วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ยุบ อบต.-ควบรวมเทศบาลเล็ก จับตา ! จุดเปลี่ยนใหญ่ท้องถิ่นไทย

ยุบ อบต.-ควบรวมเทศบาลเล็ก จับตา ! จุดเปลี่ยนใหญ่ท้องถิ่นไทย

ประชาชาติธุรกิจ  ฉบับวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๙

          การ แก้กฎหมายเพื่อปฏิรูปโครงสร้างและอำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถูกจุด กระแสขึ้น ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พร้อม ชูนโยบายปฏิรูปประเทศ
          ทั้งนี้นโยบายที่เกี่ยวกับท้องถิ่นเริ่ม จากประกาศ ม.44 งดการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ครบวาระ แล้วใช้วิธีคัดสรรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปทำหน้าที่แทน ต่อมา คสช.ได้ออกคำสั่งฉบับใหม่ ให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่หมดวาระกลับมาปฏิบัติหน้าที่เหมือนเดิมจนกว่าจะมี การเลือกตั้ง
          ล่าสุด ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ...ผ่านประชามติไปแล้ว เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ทำให้ "ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ...และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" ถูกจับตาจากผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยเฉพาะประเด็นสั่นสะเทือนเรื่องการ ยุบองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และการกำหนดเกณฑ์จำนวนประชากร เพื่อนำไปสู่การควบรวมพื้นที่เป็น เทศบาล
          ให้ อปท.ใช้กฎหมายฉบับเดียว
          สำหรับ การนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ...นั้น เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวกับ ท้องถิ่นมีจำนวนหลายฉบับ ทำให้เกิดความสับสนในการบังคับใช้กฎหมาย จึงต้องยกเลิกไป ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 พ.ร.บ.สภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 พร้อมกับรวบรวมกฎหมายดังกล่าวมาจัดทำเป็นประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้อง ถิ่น เพื่อให้ใช้อยู่ในฉบับเดียวกัน เป็นมาตรฐานเดียวกัน
          โดย มีสาระสำคัญ อาทิ กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น และเป็นนิติบุคคล ส่วนกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ ในการส่งเสริม สนับสนุน และแนะนำการบริหารงานของ อปท.
          ขณะที่การจัดตั้งองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นมีหลักเกณฑ์ ดังนี้ 1.เทศบาลตำบล ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีประชากรไม่เกิน 15,000 คน 2.เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่น ที่มีประชากรเกิน 15,000 คน แต่ไม่เกิน 50,000 คน ทั้งนี้ไม่รวมเทศบาลเมือง ตามกฎหมายจัดตั้งที่มีอยู่เดิมก่อนวันที่กฎหมายนี้บังคับใช้ 3.เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีประชากรเกิน 50,000 คนขึ้นไป 4.องค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้จังหวัดหนึ่งมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยมีเขตพื้นที่ตามจังหวัดนั้น เป็นการลดความซ้ำซ้อนในการบริหารจัดการ
          ที่ สำคัญยังกำหนดให้มีการควบรวมเทศบาลที่มีรายได้ ไม่รวมเงินอุดหนุน ต่ำกว่า 20 ล้านบาท หรือมีจำนวนประชากรต่ำกว่า 7,000 คนเข้าด้วยกัน หรือเทศบาลแห่งอื่นที่มีพื้นที่ติดต่อกันในอำเภอเดียวกัน ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ประมวลกฎหมาย อปท.มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหา งบประมาณไม่พอต่อการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งข้อมูลรายได้ของ อปท. ประจำปีงบประมาณ 2557 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ระบุว่า รายได้ที่ไม่รวมเงินอุดหนุนของ อปท. ที่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท พบว่าเป็นเทศบาล 1,126 แห่ง อบต. 4,339 แห่ง รวม 5,465 แห่ง สูงถึงร้อยละ 69.59 ของ อปท.ทั้งประเทศ
          นอกจากนี้ยังมีสาระสำคัญอื่น ๆ อีกมากมาย รวมทั้งเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนอีกด้วย
          ร่างกฎหมายรอเข้า ครม.
          "เกรียง ยศ สุดลาภา" โฆษกกรรมาธิการด้านการปกครองท้องถิ่น เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายเพิ่งผ่านสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แต่ได้นำกลับเข้ามาเพื่อปรับปรุงแก้ไขบางส่วน ซึ่งจะได้นำส่งให้คณะกรรมการประสานงานร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จากนั้นจะนำกลับมารับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชน เพื่อที่จะส่งเข้า ครม.พิจารณาส่งเข้า สนช.ต่อไป
          "คาด ว่ากว่าจะนำเข้า ครม. หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงขั้นตอนน่าจะไม่เกิน 60 วัน ซึ่งจริง ๆ ยังสามารถแก้ไขได้อีก ที่เห็นท้องถิ่นแสดงความเห็นระยะนี้ เพราะบางทีมีข่าวออกไปก็จะพูดต่อ ๆ กัน ถ้ารับฟังจากทาง สปท.ก็จะดีกว่า แต่อย่างไรเราก็ยินดีรับฟังถ้าใครมีความเห็น"
          โฆษกกรรมาธิการ กล่าวอีกว่า การพูด ว่ายุบ อบต.เป็นคำที่รุนแรงเกินไป น่าจะใช้คำว่ายกฐานะให้เป็นเทศบาล ซึ่งมองว่าการบริหารจะดีขึ้น งบประมาณที่ลงไปก็มากขึ้น ขณะที่จำนวนผู้บริหาร ลูกจ้างก็ยังใกล้เคียงกับของเดิม อีกทั้งเราจะให้ประชาชนของท้องถิ่นนั้น ๆ มีส่วนร่วมในการเสนอแผนด้วย เรียกว่าเป็นประชาคมท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นคนลงไปตรวจสอบการทำงานของเทศบาลในอนาคตด้วย ซึ่งท้องถิ่น จะเข้มแข็งแท้จริง แต่อาจจะต้องใช้เวลา
          "การแก้ไขกฎหมายนี้ ไม่ได้ตั้งใจไปจับผิดใคร ถ้าให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างน้อยโครงการต่าง ๆ ที่ออกไปก็คือความต้องการของประชาชนจริง ๆ เพราะบางทีต้องการทำบึงน้ำ แต่ประชาชนไม่ต้องการ ฉะนั้นต่อไป จะได้ตามที่ประชาชนต้องการและ ตรวจสอบได้ ถ้าผู้บริหารท้องถิ่นท่านใดที่ตั้งใจทำงานเพื่อประชาชนจริง ๆ ไม่มีอะไรที่ต้องกลัวเลย"
          ขณะที่ล่าสุด สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) กำลังเร่งหาข้อสรุป เกี่ยวกับเนื้อหาที่ต้องการแก้ไข เพื่อจะนำไปพูดคุยกับคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการปกครองท้องถิ่น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯอีกครั้ง เพื่อให้หลักการตรงกับเจตนารมณ์ในการมีส่วนร่วมของ ท้องถิ่นอย่างแท้จริง
          ร่าง กฎหมายฉบับนี้ถือว่าสำคัญ อย่างยิ่ง ต้องติดตามกันต่อไปอย่าง ใกล้ชิด เพราะเป็นการกำหนดอนาคตของท้องถิ่นและประชาชนในภูมิภาค

          การแก้ไขกฎหมายนี้ ไม่ได้จับผิดใคร ถ้าผู้บริหารท้องถิ่นท่านใดที่ตั้งใจทำงานเพื่อประชาชนจริง ๆ ไม่มีอะไรที่ต้องกลัวเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น