.ตลาดประชารัฐคนไทยยิ้มได้ ดำเนินการโดยกรมการพัฒนาชุมชน 3.ตลาดประชารัฐท้องถิ่นสุขใจ ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 4.ตลาดประชารัฐ กทม.คืนความสุข ดำเนินการโดยกทม. 5.ตลาดประชารัฐของดีจังหวัด ดำเนินการโดยจังหวัด และบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด
          6.ตลาดประชารัฐ Modern Trade ดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์ และบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) 7.ตลาดประชารัฐของดีวิถีชุมชน ดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 8.ตลาดประชารัฐต้องชม ดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์ 9.ตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม ดำเนินการโดยกระทรวงวัฒนธรรม
          แนวคิดการจัดทำตลาดประชารัฐมีมาพักใหญ่แล้ว แต่แรงจูงใจส่วนหนึ่งที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งเดินหน้าเต็มตัวเป็นเพราะตอนไปประชุม ครม.สัญจรที่อยุธยาได้ไปเห็นความสำเร็จของ "ตลาดกรุงศรี" ด้านหลังศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ซึ่งเกิดจากผลักดันร้านค้าที่รุกล้ำเข้าไปยึดพื้นที่ขายของในวัดมงคลบพิตรให้ย้ายมาขายที่นี่แทน เหมือนเป็นการจัดระเบียบใหม่แล้วตั้งชื่อเป็นตลาดกรุงศรี
          ตอนนี้ตลาดกรุงศรีกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ เป็นแหล่งช็อปปิ้งสินค้าท้องถิ่น ถนนคนเดิน และตลาดน้ำ (ผมอยากให้ กทม.ไว้ดูเป็นตัวอย่างเพราะ กทม.จัดระเบียบหาบเร่ แผงลอย สตรีตฟู้ด แต่สถานที่ใหม่ที่จะให้ไปขายนั้นทำเลไม่ดี)
          เมื่อบิ๊กตู่เห็นว่า ตลาดท้องถิ่น ตลาดชุมชนก็ทำให้คนติดได้ จึงสั่งให้กระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งานจัดทำโครงการตลาดประชารัฐไทยช่วยไทยเพราะกระทรวงมหาดไทยมีตลาดอยู่แล้วร่วม 6 พันแห่งเป็นของกรมการพัฒนาชุมชน 2,155 แห่ง และตลาดของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 3,822 แห่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นตลาดที่มีผู้คนมาจับจ่ายใช้สอยมาก
          ตลอดทั้งเดือน พ.ย.นี้ รัฐบาลเปิดให้ผู้สนใจขายของที่ตลาดประชารัฐไปลงทะเบียน แล้วจะเริ่มเปิดตลาดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้ ผมจึงอยากเชิญชวนคนที่ยังไม่มีแผงค้าให้ไปลงทะเบียนกัน
          โครงการนี้ถือว่าช่วยชาวบ้านอย่างถูกทาง รัฐบาลหยิบยื่นโอกาสมาให้ ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ต้องช่วยตัวเองด้วย ต้องมีใจลุกขึ้นมาสู้ครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น