วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

อย่าให้ พ.ร.บ.โรงฆ่าสัตว์...ทำลายห่วงโซ่ผลิตสัตว์ ปีกไทย

อย่าให้ พ.ร.บ.โรงฆ่าสัตว์...ทำลายห่วงโซ่ผลิตสัตว์ ปีกไทย 

มติชน (กรอบบ่าย)  ฉบับวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๙

          ศ.กิตติคุณ นสพ.ดร.อรรณพ คุณาวงษ์กฤต อดีตคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
          ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ..... ที่เพิ่งยื่นต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติไป นับเป็นร่างที่ก่อความวิตกกังวลและสับสนให้ผู้คนในแวดวงปศุสัตว์อย่างหนัก ผมเองอยู่ในวงการปศุสัตว์ มาหลายสิบปี เป็นกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ ในหลายๆ คณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเคยเป็นประธานอนุกรรมการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ ของคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้ศึกษาและกำกับกิจการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์มาโดยตลอด ก็รู้สึกตกใจและประหลาดใจที่ได้เห็นร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเช่นกัน เพราะหาก พ.ร.บ.นี้ผ่านออกมาได้ จะกลายเป็นหายนะของประเทศไทยที่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ในวงการปศุสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการสัตว์ปีก แต่จะกระทบถึงทุกคนตลอดห่วงโซ่ การผลิตนี้ รวมถึงความปลอดภัยทางอาหารของคนไทยทั้งประเทศด้วย  
          แม้ เนื้อหาใน (ร่าง) ดังกล่าวอาจจะมีวัตถุประสงค์ที่ดี เพื่อการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ ในประเทศไทย แต่ถ้าแนวทางปฏิบัติไม่สอดคล้องกัน ก็อาจทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ และยังสะท้อนความไม่รู้จริงของคนร่างกฎหมายด้วย  
          ความเป็น จริงโรงฆ่าสัตว์เป็นสาธารณูปโภคซึ่งรัฐควรจัดหา ไม่ต่างกับถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปาที่ต้องหามาให้บริการประชาชน โรงฆ่าสัตว์เป็นสวัสดิภาพความปลอดภัยทางอาหารและการสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่เมื่อเอกชนเข้ามาทำหน้าที่นี้แทนรัฐ รัฐควรเป็นฝ่ายสนับสนุน มิใช่ไปเรียกร้องอากรเอาจากเขา
          ในสมัย ก่อนรัฐไม่อนุญาตให้เอกชนทำโรงฆ่าโคและสุกร มีเพียงโรงเชือดไก่เท่านั้นที่อนุญาตให้เอกชนสามารถดำเนินการได้ จึงทำให้เห็นความแตกต่างกันค่อนข้างมาก จากผลปรากฏที่เห็นในทุกวันนี้คือโรงฆ่าโคและสุกรจะอยู่ภายใต้การบริหารของ ท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งมีการเรียกเก็บอากรและค่าธรรมเนียมต่างๆ แต่เก็บแล้วกลับไม่นำเงินดังกล่าวไปพัฒนาโรงฆ่าโค-สุกร จึงทำให้เราเห็นสภาพโรงฆ่าโคและสุกรในชุมชนต่างๆ ที่ไม่มีมาตรฐานเท่าที่ควร
          ขณะ ที่โรงฆ่าไก่-เป็ดที่รัฐอนุญาตให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ และยกเว้นอากรตลอดจนค่าธรรมเนียมนั้น ทำให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนกล้าที่จะใช้งบประมาณไปลงทุนพัฒนามาตรฐานโรงฆ่า สัตว์ของตน จนกระทั่งอุตสาหกรรมไก่ไทยเติบโตสามารถส่งออกไก่ไปจำหน่ายได้ทั่วโลก
          ต่อ มารัฐเริ่มเห็นว่าการที่โรงฆ่าโค-สุกรไม่พัฒนาเลย น่าจะเป็นเพราะรัฐปิดกั้นโอกาสไม่ให้เอกชนดำเนินการสร้างโรงฆ่า จึงแก้ พ.ร.บ.ใหม่ ในปี 2535 โดยอนุญาตให้เอกชนเปิดโรงฆ่าโค-สุกรได้ แต่ก็ยังคงเก็บอากรในราคาสูงเมื่อเทียบกับมูลค่าราคาสัตว์ ในสมัยนั้นผลลัพธ์ที่ปรากฏคือ โรงฆ่าโค-สุกร ก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาอยู่ดี เพราะค่าอากรเป็นความเสี่ยงของการลงทุนที่ภาคเอกชนมองว่าอาจไม่คุ้มค่า เนื่องจากจะมีการหลบเลี่ยงอากรด้วยวิธีต่างๆ นานาได้ จึงแทบจะไม่มีใครกล้าลงทุนเพื่อพัฒนาโรงฆ่าโค-สุกร ที่ได้มาตรฐานสมัยใหม่เลย นี่คือผลจากการเรียกเก็บอากรฆ่าสัตว์ในราคาสูง ซึ่งเห็นบทเรียนเช่นนี้แล้ว รัฐไม่ควรปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ ซ้ำรอยอีก
          อย่า ลืมว่าอุตสาหกรรมสัตว์ปีกที่เติบโตมาถึงทุกวันนี้ ผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค ตลอดจนประเทศชาติล้วนได้ประโยชน์กันหมด แม้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. (ที่อาจคิดว่าตัวเองไม่ได้ประโยชน์จากค่าอากร) ก็ยังได้ประโยชน์จากการกระจายความเจริญของชุมชน เพราะโรงงานส่วนใหญ่ที่ไปตั้งก็ตั้งห่างจากเมือง ก่อเกิดการจ้างงาน มีคนงานก็มีชาวบ้านไปตั้งร้านค้า สร้างหอพักในพื้นที่รอบนอกดังกล่าว เกิดรายได้หมุนเวียนสู่ชาวบ้านในท้องถิ่น... เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้คนในประเทศเป็นหลักถึง 90% ของห่วงโซ่ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่-เป็ด สัตวบาล  สัตวแพทย์ ผู้ประกอบการฟาร์ม ผู้ประกอบการโรงงาน ผู้ส่งออก ผู้ขนส่ง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็น Local Content ภายในประเทศทั้งสิ้น...การจะร่างกฎหมายใดๆ จึงควรพึงระลึกถึงผู้คนที่เกี่ยวข้องในองค์รวมด้วย
          กล่าวโดย สรุป ผมไม่แน่ใจว่าคนร่าง พ.ร.บ.ฉบับล่าสุดนี้ มีความเข้าใจในห่วงโซ่การผลิตสัตว์เพียงใด และเท่าที่ทราบจากวงในว่าอัตราอากรในตารางแนบท้ายที่จะเรียกเก็บสัตว์ปีก ตั้งกันแบบสูงลิ่วคือเพิ่มขึ้นจากปี 2535 ถึง 1,900% อีกข่าวก็ว่าเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับโคและสุกรที่ 50-60% 
          บอก ตรงๆ แบบฟันธงว่าผมไม่เห็นด้วยกับการเก็บอากร แต่หากรัฐยังต้องการจะเก็บ ก็คงต้องฝากท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มีใจเป็นธรรม และเข้าใจห่วงโซ่การผลิตนี้ ช่วยพิจารณาอย่างรอบคอบถ้วนถี่ เรียกเก็บในอัตราที่เหมาะสมเป็นธรรม เพราะอัตราอากรนี่ล่ะ จะบ่งชี้อนาคตภาคการผลิตสัตว์ปีกของประเทศไทยว่าจะอยู่หรือไป...ได้เลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น