วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2560

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: การปฏิรูปประเทศกับการเลือกตั้ง

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: การปฏิรูปประเทศกับการเลือกตั้ง 

สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๐

          รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
          คำประกาศการยึดอำนาจการปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ประการสำคัญหนึ่งก็คือ "การเสนอการปฏิรูปประเทศ" ซึ่งจนถึงปัจจุบันส่วนหนึ่งก็กำลังเดินหน้าเร่งการปฏิรูป ทั้งโดยการใช้กลไกอำนาจของรัฐบาลและในฐานะหัวหน้า คสช. ซึ่งในหลายเรื่องดำเนินการไปได้ด้วยดีกับอีกส่วนหนึ่งใช้กลไกของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีส่วนเสนอความคิดและแผนการปฏิรูปต่างๆ ต่อรัฐบาล รวมทั้งการใช้กลไกบางเรื่องผ่านช่องทางกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)แต่ส่วนอีกมุมหนึ่งการปฏิรูปประเทศต้องยอมรับกันว่าบางเรื่องก็ยังไม่ได้ดำเนินการปฏิรูป หรือบางเรื่องเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปเท่านั้น ซึ่งเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องประเมินและทบทวนการปฏิรูปประเทศโดยภาพรวมว่ามีความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
          ผมเข้าใจว่า "การปฏิรูปประเทศต้องอาศัยเวลาและแผนที่ชัดเจน"เพราะปัญหาต่างๆ ของสังคมไทยที่หมักหมมให้แก้ปัญหานั้นมีอยู่มากมาย บางเรื่องแก้ไขได้ยากมากและบางเรื่องเมื่อคิดจะแก้ไขก็มีผลกระทบต่อกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งแน่นอนต้องใช้ความมีภาวะผู้นำที่มีความเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหา คำถามจึงมีอยู่ว่า การปฏิรูปประเทศจะเดินหน้าไปได้อย่างไร? คำตอบส่วนหนึ่งรัฐบาลและ คสช. ก็ได้ฝากความหวังไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 โดยเห็นว่ามีบทบัญญัติในเรื่องการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาประเทศเพื่อคาดหวังให้สานต่อและมีความต่อเนื่องกันไป โดยมุ่งหวังที่จะไม่ให้การปฏิรูปประเทศสะดุดจึงกำหนดให้มีกฎหมายบัญญัติ "เรื่องยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาประเทศกับการปฏิรูปประเทศ" เพื่อหวังให้รัฐบาลภายหลังจากการเลือกตั้งตามโรดแมป ที่จะเกิดขึ้นเข้ามาสานต่อให้การปฏิรูปประเทศต่อไปได้
          แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปประเทศกับการเลือกตั้งมีข้อคิดที่ต้องวิเคราะห์ในหลายประเด็นว่า จะมีความสัมพันธ์กันหรือไม่อย่างไร หรือการปฏิรูปประเทศไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งแต่อย่าใดใช่หรือไม่?นี่คือโจทย์สำคัญที่จะต้องหาคำตอบเพื่อจะนำไปสู่อนาคตของประเทศต่อไป นอกจากนี้แล้วเมื่อพิจารณาจากคำถามของนายกรัฐมนตรี(พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ที่ได้ตั้งคำถามให้แก่ประชาชนช่วยกันตอบ 4 ข้อ ซึ่งผลโพลของ 2 สำนัก ทั้งนิด้าโพลและกรุงเทพโพลล์ซึ่งได้นำคำถามบางส่วนไปสอบถามความคิดเห็นของประชาชนและเห็นว่าความคิดเห็นของประชาชนที่ตอบคำถามให้กับทั้ง 2 สำนักโพลดูจะไปในทำนองที่สอดคล้องกัน ดังเช่น
          ประเด็นที่ว่า การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศและเรื่องอื่นๆ เป็นความคิดที่ถูกต้องหรือไม่? ประเด็นนี้ผลโพลของนิด้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.52 บอกว่า เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง แปลความว่าประชาชนมีความเห็นว่า ประชาธิปไตยต้องคำนึงถึงอนาคตของประเทศ ไม่ใช่พิจารณาการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวดังนั้นอนาคตประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยและองค์ประกอบอื่นหลายๆประการ อาทิ การปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้านและสถานการณ์บ้านเมืองของประเทศ
          ส่วนผลโพลของกรุงเทพโพลล์ เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.2 ต้องการให้ประชาชนตระหนักถึงสถานการณ์บ้านเมืองก่อนการเลือกตั้งรองลงมาร้อยละ 29.4 สะท้อนว่า หากบ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อยอาจไม่มีการเลือกตั้งตามโรดแมป อีก ร้อยละ 26.6 มองว่า หากไม่มีความสุจริตเที่ยงธรรมทางการเมืองก็จะไม่มีการเลือกตั้ง และร้อยละ13.8 ส่งสัญญาณถึงนักการเมืองว่า ต้องมีการปฏิรูปตัวเองและตั้งคำถามว่า นักการเมืองปฏิรูปตัวเองแล้วหรือยัง?
          ที่สำคัญเมื่อถามถึงเวลาที่เหมาะสมกับการเลือกตั้งทั่วไป ปรากฏว่าประชาชนร้อยละ 69.9 ตอบว่า เมื่อสถานการณ์ของประเทศอยู่ในภาวะประเทศที่เหมาะสม และค่อยมีการเลือกตั้ง ขณะที่ ร้อยละ 30.1 เห็นว่าควรเลือกตั้งในเวลาที่กำหนดไว้ตามโรดแมป
          เมื่อวิเคราะห์ตามผลโพลของทั้ง 2 สำนัก อาจกล่าวได้ว่า ประชาชนมีความต้องการหรือคาดหวัง โดยให้น้ำหนักไปที่การปฏิรูปประเทศและความตระหนักถึงสถานการณ์บ้านเมืองให้มีความสงบเรียบร้อยก่อนการเลือกตั้ง ทั้งนี้ดูเหมือนว่าประชาชนจะไม่ค่อยไว้วางใจ ว่า ภายหลังจากการเลือกตั้งและมีรัฐบาลประชาธิปไตยจะมีสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อย ความขัดแย้งทางการเมืองและการต่อสู้ทางการเมืองโดยใช้กำลังอาวุธ จะกลับคืนมาเหมือนวัฏจักรเดิมๆ ก่อนเหตุการณ์ยึดอำนาจประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อีกหรือไม่ ? ซึ่งหากเป็นไปตามรูปการณ์ดังที่กล่าว ก็อาจส่งผลให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้าไปไม่ได้
          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ไปแล้วและในทำนองเดียวกันรัฐธรรมนูญก็ยังให้อำนาจรัฐบาลและ คสช. ยังคงมีอำนาจเต็มในการใช้อำนาจเหมือนเดิม แต่ก็ดูเหมือนว่าสถานการณ์บ้านเมืองของประเทศยังมีจุดที่น่าเป็นห่วง ทั้งในแง่ของการวางระเบิดและความหมิ่นเหม่ของการใช้ความรุนแรง อาทิ การลอบวางระเบิดที่สนามหลวงข้างโรงละครแห่งชาติ การลอบวางระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมทั้งมีการขนอาวุธระเบิดที่มีให้พบเห็นกันอยู่ สิ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจต่อสถานการณ์ประเทศ ซึ่งยังไม่รวมความถึงการใช้อิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆที่ยังมีอิทธิพลและเคลื่อนไหวให้เห็นอยู่เนืองๆ ปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เป็นคำถามและเป็นโจทย์ที่ส่งสัญญาณว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะสามารถจัดการกับปรากฏการณ์ดังกล่าวได้หรือไม่ หรือจะทำเป็นการเพิ่มเติมสถานการณ์ให้มีปัญหามากขึ้นหรือไม่
          ส่วนการปฏิรูปประเทศเมื่อมองจากสภาพการณ์แล้ว เข้าใจว่าคนไทยทุกคนมีความคาดหวัง มีความต้องการให้การปฏิรูปประเทศเป็นส่วนหนึ่งของการคลี่คลายปัญหาและส่วนหนึ่งเป็นการเดินหน้าพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการคลี่คลายปัญหากาการจัดการปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาการคลี่คลายความขัดแย้ง ปัญหาการปราบปรามผู้มีอิทธิพล รวมทั้งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้มีความคาดหวังอยากให้มีการปฏิรูปที่เกิดผลให้เป็นรูปธรรม และเห็นว่าเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาลและ คสช. น่าจะดำเนินการให้มีเป้าหมายให้ชัดเจนว่า ในระยะสั้น ระดับกลาง ระยะยาว จะทำเรื่องอะไรบ้าง
          ส่วนการปฏิรูปประเทศที่ถือว่าได้มีการวางรากฐานไว้แล้วก็ต้องดำเนินการสานต่อ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปด้านการศึกษา การส่งเสริมประชาชนให้เป็นพลเมืองที่เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่ออนาคตของประเทศ การปฏิรูปความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำและความสมานฉันท์ของคนในชาติก็เป็นกรอบที่ควรจะทำให้มีความชัดเจน รวมทั้งการส่งเสริมประชาชนให้รู้จักจัดการตนเอง มีคุณภาพชีวิตที่ดีในทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ ก็เป็นประเด็นที่จำเป็นต้องดำเนินการให้มีความมั่นคง นี่คือโจทย์ของรัฐบาลและ คสช. รวมทั้งประชาชนที่ต้องช่วยกันขบคิดว่าการปฏิรูปประเทศกับการเลือกตั้งเราจะทำกันอย่างไร ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น