บทความพิเศษ: มหาดไทยจะดองร่าง พ.ร.บ.วาระกำนันที่ผ่าน สปท.หรือ |
ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ |
พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า
เมื่อในสมัยรัชกาลแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตั้งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ขึ้นเมื่อพระพุทธศักราช 2440
และได้ใช้พระราชบัญญัตินั้นเป็นแบบแผนวิธีปกครองพระราชอาณาจักร
อันอยู่ภายนอกกรุงเทพฯ มาจนบัดนี้ พระราชบัญญัติอื่นๆ
อันเนื่องด้วยปกครองราษฎร
ซึ่งตั้งขึ้นภายหลังต่อมาได้ยึดพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่นี้เป็นหลักอีกเป็นอันมาก
เพราะฉะนั้นพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่
นับว่าเป็นพระราชบัญญัติสำคัญในการปกครองพระราชอาณาจักรอย่างหนึ่ง ตั้งแต่ได้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ในพระพุทธศักราช 2440 มา วิธีปกครองพระราชอาณาจักรได้จัดการเปลี่ยนแปลงดำเนินมาโดยลำดับหลายอย่าง ทรงพระราชดำริเห็นว่า ถึงเวลาอันสมควรที่จะแก้ไขพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ให้ตรงกับวิธีการปกครองที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ รัตนโกสินทรศก 116 ของเดิม แห่งใดที่ยังใช้ได้ให้คงไว้ แห่งที่เก่าเกินกว่าวิธีปกครองทุกวันนี้ แก้ไขให้ตรงกับเวลารวบรวมตราเป็นพระราชบัญญัติไว้ สืบไปดังนี้ ผมนำพระบรมราชโองการนี้มาให้ผู้อ่านทราบว่าพระองค์ท่านได้มองการณ์ไกลไปในอนาคตอันยาวไกล จึงได้ทรงประกาศตอนท้ายว่า "แห่งใดที่ยังใช้ได้ให้คงไว้ แห่งที่เก่าเกินกว่าวิธีปกครองทุกวันนี้ แก้ไขให้ตรงกับเวลา"เพราะฉะนั้น การที่ สปท.รวบรวมข้อสังเกตในรายงาน สังเกตไว้ในเอกสารเสนอที่ประชุม สปท.ตอนหนึ่งว่า การให้มีการเลือกทำนองเดียวกับการเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น อาจเป็นการแปลความไม่เป็นตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 5 ที่โปรดเกล้าฯ ให้การปกครองท้องถิ่น และมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาเป็นครั้งแรก อาจจะไม่สอดคล้องกับพระบรมราชโองการ ที่ผมนำมาเขียนไว้ในตอนบน ผมจะยกตัวอย่างทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ "ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์มีพระราชปรารภอันแรงกล้าที่จะจัดการปกครองเช่นที่อารยประเทศได้ถือปฏิบัติ และทรงมีพระราชดำริที่จะให้ประชาชนพลเมืองได้เข้ามา มีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ เพื่อช่วยกันทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญลุล่วงตามทัศนคติใหม่ของระบอบการปกครองในประเทศตะวันตก ในระยะแรกพระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ อนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการเปลี่ยนแปลง ให้ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านและกำนัน เป็นผู้รับเลือกมาจากประชาชนในท้องถิ่น แทนที่ทางรัฐจะเป็นผู้แต่งตั้งเช่นในสมัยก่อน...." นี่คือตัวอย่างพระราชประสงค์ของพระองค์ (เมื่อ 100 ปีกว่าแล้ว) ที่ต้องการให้มีการพัฒนารูปแบบการปกครองไปให้ประชาชนมีส่วนร่วมและปกครองตนเอง เหมือนดังนานาชาติที่พระองค์มีประสบการณ์ ทรงเห็นมาและจะนำมาใช้กับประเทศไทยเมื่อถึงกาลเวลา พระองค์ทรงจัดให้ตั้งสุขาภิบาลในกรุงเทพมหานครมาหลายปี ส่วนตามหัวเมือง พระองค์ทรงต้องการให้ประชาชนมีความเข้าใจและเห็นคุณประโยชน์ของการสุขาภิบาล จนในที่สุด กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงตั้งสุขาภิบาลครั้งแรกในหัวเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาของท้องถิ่น โดยจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม เมื่อปี พ.ศ.2448 เพื่อเป็นตัวอย่างที่จะขยายต่อไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อไปดูแลของสิ่งสกปรกรุงรัง รวมทั้งขยะ และให้ประชาชน คือพ่อค้า ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย และเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้ง "เมืองจำลองแห่งประชาธิปไตย" เรียกว่า "ดุสิตธานี" ขึ้นในพระราชวัง เพื่อเป็นแบบทดลองของการปกครองเทศบาลของอังกฤษ โดยพระองค์และข้าราชบริพารทดลองทำตนเป็นพลเมืองของดุสิตธานีด้วยพระองค์เอง มีการจัดการเลือกตั้ง ประชุมสภาฯ จัดเก็บภาษี ออกหนังสือพิมพ์ จัดตั้งพรรคการเมือง 2 พรรค คือ พรรคฝ่ายขวาและพรรคฝ่ายซ้าย ตัวอย่างทั้ง 2 กรณีนี้คงพอเป็นที่ประจักษ์ได้ว่า รูปแบบการปกครองได้เปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งโดยพระมหากษัตริย์ไทย เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป สมัยสุโขทัยมีแบบการปกครอง เรียกว่า "จตุสดมภ์" คือ แบ่งการปกครองเป็น เวียง วัง คลัง นา สมัยอยุธยา แบ่งออกเป็นฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน และแยกเป็นกรมต่างๆ สมัยกรุงเทพมหานคร เริ่มตั้งแต่รัฐกาลที่ 4 ได้มีกระทรวงและมีกรมหลายกรม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินให้มี 12 กระทรวง โดยปี 2435 ทรงยกฐานะกรมพระนครบาลเป็นกระทรวงนครบาล ปี 2440 ทรงสถาปนากรมสุขาภิบาล เพื่อรับผิดชอบการกำจัดขยะ ควบคุมการก่อสร้างอาคารและขจัดเหตุเดือดร้อนรำคาญต่างๆ ทำนองเดียวกับหน้าที่ของเทศบาลที่เจริญแล้ว หลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองหลายครั้ง และรวมกระทรวงนครบาลเข้ากับกระทรวงมหาดไทย จนกระทั่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 รัฐบาลได้ยุบมณฑลต่างๆ คงเหลือระดับจังหวัด ซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาค และมีการปกครองท้องถิ่นแบบเทศบาลตั้งแต่ปี พ.ศ.2476 โดยประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 เหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลง แก้ไขทางการปกครองให้เป็นไปตามสถานการณ์ ทั้งนั้น ซึ่งชัดเจนที่สุดว่าการจัดแบบแผนวิธีปกครองต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้ตรงกับเวลา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 (ฉบับที่....พ.ศ....) ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2560 ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ อาศัยอำนาจตามมาตรา 266 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้มีหนังสือกราบเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตามหนังสือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด่วนที่สุด ที่ สผ (สปท.) 0014/1966 ลงวันที่ 28 เมษายน 2560 เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ - การเข้าสู่ตำแหน่งของกำนัน- วาระการดำรงตำแหน่งของกำนัน- การประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านต่อมา นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการประสานงานรวม 3 ฝ่าย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล กทม.10300 ที่ นร 0404 (คนป.)/5234 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 กราบเรียนประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศว่า "นายกรัฐมนตรีได้รับเรื่องดังกล่าวและมีบัญชา เห็นชอบให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินคณะที่ 3 ด้านระบบราชการ กระบวนการยุติธรรม และสร้างความปรองดองสมานฉันท์และกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาเร่งรัดขับเคลื่อนต่อไปแล้ว" ซึ่งประเด็นนี้หมายถึงว่ากระทรวงมหาดไทยต้องเร่งรีบพิจารณามีความเห็นในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีดำเนินการในการเสนอ สนช.พิจารณาตามขั้นตอนการพิจารณา พ.ร.บ.นี้บัญญัติต่อไป เพื่อความเข้าใจร่วมกัน ผมขอลำดับข้อเขียนดังนี้ข้อกฎหมายกรณีผู้ใหญ่บ้าน1.การเข้าสู่ตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้านตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่2.วาระการดำรงตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้านตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ถึง พ.ศ.2535 มาจากการแต่งตั้งของผู้ว่าราชการจังหวัด 3.พ.ร.บ.ลักษณะปกครองที่ (ฉบับที่ 9) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2535 บัญญัติให้ผู้ใหญ่บ้านอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี นับแต่วันที่ราษฎรเลือก ทั้งนี้ โดยมีหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.นี้ว่า การให้อายุของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องมีอายุตั้งแต่ 25 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนานที่สุดถึง 35 ปี ไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน สมควรกำหนดระยะเวลาการอยู่ในตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้านเป็นวาระคราวละ 5 ปี 4.พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2551 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 บัญญัติให้ผู้ใหญ่บ้านอยู่ในตำแหน่งจนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม หรือลาออก หรือสาเหตุอื่นๆ ข้อกฎหมายกรณีกำนัน 1.พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 ถึง พ.ศ.2535 ให้ผู้ใหญ่บ้านเลือกกันเองเป็นกำนัน และให้เป็นผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านนั้นๆ ด้วย 2.พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 ให้ประชาชนทั้งตำบลเป็นผู้ออกเสียงเลือกกำนัน 3.พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2551 (ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551) ถึงปัจจุบัน ให้ผู้ใหญ่บ้านเลือกกันเองเป็นกำนันตามเติมคือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ย้อนหลังไป เหตุผลของ สปท.ที่ให้มีการเลือกตั้งกำนันโดยราษฎร แทนที่ให้ผู้ใหญ่บ้านเลือกกันเองเหมือนปัจจุบัน ก็คือ 1.การให้ผู้ใหญ่บ้านเลือกกันเองระหว่างผู้ใหญ่บ้านนั้น ราษฎรในตำบลนั้นไม่ได้มีส่วนร่วมเลือกแต่อย่างใด 2.มีการลงทุนซื้อตำแหน่งได้ง่าย เพราะตำบลหนึ่งๆ มีผู้ใหญ่บ้านไม่กี่คน เพียงซื้อเสียงให้ได้กึ่งหนึ่งรวมทั้งเสียงของตนเองก็ได้รับชัยชนะแล้ว เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่บ้านจำนวนที่จะได้รับเลือกเป็นกำนันจึงอาจมาจากผู้มีอิทธิพลหรือผู้มีเงินในอัตราที่สูง 3.การได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนันที่อยู่จนครบ 60 ปี ถือว่านานมาก อาจจะกลายเป็นผู้มีอิทธิพลในตำบลนั้นๆ ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคมีการกระจายงบประมาณไปยังตำบล หมู่บ้านจำนวนมากๆ ดังที่ผ่านมาก็อาจเป็นแรงจูงใจส่วนหนึ่งได้ 4.อาจจะมีบ้างที่นายอำเภอเป็นคนชี้นำให้เลือกผู้ใหญ่บ้านคนใดคนหนึ่งเป็นกำนัน ตามความเห็นของผม ข้อเสนอของ สปท.นี้ไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด เพราะ 1.วาระการดำรงตำแหน่งของกำนันทุก 5 ปีนั้น มีการใช้มาแล้วช่วง พ.ศ.2535 ถึง พ.ศ.2551 รวมเวลาประมาณ 16 ปี เพิ่งมายกเลิกในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเป็นรัฐบาลยุคสมัยปฏิวัติแต่งตั้ง ซึ่งผมจำได้ว่าในครั้งนั้นกระทรวงมหาดไทยโดยการผลักดันและเรียกร้องของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทั่วประเทศ (ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ากระทรวงมหาดไทยอยู่เบื้องหลังการเรียกร้องดังกล่าวหรือไม่) จึงมีการแก้ไข พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ตามนัยดังกล่าว จนกระทั่งบัดนี้ ทั้งๆ ที่สถานการณ์ของประเทศได้เปลี่ยนแปลงเป็นสังคมที่ประชาชนต้องเลือกผู้นำของเขาเอง 2.ตามร่างกำนันนี้ให้กำนันคงดำรงตำแหน่งต่อไปอีก 5 ปี ซึ่งเมื่อครบ 5 ปีแล้วจึงให้มีการเลือกโดยราษฎรจากผู้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน 3.สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านปัจจุบันก็ให้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่ บ้านต่อไปจนครบ 60 ปีบริบูรณ์ แล้วจึงให้ราษฎรเลือกอยู่ในทุก 5 ปี ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงไม่กระทบกับผู้ดำรงตำแหน่งกำนัน และผู้ใหญ่บ้านแต่อย่างใด ผมจึงเห็นว่าเรื่องนี้เมื่อในอดีตได้มีการกำหนดวาระและเลือกกำนันโดยราษฎรทั้งตำบลแล้ว ก็ไม่น่าที่กระทรวงมหาดไทยจะต้องใช้เวลานานนักในการพิจารณา เว้นแต่ว่ากระทรวงมหาดไทยยังหาเหตุผลมาลบล้างเหตุผลของ สปท.ไม่ได้ จึงต้องรอเวลาหาช่องทางเพื่อไม่ให้ร่างนี้เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งผมเชื่อว่ามหาดไทยจะทำได้สำเร็จ เพราะลูกไม้มหาดไทยนั้นเป็นที่เลื่องลือว่าฉมังนักมาช้านาน ใครมาเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ถึงแม้จะเป็นคนขึงขังเพียงใดในช่วงรับตำแหน่งใหม่ก็ตาม แต่ในที่สุดก็เสร็จข้าราชการกระทรวงนี้ทุกราย ไม่มีข้าราชการกระทรวงหรือหน่วยงานของรัฐใดมีศิลปะในการเข้าผู้บังคับบัญชาได้เก่งกล้ากระบวนยุทธ์เท่าข้าราชการกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการฝ่ายปกครองครับ ผมจึงใคร่ท้าทายกระทรวงมหาดไทยว่า ในกรณีให้มหาวิทยาลัยซึ่งมีเกือบทุกจังหวัด (144 มหาวิทยาลัย) สำรวจความเห็นประชาชนว่าต้องการให้กำนัน และผู้ใหญ่บ้านมีวาระการครองตำแหน่ง 5 ปี กับอยู่ถึง 60 ปีบริบูรณ์ เสียงส่วนใหญ่จะไปทางไหน โดยใช้ตัวอย่างเพียงจังหวัดละ 10,000 เสียงก็พอ ข้าราชการฝ่ายปกครองของกระทรวงมหาดไทยจะกล้าและรับทำไหมครับ ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่าประชาชนจะมีคำตอบอย่างไร. |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันพุธที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560
บทความพิเศษ: มหาดไทยจะดองร่าง พ.ร.บ.วาระกำนันที่ผ่าน สปท.หรือ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น