สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๐ |
รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม "องค์กรท้องถิ่น" ในรูปแบบของ "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล ที่แบ่งเป็นเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ที่มีที่ตั้งกระจายอยู่ทุกพื้นที่ทุกส่วนของประเทศไทย โดยไม่รวมถึงเมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร ในฐานะเขตการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เราจะพบว่ามีประชาชนในเขตองค์กรท้องถิ่นดังกล่าวที่มีประชาชนประสงค์จะเข้าติดต่อขอรับบริการจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละวันคงมีจำนวนไม่น้อย การเข้ามาติดต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเห็นว่าแล้วแต่วัตถุประสงค์ เช่น มาขอรับบริการด้านสวัสดิการต่างๆมาชำระภาษีอากรค่าธรรมเนียม มาเรียกร้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ไขปัญหา รวมทั้งมาขอข้อมูลต่างๆ ในองค์กรท้องถิ่น ซึ่งองค์กรท้องถิ่นต้องให้บริการ ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนต้องการรรอรับบริการ หรือมาร้องทุกข์ ร้องเรียน หรือเสนอความคิดให้แก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นต้น จึงทำให้เห็นว่า องค์กรท้องถิ่นมีความใกล้ชิดกับประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น การขอรับบริการจากองค์กรท้องถิ่น จึงเป็นประเด็นว่า เมื่อประชาชนมาติดต่อแล้ว มีความรู้สึกถึงการให้บริการขององค์กรท้องถิ่นว่าเป็นอย่างไร มีส่วนใด ประเด็นใด มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรท้องถิ่น ซึ่งเห็นว่า มีหลายประเด็นที่น่าสนใจที่ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กรท้องถิ่น ได้เรียกร้องต่อองค์กรท้องถิ่นเพื่อเป็นการเสนอความคิดเห็น และเรียกร้องให้องค์กรท้องถิ่นปรับปรุงแก้ไขการบริหารงานขององค์กรท้องถิ่นก็มีจำนวนมาก ข้อมูลส่วนที่จะนำเสนอถึง "ประชาชนเรียกร้องอะไรจากองค์กรท้องถิ่น" ได้มาจากการสำรวจความคิดเห็นในการให้บริการขององค์กรท้องถิ่นต่อประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่กระจายไปตามกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มผู้รับสวัสดิการต่างๆ จากองค์กรท้องถิ่น กลุ่มผู้ชำระภาษี กลุ่มผู้ที่มาขอจัดซื้อจัดจ้าง และกลุ่มผู้รับบริการที่ต่างไปขององค์กรท้องถิ่น อาจจะเป็นกลุ่มสตรี กลุ่ม อสม. กลุ่มเด็กและเยาวชน เป็นต้น ผลการประเมินความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเรียกร้องให้องค์กรท้องถิ่น นำไปแก้ไขและปรับปรุงพัฒนาองค์กรท้องถิ่น มีอยู่หลายประการ โดยขอเสนอผลสำรวจความคิดเห็นโดยภาพรวม ดังนี้ ประการที่ 1 ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ระบุว่า องค์กรท้องถิ่นมีพนักงานมากเกินไป และเรียกร้องให้ลดจำนวนพนักงานท้องถิ่น เพราะเห็นว่า องค์กรท้องถิ่นมีพนักงานมากเกินความจำเป็น นอกจากนี้ ประชาชนยังเสนอให้ การรับสมัครพนักงานท้องถิ่นควรกระทำให้เป็นต้นแบบที่มีความโปร่งใสและป้องกันการแต่งตั้งญาติพี่น้องของตนเอง หรือมีระบบอุปถัมภ์ในการรับสมัครพนักงาน โดยการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ มาร่วมเป็นกรรมการ ประการที่ 2 ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ระบุว่า พนักงานท้องถิ่น ให้บริการประชาชนโดยไม่มีความกระตือรือร้น เป็นต้นว่า มักมาทำงานสาย ไม่ตรงต่อเวลา และยังเห็นว่า องค์กรท้องถิ่นบางแห่งมีการดื่มสุราในเวลาทำงาน จึงเรียกร้องให้ ผู้บริหารท้องถิ่น ต้องมีมาตรการ แนวทางในการกำกับดูแล เพื่อให้บริการประชาชนอย่างมีจิตวิญญาณในการให้บริการ ทั้งนี้อาจจะจัดให้มีโครงการฝึกอบรมให้กับพนักงานท้องถิ่นในการให้บริการประชาชน ประการที่ 3 ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ระบุให้องค์กรท้องถิ่นต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในการบริหารงานและดำเนินงานขององค์กรท้องถิ่น เช่น การเปิดเผยข้อมูลงบประมาณรายรับ-รายจ่ายในรอบปี การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ และการเปิดเผยข้อมูลโครงการและกิจกรรมขององค์กรท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้มีการรายงานผลการดำเนินงานของ อปท. ในรอบปีให้ประชาชนทราบ โดยผ่านช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลที่หลากหลาย ประการที่ 4 ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เรียกร้องให้องค์กรท้องถิ่นเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับองค์กรท้องถิ่น โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนและโครงการต่างๆ การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบในการจัดซื้อจัดจ้าง การดำเนินงานตามโครงการต่าง ๆ เป็นต้น ประการที่ 5 ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เรียกร้องให้องค์กรท้องถิ่นจัดให้มีการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารงานขององค์กรท้องถิ่น ทั้งนี้เห็นว่า ประชาชนจำนวนหนึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารงานขององค์กรท้องถิ่น ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน้อย ประการที่ 6 ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เรียกร้องให้มีการประเมินการบริหารงานของ อปท. เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะการประเมินนั้นควรให้หน่วยงานหรือองค์กรภายนอกเข้ามาดำเนินการประเมินเพื่อทำให้องค์กรท้องถิ่นมีความกระตือรือร้นและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ประการที่ 7 ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ระบุให้องค์กรท้องถิ่นจัดทำแผนการป้องกันการทุจริต ทั้งนี้เพราะผลการวิจัยพบว่า ส่วนใหญ่องค์กรท้องถิ่นไม่ได้จัดทำแผนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จึงเสนอให้มีการจัดทำแผนดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมในการดำเนินงาน ตลอดจนวิธีการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม องค์กร ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนป้องกันการทุจริต ประการที่ 8 ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เสนอให้มีการยกย่องชมเชย หรือยกย่องบุคลากรที่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบ มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นที่ประจักษ์ ซึ่งรางวัลอาจให้เป็นรูปแบบต่างๆตามความเหมาะสม และอาจจะขยายการให้รางวัลหรือเกียรติบัตรแก่องค์กรภาคประชาสังคมที่คอยสอดส่องดูแลการป้องกันการทุจริตในองค์กรท้องถิ่นรวมไปถึงรางวัลที่เกี่ยวข้องกับ ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และผู้ที่มีจิตอาสาสมัครในสาธารณประโยชน์ต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคุณธรรมและความโปร่งใส ผมเข้าใจว่า การที่ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้ให้ความเห็นดังที่กล่าวมานี้ ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อองค์กรท้องถิ่น และเป็นกระจกเงาที่สะท้อนให้องค์ท้องถิ่นนำไปปรับปรุงแก้ไขเพื่อทำให้องค์กรท้องถิ่นมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น โดยยอมรับภาพที่เป็นอยู่ว่า มีความเป็นจริงแค่ไหน อย่างไรก็ตาม องค์กรท้องถิ่นที่มีการบริหารงานที่ดีอยู่แล้วและไม่เป็นไปตามที่ประชาชนระบุ หรือเรียกร้อง ก็ขอให้พัฒนาอปท. ของตนเองให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ส่วน อปท. ที่มีส่วนถูกต้องกับข้อเท็จจริงที่ประชาชนให้ความคิดเห็นก็ต้องรับฟัง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อองค์กรท้องถิ่นเองที่จะพัฒนาตนเองให้ตรงเป้าหมาย และตอบโจทย์ในสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560
คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: ประชาชนเรียกร้องอะไรจากองค์กรท้องถิ่น
คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: ประชาชนเรียกร้องอะไรจากองค์กรท้องถิ่น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น