วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560

สายตรงท้องถิ่น: เลือกตั้งท้องถิ่น หรือเลือกตั้ง ส.ส.ก่อน

สายตรงท้องถิ่น: เลือกตั้งท้องถิ่น หรือเลือกตั้ง ส.ส.ก่อน
สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๐

          ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
          ผมมักถูกถามบ่อยครั้งมาก เมื่อได้รับเชิญไปร่วมอภิปรายหรือบรรยายให้กับคนที่อยู่ในแวดวงท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งบุคลากรของท้องถิ่น รวมถึงเวทีทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นแต่ผมก็ไม่ลังเลที่จะตอบว่า "การเลือกตั้ง ส.ส.ต้องมาก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่น"
          ด้วยเหตุผลว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)กำลังทำกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. และส.ว. รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลไกในการจัดการเลือกตั้งเช่น กฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต) รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
          ตลอดจนสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ให้ดำเนินไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ หรือ "เดินตาม Road Map" ที่วางไว้ จึงทำให้น้ำหนักการเลือกตั้ง ส.ส.จึงมีความสำคัญและจำเป็นต้องทำเพื่อให้ประเทศมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดังที่ทุกฝ่ายตั้งใจรอคอย
          ผมจึงเข้าใจว่า การเลือกตั้ง ส.ส.จึงต้องมาก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ได้แปลความว่าการเลือกตั้ง ส.ส. สำคัญกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งนี้เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นก็มีความสำคัญเช่นกัน นั่นก็คือ "การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น" และ"การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น" เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งในประเภท องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ประเภทเทศบาล และประเภทองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ก็มีทั้งผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่ไม่เคยจัดให้มีการเลือกตั้งมาเกือบ 3 ปีแล้ว นับตั้งแต่มีรัฐประหารเมื่อวันที่22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งคนที่ครบวาระไปก็ยังคงรักษาการอยู่ต่อไป
          เป็นต้นว่า นายก อบจ. นายกเทศมนตรีเทศบาล และนายก อบต. ที่อยู่ครบวาระแล้วในขณะนี้ (ปัจจุบัน) ยังคงต้องรักษาการอยู่ต่อไปไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีการประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้น ซึ่งก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งคำถามว่า"จะเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อไหร่" จะให้เลือกตั้ง ส.ส. หรือเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน
          ผมเข้าใจว่า การเลือกตั้งท้องถิ่น จะเกิดขึ้นได้นั้นต้องลองพิจารณารัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 เราจะพบว่า "ต้องมีกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่นเช่นกัน"
          "มาตรา 252 สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่นหรือในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย"
          หากพิจารณาตามมาตรานี้ผมเข้าใจว่ามีประเด็นสำคัญนั่นก็คือ
(1) การกำหนดให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง และ
(2) ผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้ง หรือให้มาจากความเห็นชอบของสมาชิกสภาท้องถิ่น
(3) กรณีที่จัดให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งปัจจุบัน อปท. รูปแบบพิเศษมีอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ เมืองพัทยาและกรุงเทพมหานครเท่านั้น นอกจากนี้เราก็ยังไม่ทราบว่านโยบายรัฐบาลต่อ อปท. รูปแบบพิเศษจะให้มีเพิ่มอีกหรือไม่อย่างไร
          ที่สำคัญที่สุดคือ ในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้มี "คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น" ไว้ว่า...หลักเกณฑ์และวิธีการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดโดยต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามรัฐธรรมนูญ
          จึงทำให้ผมเข้าใจว่า "หากจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น" จะต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือทั้งนี้เพราะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในหลายประเด็น โดยเฉพาะเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งที่เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งที่มาของผู้บริหารท้องถิ่น เป็นต้น
          ผมจึงมีความเห็นว่าจะต้องเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ 2560 เช่นกัน โดยเฉพาะการจัดให้มีกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น ยกเว้นนายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ก่อนเลือกตั้ง ส.ส.
          อย่างไรก็ตาม ผมยังเห็นว่า กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นมีความสำคัญมากเช่นกัน ไม่แพ้กฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งนี้เพราะการระบุที่มาของผู้บริหารท้องถิ่นจะต้องพิจารณาเช่นกัน ส่วนความเห็นของผมเห็นว่าผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงนั้นเหมาะสมแล้ว
          นอกจากนี้ การกำหนดคุณสมบัติของผู้บริหารท้องถิ่นก็มีความสำคัญ เพราะในรัฐธรรมนูญฯ ระบุว่าให้คำนึงถึงการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คงหมายรวมถึงการป้องกันการซื้อเสียง การทุจริตการเลือกตั้งในรูปแบบต่างๆ และเราจะป้องกันกันอย่างไรมิให้คนที่มีพฤติกรรมที่ส่อการทุจริตการเลือกตั้ง เข้าสู่การเป็นผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นก็เช่นเดียวกัน ซึ่งก็เป็นมาตรการที่ทุกฝ่ายคาดหวังว่าการเมืองแนวใหม่ต้องปลอดการทุจริตในทุกรูปแบบ ทั้งนี้เพราะการทุจริตการเลือกตั้งรูปแบบต่างๆ นำมาสู่การทุจริตในโครงการต่างๆ เมื่อได้เข้ามาเป็นผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว หรือเรียกว่า การถอนทุนคืนนั่นเอง
          ผมประสงค์และคาดหวังให้ อปท. ทำให้เป็นแบบอย่างว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะต้องปลอดการซื้อเสียงปลอดการทุจริตในทุกรูปแบบ และจะทำให้ อปท. เป็นที่หวังและที่พึ่งได้ของสังคม ประเทศชาติ ซึ่งจะทำให้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมีแต่สิ่งที่ดีงาม เป็นที่คาดหวังในการจัดบริการสาธารณะอย่างมีคุณภาพ และเป็นแบบอย่าง รวมทั้งก่อให้เกิดนวัตกรรมท้องถิ่นที่เป็นต้นแบบในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น