วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะไม่รักษาประโยชน์ราชการ !


ต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะไม่รักษาประโยชน์ราชการ !

ผู้จัดการ Online โดย ทีมข่าวอาชญากรรม   
12 มิถุนายน 2560 10:22 น.
        ช่วงนี้ฝนตกแทบทุกวัน… และแน่นอนว่าฝนตกจะพ่วงมาพร้อมกับรถติดและน้ำรอการระบาย ซึ่งอาจนำพาความหงุดหงิดมาให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้ ฉะนั้น...
    
       นอกจากจะต้องดูแลสุขภาพร่างกายกันแล้ว ก็ควรหาวิธีผ่อนคลายและดูแลสุขภาพจิตกันด้วยนะคะ
    
       สำหรับคดีปกครองที่นำมาพูดคุยกันในวันนี้ นับว่าเป็น “บทเรียน” ที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องตระหนักในเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ของราชการที่ต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา...
    
       โดยผู้ฟ้องคดีในคดีนี้คือ ผู้อำนวยการสำนักการช่าง ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง กรณีได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างถนน โดยเมื่อผู้รับจ้างส่งมอบงานงวดสุดท้าย
    
       ผู้ควบคุมงานได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการตรวจการจ้างว่า ผู้รับจ้างทำงานไม่ครบตามประมาณการที่กำหนดในสัญญาเพราะไม่มีพื้นที่ให้ทำ ได้แก่ บ่อพัก คสล. 7 บ่อ และงานเครื่องหมายจราจรบนผิวทางที่ทาสีไม่ครบตามปริมาณพื้นที่ที่ตกลงในสัญญา เนื่องจากวิศวกรโครงการได้คำนวณพื้นที่การทำงานผิดพลาดไปจากพื้นที่จริงซึ่งมีน้อยกว่าจากที่คำนวณไว้ ในการจ่ายเงินแก่ผู้รับจ้างจึงควรหักเงินในส่วนที่ไม่ได้ทำจริงออก
    
       ในการประชุม คณะกรรมการตรวจการจ้างส่วนใหญ่มีความเห็นว่าควรหักเงินค่าจ้างตามที่ผู้ควบคุมงานเสนอ แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าควรหักเงินเฉพาะในส่วนของบ่อพัก คสล. 7 บ่อ เท่านั้น ส่วนการทาสีเครื่องหมายจราจรบนผิวทางต้องจ่ายตามสัญญาเพราะเป็นงานเหมารวม โดยผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงนายกเทศมนตรีเสนอให้มีการตรวจรับงานดังกล่าว โดยไม่ผ่านประธานกรรมการตรวจการจ้างก่อน
    
       จากนั้นนายกเทศมนตรีได้อนุมัติให้จ่ายเงินแก่ผู้รับจ้างตามความเห็นของผู้ฟ้องคดี ต่อมามีการร้องเรียนว่าผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบช่วยผู้รับเหมา จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง สรุปว่าพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการและกระทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน เป็นเหตุให้ทางราชการเสียหายอย่างร้ายแรง ควรลงโทษปลดออกจากราชการ
    
       นายกเทศมนตรีจึงมีคำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการพนักงานเทศบาล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) มีมติให้ยกคำอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง
    
       เรื่องนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า นายกเทศมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีอำนาจตามประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน และเมื่อกรณีมีมูลตามที่ถูกกล่าวหาจึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง อันเป็นการดำเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้
    
       แม้ว่าเอกสารประกวดราคาและสัญญาจ้างจะเป็นสัญญาแบบเหมารวมก็ตาม แต่ตามหนังสือของผู้ควบคุมงานที่ได้แจ้งว่ามีปริมาณการตีเส้นจราจรจริงไม่ถึงตามที่กำหนดในสัญญา ซึ่งการประมาณราคาค่าจ้างคิดตามปริมาณงานที่ทำจริงโดยมีการกำหนดจำนวนที่แน่ชัดเป็นตารางเมตร ดังนั้น การคำนวณค่าใช้จ่ายจึงต้องขึ้นอยู่กับปริมาณงานว่ามีเท่าใด เมื่อช่างผู้ควบคุมงานได้รายงานปัญหาดังกล่าวแล้ว กรณีเช่นนี้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นกรรมการตรวจการจ้างและเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการออกแบบ บริหารการก่อสร้าง การผังเมืองและการโยธา ก็ย่อมต้องรู้ว่าควรหักเงินค่าเนื้องานที่ไม่ได้ทาสีตีเส้นจราจรให้ครบออก และแม้ว่าการคำนวณเนื้อที่การทาสีจราจรผิดพลาด (มาแต่ต้นขณะทำสัญญา) จะเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการออกแบบโครงการ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะย้ายมาดำรงตำแหน่งที่เทศบาลดังกล่าวก็ตาม ผู้ฟ้องคดีย่อมไม่อาจกล่าวอ้างความผิดพลาดดังกล่าวให้ตนพ้นจากภาระหน้าที่ที่ต้องระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการได้
    
       การที่ผู้ฟ้องคดียืนยันให้คิดค่างานแบบเหมารวม โดยมีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยตรง ทั้งที่ควรเสนอผ่านประธานกรรมการตรวจการจ้างก่อน การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการจงใจกระทำการข้ามชั้นการบังคับบัญชา และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีมีการชักจูงผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างให้เห็นคล้อยตามตน ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีจงใจกระทำโดยมีพฤติการณ์ที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้รับจ้าง โดยไม่ได้ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการตามหน้าที่ ทำให้เทศบาลต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมากให้ผู้รับจ้างไปโดยไม่สมควร พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง คำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจตามความเหมาะสมแก่กรณีที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.71/2559)
    
       ฉะนั้น ในการคิดคำนวณการจ่ายเงินค่าจ้างแก่ผู้รับจ้างกรณีไม่อาจทำงานตามสัญญา แม้ว่าสัญญาจะกำหนดให้จ่ายแบบ “เหมารวม” จะต้องพิจารณาจากปริมาณการทำงานจริงเป็นสำคัญ รวมทั้งการเสนอความเห็นในฐานะกรรมการตรวจการจ้างจะต้องเสนอผ่านประธานกรรมการตรวจการจ้าง ไม่ควรเสนอข้ามชั้นผู้บังคับบัญชา ซึ่งหากมีพฤติการณ์ที่เอื้อประโยชน์ผู้รับจ้างเช่นในคดีนี้ ก็ต้องพ้นจากหน้าที่ไปตามระเบียบ !
     
       ป.ธรรมศลีญ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น