วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

กกต.ดักคอเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนยืดโรดแมปเลือกส.ส.

กกต.ดักคอเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนยืดโรดแมปเลือกส.ส.
ผู้จัดการรายวัน 360 องศา  ฉบับวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

          ผู้จัดการรายวัน360 - "สมชัย" เปิด 4 เหตุทำเชื่อเลือกตั้งท้องถิ่น เกิดหลังเลือกตั้ง ส.ส. ชี้ กม.ท้องถิ่น-ควบรวม ยังไม่เสร็จ ทำจริงเสียงบ 2 รอบ ซ้ำร้ายกระทบโรดแมป ต้องเลื่อนเลือกตั้งใหญ่ ด้าน "วิษณุ" เผย กม. เลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ ร่างเสร็จแล้ว รอฟังความเห็น "มท.-กกต." ธ.ค.นี้ ระบุ คสช.ไม่เคยประกาศเลือกตั้ง พ.ค.ชี้ กกต.ต้องแก้ปัญหา หากกระชั้นชิดเลือกตั้งใหญ่ ยันปลดล็อกแค่บางส่วน เพื่อให้หาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นได้
          นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวถึงเหตุผลของตนเอง ที่ทำให้เชื่อว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นอาจจะมาหลังเลือกตั้งทั่วไป ว่า 1. การเตรียมการในด้านกฎหมายยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่า ยังต้องมีการแก้ไข กม. ที่เกี่ยวข้องประมาณ 5-6 ฉบับ และกว่าจะนำเข้าสภา ก็น่าจะเป็นเลยปีใหม่ไปแล้ว ดังนั้น คิวการนำเข้าสภาจึงอยู่หลัง กม.เลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่จะเข้าในปลายเดือน พ.ย.นี้
          "ตามหลัก first in first serve กฎหมายเข้าก่อนก็ต้องเสร็จก่อน ยกเว้นจะมีการจัดคิวพิเศษ และพิจารณาผ่านกันตอนตีสาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แปลว่า สภาขยันเป็นพิเศษ"
          2. หลังการแก้ กม.ยังมีกิจกรรมอีกหลายอย่าง ที่ต้องดำเนินการ เช่น กรณี อบต. , เทศบาล ต้องมีการยุบรวม อบต.ขนาดเล็ก ให้เป็นเทศบาล ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ต้องเป็นฝ่ายดำเนินการประกาศ โดยอาจต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน หลังจากนั้น กกต.ต้องกำหนดเขตเลือกตั้ง ซึ่งต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเช่นกัน ทั้งหมดต้องใช้เวลาไม่สามารถทำในเวลาสั้นๆ ได้
          3. การให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยไม่แก้ กม. จะสามารถทำให้การเลือกตั้ง ท้องถิ่น เกิดก่อนเลือก ส.ส. และ ส.ว. แต่คงไม่ใช่ทางเลือกที่รัฐบาลตัดสินใจ เพราะเลือกแล้วก็ขัดหลักการใน รธน. อย่างไรก็ต้องแก้ กฎหมาย แก้เสร็จก็ต้องเลือกใหม่ เลือกกันสองรอบใช้เงินสองเท่า ในเวลาใกล้ๆ กัน คงไม่เหมาะสม
          4. ในขณะที่ การเลือกตั้ง ส.ส.และส.ว. เป็นการเลือกตั้งที่วันเลือกตั้งไม่สามารถขยับออก เพราะเป็นไปตามเงื่อนไขใน รธน. ว่า หาก กม.ลูก สำคัญ 4 ฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน ดังนั้น หากรัฐบาลตั้งใจอย่างยิ่งให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดก่อน คือ ต้องยืดการเลือกตั้งทั่วไปออกไป
          กม.เลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับร่างเสร็จแล้ว
          ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงขั้นตอนจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ กกต. ออกมาระบุว่าจะไม่ทันกรอบเวลาที่กำหนดไว้ว่า จะให้มีการเลือกตั้งในเดือน พ.ค.61 และจะต้องมีการปลดล็อกว่า เรื่องนี้รัฐบาล และ คสช. ไม่เคยระบุว่า จะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นภายในเดือน พ.ค. แต่เป็นการคาดการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยพูดถึงโรดแมปของกฎหมายท้องถิ่น ส่วนการปลดล็อก สามารถออกเป็นคำสั่งใหม่ หรือเป็นพระราชบัญญัติขึ้นมา เพื่อคลี่คลายสถานการณ์เป็นบางกรณีให้สามารถหาเสียงช่วงเลือกตั้งท้องถิ่นได้ แต่จะไม่มีการปลดล็อกทั้งหมด
          สำหรับกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง 6 ฉบับ คณะกรรมการกฤษฎีกา ยกร่างเสร็จเรียบร้อย และส่งกลับมาที่ตนเองแล้ว โดยในเดือน ธ.ค.นี้ จะมีการรับฟังความเห็นของ กกต. และกระทรวงมหาดไทย และนำขึ้นเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ เพื่อรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งเบื้องต้นเปิดรับความเห็นไปแล้วกว่าร้อยละ 80 จากนั้น จะนำเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งไปยัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา
          ส่วนเวลา ไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด เนื่องจากจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ และขั้นตอนการประกาศใช้กฎหมาย โดยหลัง 45 วัน จึงจะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ ซึ่งมีทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาล แต่หากกระชั้นชิดกับการเลือกตั้งระดับชาติ กกต.จะต้องเป็นผู้แก้ปัญหา รัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าจะต้องมีการเลื่อนการเลือกตั้ง จะต้องเลื่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นออกไป เพราะบางอย่างสามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้ เนื่อง จากมีการเลือกตั้งกว่า 7,000 แห่ง ส่วนการจัดการเลือกตั้งเป็น กกต.ชุดใหม่ หรือชุดเก่า ไม่ได้ระบุ ขึ้นอยู่กับกรอบเวลาขณะนั้น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น