สปท.ดันรื้อโครงสร้างบริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นชงยุบ'อบต.'ควบรวมเทศบาล |
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๙ |
มติ'ครม.-คสช.' ให้ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ ใน 5 ปีแรกจากบัญชีพรรค สปท.เห็น ชอบรายงานกมธ.ปกครองท้องถิ่น หนุนควบรวมองค์กรเล็ก-ยกฐานะอบต.ให้เป็นระบบเทศบาล ด้านนายกฯเผยที่ประชุม"ครม.-คสช." ให้ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ ได้ใน 5 ปีแรกจากบัญชีพรรค ถ้าล่มเลือกก๊อกสองจากนอกบัญชี จ่อแก้รธน.เพิ่ม สนช.เป็น 250 คน ย้ำยังไม่ปรับ ครม. ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป ประเทศ(สปท.) ได้มีมติ 163 ต่อ 0 เสียง เห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น เรื่องโครงสร้างและอำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป และร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ....เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยรายงานฉบับดังกล่าว มีหลักการและสาระสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างและอำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น รูปแบบทั่วไป เพื่อควบรวมองค์กรเล็กในท้องถิ่นให้เป็นระบบเดียวกัน และ ยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นระบบเทศบาลรองรับการถ่ายโอนภารกิจใน อนาคต ทั้งนี้ประเด็นสำคัญอยู่ในมาตรา 15 ที่ระบุว่า " ให้ควบรวมเทศบาลที่มีรายได้ ไม่รวมเงินอุดหนุนต่ำกว่ายี่สิบล้านบาทหรือมีจำนวนประชากรต่ำกว่าเจ็ดพันคน เข้าด้วยกันหรือกับเทศบาลแห่งอื่นที่มีพื้นที่ติดกันและในอำเภอเดียวกันภาย ในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีผลบังคับใช้ โดย ให้ทำเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทยการควบรวมกับเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้อง ถิ่นอื่น ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตเทศบาลที่ควบรวมนั้นการสำรวจเจตนารมณ์ ของประชาชน ให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด .......เทศบาลใดมีสภาพพื้นที่เป็นเกาะ หรือโดยสภาพทางภูมิศาสตร์ไม่สามารถติดต่อกับเทศบาลอื่นที่จะไปรวมได้โดย สะดวก กระทรวงมหาดไทยจะไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่งกับเทศบาลนั้นก็ได้ โดยให้ออกเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย" โดยประเด็นนี้นายวัลลภ พริ้งพงษ์ ประธานกมธ. ให้เหตุผลของการเสนอแผนปฏิรูปว่า ที่ผ่านมาพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมักมีปัญหาทั้งระบบการคลัง จัดเก็บรายได้ได้น้อย การจัดเก็บภาษีท้องถิ่นไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงการใช้ทรัพยากรและประชาชนขาดการมีส่วนร่วม จึงจำเป็นต้องปฏิรูปเพื่อกำหนดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป โดยการควบรวมองค์กรเล็ก ๆ ในท้องถิ่นให้เป็นระบบเดียวกัน และยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. ให้เป็นระบบเทศบาล ให้ อบต.สามารถกำหนดสมาชิก ผู้ช่วยบริหารท้องถิ่น จำนวนเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อรองรับกับภารกิจการถ่ายโอนในอนาคต ขณะที่ สมาชิกสปท. ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนแนวทางดังกล่าว เพราะการควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าด้วยกัน จะทำให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่น จะทำให้การถ่ายโอนภารกิจง่ายและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี หลังจากที่รายงานฉบับดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสปท. ขั้นตอนต่อไปประธานสปท.จะส่งเรื่องดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) หาก ครม.เห็นชอบก็ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาเพื่อพิจารณา ก่อนจะเสนอ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เพื่อให้ความเห็นชอบ ต่อไป มท.ชี้ขั้นตอนยุบ"อบต."ยังต้องใช้เวลา ขณะ เดียวกัน นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นทุกจังหวัด ระบุว่าตามที่มีการส่งข้อความหรือไลน์กันว่า มีการผ่านร่างกฎหมายยุบอบต.เป็นเทศบาลทั่วประเทศนั้น กระทรวง มหาดไทย(มท.)ขอเรียนข้อเท็จจริงว่า มติดังกล่าวเป็นของ สปท.ไม่ใช่การประชุมของสนช.สำหรับความเห็นของสปท.นั้น ตามขั้นตอนจะต้องเสนอร่างความเห็นดังกล่าวไปยังสนช., สปท., ครม.และส่วนราชการเพื่อพิจารณาให้ความเห็นก่อนเสนอครม. ถ้าครม.เห็นชอบก็จะส่งกลับไปให้ส่วนราชการพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าสมควจจะ เสนอเป็นร่างกฎหมายหรือไม่ควรมีรายละเอียดอย่างไร ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวยังต้องใช้ระยะเวลาและการพิจารณาตามขั้นตอนอีกพอสมควร มิใช้จะใช้บังคับเป็นกฎหมายขณะนี้แต่อย่างใด จึงขอให้จังหวัดแจ้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทราบ รวมทั้งให้สร้างการรับรู้ที่ถูกต้องแก่สาธารณชน รัฐให้ส.ว.เลือกนายกฯจากบัญชีพรรค ที่ ประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการหารือเป็นวาระพิเศษ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ที่ยังเป็นประเด็นเรื่องการตีความหน้าที่ในการเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. แถลงภายหลังการประชุมครม.ว่า มีการประชุมทั้ง ครม. และประชุมวาระพิเศษของ ครม.และ คสช. โดยมีการพูดถึงความเข้าใจของ ครม.และคสช.ในเรื่องการทำประชามติ คือ การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ขอย้ำอีกครั้งว่า เป็นความเข้าใจของตน ครม. และคสช.ทุกคนว่าเข้าใจแบบนี้ คือ 5 ปีแรกในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา คือ ส.ส. 500 คน และส.ว. 250 คน จะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบเลือกนายกฯ จากเดิมให้ ส.ส.ฝ่ายเดียวเลือก เปลี่ยนไปให้ ส.ส.และ ส.ว.รวม 750 คน เลือกตั้งแต่ต้นจากรอบแรก ที่จำเป็นต้องเลือกจากรายชื่อในตะกร้าที่แต่ละพรรคเสนอมา พรรคละ 3 คน ซึ่งรอบแรกต้องเลือกจากรายชื่อนี้เท่านั้น ถ้าใครได้เสียงถึงครึ่ง คือ 376 จาก 750 คน ก็เป็นนายกฯ ถ้ายังไม่ได้ก็เลือกรอบสอง โดยคราวนี้สามารถเลือกรายชื่อจากนอกตะกร้าได้ "ส่วนใครเสนอ ชื่อ ผมไม่รู้ เป็นเรื่องของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไปพิจารณา ที่ไปหารือกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สนช.ต้องไปดูมติของ สนช.ด้วย ในเรื่องของ 5 ปีที่ว่าจะเลือกกี่ครั้งก็คือในระยะเวลา 5 ปี ส.ส.และ ส.ว.ต้องเลือกภายใน 5 ปี ประเด็นของผม ถ้าได้คนดีและ ส.ส.เสนอมา ใครจะไปปฏิเสธเขาได้ เขาก็ต้องยินยอมและใช้คะแนนเสียงครึ่งหนึ่งของสองสภา นี่คือความเข้าใจของผมและครม.ทั้งหมด " นายกรัฐมนตรีกล่าว จ่อแก้รธน.ตั้งสนช.ให้ครบ250คน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ในการประชุม วาระที่ 2 คือ เรื่องความจำเป็นในการแก้ไขมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เดิมมี สนช.ไม่เกิน 220 คน จะเพิ่มอีก 30 คน ซึ่งต้องไม่เกิน 250 คน ทั้งนี้ เหตุผลไม่เกี่ยวเรื่องนายกฯ เพราะวันนี้ต้องเร่งรัดการทำกฎหมายสำคัญของรัฐธรรมนูญที่ยังเหลืออยู่กว่า 50 ฉบับ และมีเรื่องกฎหมายอื่นตามนโยบายของรัฐบาลอีกหลายสิบฉบับ ระบุยังไม่ปรับครม. นายก รัฐมนตรียังกล่าวถึงกระแสข่าวการปรับ ครม.ว่า เห็นมีการพูดมาหลายวันแล้ว ซึ่งตนยังไม่เคยคิดว่าจะปรับใครสักคน แล้วทำไมจะต้องปรับตามใคร หรือตามผลโพลล์ต่างๆ ทั้งนี้ยืนยันว่าจะดูจากการทำงานว่า สั่งอะไรไปในส่วนของงานเชิงนโยบายแล้วทำได้หรือไม่ ถ้ารัฐมนตรีเขาทำได้ ตนจะไปปรับใครทำไม จะตั้งเมื่อไรก็แล้วแต่ ไม่มีใครมาบังคับได้ โดยจะต้องพิจารณาในภาพรวมด้วย เมื่อถามว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีการหารือถึงความต้องการที่จะมีรัฐมนตรีช่วยว่าการหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ได้มีการหารือ คนจะปรับก็คือตน และตนเป็นคนที่เริ่มเองทั้งหมด จะดูว่าใครไม่ดี มีปัญหาก็จะปรับ กรธ.ยันปรับแก้ร่างไม่อยู่ใต้อิทธิพลใคร นาย อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม กรธ.วาระพิจารณาปรับบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามประกอบ การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ ว่า การประชุมในวันดังกล่าวคงยังไม่ได้ข้อสรุปหรือเริ่มเขียนบทบัญญัติที่ต้อง ปรับปรุงได้ เพราะกรธ.ต้องนำความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ มาพิจารณา เมื่อถามถึงข้อเสนอของบางฝ่ายที่เสนอให้ปรับแก้ไขใน ส่วนบทเฉพาะกาล โดยระบุเงื่อนไขให้งดเว้นการใช้บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญบางมาตรา เช่น มาตรา 159 ว่าด้วยการเลือกนายกฯ ในสภา โฆษก กรธ.กล่าวว่า "ผมมองว่าต้องพิจารณาในสาระด้วยว่า หากจะกระทบจะมีระยะเวลาแค่ไหน หากกระทบเพียง 5 ปี ถือว่าโอเค แต่ผมยืนยันว่าการเขียนบทบัญญัติใดๆ ของ กรธ.จะไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้ใด" |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559
สปท.ดันรื้อโครงสร้างบริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นชงยุบ'อบต.'ควบรวมเทศบาล
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น