|
|||||||
แต่ปัจจุบัน...คนไทยได้หันมาให้ความสำคัญกับการปกป้องรักษาสิทธิของ ตนเองมากขึ้น รวมทั้งภาครัฐก็ได้พยายามให้ความรู้และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ประชาชนสามารถ เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น ดังเช่น การฟ้องคดีปกครองที่เน้นความเรียบง่ายและไม่จำเป็นต้องมีทนายความ ส่งผลให้การฟ้องคดีในบ้านเรามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
การฟ้องคดีในต่างประเทศบางคดีนั้น ในบ้านเราอาจถือเป็นเรื่องแปลก แต่ก็เป็นเรื่องแปลกแต่จริงครับ ! เพราะเรื่องที่เรามองว่าเล็กน้อยนั้น เขาฟ้องเรียกค่าเสียหายกันเป็นหลักล้าน แถมชนะคดีอีกต่างหาก คดีแปลกที่ว่านี้ก็เช่น คดีที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา กรณีลูกค้าซื้อกาแฟจากร้านแมคโดนัลด์ แล้วทำกาแฟที่ยังร้อนอยู่หกใส่ตัวเอง จึงฟ้องร้องร้านแมคโดนัลด์ ในข้อหา ...ไม่เขียนคำเตือนไว้ที่ถ้วยกาแฟ…ซึ่ง เธอก็เป็นฝ่ายชนะคดีและได้รับชดใช้ค่าเสียหาย หรือคดีที่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมัน กรณีที่ลูกค้าซึ่งไปซื้อของในห้างสรรพสินค้าแล้วเหยียบเปลือกกล้วยที่ลูกค้า อีกรายหนึ่งทิ้งลงพื้นโดยที่พนักงานของห้างฯ เห็นแล้วแต่ไม่เก็บ เป็นเหตุให้ลูกค้าคนดังกล่าวลื่นล้มได้รับบาดเจ็บที่ขา จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าของห้าง และชนะคดีเช่นกัน…
สำหรับข้อพิพาทเกี่ยวกับคดีปกครองในวันนี้ ผมมีเรื่องน่าสนใจทั้งจากต่างแดนและบ้านเรามาฝาก ต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่าคดีนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะศาลอิตาลีท่านบอกว่าเป็นเรื่องบังเอิญ ซึ่ง “เรื่องบังเอิญ” ที่ว่านี้จะมีผลอย่างไรต่อการตัดสินคดี มาดูกัน...
เรื่องก็คือ... นางเอมมี่ซึ่งได้ขับรถยนต์ส่วนตัวด้วยความเร็วปกติไปตามถนนในเมืองอากรีเจน โต้ ประเทศอิตาลี แต่พอขับไปถึงจุดที่เป็นทางโค้ง รถก็เกิดเสียหลักไถลไปชนกับกำแพงริมถนน เนื่องจากมีคราบน้ำมันที่ไหลจากรถคันอื่นอยู่บนถนนดังกล่าว เธอจึงรีบไปฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเมืองอากรีเจนโต้เพื่อขอให้บริษัทเอ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการบำรุงรักษาถนนและเทศบาลเมืองอากรีเจนโต้ซึ่งเป็น ผู้ควบคุมกำกับบริษัทเอ ให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เธอ อันเนื่องมาจากการละเลยไม่บำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความดูแลให้อยู่ใน สภาพที่ไม่ก่ออันตรายแก่ผู้อื่น
คดีนี้ศาลได้พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งได้บัญญัติยกเว้นมิให้บุคคลต้องรับผิดชอบในความ เสียหายอันเกิดจากสิ่งของที่อยู่ในความดูแลของตน หากความเสียหายนั้นเกิดจาก “เหตุบังเอิญ” โดยศาลได้ให้คำนิยามของคำว่า “เหตุบังเอิญ” ว่าหมายถึง เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่อาจคาดหมายล่วงหน้าได้ หรือไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย อันอยู่นอกเหนือจากการควบคุมของผู้ดูแล รวมทั้งเป็นเหตุการณ์ซึ่งโดยลำพังย่อมก่อความเสียหายได้เองหรืออาจเรียกได้ ว่าเป็นอุบัติเหตุโดยแท้ นอกจากนี้ศาลยังเห็นว่านอกจากการมีคราบน้ำมันรถบนถนนกับอุบัติเหตุทางรถยนต์ ที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยในเรื่องของ “ช่วงเวลาประจวบเหมาะ” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สั้นมากจนฝ่ายปกครองไม่มีเวลาแม้แต่จะเข้าไปบำรุงดูแล ทรัพย์สินได้ทันการณ์อีกด้วย
นางเอมมี่ไม่ยอมแพ้และได้ต่อสู้คดีจนถึงชั้นศาลฎีกา แต่ผลของคดีก็ยังคงเหมือนเดิม และศาลฎีกายังได้ให้เหตุผลที่น่าสนใจในคำพิพากษาอีกว่า หากความเสียหายเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่เกิดจากตัวทรัพย์สินของรัฐหรือจาก สาเหตุที่ไม่อาจแยกออกจากตัวทรัพย์สินของรัฐ เช่น ไม่ได้เกิดจากความบกพร่องในการก่อสร้างหรือในการบำรุงรักษาตัวทรัพย์สินของ รัฐนั้น แต่เกิดจากปัจจัยภายนอกและเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันโดยบุคคล ที่สาม เช่น การที่มีบุคคลอื่นทำสิ่งของตกหล่นหรือทิ้งสิ่งของอันตรายบนถนนของหลวง เช่นนี้ฝ่ายปกครองย่อมไม่อาจจะรับรู้หรือขจัดอันตรายนั้นได้ทัน แม้จะใช้ความระมัดระวังสูงสุดในการบำรุงรักษาทรัพย์นั้นแล้วก็ตาม ฝ่ายปกครองไม่จำต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ดูแลทรัพย์สินเมื่อเกิดเหตุในลักษณะ ดังกล่าว
คดีนี้ถือว่าศาลอิตาลีได้วางหลักในเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดจากเหตุ บังเอิญไว้อย่างชัดเจนว่าฝ่ายปกครองไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น ครับ...
คราวนี้มาดูคดีปกครองในบ้านเรากันบ้าง...ซึ่งเป็นเรื่องอุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นบนท้องถนนเช่นกัน แต่ต่างกันตรงที่ อุบัติเหตุครั้งนี้...ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ !
คดีนี้ เทศบาลต้นอ้อได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทกอไผ่ ให้ดำเนินการวางท่อร้อยสายไฟฟ้าและสาธารณูปโภคใต้ดิน รวมทั้งปรับปรุงผิวจราจรและพื้นที่ทางเท้า ตลอดจนไฟฟ้าแสงสว่างภายในเขตเทศบาล อันเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเทศบาล
ต่อมาในเที่ยงวันหนึ่ง... นางเอมอรซึ่งได้ขับรถยนต์กระบะมาตามถนน พอขับมาถึงทางแยกที่จะเลี้ยวเข้าสู่ถนนอีกสายหนึ่ง ปรากฏว่ามีตอม่อเสาไฟฟ้าซึ่งทำด้วยปูนซีเมนต์สูงประมาณ 30 เซนติเมตร ตั้งอยู่ในพื้นผิวจราจร นางเอมอรไม่ทันเห็นเนื่องจากไม่มีป้ายเตือนใดๆ จึงได้เลี้ยวรถยนต์ครูดไปกับตอม่อเสาไฟฟ้า เป็นเหตุให้รถยนต์ของนางเอมอรได้รับความเสียหาย โดยชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้นได้บอกกับนางเอมอรว่า...มีรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว...
นางเอมอรเห็นว่าเทศบาลต้นอ้อซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิด ชอบการก่อสร้างเสาไฟฟ้าดังกล่าว ได้ประมาทเลินเล่อไม่ดำเนินการติดตั้งเครื่องหมายหรือสัญญาณเตือนใดๆ เพื่อแสดงให้ผู้ใช้รถใช้ถนนรู้ว่ามีตอม่อกีดขวางรุกล้ำเข้ามาในพื้นผิวจราจร จึงมีหนังสือขอให้เทศบาลชดใช้ค่าเสียหาย เทศบาลต้นอ้อจึงได้มีหนังสือให้บริษัทกอไผ่จ่ายเงินค่าเสียหายให้แก่นาง เอมอร ตามข้อ 10 ของสัญญาที่ได้กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุความเสียหายหรือ ภยันตรายใดๆ อันเกิดจากการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง แต่ก็มิได้มีการชดใช้แต่อย่างใด โดยนางเอมอรได้มีหนังสือทวงถามแล้วหลายครั้งแต่ก็ไม่เป็นผล จึงได้ยื่นฟ้องเทศบาลต้นอ้อต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ชดใช้ค่าซ่อมรถแก่ตนพร้อม ดอกเบี้ยตามกฎหมาย
กรณีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยคดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การที่เทศบาลต้นอ้อ
ไม่ดำเนินการติดตั้งเครื่องหมายหรือสัญญาณใดๆ เพื่อแสดงให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทราบว่ามีตอม่ออยู่ในพื้นผิวจราจร จนเป็นเหตุให้รถยนต์ของนางเอมอรเฉี่ยวชนตอม่อได้รับความเสียหายเป็นการกระทำ ละเมิดต่อนางเอมอรหรือไม่ ?
โดยที่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติถึงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ มิได้บัญญัติถึงลักษณะของการกระทำของเจ้าหน้าที่ไว้ว่าการกระทำของเจ้า หน้าที่ในลักษณะใดที่จะถือว่าเป็นการกระทำละเมิด ดังนั้นการพิจารณาว่าการกระทำใดจะเป็นละเมิดหรือไม่นั้น จึงต้องพิจารณาตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
เมื่อเทศบาลต้นอ้อซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลรับผิดชอบการก่อ สร้างเสาไฟฟ้าและป้องกันมิให้เกิดอันตรายจากการดำเนินการดังกล่าว ได้ละเลยต่อหน้าที่ไม่ทำเครื่องหมายหรือสัญญาณเตือนให้ประชาชนที่ขับรถไปใน เส้นทางดังกล่าวทราบว่ามีตอม่อเสาไฟฟ้าอยู่ในพื้นผิวจราจร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ดังนั้นการที่นางเอมอรขับรถเฉี่ยวชนตอม่อจนรถยนต์ได้รับความเสียหาย จึงถือว่าเทศบาลต้นอ้อได้ประมาทเลินเล่อทำให้นางเอมอรได้รับความเสียหายแก่ ทรัพย์สิน อันเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 และต้องรับผิดชดใช้ค่าซ่อมรถให้แก่นางเอมอรพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย (เทียบเคียงจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.197/2552)
จะเห็นได้ว่า... อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนี้เป็นกรณีที่เทศบาลสามารถป้องกันได้เพราะไม่ใช่เหตุ บังเอิญ และแม้ว่าการกระทำละเมิดดังกล่าวจะเกิดจากการดำเนินงานของบริษัทกอไผ่ก็ตาม แต่เมื่อเทศบาลต้นอ้อเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโครงการรวมทั้งควบคุมดูแลการ ทำงานของบริษัทกอไผ่ เทศบาลต้นอ้อจึงต้องเป็นผู้รับผิดแห่งการละเมิดที่เกิดขึ้นกับบุคคลภายนอก สำหรับในส่วนที่เทศบาลจะใช้สิทธิเรียกร้องกับบริษัทกอไผ่ ตามข้อ 10 ของสัญญานั้น เป็นเรื่องระหว่างเทศบาลกับบริษัทกอไผ่ที่ต้องว่ากันต่อไปครับ...
ช่วงนี้ฝนตกบ่อยและมีน้ำท่วมขัง...ไปไหนมาไหน... โปรดใช้ความระมัดระวัง มิเช่นนั้นอาจเกิดอุบัติเหตุได้ทั้งจากเหตุบังเอิญและไม่บังเอิญนะครับ เพราะ Thailand only ! เมืองที่ฝาท่อหายและพบถุงทรายในท่อระบายน้ำ !!! ด้วยความห่วงใย...
ครองธรรม ธรรมรัฐ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น