วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560

คลังทบทวนกฎหมายภาษีที่ดิน สนช.รื้อเกณฑ์เก็บเงินคนมีบ้านหลังละ10ล้าน

คลังทบทวนกฎหมายภาษีที่ดิน สนช.รื้อเกณฑ์เก็บเงินคนมีบ้านหลังละ10ล้าน  

ไทยรัฐ  ฉบับวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๐

          สนช.หารือคลัง เล็งลดราคาบ้านจากหลังละ 50 ล้านบาท ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลดลงเหลือ 10 ล้านบาท หวังขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น ธอส.ดีเดย์ปล่อยกู้บ้านคนจนดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี 3.43% ต่ำที่สุดในระบบ “ฉัตรชัย” ชี้ หากรายได้ 1.2 หมื่นบาทต่อเดือน กู้เงินได้ 1 ล้านบาท ส่งค่างวดเพียง 4 พันบาท
          นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในงานสัมมนาเรื่อง “การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ภายใต้กรอบ พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” จัดโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ว่า ล่าสุดคณะกรรมาธิการการเงินการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอให้ทบทวนอัตราภาษีสำหรับที่อยู่อาศัยจากราคาบ้าน 50 ล้านบาทต่อหลังขึ้นไป ลดเหลือหลังละ 10 ล้านบาทขึ้นไปถึงจะเสียภาษีตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งขณะนี้ สศค.กำลังหารือกับ สนช.เพิ่มเติม
          ทั้งนี้ จากการสำรวจของ สนช.พบว่า บ้านอยู่อาศัยที่มีราคาเกินกว่า 50 ล้านบาท มี 11,000 หลังทั่วประเทศ หากปรับลดลงมาเป็นบ้านต่ำกว่า 10 ล้านบาทได้รับการยกเว้นภาษี จะทำให้ฐานภาษีมีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันบ้านที่อยู่อาศัยทั้งระบบราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท มีสัดส่วนสูงถึง 90% โดยประเด็นดังกล่าวจะต้องศึกษาเพื่อสรุปให้ชัดเจน ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562
          สำหรับร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้กำหนดเพดานอัตราภาษี 3 อัตราคือ 1.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั่วไป ไม่เกิน 0.5% ของราคา 2.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัยของตนเองไม่เกิน 0.1% ของราคา และ 3.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบเกษตรกรรมไม่เกิน 0.05% ของราคา
          ส่วนแนวทางในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้นต้องมีเครื่องมือในการประเมินสำรวจที่ดิน เช่น การใช้ที่ดินปลูกพืช หากจะปลูกกล้วยต้องมีขนาดเกิน 200 ต้นต่อไร่ขึ้นไป จึงถือว่ามีอาชีพทำเกษตรเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี และเมื่อ อปท.แห่งใดมีความจำเป็นในการพัฒนาท้องถิ่น ต้องออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีเพิ่มขึ้นจากอัตราที่คณะกรรมการฯกำหนดได้ แต่ไม่เกินเพดานอัตราภาษีที่กฎหมายกำหนด กรณีที่ดินว่างเปล่าใน 3 ปีแรกให้เสียภาษีในอัตราไม่ต่ำกว่าอัตราภาษีทั่วไป แต่ไม่เกิน 0.5% ของฐานภาษี
          นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคาร อาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า วันนี้ (1 มิ.ย.) ธนาคารจะเริ่มปล่อยสินเชื่อสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อย ภายใต้ชื่อโครงการ “For Home” โดยมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยต่ำที่สุดในระบบ 3 ปีอยู่ที่ 3.43% โดยปีแรกอัตราดอกเบี้ยไม่ถึง 3% ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย 2.9% และปีที่ 3 อยู่ที่ 4.5% ซึ่งจะให้ผู้กู้มีภาระเรื่องดอกเบี้ยลดลง นอกจากนี้ ในโครงการดังกล่าว ธนาคารยังเพิ่มสัดส่วนความสามารถในการชำระต่อราย (Debt Service Ratio : DSR) จากปัจจุบันอนุมัติ 1 ใน 3 ของรายได้ แต่ในโครงการนี้จะเพิ่มเป็น 1 ใน 2 ของรายได้
          “อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและการขยาย DSR จะทำให้ผู้กู้สามารถกู้บ้านได้ง่ายขึ้น และมีภาระในการส่งเงินงวดลดลง ซึ่งสูตรในการคำนวณของโครงการนี้ หากกู้เงิน 1 ล้านบาท จะมีภาระผ่อนส่งเงินงวดเดือนละ 4,000 บาท จากเดิมหากกู้เงิน 1 ล้านบาทต้องผ่อนเงินงวดเดือนละ 5,800-6,000 บาท โดยมีสาเหตุมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง และดีเอสอาร์ที่ให้มากขึ้น โดยผู้มีรายได้สุทธิเดือนละ 12,000 บาท ก็สามารถกู้เงินได้ 1 ล้านบาท”
          นายฉัตรชัยกล่าวว่า ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายวงเงินในโครงการนี้ 10,000 ล้านบาท และคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการปล่อยกู้เพียง 1 เดือน หรือสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ วงเงินที่เตรียมไว้จะหมดอย่างแน่นอน เพราะลูกค้าสามารถรีไฟแนนซ์จากธนาคารอื่นได้ด้วย โดยสามารถกู้ได้สูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาท และที่สำคัญในแต่ละเดือน ธอส.มียอดปล่อยกู้ใหม่ประมาณ 10,000 ล้านบาทอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากโครงการนี้ เต็มวงเงินแล้ว ลูกค้าก็สามารถกู้บ้าน “โครงการสานรัก” ได้ โดยปีที่ 1 และปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย 2.99% ซึ่งยังคงได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง แต่สาเหตุที่ต้องออกสินเชื่อใหม่ เพราะต้องการกระตุ้นยอดสินเชื่อและช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย
          ส่วนยอดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในช่วง 5 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 50,000 ล้านบาท จากเป้าหมายปล่อยสินเชื่อตลอดทั้งปี 178,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ประมาณ 6% ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่าเป้าหมายมาก แต่ธนาคารก็มีแผนที่จะกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อจากหลายๆโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
          ขณะที่ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไตรมาสแรกอยู่ที่ 49,000 ล้านบาท หรือ 5.3% ของยอดสินเชื่อประมาณ 980,000 ล้านบาท โดยในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 354 ล้านบาท เนื่องจากมีการเลื่อนจ่ายหนี้ เพราะในช่วงต้นปีมีวันหยุดยาวเนื่องในวันปีใหม่ เดือน เม.ย.มีเทศกาลสงกรานต์ และต่อเนื่องถึงเดือน พ.ค.-มิ.ย.มีเรื่องค่าเทอมบุตรต่อเนื่องกัน โดยคาดว่า เดือน พ.ค. เอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 500 ล้านบาท.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น