วันอังคารที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์: น้ำท่วมสร้างประชาธิปไตย ในระดับท้องถิ่นได้อย่างไร

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์: น้ำท่วมสร้างประชาธิปไตย ในระดับท้องถิ่นได้อย่างไร
มติชน (กรอบบ่าย)  ฉบับวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐

          madpitch@yahoo.com
          เขียนเรื่องน้ำท่วมมาหลายครั้ง ครั้งนี้กว่าจะได้ตีพิมพ์ก็คงเข้าหน้าหนาวมากขึ้น แต่ก็ประมาทไม่ได้ว่าปลายฝนต้นหนาวเช่นนี้โอกาสที่น้ำจะท่วมก็ยังมีอยู่
          พูดเช่นนี้ก็คงจะถูกวิจารณ์ว่าเขียนยังกับว่าน้ำยังไม่ท่วม
          อันนี้ก็จริงครับ เพราะที่เขียนแบบนี้ก็คงเหมือนหลายคนในประเทศนี้ ที่มองง่ายๆ ว่า น้ำท่วมเท่ากับน้ำท่วมกรุงเทพฯ
          หมายถึงว่าถ้าน้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯก็คงไม่ต้องโวยวายกันมาก
          เพราะคิดกันว่าน้ำท่วมส่วนอื่นของประเทศนั้นเป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมชาติ
          มีแต่น้ำท่วมกรุงเทพฯเท่านั้นใช่ไหมที่ไม่เป็นธรรมชาติ หรือถ้าใครอ้างว่าเป็นธรรมชาติก็จะต้องถูกด่าว่าไม่มีผลงาน ไม่มีฝีมือ
          น้ำท่วมต่างจังหวัดเป็นธรรมชาติ ได้ทำอย่างสุดความสามารถแล้ว
          แต่น้ำท่วมกรุงเทพฯเป็นปัญหาความรับผิดชอบและความพร้อมรับผิด (responsibility and accountability) ของหน่วยงานสาธารณะ
          พูดง่ายๆ คือ ผู้ว่าฯจะต้องถูกด่า นายกรัฐมนตรีจะต้องตอบคำถาม
          การประเมินสถานการณ์น้ำท่วมก็ว่ากันง่ายๆ ว่า ตัวชี้วัดเดียวคือกรุงเทพฯน้ำท่วมหรือไม่เท่านั้นแหละครับ
          เรื่องที่หนึ่งว่ากันไปแล้วว่า กรุงเทพฯนั้นเป็นตัวชี้วัดประเด็นน้ำท่วมในประเทศนี้ ถ้าน้ำท่วมนอกกรุงเทพฯก็ทนกันไป สังคมไม่มีแรงกดดันอะไรกับการบริหารจัดการน้ำท่วมนอกกรุงเทพฯ ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดมีหน้าที่ทำงานและรายงานสถานการณ์น้ำท่วม
          มิหนำซ้ำนอกกรุงเทพฯบางที่ยังถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำอีกต่างหาก นั่นแปลว่า นอกจากน้ำท่วมมีสาเหตุมาจากฝนฟ้าอากาศแล้ว รัฐที่มีกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางยังสามารถกำหนดเขตให้น้ำท่วมได้ด้วย
          น้ำท่วมกรุงเทพฯจึงเป็นเรื่องการป้องกันและระบาย แต่น้ำท่วมต่างจังหวัดจึงเป็นเรื่องของการชดเชยและช่วยเหลือ
          เรื่องต่อมาที่สำคัญก็คือ สังคมไทยควรเริ่มรับสภาพร่วมกันว่า เรื่องสำคัญในการจัดการน้ำท่วมคือ การวิจัย การป้องกัน การเตือนภัย การระบาย การช่วยเหลือบรรเทาภัย และการฟื้นฟู
          และที่สำคัญที่สุดอยากจะเรียกง่ายๆ ว่า "การรับมือกับภัยพิบัติ" ซึ่งควรจะรวมเอาขั้นตอนต่างๆ ที่ผมได้นำเสนอเข้ามาไว้อย่างเป็นระบบและสอดคล้องกัน
          อันนี้คิดง่ายๆ นะครับ คือเข้าใจขั้นตอนและวงจร แล้วดูว่าเรามีจุดอ่อนตรงไหน ไม่ใช่พอฝนตกก็มโนและส่งข้อมูลมั่วๆ หรือด่ากันโทษกันไปทั่ว
          การรับมือภัยพิบัตินั้นต้องการทั้งสังคมเข้มแข็ง รัฐเข้มแข็ง และการร่วมมือที่เข้มแข็งของทุกภาคส่วน อย่าโยนความผิดให้กัน และอย่าโทษกัน เพราะไม่มีใครชนะในงานนี้ยกเว้นมีแต่ความสูญเสียครับ
          เราต้องมีการวิจัยและการบูรณาการวิจัยที่ดี ประเทศไทยมีนักวิจัยที่เก่งและมีหน่วยงานที่มีข้อมูลมากมาย แต่ขาดการบูรณาการ และขาดการสื่อสาร สาธารณะที่เข้าถึงประชาชนอย่างเป็นระบบ
          การสื่อสารสาธารณะเข้าถึงประชาชนอย่างเป็นระบบนั้นหมายถึงการเข้าใจหัวอกของประชาชน ในฐานะที่เขาเป็นเจ้าของประเทศ เป็นเจ้าของอำนาจการปกครอง ไม่ใช่เป็นชาวบ้านที่ถูกปกครอง
          ประชาชนบางกลุ่มสนใจข้อมูลฝนตก แต่ประชาชนอีกจำนวนมากไม่ได้ต้องการข้อมูลฝนตกหรือเมฆฝน หรือแม้กระทั่งข้อมูลว่าจะตกกี่เปอร์เซ็นต์
          เขาต้องการข้อมูลน้ำท่วม เขาอยากรู้ว่าน้ำจะท่วมไหม ท่วมแค่ไหน ท่วมนานเท่าไหร่ และถ้าท่วมแล้วรัฐจะมีมาตรการในการช่วยเหลือ บรรเทา ระบายน้ำ และฟื้นฟู/ฟื้นสภาพเท่าไหร่
          ชาวประมงต้องการข้อมูลฝนตก เพราะจะรู้ว่าจะออกทะเลไหม ชาวสวน ชาวไร่ชาวนา สนใจข้อมูลฝนตกเพราะจะได้เพาะปลูก และข้อมูลน้ำท่วมเพราะจะได้วางแผนการเพาะปลูกให้ถูก
          ส่วนชาวเมืองสนใจข้อมูลฝนตกนิดหน่อย จะได้เตรียมร่ม จะได้ทำใจกับรถติด แต่เขาสนใจข้อมูลน้ำท่วมมากกว่า เพราะข้อมูลน้ำท่วมนั้นเป็นสิ่งที่เขาเดือดร้อนนานกว่า
          ใช่ว่าหน่วยงานรัฐไม่รายงาน แต่การรายงานข้อมูลน้ำท่วมนั้นไม่สามารถรายงานให้เข้าถึงประชาชนได้ หรือให้พูดแรงๆ ก็คือ รายงานไม่เป็นภาษาคน
          รัฐจะรายงานแค่ว่า ฝนจะเข้าเมื่อไหร่ ปริมาณน้ำฝนมีแค่ไหน ต่ำหรือสูงกว่าระดับน้ำทะเลแค่ไหน อาจจะมีน้ำท่วมกี่เซนติเมตร (หรือท่วมไปแล้วเท่าไหร่)
          สิ่งที่ขาดคือการสื่อสาร และการแปร/แปลผล ที่ทำให้ประชาชนรับรู้ว่าโอกาสเสี่ยงต่อน้ำท่วมของเขามีเท่าไหร่
          เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิด รัฐส่วนหนึ่ง รัฐแบบที่เน้นท้องถิ่นอีกส่วนหนึ่ง ชุมชน สถานศึกษา และภาคประชาสังคมต้องร่วมกันคิด และทำให้ชุมชนเข้มแข็ง
          มันไม่น่าจะยากเกินไปที่เราจะร่วมกันพัฒนาข้อมูลที่เปิดจากการแปร/แปลผลข้อมูลดินฟ้าอากาศ พร้อมกับข้อมูลท้องถิ่น เพื่อทำให้เกิดการตระหนักรู้ของประชาชนที่จะพัฒนาพวกเขาจากชาวบ้านที่รอระบบราชการมาช่วย สู่สังคมที่ชุมชนเข้มแข็งและประชาชนกลายตัวจากชาวบ้านเป็นพลเมือง
          เริ่มจากการให้ข้อมูลที่น่าจะทำได้ก่อนว่า ท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นนั้นมีสภาพกายภาพอย่างไร ต่ำหรือสูงจากระดับน้ำทะเลแค่ไหน
          เรามีแต่แผนที่ถนนกับการใช้ที่ดินที่คนปลูกสร้าง เรายังไม่ได้ตระหนักถึงหรือใช้แผนที่ระดับสูง ต่ำของกรุงเทพฯ และนั่นคือสิ่งที่เราควรจะเรียกร้องจากรัฐได้แล้วว่าแผนที่ที่สำคัญคือ แผนที่น้ำท่วมกรุงเทพฯและโดยรอบในแต่ละปี และนั่นคือการกำหนดให้เห็นแล้วว่ากรุงเทพฯนั้นพื้นที่ใดสูงและต่ำจากน้ำเท่าไหร่
          จากนั้นเราจะต้องรวมสรรพกำลังของรัฐและชุมชนในการสำรวจว่า ภายใต้การคำนวณอย่างคร่าวๆ แล้วว่า ฝนตกแค่ไหน และเราสูงจากระดับน้ำแค่ไหน เราก็มาสำรวจต่อว่าระบบการระบายน้ำในพื้นที่แต่ละเขตมีศักยภาพแค่ไหน และเรามีระบบระบายน้ำธรรมชาติพวกคูคลอง ลำรางสาธารณะแค่ไหน นั่นคือแบบการคำนวณพื้นฐาน
          ทีนี้ก็เริ่มสำรวจต่อว่ามีอะไรที่สกัดกั้นการระบายน้ำอีก มีการก่อสร้างตรงไหนบ้างที่สกัดกั้นทางน้ำ แล้วไล่กลับไปว่าพวกนี้ผิดกฎหมายการก่อสร้างแค่ไหน
          ทีนี้เมื่อฝนตกเราก็ควรจะคำนวณได้เพิ่มขึ้นแล้วว่า ถ้าฝนตกแบบนี้อีกหนึ่งชั่วโมงน้ำจะท่วมตรงไหนบ้าง และจะลดลงเมื่อไหร่ เราสามารถคำนวณคร่าวๆ ได้มากขึ้น มากกว่าการส่งข้อมูลแบบเดิมๆ และยังทำให้ประชาชนช่วยกันสำรวจและรายงานเข้ามาได้ว่ามีอะไรบ้างที่ทำให้น้ำไม่สามารถระบายไปได้ และเขตรวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายปล่อยให้เกิดได้อย่างไร
          มาจนถึงวันนี้ประชาชนคนกรุงเทพฯเองเขา ไม่เชื่อแล้วว่ากรุงเทพฯน้ำไม่ท่วม แต่เขาอยากรู้ว่าจะท่วมตรงไหน ท่วมแค่ไหน ลดเมื่อไหร่ และทำไมถึงท่วม
          การอยากรู้ว่าทำไมน้ำถึงท่วมกรุงเทพฯ เขาไม่ได้สนใจดินฟ้าอากาศครับ เขาสนใจว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เสียเงิน/เวลามหาศาลทำไป เราจะประเมินได้อย่างไรว่ามันมีประสิทธิภาพมากขึ้น มันคุ้มค่ากับการเสียงบประมาณลงไปไหม มันแก้ถูกจุดไหม
          ถ้าลองค้นดูคร่าวๆ ผู้ว่าฯกทม.นั้นมักจะตอบคำถามแบบทำหน้าที่เป็นอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา คือชอบตอบว่าฝนตกหนักมาก เช่น ผู้ว่าฯจำลอง 2529 บอกว่า "ฝนพันปี" ผู้ว่าฯสุขุมพันธุ์บอกว่า "ฝนตกหนัก" (2555, 2556, 2558) หรือ "ฝนตกหนักรอบ 25 ปี" (2559) หรือผู้ว่าฯอัศวิน "ฝนตกหนักรอบ 30 ปี" (2560)
          หรือมีการพยายามอธิบายที่มาของฝนตกแบบให้ข้อมูล เช่น ผู้ว่าฯสุขุมพันธุ์ "น้ำรอการระบาย" (2559) "น้ำท่วมมาจาก น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน" (2553) ผู้ว่าฯอภิรักษ์ "พายุเข้า+น้ำท้ายเขื่อนสูง ปล่อยลงแม่น้ำ+น้ำทะเลหนุนสูง" (2549)
          ชาวบ้านที่เป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นในมหานครอย่างกรุงเทพฯ ไม่ใช่ไม่รู้เรื่องแบบนี้ แต่เขาอยากรู้ว่า กทม.นั้นมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารงานแค่ไหน และนั่นคือคำถามที่ กทม.ต้องตอบ
          อธิบายง่ายๆ ว่าจะจัดการปัญหาน้ำท่วมอย่างไร จะระบายน้ำได้เร็วแค่ไหน และคุ้มค่าไหมที่ลงทุนไป
          ปัญหาไม่ใช่ กทม.ไม่ได้ทำงาน แต่เราไม่มีกลไกในการตรวจสอบการทำงานของ กทม.อย่างเป็นระบบ เราตรวจสอบ กทม.ด้วยอารมณ์ ด้วยความคาดหวัง ด้วยความน้อยใจ ด้วยความโกรธ ด้วยความเย้ยหยัน เพราะเราไม่เข้าใจศักยภาพของ กทม. และในทางกลับกัน กทม.ก็ไม่เข้าใจหัวอกหัวใจของประชาชนหรือเปล่า?
          การช่วยเหลือกรุงเทพฯไม่ใช่การปกป้องกรุงเทพฯด้วยสงครามน้ำลาย แต่คือการขอข้อมูลจาก กทม.มาช่วยกันแปร/แปลผล และร่วมกับ กทม.ในการ สำรวจว่าพื้นที่ไหนเสี่ยงภัยต่อน้ำท่วมแค่ไหน ในการอนุมัติการก่อสร้างจะต้องมีขั้นตอนอะไรเพิ่มขึ้น วิธีคิดแบบเน้นแต่พื้นที่สีเขียวในผังเมืองเพียงพอไหม คนที่มีพื้นที่มาก และต้องการปลูกสร้างจะต้อง ร่วมกันสร้าง "พื้นที่สีฟ้า" คือพื้นที่รับน้ำในเมือง และการร่วมรับผิดชอบในการรับน้ำ เหมือนกับขยะและมลพิษ คือ เมื่อใช้พื้นที่มาก ใช้พื้นที่เข้มข้น ก็ต้องรับผิดชอบการจัดการน้ำและนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ด้วย ไม่ใช่ทิ้งระบบน้ำส่วนกลางของเมืองอย่างเดียว
          คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราจะสร้างระบบความร่วมมือกันในการแบ่งปันข้อมูล และแปร/แปลผลข้อมูลให้เกิดข้อมูลน้ำท่วมในระดับเมืองที่ใช้ได้จริง รวมทั้งเสริมอำนาจให้ประชาชนสามารถปกครอง ตัวเอง (self-government เป็นหัวใจของการปกครองท้องถิ่น ไม่ใช่การกระจายอำนาจเท่านั้น และ selfgovernment นั้นคือการทำให้เกิดการตัดสินใจร่วมกัน-collective decision ซึ่งเป็นรากฐานของการมีประชาธิปไตยคุณภาพ ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบที่ยืนตรงข้ามกับเหตุผลเหมือนที่พวกนักทฤษฎีต่อต้านประชาธิปไตยชอบโจมตีว่าประชาธิปไตยเท่ากับเสียงข้างมาก เสียงข้างมากเท่ากับคนไม่มีคุณภาพ)
          สรุปอีกนิดคือ การวิจัยข้อมูลที่ดีจะทำให้เรา สามารถทำให้เกิดระบบการป้องกันน้ำท่วม และการเตือนภัยได้ดีขึ้นในฐานะส่วนหนึ่งของการรับมือกับน้ำท่วมซึ่งเป็นภัยพิบัติเมืองอย่างหนึ่ง และหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่ประชาชนเป็นเจ้าของนั้นจะต้องพยายามพัฒนาระบบที่ทั้งป้องกันภัยและเสริมสร้างศักยภาพของคนที่อยู่ในเมืองในเวลาเดียวกัน ไม่ใช่พัฒนาระบบให้ทำงานโดยที่เราไม่สามารถควบคุมและกำหนดทิศทางมันได้
          ในแง่นี้การเตือนภัยจึงไม่ใช่เรื่องของการรายงานสภาพฝนตก หรือการรายงานว่าน้ำจะท่วมขึ้นจากเดิมเท่าไหร่ แต่หมายถึงการเตือนภัยที่มาจากการคำนวณและประมวลผลข้อมูลต่างๆ ที่เรามีในระดับต่างๆ และที่สำคัญคือการประมวลผลข้อมูลดินฟ้าอากาศเข้ากับข้อมูลเชิงพื้นที่ ทั้งกายภาพ ศักยภาพในการระบายน้ำ และ อุปสรรคต่างๆ ที่กีดขวางทางน้ำ ให้กลายเป็นข้อมูลน้ำท่วม
          ไม่ใช่การส่งผ่านข้อมูลฝนตกจากกรมอุตุฯมาลงในระบบเตือนภัยของ กทม.แต่เพียงแค่นั้น หรือบอกแค่ว่าถ้าฝนตก น้ำทะเลหนุน แล้วริมน้ำจะมีโอกาสท่วม
          ประชาชนแต่ละเขตที่อยู่อาศัยและทำงาน จะต้องไปขอข้อมูลจาก กทม.ได้ ทั้งจาก กทม.กลางและเขต ว่าพื้นที่บ้านเขาเสี่ยงน้ำแค่ไหน รอบบ้านเขามีระบบนิเวศและกายภาพที่เกี่ยวกับน้ำอย่างไร ถ้าน้ำมามันจะมาทางไหน กทม.มีศักยภาพในการระบายน้ำในเขตของเขาแค่ไหน ที่ระบายไม่ได้ (ทันใจ) เพราะอะไร และที่ผ่านมาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในเขตของเรานั้นทำอะไรไปบ้าง คุ้มค่าแค่ไหน
          เรื่องแบบนี้ต่อไปน่าจะเป็นเรื่องที่เราจะต้องถามกับ ส.ก. ส.ข. แต่ละเขตได้ ถาม ส.ส.ได้ ไม่ใช่เน้นแต่สร้างโครงการแต่ต้องประเมินโครงการที่แล้วๆ มาด้วย
          ส่วนการช่วยเหลือ บรรเทา และฟื้นฟู เราก็ต้องเริ่มตั้งคำถามอย่างเป็นระบบว่า ตกลงถ้าน้ำท่วมจะมีระบบอะไรรองรับในการเดินทาง รถเมล์จะวิ่งได้ไหม จะต้องใช้รถอื่นวิ่งไหม และการช่วยเหลือในแต่ละชุมชนจะเป็นการช่วยเหลือเป็นระบบไหม ไม่ใช่แค่แจกของ นั่นหมายความว่าเราจะอยู่รอดในช่วงน้ำท่วมได้อย่างไร และจะกลับมาเหมือนเดิมคือจะมีงบประมาณในการซ่อมแซมอย่างไร
          ไม่มีใครอยากให้น้ำท่วมหรอกครับ แต่เราควรมองน้ำท่วมเป็นประเด็นท้าทายที่จะทำให้เราเข้มแข็งและเป็นประชาธิปไตยขึ้นในระยะยาวด้วยข้อมูล เทคโนโลยีและการร่วมมือร่วมใจอย่างไร ไม่ใช่มองแค่ว่าน้ำท่วมต้องอดทนและอยู่กับรัฐบาลที่ทั้งด่า ทั้งสั่งการไปเรื่อยๆ และโทษฟ้าโทษฝนไปวันๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น