จัดจารีตใหม่ ล้างไพ่ "อปท."ยึดคืนความสุข ทุกสี ทุกพรรค |
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 องศา ฉบับวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๐ |
ประกาศิตจากการใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
(คสช.) ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ที่สั่งระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราวครั้งล่าสุดจำน
วน 70 คน เรียกได้ว่าเป็นปฏิบัติการล้างบางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(อปท.) อย่างต่อเนื่อง ตามแผนการเพื่อจัดจารีตใหม่
รวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดยิงตรงสู่มหาดไทย เป็นปฏิบัติการยึดคืนความสุขจากทุกสี ทุกพรรคการเมือง อย่างเสมอหน้า ด้วยข้อหาพัวพันการทุจริต ประพฤติมิชอบ รวมแล้วนับตั้งแต่หัวหน้าคสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งดังกล่าว 9 ฉบับ ปรากฏว่ามีข้าราชการทั้งระดับบิ๊ก ทั้งปฏิบัติงานในส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น ถูกไล่ตรวจสอบร่วม 300 คน ซึ่งนายกรัฐมนตรี บอกว่า ตรวจสอบเสร็จไปแล้ว 40% หากสแกนเข้าไปดูในจำนวนข้าราชการ 300 รายดังกล่าวนี้ มีข้าราชการจาก อปท. คือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ติดร่างแหมากที่สุด อย่างครั้งที่ 9 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 35/2560 ที่ออกมาล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2560 ที่ผ่านมา มีผู้บริหาร อปท. จำนวน 37 ราย และข้าราชการ อปท. อีก 24 ราย ที่ให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวโดยไม่ได้รับเงินเดือน จากจำนวนข้าราชการที่ถูกคำสั่งดังกล่าวทั้งหมด 70 คน แถมครั้งนี้ ยังเล็งเป้ามัดมือมัดเท้าตัวเป้งๆ ที่มีอิทธิพลและบารมีในระดับคุมฐานเสียงพรรคการเมืองใหญ่ที่สำคัญ ทั้งพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ต่างโดนกันถ้วนหน้า จะว่านี่เป็นการจัดจารีต อปท. รื้อนั่งร้านพรรคการเมืองหน้าเก่า ปูทางสร้างฐานใหม่รับ "พรรคทหาร" ก็ใช่ แต่อีกด้านหนึ่งก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า อปท.นั้น ยิ่งมายิ่งเละ โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน รอบนี้ รายชื่อผู้บริหารท้องถิ่นที่โดนเท ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี 4-5 รายชื่อ ประกอบด้วย นายชาญ พวงเพ็ชร์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี มีชื่อเสียงจากการต่อสู้กับอิทธิพลของพรรคเพื่อไทย ปทุมธานี จนได้เป็น นายก อบจ. สมัยที่ 3 โดยในช่วงเลือกตั้ง 2554 นายกฯ ชาญ อยู่เบื้องหลังการจัดทีมผู้สมัคร ส.ส.ปทุมธานี พรรคภูมิใจไทย นายอัครเดช ทองใจสด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ ลูกชายนายเอี่ยม ทองใจสด อดีต ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคเพื่อไทย คำสั่งคราวนี้ จึงเปรียบเสมือนการล้างฐานการเมืองของตระกูลทองใจสด ที่อิงแอบอยู่กับพรรคเพื่อไทย มัดมือไว้ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ โอกาสเลือกตั้งครั้งใหม่ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์อาจมีโอกาสพลิก ซึ่งนายอัครเดช ก็ได้แต่ทำใจเพราะรู้ชะตากรรมถูกเพ่งเล็งตั้งแต่ยึดอำนาจแล้ว นายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย น้องชายนายธนเทพ และ นางนันทนา ทิมสุวรรณ อดีต ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย ซึ่งตระกูลทิมสุวรรณนั้น มีฐานเสียงอยู่ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย โดยสั่งสมบารมีมาตั้งแต่ยุคพ่อ คือ นาย สุรัตน์ ทิมสุวรรณ อดีตนายก อบจ. เลย ผู้กว้างขวางทั้งในวงการการเมืองและธุรกิจ นายชัยมงคล ไชยรบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร และอดีตนายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย โดย นายชัยมงคลผ่านมาทุกสมรภูมิการเมือง แต่ในระยะหลังๆ มีสายสัมพันธ์อันดีกับพรรคภูมิใจไทย และปลายปี 2556 ขึ้นเวทีต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ร่วมกับ กปปส.สกลนคร นายสุทัศน์ เรืองศรี รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ที่ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทนนายพรชัย โควสุรัตน์ นายก อบจ.อุบลฯ ที่ถูกคำสั่ง คสช. ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวมาก่อนหน้านี้ ซึ่งว่ากันว่า สายนี้ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อแผ่นดินหรือกลุ่มวังพญานาคเดิมของนายพินิจ จารุสมบัติ แต่ที่ฮือฮาที่สุดและถูกร้องเรียนเป็นข่าวคราวมาก่อนหน้านี้ ก็คือ นายเชาวน์วัศ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช พี่ชายของ เทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถูกตรวจสอบเรื่องการบริหารใช้จ่ายงบประมาณ และความไม่ปกติหลายเรื่องของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ตามที่ สตง.ได้เข้าตรวจสอบ ทั้งงานจ้างปรับปรุงสนามกีฬากลางจังหวัด, ปรับปรุงระบบประปา, เช่าบ่อน้ำดิบ, การจัดซื้อกล้องวงจรปิด ความล้มเหลวในการจัดการปัญหาภูเขาขยะ เป็นต้น ถึงขนาดว่าทันทีที่มีคำสั่ง คสช. ออกมา ชาวนครศรีธรรมราช ถึงกับเฮกันลั่น ซึ่งนอกจากนายเชาว์นวัศ เสนพงศ์ แล้ว ยังมีชื่อนายสนั่น ศิลารัตน์ ปลัด อบจ.นครศรีธรรมราช ทำหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ในบัญชีรายชื่อครั้งนี้ด้วย ต้องไม่ลืมว่า หลัง คสช. ยึดอำนาจ เป้าหมายหนึ่งที่ลงมือดำเนินการตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงบัดนี้ก็คือ การล้างบาง อปท. เพื่อจัดจารีตใหม่ทั้งหมด ภายใต้เสื้อคลุม "ปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น" ทั้งที่เนื้อแท้คือการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางผ่านทางผู้ว่าฯ โดยจะเห็นได้ว่า คำสั่งแรกๆ ของ คสช. ก็คือ การงดเลือกตั้ง อปท.ที่ครบวาระแล้วใช้วิธีการคัดสรรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่ คสช.เห็นพ้องเข้าไปทำหน้าที่ ก่อนที่จะออกคำสั่งใหม่ในเวลาต่อมาให้ผู้บริหารที่หมดวาระกลับมาปฏิบัติหน้าที่เหมือนเดิมจนกว่าจะมีเลือกตั้งใหม่ ขณะเดียวกัน ก็มีการแก้กฎหมายเพื่อปฏิรูปโครงสร้าง และอำนาจหน้าที่ อปท. ใหม่ เพื่อปูทางไปสู่การยุบ อบต. และควบรวม อปท. ซึ่งกฎหมายใหม่ กำหนดให้ อปท. เหลือแค่ 2 รูปแบบ คือ เทศบาล และ อบจ. เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นและเป็นนิติบุคคล โดยมี กระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และแนะนำการบริหารงานของ อปท. จะเห็นว่าชื่อ อบต.ถูกลบทิ้ง โดยให้มาอยู่ในรูปของเทศบาลซึ่งจะมีอยู่ 3 ระดับ คือ เทศบาลตำบล (ประชากรไม่เกิน 15,000 คน) เทศบาลเมือง (ประชากรเกิน 15,000 คน แต่ไม่เกิน 50,000 คน) เทศบาลนคร (ประชากร เกิน 50,000 คน ขึ้นไป) ที่สำคัญ คือยังกำหนดให้มีการควบรวมเทศบาลที่มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุน ต่ำกว่า 20 ล้านบาท หรือมีจำนวนประชากร ต่ำกว่า 7,000 คน เข้าด้วยกัน ซึ่งข้อมูลรายได้ของ อปท. ประจำปีงบประมาณ 2557 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ระบุว่า รายได้ที่ไม่รวมเงินอุดหนุนของ อปท.ที่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท พบว่าเป็นเทศบาล 1,126 แห่ง อบต. 4,339 แห่ง รวม 5,465 แห่ง หรือสูงถึงร้อยละ 69.59 ของ อปท.ทั้งประเทศ ดังนั้น เมื่อควบรวมแล้วจะเหลือ อบจ.และเทศบาล รวมกัน 4,000 แห่ง จากเดิมที่มี อบจ. เทศบาล อบต. และรูปแบบปกครองพิเศษ อาทิ พัทยา และ กทม. รวมกัน 7,853 แห่ง ขณะนี้ร่างกฎหมายปรับโครงสร้าง อปท. 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และร่างประมวลกฎหมายองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กำลังเดินไปตามขั้นตอน ล้อไปกับโรดแมปการเลือกตั้งใหญ่ ล้างไพ่ ล้างบางกันทีเดียวทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นตามแผนยึดเบ็ดเสร็จแบบอยู่ยาวไป การปรับรื้อ อปท. ครั้งใหญ่ของ คสช. นอกเหนือจากเหตุผลเพื่อต้องการรวบอำนาจ ลดความซ้ำซ้อน ขาดงบประมาณสนับสนุน อปท. ที่แตกออกไปยิบย่อยแล้ว ประเด็น อปท. มีปัญหาการทุจริตอย่างมโหฬารก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องล้างบางกันใหม่ ทำให้การลงมือรื้อ อปท.ครั้งใหญ่ของ คสช. มีความชอบธรรม โดยเรื่องนี้ปรากฏหลักฐานทั้งจากการตรวจสอบของ สตง. และป.ป.ช. โดยเฉพาะเรื่อง "เงินทอน" ซึ่งหนักข้อขึ้นทุกวันล่าสุด รายงานที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ทำบันทึกข้อความถึง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับ สปน. ให้สั่งการส่วนราชการที่ถูกระบุตามรายงานผลการเร่งรัดติดตามกรณีเงินขาดบัญชี หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต ประจำปีงบประมาณ 2560 รอบ 6 เดือนแรก (1 ต.ค. 2559-31 มี.ค. 2560) ให้ดำเนินการชดใช้เงินหรือทรัพย์สินคืน รวมทั้งดำเนินคดีทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย กับผู้กระทำผิด นั้นก็เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญถึงการบริหารราชการของ อปท. ที่ไม่โปร่งใส และมีปัญหามากสุดเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งนี้ สปน.ได้รับแจ้งจาก สตง.และหน่วยงานที่เสียหายโดยตรง จำนวน 197 เรื่อง จำนวนเงินที่เสียหาย ประมาณ 665 ล้านบาท โดยหน่วยงานที่มีเรื่องที่ได้รับแจ้งสูงสุด และจำนวนเงินที่ได้รับแจ้งสูงสุด แยกตามส่วนราชการ อันดับหนึ่ง คือ อปท. จำนวน 82 เรื่อง 459.8 ล้านบาท รายงานฉบับนี้ ยังระบุถึงเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ณ วันที่ 31 มี.ค. 2560 จำนวน 3,024 เรื่อง จำนวนเงินที่เสียหาย 11,783 ล้านบาท โดยหน่วยงานรัฐที่มีจำนวนเรื่องสูงสุด และจำนวนเงินที่ได้รับแจ้งสูงสุด คือ อปท. จำนวน 1,577 เรื่อง 2,409.6 ล้านบาท เช่นนี้แล้ว เสียงคัดค้านการรื้อใหญ่ อปท. ของ คสช. จึงค่อนข้างเงียบและไม่มีพลังเหมือนกับที่ผ่านๆ มา ที่เรียกว่าแตะไม่ได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ไม่อยากแตะเพราะนั่นเป็นฐานการเมืองของทุกสีทุกพรรคนั่นเอง |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
จัดจารีตใหม่ ล้างไพ่ "อปท."ยึดคืนความสุข ทุกสี ทุกพรรค
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น