วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: ตัวเลขคุณธรรมและความโปร่งใสใน อปท.

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: ตัวเลขคุณธรรมและความโปร่งใสใน อปท. 

สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐

          รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
          โครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเห็นว่าได้มีการดำเนินการอยู่ทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการประเมินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดนั้น ผมมีข้อคิดเห็นและข้อสังเกตบางประการว่า การประเมินผลในเชิงตัวเลขปริมาณ โดยข้อความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเจ้าหน้าที่ บุคลากรในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนการสอบถามข้อมูลเชิงประจักษ์จากตัวแทนผู้บริหารท้องถิ่น มักจะพบว่า ผลการประเมินในเชิงปริมาณ (ตัวเลข) ตามดัชนีชี้วัด ไม่ว่าจะเป็นดัชนีชี้วัดความโปร่งใส ความรับผิดชอบ ความปลอดการทุจริตในการปฏิบัติงาน วัฒนธรรมคุณธรรมในองค์กร และคุณธรรมการทำงานในหน่วยงาน
          ตัวเลขคำตอบมักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในภาพรวมรวมอยู่ในระดับสูง ซึ่งตามดัชนีชี้วัดทั้ง 5 ประเด็นข้างต้น ผลการประเมินก็เป็นในทิศทางเดียวกันว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับสูงเช่นกัน นั่นก็คือทุกตัวชี้วัดจะมีค่าคะแนนร้อยละ 60 ซึ่งตัวเลขที่แสดงให้เห็นแบบนี้ แสดงว่าคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้ามองในประเด็นตัวเลขถือว่าสอบผ่าน หรือว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใดแต่ถ้าพิจารณาให้ลงลึกไปในรายละเอียดของข้อมูลก็จะพบประเด็นที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน นั้นก็คือประเด็นในรายดัชนีชี้วัดย่อยที่สะท้อนถึงคุณธรรมและความโปร่งใสซึ่งมีค่าคะแนนต่ำกว่าร้อยละ 60 กับอีกส่วนหนึ่งพิจารณาจากข้อคิดเห็นของประชาชนในเชิงคุณภาพที่ได้เขียนแสดงความรู้สึกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้แก้ไข ปรับปรุง และพัฒนารวมทั้งการลงไปตรวจสอบข้อมูลเชิงประจักษ์ ข้อมูลก็ปรากฏว่า ยังมีปัญหาอยู่ไม่น้อยทีเดียว และในส่วนนี้เองก็ถือว่าเป็นกระจกเงาที่สำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะได้ตรวจสอบตนเอง และนำสิ่งที่เป็นข้อเสนอไปพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้
          อย่างไรก็ตามผมได้ประมวลข้อคิดเห็นในเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงประจักษ์ที่จะเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยทั่วไปนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่ตนเองยังมีข้อบกพร่องอยู่ ดังต่อไปนี้
          ประการที่ 1 ประชาชนเรียกร้องให้มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการต่างๆของ อปท. และมีส่วนร่วมในการการตรวจสอบงบประมาณต่างๆ ของ อปท.
          ประการที่ 2 ประชาชนเรียกร้องให้ อปท. ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญๆ ของ อปท. ให้ประชาชนรับทราบ
          ประการที่ 3 ประชาชนเรียกร้องให้ อปท. มีโครงการอบรมเพื่อปลูกฝังให้เจ้าหน้าที่มีความซื่อสัตย์และเสียสละในการทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ควรปฏิบัติงานตามขั้นตอนของการให้บริการ และให้เจ้าหน้าปฏิบัติงานตามตำแหน่งของตนเอง
          ประการที่ 4 ประชาชนเรียกร้องให้ต้องมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจน โดยเสนอให้ อปท.หาวิธีการแสดงตัวตน  และหน้าที่ความรับผิดชอบให้ประชาชนรู้มากขึ้น
          ประการที่ 5 ประชาชนเรียกร้องให้มีการให้บริการประชาชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ เสนอให้ อปท. ได้พิจารณาประเด็นนี้ และให้ความเป็นธรรมในการให้บริการโดยไม่เลือกปฏิบัติ
          ประการที่ 6 ประชาชนเรียกร้องให้เปิดช่องทางการรับข้อร้องเรียนที่สะดวกแก่ประชาชน เสนอให้ อปท.เปิดช่องทางการร้องเรียนที่ให้ความสะดวกแก่ประชาชนให้มาก
          ประการที่ 7 ประชาชนเรียกร้องให้มีการให้บริการที่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด เสนอให้ อปท. บอกระยะเวลาในการให้บริการประชาชนทราบในแต่ละงานอย่างชัดเจน
          ในส่วนของข้อมูลเชิงคุณภาพและข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่ได้ลงไปคลุกคลีสำรวจอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่ พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
          ประการที่ 1 ประเด็นเรื่องการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่จะเกิดขึ้นในองค์กร โดยทำให้เห็นเป็นรูปธรรมเช่น การออกกฎระเบียบหรือจัดทำคู่มือเกี่ยวกับการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่ชัดเจน รวมทั้งการอบรมเกี่ยวกับการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น
          ประการที่ 2 ประเด็นเรื่องการจัดทำแผนป้องกันและปราบปรามการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพบว่า ส่วนมาก อปท. ไม่มีการจัดทำแผนป้องกันและการปราบปรามการทุจริต หรือ ถ้า อปท. ใดที่จัดทำแผนฯ ก็จะไม่มีการดำเนินการตามแผนฯ นั้นจึงเสนอแนะให้ แต่ละ อปท. จัดทำแผนป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เกิดขึ้น รวมทั้งให้มีการดำเนินกิจกรรมตามแผนอย่างเป็นรูปธรรม
          ประการที่ 3 ประเด็นเรื่องการรวมกลุ่มของพนักงาน และบุคลากรภายใน อปท. เพื่อการบริหารงานที่โปร่งใส มักพบว่า อปท. ที่มีการรวมกลุ่มนั้นจะออกมาในรูปแบบของคณะกรรมการคุณธรรมจริยธรรม และกิจกรรมการดำเนินงานของกลุ่มมีน้อยหรือไม่มีเลย จึงเสนอแนะว่า ให้ พนักงานและบุคลากรภายใน อปท. จัดตั้งหรือรวมกลุ่มกันเพื่อตรวจสอบการดำเนินงาน
          เมื่อประมวลผลการประเมินทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ มีข้อเสนอให้ อปท. นำไปพัฒนาตนเองในหลายประการ จึงเสนอให้ อปท. บริหารงานต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ทั้งข้อมูลงบประมาณ ข้อมูลโครงการต่างๆ และข้อมูลอื่นๆ ที่ควรเปิดเผยในประชาชนทราบ เพื่อความโปร่งใส และที่สำคัญการเปิดช่องทางการให้ข้อมูลแก่ประชาชนที่หลากหลาย น่าจะเป็นประเด็นที่ควรจะนำไปพิจารณา รวมทั้งการเปิดช่องทางการร้องเรียนที่สะดวกแก่ประชาชน สิ่งเหล่านี้ อปท. ควรจะกระทำให้เป็นรูปธรรม
          ที่สำคัญที่สุดในแง่ของคุณธรรมและความโปร่งใส เสนอให้ อปท. ดำเนินการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนและปฏิบัติงานอย่างเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ ปราศจากการเรียกผลประโยชน์ใด ๆ
          การจัดทำให้เป็นรูปธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับกลไกการป้องกันการทุจริต
          และแผนงานการป้องกันการทุจริตที่เป็นรูปธรรมเป็นสิ่งที่ อปท. ต้องทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ นี่คือการกระจายอำนาจที่ต้องการให้ อปท. มีคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานให้เป็นที่ยอมรับให้มากที่สุด ซึ่งจะได้ตอบโจทย์โครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น