รัฐบาลเช็กความพร้อม ปลดล็อกเลือกตั้งท้องถิ่น |
มติชน ฉบับวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ |
หมายเหตุ
- ความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายหลังนายวิษณุ เครืองาม
รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ
กระทรวงมหาดไทย (มท.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สำนักงานกฤษฎีกา
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ถึงการเตรียมความพร้อมในการแก้ไขกฎหมายเพื่อเตรียมจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น
ตามนโยบายของรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมได้หารือในประเด็นสำคัญเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นในเร็วๆ นี้ ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย 6 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545, พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พ.ศ.2537, พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 (อบจ.), พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ.2528 และ พ.ร.บ.บริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2542 ทั้งหมดสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ จากนั้นจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป เมื่อกฎหมายทั้ง 6 ฉบับบังคับใช้แล้ว จึงจะรู้ว่ามีการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทใด จากนั้นจึงจะมีการปลดล็อก คิดว่าการดำเนินการจะใช้เวลาไม่นาน ด้านการรับฟังความคิดเห็นได้เชิญสมาคม เทศบาล, อบต., อบจ. มาหารือถึงคุณสมบัติกับลักษณะต้องห้าม ส่วนกฎหมายอีก 5 ฉบับเป็นการแก้ไขที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ เช่น การให้ผู้บริหาร ท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ต้องไม่มีผลประโยชน์ ทับซ้อน เป็นต้น รัฐธรรมนูญ 2560 จริงจังกับเรื่องดังกล่าว จึงต้องแก้กฎหมายอีก 5 ฉบับให้สอดคล้องกัน แต่ทั้งหมดคงจะไม่เสร็จภายในปีนี้ เพราะเหลือเวลาแค่ 1 เดือนก็สิ้นปี ช่วงเวลาที่เหลือนี้จะใช้ในการฟังความคิดเห็น หากกฎหมายผ่าน ครม.และเข้า สนช.แล้ว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพิจารณาปลดล็อกเพื่อให้มีการเลือกตั้งหรือไม่นั้น คสช.จะเป็นผู้พิจารณา การประชุมวันนี้ไม่ได้หารือกันเรื่องโครงสร้าง เพราะถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องใช้เวทีอื่น กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตั้งข้อสังเกตไว้ 3 ประเด็น ก็ได้นำมาพิจารณาด้วย คือ 1.การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องดูให้แน่ชัดว่า โครงสร้างท้องถิ่นเป็นอย่างไร เมื่อมีการเลือกตั้ง หากมีการปรับโครงสร้างใหม่ออกมาจะทำอย่างไร คิดว่าโครงสร้าง อบต.น่าจะเกิดผลกระทบ ดังนั้นการเลือกตั้ง อบต. คงยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ส่วนท้องถิ่นอื่นๆ น่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า 2.สมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นหลายๆ คน มีชนักติดหลังเพราะมาตรา 44 ในเรื่องนี้เห็นว่าถ้าใครผิดก็ต้องลงโทษ ถ้าไม่ผิดก็ควรจะคืนตำแหน่งไป ตอนนี้อยู่ระหว่างการสำรวจรายชื่อ ว่าใครมีความผิด หรือติดเรื่องอะไรบ้าง หรือที่ยังคืนตำแหน่งไม่ได้เพราะอะไร แล้วจะชี้แจงให้รับทราบอีกครั้ง 3.หากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นจริง พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครลงได้หรือไม่ ระหว่างที่ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง ในประเด็นนี้จะมีการหารืออีกทีว่า จะปลดล็อกให้หรือไม่อย่างไร เพราะยังมีเวลาพอสมควร เรารู้ปัญหาของแต่ละอัน ถ้าเลือกตั้งแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น รวมทั้งงบประมาณและภาระของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย กรณีที่ กกต.สงสัยในมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.กกต. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ชี้แจงให้ทราบเรียบร้อยแล้วว่า ไม่มีอะไรขัดแย้งกับกฎหมาย และไม่มีอะไรควรสงสัย เพราะตามรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ให้ กกต.มีหน้าที่จัดและดำเนินการให้มีการเลือกตั้ง ประเด็นนี้ก็แล้วแต่ กกต.จะมอบหมายให้ใครหรือไม่ เช่น อาจจะมอบหมายให้ อปท. หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการเลือกตั้งก็ได้ ในรัฐธรรมนูญยังได้เขียนอีกว่า หากมีการทุจริตแจกใบเหลือง ใบแดง ถ้าเป็นการเลือกตั้งระดับชาติ ให้ กกต.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องศาลฎีกา ถ้าเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็ให้ กกต.ฟ้องต่อศาลอุทธรณ์ ตอนนี้ไม่ได้มอบอำนาจให้ใครเลย อย่างไรก็ตาม กกต.ก็ต้องตอบโจทย์อยู่ดี เมื่อขั้นตอนแก้ไขกฎหมายเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปเป็นเรื่องของ คสช. เพราะล็อกอยู่ที่ คสช.ก็ต้องเป็นผู้ปลดล็อก สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ที่ประชุมเตรียมความพร้อมการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นมีความเห็นตรงกันว่า การจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ กกต. จะจัดเองหรือมอบหมายหน่วยงานใดก็ได้ การมอบให้หน่วยงานอื่นจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ไม่ได้หมายถึงการลิดรอนสิทธิของ กกต. โดยจะเสนอ ครม.ถึงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นของ สถ. และเสนอให้จัดเลือกตั้งภายหลังการปรับแก้กฎหมาย มาตรา 252 วรรค 2 และวรรค 3 เรื่องคุณสมบัติของผู้นำท้องถิ่นให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายในเดือนมกราคม 2561 หลังจากนั้นจะเลือกตั้งเมื่อไรก็แล้วแต่รัฐบาลและ คสช. ส่วนการแก้ไขกฎหมายจะมีความรวดเร็วมากขึ้น เพราะสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างไว้แล้ว จากนั้นจะส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาให้ความเห็น หากเห็นพ้องก็จะเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป ในเรื่องการสนับสนุนให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สถ.ได้เสนอที่ประชุมว่า ไม่อยากให้พื้นที่ที่ทับซ้อนกันเลือกตั้งพร้อมกัน คือ ให้แยกการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ออกจากการเลือกตั้งเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพราะ อบจ.นั้นครอบคลุมมากกว่า จึงอยากให้แยกกันคนละครั้ง นอกนั้นให้จัดพร้อมกันได้หมด ขณะที่งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ประชุมยังไม่ได้หารือ เพราะยังไม่ทราบวันเลือกตั้ง แต่งบประมาณจะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนที่สะท้อนไปยังหน่วยการจัดการเลือกตั้ง คณะกรรมการประจำหน่วย บัตรเลือกตั้ง คู่มือการจัดอบรม ซึ่งมีแนวทางในการปฏิบัติที่รัฐบาลพร้อมจะสนับสนุนอยู่แล้ว ส่วนที่กระทรวงการคลังเสนอใช้งบประมาณท้องถิ่นจัดการเลือกตั้งนั้น แล้วแต่รัฐบาล เพราะงบท้องถิ่นมีกฎการใช้อยู่ แต่ในเรื่องของการใช้จัดการเลือกตั้ง เท่าที่ศึกษาไม่มีช่องทางที่จะใช้ได้ เพราะท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง มีแต่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน แต่อาจจะต้องปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผู้รู้ว่าสามารถใช้ได้หรือไม่ มิเช่นนั้นจะผิดกฎหมาย |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
รัฐบาลเช็กความพร้อม ปลดล็อกเลือกตั้งท้องถิ่น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น