วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เดินหน้าชน: จัดคิว'ท้องถิ่น'

เดินหน้าชน: จัดคิว'ท้องถิ่น'
มติชน  ฉบับวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

          เสกสรรค์ กิตติทวีสิน
          หากสรุปคำพูดของ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรม  เดินส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือ สถ. บอกกล่าวในที่ประชุมสัมมนาขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ จ.กระบี่ หน้าชนเมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยสังเคราะห์เนื้อหาจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่เรียกตัวแทนกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กับกระทรวงมหาดไทย มาพูดคุย เพื่อทำรายละเอียดเป็น ข้อเสนอปลดล็อกการเลือกตั้งท้องถิ่นให้กับ คสช.ได้ตัดสินใจ จะคืนสนามเลือกตั้งกันอย่างไร
          อธิบดี สถ.มองว่า การเลือกตั้งของท้องถิ่นน่าจะเกิดขึ้นภายใน 4-6 เดือนนับจากนี้ เป็นการจัดเลือกตั้งไปทีละท้องถิ่น หรือเลือกตั้งไม่พร้อมกัน เพราะพื้นที่ของ อบจ.จะไปทับกับพื้นที่ทั้งของเทศบาล และ อบต. ต้องแยกจัดเพื่อลดความยุ่งยากและสับสน
          โดยปกติการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับจะเลือกไม่ตรงกันอยู่แล้ว ประชาชนคนเดียวกันจะมึนตึบแน่ เมื่อต้องเลือก อบต.หรือเทศบาลแล้วก็ไปเลือก อบจ.ในเวลาเดียวกัน
          อธิบดี สถ.บอกอีกว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยอยากจัดเลือกตั้ง อบจ.ก่อน
          เหตุที่อยากจัดสนาม อบจ.ก่อน น่าจะเรียงลำดับจากท้องถิ่น ระดับไซซ์ใหญ่ที่ทั้งประเทศที่ไม่นับ กทม. จะมีเพียง 76 จังหวัดเท่านั้น ปัจจุบันนายก อบจ.มีทั้งหมดวาระและรักษาการแทน กับถูกคำสั่ง ม.44 เล่นงาน งานของ อบจ.จะบริหารงานครอบคลุมทั้งจังหวัด เปรียบเสมือนพี่ใหญ่ในการดูแลสาธารณประโยชน์ทุกพื้นที่ของจังหวัดนั้นๆ แต่จะไม่ซ้ำซ้อนงานกับเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะสนับสนุนงานเป็นหลัก อะไรที่เป็นโครงการช่วยเหลือประชาชนใหญ่ๆ เกินกว่าเทศบาลกับ อบต. ทาง อบจ.จัดการ ให้ ทั้งงบประมาณที่ส่วนหนึ่งผ่านไปยังสมาชิก อบจ. รวมถึงเครื่องไม้ เครื่องมือหนักๆ ที่อำนวยความสะดวกให้แต่ละท้องที่
          เมื่อประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ออกมาใช้ กฎหมายหรือ พ.ร.บ.ของท้องถิ่นก็ต้องปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกันไปด้วย ประกอบด้วย 1.พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545, 2.พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537, 3.พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540, 4.พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496, 5.พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ.2528 และ 6. พ.ร.บ.บริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2542
          หากสะท้อนบรรยากาศของ คสช.ยังไม่ยอมปลดล็อกให้พรรค การเมืองเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมืองได้ แม้ว่า พ.ร.ป.พรรค การเมืองจะเคาะใช้แล้วตั้งแต่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา เพราะยังห่วงสถานการณ์บ้านเมืองที่อ้างว่าพบความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลบางกลุ่มไม่หวังดีต่อประเทศชาติ เป็นที่เข้าใจดีว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กับนายกเมืองพัทยานั้นจะมีพรรคการเมืองดอดส่งตัวแทนเข้าไปชิงตำแหน่งด้วย มีความชัดเจนมากกว่าเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งเทศบาลและ อบต. ตรงนี้ที่เป็นการท้วงติงของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะแก้ปัญหากันอย่างไรมีความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งของ กทม.กับเมืองพัทยา น่าจะถูกจัดคิวไว้หลังๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการพิจารณาว่าจะปลดล็อกให้เหมาะสมที่สุดอย่างไร อีกทั้งผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก ม.44 ต่างเป็นบุคคลที่หัวหน้า คสช.ไว้ใจในการทำหน้าที่อยู่แล้ว  ขณะที่ อบต.น่าจะมีการออกแบบปรับแก้โครงสร้างขนานใหญ่ให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น ค่อนข้างใช้เวลาพอสมควร
          อีกทั้งก่อนหน้าจะมีการประชุมการปลดล็อกของการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้ความเห็นก่อนหน้าถึงไทม์ไลน์การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่เกี่ยวกับไทม์ไลน์การเลือกตั้ง ส.ส. เพียงแต่ถ้าเป็นไปได้ อยากให้การเลือกตั้งบางประเภทเกิดก่อนระดับชาติ ไม่เช่นนั้นคนจะพะวงว่าจะลงเลือกตั้งอะไรดี
          รองนายกฯบอกอีกว่า เมื่อโรดแมปเล็กซ้อนขึ้นมา การเลือกตั้งยังไม่ใช่ทุกระดับ กกต.จะวุ่นวาย จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้โยงไปถึงเรื่องของการปลดล็อก เพราะคนที่จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นและระดับชาติ คือ กกต.ชุดใหม่ ต้องคิดวางแผนเตรียมเอาไว้ และให้เวลาบริหารจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นบางระดับได้ทัน จากนั้น ค่อยเลือกตั้งระดับชาติ และในบางระดับค่อยไปเลือกตั้งหลัง การเลือกตั้งระดับชาติ
          เท่ากับการปลดล็อกก็ต้องเผื่อ กกต.ชุดใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 แม้จะได้บุคคลเป็นที่ไว้วางใจมาทำหน้าที่นี้ กกต.นอกจากดูแลกฎกติกาการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องการเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีกว่า 8 พันแห่ง ให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์และยุติธรรม อันเป็นที่หลายฝ่ายกำลังจับตาอยู่เช่นกันว่าจะใช้ความเที่ยงธรรมจัดการได้แค่ไหน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น