บทความพิเศษ: จับกระแสท้องถิ่นสุดท้าย 2560 ตอนที่ 8: ทำไมต้องมีการเลือกตั้งท้องถิ่น |
สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๐ |
ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย ในบริบทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีมิติต่างๆ มากมายหลากหลายในการวิพากษ์วิเคราะห์วิจารณ์ ด้วยขอบเขตที่กว้างขวางมากมายอาทิ ในมิติของพื้นที่ (area) ประชากร(people, clients) เจ้าหน้าที่ (officer)และ อำนาจหน้าที่ (authority, func tion) เป็นต้น ในบรรดาหลายๆ มิติ เหล่านี้ มีมติหนึ่งที่สำคัญมาก เพราะเกิดจากการสนธิของหลายมิติเข้าด้วยกัน คือ "มิติทางด้านการบริการ" (Public Ser vice) หนึ่งในมติย่อยที่สำคัญก็คือ "มิติทางด้านการบริหารจัดการ" (Admini stration or Management) และ "มิติของการควบคุมกำกับดูแล" (Controle de tutelle or tutelle administrative)ได้แก่ ธรรมาภิบาล (Good Gover nance - GG) หรือ บรรษัทภิบาล (Cor porate Governance - CG) และ สุดท้ายคงต้องวกมาที่ "มิติการเลือกตั้งท้องถิ่น" และ "รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น" นี่ยังไม่ได้พูดถึง "มิติการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น" ที่เพิ่งเสร็จสิ้นการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่นไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา เหล่านี้ล้วนเป็นจุดสนใจของชาวท้องถิ่นมาตลอด มาไล่เรียงลำดับเหตุผลกัน ความเชื่อมั่นต่อการให้บริการของอปท. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2560 มีหลักการใหม่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ อปท. อยู่ 2 หลักคือ (1) เรื่อง"หน้าที่และอำนาจ" แต่เดิมคือ อำนาจและหน้าที่ ต่อไปนี้คือหน้าที่ต้องมาก่อนแล้วจึงมีอำนาจ หรือมาดูกันที่อำนาจ และ(2) เรื่อง "การขออนุญาต" ตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้นเห็นว่า หากไม่จำเป็นไม่ควรใช้ "ระบบการอนุญาต" เพราะใบอนุญาตก็มีหมดอายุ แต่ในกิจการบางอย่างไม่ควรมีอายุการอนุญาต กฎหมายต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน หากไม่อำนวยความสะดวก ก็ต้องมีโทษ ยกตัวอย่างว่า อปท.เป็นหน่วยงานราชการที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดรวมทั้ง พ่อค้า นักธุรกิจ นักลงทุน ผู้ประกอบการด้วย ทำให้ต้องมีจุดเชื่อมโยงของ"ระบบการอนุญาต" เพื่อดำเนินกิจการต่างๆ ที่สอดคล้องกับ "ระบบการให้บริการ" (service) ของ อปท. ในระบบการให้บริการการอนุญาตของท้องถิ่นแก่ประชาชนจะต้องรวดเร็วไม่ยื้อยุดฉุดเรื่องให้ยืดยาว หรือมีการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตามสมควร หากทุกอย่างเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีข้อห้ามใดๆทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อหลักแห่งความเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติ การหน่วงเหนี่ยว ทำให้ล่าช้าเกินพอดีถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การบริการประชาชนที่ดีมีประสิทธิภาพ จึงเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และประชาชนเกิดความเชื่อมั่นเชื่อถือในการให้บริการของรัฐ ในทางกลับกันกลับมีชาวบ้านพาสังคมเสื่อม อยากได้บริการก่อนคนอื่น อันเป็นสาเหตุของการยื่นใต้โต๊ะ แล้วยังนำไปโฆษณาบอกต่อว่าตนเองเสียตังค์เสียเงิน มาติดต่องานราชการจึงมีติดนิสัยแบบไทยๆ มาถามหาเส้นสายในการใช้บริการนั้นๆ นิสัยดังกล่าวรวมถึงอยากให้บุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนดีๆ มีชื่อเสียงก็วิ่งเต้นเพื่อให้สำเร็จ พอได้สำเร็จก็บอกว่ามีการเรียกรับเงิน เป็นต้น การกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่นคือทางแก้ปัญหา ประโยชน์ของการกระจายอำนาจที่ถือเป็นแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศได้อย่างหนึ่ง เพราะปกติกลุ่มผลประโยชน์ต่างมุ่งหวังเข้าไปมีอำนาจในส่วนกลาง ที่มีการรวมศูนย์อำนาจมีอำนาจมายาวนาน ผลประโยชน์ที่มีมากในส่วนกลาง ทำให้มีการช่วงชิงอำนาจกันเพราะคุ้มค่ากับการลงทุนลงแรง ฉะนั้นหากมีการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นมากแล้ว อำนาจส่วนกลางก็คงเหลือแต่"นโยบายหลักๆ" ความรุนแรงทางการเมืองก็จะลดความเข้มข้นลง นักการเมืองทั้งหลายก็จะหันกลับมาทำงานให้ท้องถิ่นมากขึ้น ไม่สนใจไปวุ่นวายในการเมืองระดับชาติ เพราะอำนาจในท้องถิ่นก็เพียงพอต่อการสนองความต้องการของประชาชนได้แล้ว แต่ อปท. มีลักษณะเป็น "การเมือง"(Politics) กล่าวคือ "ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น" เข้ามาบริหารด้วยวิถีทางทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยด้วยการ "เลือกตั้ง" จึงหลีกเลี่ยงความมีส่วนได้เสียในทางการเมืองไปมิได้ขณะเดียวกัน อปท. ถือเป็นหน่วยงานราชการที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ที่มีบุคลากรฝ่ายประจำ ได้แก่ "ข้าราชการและลูกจ้าง" เป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายการปฏิบัติ โดยได้รับนโยบายการบริหารจากฝ่ายการเมือง กระแสการเลือกตั้งท้องถิ่นยังคงเป็นที่กังขาแก่ประชาชนทั่วไปที่อยากทราบทิศทางของประเทศว่า การปฏิรูปท้องถิ่นจะไปในทิศทางใด แต่ยังไม่มีใครออกมาพูดชัดเจน ไม่ว่าการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาวางกรอบวางทิศทางที่คอยรับฟังเสียงจากประชาชนอย่างกว้างขวางครอบคลุม การสูญเสียทั้งเงินงบประมาณเสียเวลา ที่ผ่านมาทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งกังขา คสช. ว่ามีเลศนัยแอบแฝง โดยเฉพาะการให้นักการเมืองท้องถิ่นปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวต่อไป (การให้รักษาการณ์) ที่ลากยาวนาน ถูกมองเป็นฐานกำลังเพื่อปูทางในการยึดครองอำนาจให้ยาวนาน เพื่ออย่างน้อยที่สุดประชาชนนักการเมืองท้องถิ่น รวมทั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่นจะได้รู้ทิศทาง การแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่นและการคืนอำนาจแก่ท้องถิ่น ด้วยความห่วงใยของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยการตั้งคำถาม 4 ข้อให้ประชาชนช่วยกันตอบล้วนเป็นคำถามที่แสดงถึงความเป็นห่วงเป็นใยต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเรื่อง"ธรรมาภิบาล" ตามระบอบประชาธิปไตยในขณะเดียวกันกระแสมุมมองเศรษฐกิจประชารัฐมีการตอกย้ำกำลังซื้อที่ "ทรุดตัว" เพราะกำลังซื้อของประชาชนถดถอยซบเซา แม้รัฐบาลได้อัดฉีดเม็ดเงินลงไปในกลุ่มรากหญ้า และเอสเอ็มอีจำนวนมาก แต่กำลังซื้อของประชาชนก็ยังแย่ประกอบกับข่าวการเห็นด้วยกับ "การแช่ แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่น" ว่าประชาชนไม่ได้รับผลกระทบใด โดยสมาคมองค์การบริ หารส่วนจังหวัด (อบจ.) แห่งประเทศไทยได้สร้างความกังขาให้แก่ชาว อปท. มีคำถามถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นใน 2 ระดับ คือ (1) การเลือกตั้งระดับชาติ หรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ถือเป็น "การเลือกตั้ง(สนาม)ใหญ่" ตามโรดแมปคือวันที่ 19 สิงหาคม 2561 แต่โดยน้ำหนักปัจจุบันมี ข่าวเทไปที่อาจขยับช้า ออกไปจากสิงหาคมปีหน้า คือ เลื่อนการเลือกตั้งออกไป(2) การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น หรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ถือเป็น "การเลือกตั้ง(สนาม)เล็ก"ลองมาทบทวนกัน การระงับการเลือกตั้ง อปท.ทั้งหมดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ถือเป็นการ"แช่แข็งท้องถิ่น" ในระดับหนึ่ง ด้วยความเชื่อมั่นจากคำพูดของท่านพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คนที่ 2 แย้มเมื่อ 30 มีนาคม2560 ว่า ได้พูดคุยกับ พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกฯ บอกว่า อยากให้มีการจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นก่อน ลองมาตรวจกระแสข่าวจากนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้อง อัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงเห็นว่า เป็นการผ่อนคลายประชาธิปไตยเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะได้ดูแลชาวรากหญ้าอย่างใกล้ชิด โดยการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มีเสีย เพราะท้องถิ่นหมดวาระหมด7,853 แห่ง ที่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่หมดทั้งยังได้ใจประชาชนระดับล่างด้วยนายกฯ จะได้เครดิต หากดำเนินการอย่าง รวดเร็ว การเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ มีแต่ผลดี มีได้แต่ประโยชน์ ไม่มีเสียประโยชน์เลย โอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพาเห็นว่า การที่นายกฯ เกริ่นเรื่องเลือกตั้งท้องถิ่นปีหน้า คิดว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ เนื่องจากทำเพื่อเป็นการเปิดช่องระบายอากาศทางการเมืองที่ทำให้เห็นบรรยากาศการเริ่มต้นของประชาธิปไตยเพราะมีการแช่แข็งท้องถิ่น ทำให้ปัญหาการเมืองท้องถิ่นเริ่มก่อตัว และมีความพยายามประสานกับกลุ่มชนชั้นนำท้องถิ่น ก่อนที่จะไปสู่การเลือกตั้งระดับชาติต้องเปิดให้เลือกตั้งท้องถิ่น นอกจากนี้ คือเป็นการที่ยังไม่ให้คำตอบชัดเจนเรื่องการปฏิรูป แม้ก่อนหน้านี้มีการปฏิรูปว่า จะมีการยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ยุบรวม อบต.ให้มีขนาดเหมาะสมในเรื่องรายได้ กำลังคน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นการทำให้มันถูกคลี่คลายลง คือทำให้นักการเมืองท้องถิ่นรู้สึกว่าตัวเองยังอยู่ได้โดยไม่ถูกยุบรวมไม่ถูกแปรรูป ลดขนาด เป็นการลดปัญหาความขัดแย้งจากกระแสการปฏิรูปด้วย ถวิล ไพรสณฑ์ อดีต กมธ. การปกครองท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร เห็นว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศจะส่งผลดีกับประชาชน อย่างแน่นอนในหลายด้านเป็นการผ่อนคลายบรรยากาศทางการเมือง แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจนว่าท้องถิ่นจะเลือกตั้งได้เมื่อใด เพราะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสนช. นอกจากนั้นท้องถิ่นต้องดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปหลังกฎหมายประกาศบังคับใช้ทั้งการควบหรือ ยุบรวม กฎหมายด้านการบริหารงานบุคคลท้องถิ่นการจัดเก็บรายได้ รวมทั้งโครงสร้างในการกระจายอำนาจต้องถ่ายโอนภารกิจตามที่กฎหมายกำหนด และ การกำกับ ดูแลของราชการส่วนกลาง รวมทั้งราชการส่วนภูมิภาคต้องมีความชัดเจน ศุภสัณห์ หนูสวัสดิ์ อุปนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย(ส.ท.ท.) คาดว่าจะดำเนินการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นได้ช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 หากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น 7 ฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเลือกตั้งท้องถิ่นเสร็จสิ้นทั้งหมด จึงเป็นเงื่อนไขและโอกาสที่ดี ที่จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ หลังจากช่วงดังกล่าวองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศหมดวาระพร้อมกันทั้งหมด ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ เห็นว่า เป็นสิ่งสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่นบนพื้นฐานของ "self determination rights" หรือสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเองตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ร่าง พ.ร.บ.จังหวัดจัดการตนเอง (พ.ศ. 2557) ต้องมาสะดุดหยุดอยู่เมื่อเกิดการยุบและยึดสภา มิหนำซ้ำยังมีการพยายามที่จะลดทอนอำนาจและความเป็นอิสระขององค์กรปกครองท้องถิ่น ในรูปแบบต่างๆ สารพัดวิธี โดยลืมไปว่าการกระจายอำนาจนั้นคือคำตอบของการปรองดองและสมานฉันท์ เพราะการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ประกอบไปด้วยผู้คนจากทุกกลุ่มทุกฝ่ายและทุกสีที่เห็นความจำเป็นของการกระจายอำนาจที่สำคัญที่สุดก็คือ "การไม่กระจายอำนาจ ย่อมไม่ใช่การปฏิรูป" และย่อมไม่ใช่การปรองดองสมานฉันท์อย่างแน่นอน ในคาดการณ์ของท่านสุรชัย บุญเลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เมื่อเร็วๆ นี้เห็นว่า ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันนั้น "ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน" กล่าวคือ การเลือกตั้งอาจมีการลากยาว โดยเฉพาะเลือกตั้งใหญ่ เพราะรองานพระราชพิธีใหญ่ให้อยู่ในสมัยที่รัฐบาลยังคงอำนาจ ได้แก่งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ งานขึ้นครองราชย์ เป็นต้น ฉะนั้นความหวังที่จะให้มีการเลือกตั้งใหญ่ รวมถึงการเลือกตั้งเล็กเร็วขึ้นจึงติดขัดด้วยเงื่อนไขสถานการณ์ ที่ยังไม่เอื้ออำนวยอย่างไรก็ตาม โรดแมปได้ประกาศไปแล้ว หากไม่ดำเนินการตามโรดแมปย่อมเสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง พี่น้องชาว อปท. คงต้องรอลุ้นด้วยความหวังใหม่ไปอีกสักพัก |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560
บทความพิเศษ: จับกระแสท้องถิ่นสุดท้าย 2560 ตอนที่ 8: ทำไมต้องมีการเลือกตั้งท้องถิ่น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น