วันพุธที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560

'ปลัดมท.' สั่งการผู้ว่าฯทั่วประเทศ ยึดหลัก7ข้อพัฒนาประเทศ/ มุ่งตอบสนองปชช.

'ปลัดมท.' สั่งการผู้ว่าฯทั่วประเทศ ยึดหลัก7ข้อพัฒนาประเทศ/ มุ่งตอบสนองปชช. 

สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๐

          "ปลัดมหาดไทย" สั่งพ่อเมืองทั่วประเทศ ยึด 7 ข้อ เร่งพัฒนาประเทศ - แก้ไขปัญหาพื้นที่ น้อมนำหลักการทรงงานของ"ในหลวง ร.9" บริหารงานแบบบูรณาการมุ่งตอบสนองความต้องการของประชาชน
          มท.- นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการบริหารงานแบบบูรณาการส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาจังหวัด โดยการบริหารงานดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนสามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาของพื้นที่ได้ตามความต้องการของประชาชน ขณะที่ส่วนราชการด้านการวางแผนพัฒนาและกระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างการเสนอรัฐบาลให้พิจารณาปรับปรุงระเบียบและกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ให้เป็นฉบับเดียวกันซึ่งมีโครงสร้างกลไกอำนาจหน้าที่ สอดคล้องเชื่อมโยงแผนพัฒนาพื้นที่ทุกระดับ มีสาระสำคัญ ดังนี้ให้ส่วนราชการในพื้นที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมทั้ง ให้มีผู้แทนภาคประชาชนในรูปคณะกรรมการร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาตำบล แผนพัฒนาอำเภอ แผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดเป็นแผนเดียวกัน ให้มีการแบ่งพื้นที่เพื่อการพัฒนาประเทศออกเป็น 6 ภาค
          นายกฤษฎา กล่าวว่า แผนพัฒนาทุกระดับจะประกอบด้วยปัญหาและความต้องการในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของพื้นที่ที่ได้รับการจัดลำดับความสำคัญและความต้องการไว้แล้ว เพื่อให้จังหวัดและส่วนราชการภูมิภาครวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณจังหวัด กลุ่มจังหวัด และงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกทั้งใช้แผนพัฒนาภาคเป็นเครื่องมือในการกำหนดเป้าหมายและความต้องการด้านพัฒนาพื้นที่ของภาคที่ต้องมีความเชื่อมโยงกันในระดับภูมิภาคหรือระหว่างประเทศเพื่อให้ส่วนราชการระดับกรม และกระทรวง นำไปจัดทำเป็นแผนงานขอรับงบประมาณให้สอดคล้องกับเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
          อย่างไรก็ตามการบริหารงานตามรูปแบบข้างต้นนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ รวมทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อความสมบูรณ์ของการจัดทำแผนพัฒนาและการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินการตามแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

1. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้นำในพื้นที่ น้อมนำหลักการทรงงานและยุทธศาสตร์พระราชทานในเรื่องเข้าใจเข้าถึง พัฒนา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นหลักคิดและใช้ในการบริหารงานแบบบูรณาการ

2. ให้จังหวัดพิจารณาใช้คณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.)หรือคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด(คสป.) คณะใดคณะหนึ่ง ซึ่งมีองค์ประกอบจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ ให้ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์จังหวัดแบบบูรณาการ

3. ให้จังหวัดที่รัฐบาลกำหนดพื้นที่รองรับนโยบายพิเศษหรือมีจุดหมายสำคัญอยู่แล้ว (magnet destination) เช่นกลุ่มจังหวัดระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC)
         
4. สำหรับจังหวัดที่มีปัญหาเฉพาะในบางด้าน เช่น ปัญหาสาธารณภัยตามฤดูกาลปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาบุกรุกที่สาธารณะประเภทต่าง ๆ ยาเสพติด การหลบหนีเข้าเมือง ฯลฯ ให้คณะกรรมการ IPSDC ดำเนินการจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาไว้โดยเฉพาะ โดยแผนงานการแก้ไขปัญหา ต้องคำนึงถึงการวางพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวของจังหวัดโดยบรรจุไว้ในแผนพัฒนาพื้นที่เป็นกรณีพิเศษ และต้องมีรายละเอียดการถอดบทเรียนจากปัญหาลักษณะใกล้เคียงกันในพื้นที่ หรือนำกรณีศึกษา จากแหล่งอื่นๆ มาประยุกต์ใช้

5. ในพื้นที่ที่ประชาชนมีความแตกต่างกันในด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมท้องถิ่น แล้วมีกลุ่มคนพยายามนำความแตกต่างนั้นมาสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้ง จะต้องดำเนินการทุกวิถีทางตามกฎหมายให้เกิดความร่วมมือจากประชาชนกับภาครัฐในการร่วมกันแก้ไขปัญหา
         
6. ให้จังหวัดพิจารณาใช้งบประมาณจังหวัด กลุ่มจังหวัด และงบประมาณภาคทั้ง 6 ภาค ให้ครอบคลุมแผนพัฒนาพื้นที่ตามยุทธศาสตร์ของจังหวัด เพื่อให้เกิดโอกาส ความเจริญเติบโต และความสุขมวลรวม ที่สามารถวัดค่าดัชนีทางสถิติได้

7. เพื่อสร้างสภาวะการทำงานในเชิงบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนตามแนวทางที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ให้คณะกรรมการ IPSDC อาจแต่งตั้งคณะทำงานย่อย เพื่อให้มีเจ้าภาพหรือผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาตามยุทธศาสตร์จังหวัดแต่ละด้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น