วันอังคารที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2560

คอลัมน์ สายตรงท่องถิ่น: เกรดการประเมินองค์กรท้องถิ่น

คอลัมน์ สายตรงท่องถิ่น: เกรดการประเมินองค์กรท้องถิ่น
สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๐

          ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
          เกรดการประเมินองค์กรท้องถิ่นที่จะนำเสนอนี้ เป็นผลที่ได้จากการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้ข้อมูลบางส่วนว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนหนึ่งได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการประเมินตนเอง ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับความสนใจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสมัครเข้าสมัครเพื่อร่วมประเมินรางวัลต่างๆ เป็นต้นว่า การสมัครเข้าประกวดรางวัลของสถาบันพระปกเกล้า การสมัครเข้าประกวดรางวัลการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ของสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจ ตลอดจนรางวัลในลักษณะอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งเมื่อได้ประมวลปรากฏการณ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งถือว่าการประเมินในส่วนต่างๆ เหล่านี้เป็นการประเมินตนเอง เป็นการทำให้ท้องถิ่นเห็นความสำคัญและตระหนักที่จะใส่ใจในการประเมินและพัฒนาตนเอง
          ดังนั้น จึงขอเสนอเกรดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้วิเคราะห์จากความตระหนัก ความใส่ใจ ความสนใจในการประเมินองค์กรท้องถิ่น ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 เกรด หรือ 3 ระดับ ดังนี้
          กลุ่มที่ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับ A ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีอยู่ประมาณ ร้อยละ 50 ที่ให้ความสำคัญกับการประเมินฯ มีลักษณะ ดังนี้ เช่น
          1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้บริหารท้องถิ่น เห็นความสำคัญกับการประเมิน และมีความรับผิดชอบ โดยให้ความสำคัญกับการประเมิน และมีความใส่ใจ กระตือรือร้น และมีส่วนร่วมในการประเมิน เช่น การเตรียมเอกสารหลักฐาน การตอบแบบประเมิน ช่วยติดต่อประสานงานกลุ่มประชาชนเป้าหมาย รวมทั้งบุคลากร หรือเจ้าหน้าที่ให้ความร่วมมือดี เป็นต้น
          2) เจ้าหน้าที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความกระตือรือร้น โดยให้ความสนใจ ใส่ใจในการประเมิน มีการเตรียมการนัดหมายกลุ่มเป้าหมาย เตรียมเอกสารหลักฐานมีความพร้อมเพื่อรับการประเมินเป็นอย่างดี
          3) เจ้าหน้าที่มีความสนใจในการช่วยเหลือและจัดเตรียมด้านเอกสารของผู้บริหารเป็นอย่างดี
          4) การมีส่วนร่วมทั้งระดับผู้บริหารท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ และส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายให้ความร่วมมือและประสานงานการให้ข้อมูลต่างๆครบถ้วน
          กลุ่มที่ 2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับ B ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้ความสำคัญกับการประเมินฯ ระดับปานกลางและให้ความร่วมมือในระดับพอใช้ เช่น
          1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้บริหารท้องถิ่นมีท้องถิ่น เห็นความสำคัญกับการประเมิน และมีความรับผิดชอบ โดยให้ความสำคัญกับการประเมิน และมีความใส่ใจ กระตือรือร้น และมีส่วนร่วมในการประเมินในระดับพอใช้ เช่นการตอบแบบประเมิน
          2) เจ้าหน้าที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความกระตือรือร้น โดยให้ความสนใจ ใส่ใจในการประเมิน มีการเตรียมการนัดหมายกลุ่มเป้าหมาย เตรียมเอกสารหลักฐานมีความพร้อมเพื่อรับการประเมินหลายครั้งโดยเฉลี่ยประมาณ2 ครั้ง ส่วนการประสานงานนัดหมายกับประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในครั้งแรกอาจได้จำนวนประชาชนไม่ครบตามเป้าหมายที่กำหนด ต้องมีการนัดหมายเป็นครั้งที่ 2 หรืออาจจะครั้งที่ 3
          4) เจ้าหน้าที่มีความสนใจในการช่วยเหลือและจัดเตรียมด้านเอกสารของผู้บริหารในระดับปานกลาง เช่น ต้องมีการเตรียมเอกสารเพิ่มเติมส่งตามไปภายหลัง หรืออาจไปในรอบที่ 2
          5) การมีส่วนร่วมทั้งระดับผู้บริหารท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ และประชาชนกลุ่มเป้าหมายให้ความร่วมมือและประสานงานการให้ข้อมูลต่างๆ ไม่ค่อยครบถ้วน และอาจนัดหมายใหม่ แต่ก็ได้ข้อมูลครบถ้วนในภายหลัง
          กลุ่มที่ 3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับ C ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้ความร่วมมือในระดับน้อย เช่น
          1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้บริหารท้องถิ่นขาดความใส่ใจและกระตือรือร้นในการตอบแบบสอบถาม รวมทั้งการเตรียมเอกสาร โดยเฉพาะแบบสำรวจใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ Evidence-based Integrity &Transparency Assessment : EBIT
          2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีขอเลื่อนการนัดหมายประชาชนอยู่บ่อย ๆ3.ความร่วมมือในการประสานงานพื้นที่มีน้อย โดยในพื้นที่แนวทางนี้ส่วนใหญ่ทีมวิจัยจะลงพื้นที่เพื่อเก็บแบบสอบถามประชาชนกันเอง
          4.เจ้าหน้าที่ หรือผู้รับผิดชอบด้านเอกสาร และการนัดหมายมักจะบ่ายเบี่ยงโดยไม่ใส่ใจในการเตรียมเอกสารของผู้บริหารส่วนท้องถิ่น บ่ายเบี่ยงที่จะให้ข้อมูลจนต้องนัดหมายหลายครั้ง
          5.การให้ความสำคัญและความสนใจของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในระดับผู้บริหารท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ บุคลากรประจำในโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสมีน้อยมากทั้งในแง่การสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันการเตรียมเอกสาร การประสานงานกับคณะวิจัย เป็นต้น
          จากการจัดเกรดในการประเมินฯ ดังกล่าว จึงขอเสนอแนะให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความกระตือรือร้นน้อยได้กลับไปพัฒนาตนเองในเรื่องต่างๆดังนี้ เช่น การรวบรวมหลักฐานเชิงประจักษ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงาน และการระบบเอกสาร ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีความเป็นระบบ เป็นหมวดหมู่ที่สามารถค้นหาได้คล่อง นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญกับการประเมินดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นการประเมินตนเองไปในตัว และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้นว่า สำนักงาน ป.ป.ช. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นควรวางแนวทางและมาตรการกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อย เพื่อทำให้ผลการประเมินไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาการจัดสรรเงินอุดหนุน การเพิ่มเงินตอบแทนในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพ การเป็นส่วนหนึ่งของการประเมิน Core Team ตลอดการให้รางวัลอื่นๆ เป็นต้น
          นอกจากนี้ การนำเสนอเกรดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในครั้งนี้เป็นการช่วยทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ตระหนักถึงการพัฒนาตนเองโดยที่พิจารณาจากการจัดกลุ่มดังกล่าวข้างต้น เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาตนเองให้เป็นไปตามที่คาดหวัง ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรท้องถิ่น ทั้งหน่วยงานภายในองค์กรท้องถิ่นเอง และหน่วยงานภายนอกองค์กรท้องถิ่น รู้สึกว่าองค์กรท้องถิ่นที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้เป็นอย่างไร และจะพัฒนาองค์กรท้องถิ่นของตนเองให้ก้าวสู่องค์กรท้องถิ่นที่อยู่ในระดับเกรด A ได้อย่างไร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่องค์กรท้องถิ่นจะได้ทบทวนตนเองในการกำหนดเป้าหมายอันจะนำไปสู่วัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาองค์กรของตน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น