วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

“ไม่ใช่ผู้อยู่ในพื้นที่อันตราย...ขอให้ระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ (ไม่) ได้ ?”



ไม่ใช่ผู้อยู่ในพื้นที่อันตราย...ขอให้ระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ (ไม่) ได้ ?”

คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังฉบับนี้ เป็นเรื่องของสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองของผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็คือ นายกเทศมนตรีได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการลานตากกากมันสำปะหลังให้แก่นาย น. ซึ่งเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและในการประกอบกิจการดังกล่าว มิได้มีการป้ องกันมลพิษให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล ทำให้ส่งกลิ่นเหม็น ปล่อยน้ำเสียลงสู่ที่นาของประชาชน มีฝุ่นละอองกระจายไปทั่ว ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงและเจ็บป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจผู้ฟ้องคดีรายนี้ มีที่พักอาศัยและปฏิบัติงานในสำนักงานเทศบาล ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับสถานที่ประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพดังกล่าว จึงมีหนังสือถึงนายกเทศมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.. 2535 ขอให้ระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญดังกล่าว โดยเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ แต่ก็มิได้รับการแก้ไข กลับต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการให้กับนาย น.ผู้ฟ้องคดีเห็นว่านายกเทศมนตรีละเลยต่อหน้าที่ไม่ระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ จึงนำคดีมาฟ้องต่อ
ศาลปกครอง โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการและให้หาแนวทางหรือมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการละเลยต่อหน้าที่ดังกล่าว

ประเด็นสำ คัญของคดีนี้คือ หลังจากที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นแล้วและในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครอง ผู้ฟ้องคดีได้ย้ายออกจากพื้นที่ที่มีการประกอบกิจการดังกล่าวดังนั้น ศาลปกครองจะรับคดีนี้ไว้พิจารณาหรือไม่ ? เนื่องจากตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.. 2542 กำหนดหลักการสำคัญเกี่ยวกับการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีไว้ว่าจะต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งต้องมีคำบังคับของศาลตามที่กฎหมายกำหนด (มาตรา 42 วรรคหนึ่ง และมาตรา 72 วรรคหนึ่ง)

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.. 2542มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) และเมื่อขณะที่ยื่นฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีมีที่พักอาศัยและปฏิบัติงานในสำนักงานเทศบาล ผู้ฟ้องคดีย่อมได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการละเลยต่อหน้าที่ในเรื่องดังกล่าว (ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง) และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหายต้องมีคำบังคับของศาล โดยสั่งให้หัวหน้าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ภายในระยะเวลาที่ศาลปกครองกำหนด (ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (2)) ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองแต่การที่ศาลปกครองจะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปจนถึงชั้นมีคำพิพากษาและกำหนดคำบังคับให้ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีนั้น จะต้องปรากฏด้วยว่าความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับยังคงดำรงอยู่และการพิจารณาคดีของศาลมีประโยชน์แก่การแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีหรือเป็นกรณีที่จำต้องมีคำบังคับของศาลจึงจะทำให้ความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับสามารถปลดเปลื้องได้ เมื่อเหตุเดือดร้อนรำคาญที่ผู้ฟ้องคดีได้รับจากการละเลยต่อหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีตามข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีไม่ได้มีผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีอีกต่อไป นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้ย้ายออกจากพื้นที่ที่มีการประกอบกิจการดังกล่าวแล้ว และผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดโดยให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ
ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่มีผลเป็นการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี การพิจารณาคดีต่อไปจนกระทั่งมีคำพิพากษาจึงไม่เป็นประโยชน์แก่การแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีนอกจากนี้ การขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีหาแนวทางหรือมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการละเลยต่อหน้าที่ดังกล่าว ก็ไม่ใช่การขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด จึงมีคำสั่งยืนตามคำพิพากษาของ
ศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ(คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 916/2556)

จากคำพิพากษาข้างต้นจึงเป็นอุทาหรณ์ที่ดีว่า ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง นอกจากผู้มีสิทธิฟ้องคดีจะต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำทางปกครอง (การใช้อำนาจหรือการละเลยต่อหน้าที่) ของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว คำขอของผู้ฟ้องคดีจะต้องเป็นคำขอที่ศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับได้และจะต้องมีผลเป็นการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้กับผู้ฟ้องคดีด้วย ครับ !

นายปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น