วันพุธที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ร่างพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมใหม่ปรับ'2เท่า'ปล่อยมลภาวะ


ร่างพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมใหม่ปรับ'2เท่า'ปล่อยมลภาวะ
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

          การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (3 ต.ค.) อนุมัติร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับใหม่ ให้อำนาจคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เอาผิดเจ้าของโครงการที่ทำให้เกิดผลกระทบ สิ่งแวดล้อมทั้งทางแพ่งและอาญา พร้อม โยกกองทุนสิ่งแวดล้อมจากคลังไปอยู่ กระทรวงทรัพย์ฯ เปิดช่องเก็บค่าธรรมเนียม จากการทำอีไอเอ ค่าธรรมเนียมปล่อยมลพิษ 1 หมื่นบาทต่อตันมลพิษ
          กรุงเทพธุรกิจ  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน  มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่ง
          แวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ... ตามข้อเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 ที่มีการใช้มานานกว่า 25 ปี ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนจึงสมควรปรับปรุงบทบัญญัติใน พ.ร.บ. ดังกล่าว และเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป
          นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ... ประกอบด้วย 
          1.การขยายไปถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะเขตไหล่ทวีป และทะเลหลวงที่ประเทศไทยมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตราบ เท่าที่ไม่ขัดแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศหรือความตกลงที่ทำกับต่างประเทศ
          2.กำหนดให้มีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเป็นคณะกรรมการอื่นที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้
          3.เพิ่มเติมหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงบทบัญญัติในการจดทะเบียนบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จากเดิมที่กำหนดให้เฉพาะนิติบุคคลที่มีสิทธิจดทะเบียนให้กับสมาชิกขององค์กรชุมชน อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือบุคคลที่มีความสนใจในการทำงานด้านการอนุรักษ์ การสงวน การคุ้มครอง และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมเพื่อทำหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงานตาม แผนงาน โครงการหรือกิจการเพื่อการอนุรักษ์ การสงวน และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
          4. ส่วนของกองทุนสิ่งแวดล้อม จากเดิมที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง ให้ปรับเปลี่ยนไปอยู่ในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงวัตถุประสงค์ให้กว้างขึ้น รวมทั้งปรับปรุงแหล่งที่มาและการใช้จ่ายเงินของกองทุนสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัว สอดคล้องกับสภาวการณ์ ในปัจจุบัน และเพิ่มเติมโดยเก็บเงินจาก ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมการทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และค่าธรรมเนียม อื่นๆ ซึ่งมีที่มาหลากหลายกว่าการได้รับ เงินงบประมาณจากภาครัฐ โดยเพิ่มบทบัญญัติเรื่องให้เจ้าของโครงการหรือกิจการต้องชำระ ค่าธรรมเนียมการพิจารณารายงานผลกระทบ สิ่งแวดล้อมโดยให้นำเงินส่งเข้ากองทุน กำหนดให้ควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด กำหนดค่าธรรมเนียมในการปล่อยมลพิษและการกำหนดอัตราค่าบำบัดหรือจำกัดน้ำเสีย ของเสีย หรือมลพิษอื่นๆ สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมในการจัดทำรายงาน EIA ได้แก่
                 1.ใบอนุญาตเป็นผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อม ปีละ 5,000 บาท
                 2.ค่าธรรมเนียมการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อม โครงการละ 100,000 บาท
                 3.คำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ควบคุม ฉบับละ 100 บาท
                 4.คำขอการขึ้นทะเบียน เป็นผู้รับจ้างให้บริการฉบับละ 100 บาท
                 5.ใบอนุญาตเป็นผู้ควบคุมปีละ 5,000 บาท
                 6.ค่าธรรมเนียมการปล่อยมลพิษปีละ 10,000 บาทต่อตันมลพิษ 
                 7.ใบแทน ใบอนุญาตฉบับละ 100 บาท และ 8.การต่ออายุใ บอนุญาตครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียม ใบอนุญาต
          นอกจากนี้ ยังกำหนดบทลงโทษเพิ่มเติม ด้วยการจ่ายชดเชย 2 เท่าของค่าเสียหาย จากการสร้างมลภาวะที่เกิดขึ้น และจ่ายเงินชดเชยให้กับภาครัฐสำหรับค่าขจัดมลภาวะและสิ่งแวดล้อม เมื่อส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตรวจร่างแล้วจะเร่งเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาภายในวันที่ 1 ธ.ค. 2560
          5. การจัดทำรายงานการประเมินผล กระทบสิ่งแวดล้อม ได้มีการเพิ่มมาตรการกำกับดูแลในการดำเนินการมาตรการทางสิ่งแวดล้อม  ต้องออกประกาศกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออาจมีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้ส่วนเสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ต้องจัดทำการประเมินผล กระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และกำหนดให้มีการเชื่อมโยงการประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ การจัดทำรายละเอียดการพัฒนารายพื้นที่ และการประเมินผลกระทบ (เอสอีเอ)
          6.กำหนดบทบาทหน้าที่ของ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้มีหน้าที่ต้องกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้แก่ น้ำ อากาศ เสียง และความสั่นสะเทือน ดิน ตะกอนดิน และสิ่งแวดล้อมในเรื่องอื่นๆ เพื่อเป็นเกณฑ์ทั่วไปสำหรับคุณภาพสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้สอดคล้องกับมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
          7.กำหนดให้วางหลักประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงบทกำหนดโทษโดยเพิ่มบทบาทการกำหนดโทษให้สอดคล้องกับหลักการที่มีการเพิ่มเติมขึ้นใหม่ รวมทั้งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมมีอำนาจในการกำหนดให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำจัดมลพิษที่เกิดขึ้นและฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนสภาพเดิม รวมทั้งมีอำนาจกำหนดการเรียกค่าปรับหรือสินไหมทดแทนค่าเสียหาย และค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมต่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบหรือผู้ที่ทำให้เกิดมลพิษ รวมทั้งให้คณะกรรมการควบคุมมลพิษมีอำนาจในการแต่งตั้งเจ้าพนักงานอัยการให้มีอำนาจดำเนินคดีแพ่งและอาญาแก่เจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น