วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

แบบธรรมเนียมของทางราชการ

คดีหมายเลขดำที่ อ. ๓๖๔/๒๕๕๐
คดีหมายเลขแดงที่ อ. ๘๗/๒๕๕๓
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลปกครองสูงสุด
วันที่    ๘      เดือน เมษายน  พุทธศักราช ๒๕๕๓

         นายชาญชัย  จิรวรรธนกิจ                                                           ผู้ฟ้องคดี
ระหว่าง
          นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่  ที่ ๑
          คณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดเชียงใหม่  ที่ ๒                      ผู้ถูกฟ้องคดี


เรื่อง   คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
         (อุทธรณ์คำพิพากษา)

         ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ๒๖๑/๒๕๔๗ หมายเลขแดงที่ ๘๔/๒๕๕๐ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองเชียงใหม่)
         คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า  ผู้ฟ้องคดีรับราชการเป็นพนักงานเทศบาลสามัญ ตำแหน่งผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม (นักบริหารงานสวัสดิการสังคม ๗) ประจำกองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ลงโทษภาคทัณฑ์ผู้ฟ้องคดี ตามคำสั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ๑๒๗๓/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕ กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการตามมาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยมีเหตุ
สืบเนื่องมาจากเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้มีผู้ร้องเรียนว่า ผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการ และละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ กล่าวคือ ผู้ฟ้องคดีป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง เข้ารับการรักษาในฐานะผู้ป่วยใน ณ โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ ถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๔ รวม ๘ วัน โดยไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานการลาป่วยตามวันดังกล่าวแต่อย่างใด และในระหว่างที่ป่วย ผู้ฟ้องคดีได้ลงลายมือชื่อในสมุดบัญชีลงเวลาการปฏิบัติราชการของพนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ ณ สำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ เฉพาะวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๔ สำหรับวันที่ ๒๔ ถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๔ รวม ๕ วัน (วันที่ ๒๕ และวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๔ เป็นวันหยุดราชการ) มีเจ้าหน้าที่กองสวัสดิการสังคมนำสมุดบัญชีลงเวลาการปฏิบัติราชการของพนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ และเอกสารอื่นๆ ไปให้ผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อในขณะที่ผู้ฟ้องคดีนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รับทราบเรื่องดังกล่าว จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ฟ้องคดีตามคำสั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ที่ ๔๕๒/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๕ และได้แจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบตามบันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหา (แบบ สว. ๒) ลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๕ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามหนังสือบันทึกข้อความ ลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๕ พร้อมทั้งแนบเอกสารต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณา จากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ๑๒๗๓/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕ ลงโทษภาคทัณฑ์ผู้ฟ้องคดี โดยวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดตามข้อร้องเรียน ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๕ อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ตามหนังสือ ลับ ที่ มท ๐๘๒๗.๔/๓๔๘ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๗ ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติให้ยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ไม่ได้กระทำผิดวินัยตามที่ถูกกล่าวหา และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๔ เป็นต้นมา ได้เกิดน้ำท่วมในเขตพื้นที่ของเทศบาลนครเชียงใหม่และผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำหน้าที่จัดเตรียมเครื่องอุปโภค บริโภค สำหรับแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัย จนกว่าภาวะน้ำท่วมจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีจึงมิได้ยื่นใบลาป่วยในระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ เนื่องจากมีความสำนึกในหน้าที่และไม่ประสงค์ที่จะให้ผู้ประสบ
อุทกภัยต้องเดือดร้อน จึงยังคงปฏิบัติหน้าที่ตลอดมา โดยได้แจ้งให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำเอกสารต่างๆ ไปให้ตรวจลงนามอนุมัติ และนำสมุดบัญชีลงเวลาปฏิบัติราชการไปให้ผู้ฟ้องคดีลงนามที่โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ ทั้งนี้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๘๓ และมาตรา ๙๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ผู้ฟ้องคดีจึงมิได้ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการตามที่ถูกกล่าวหา ทั้งนี้ มิได้มีระเบียบหรือคำสั่งใดๆ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีต้องทำงานในห้องทำงานแต่เพียงอย่างเดียวหรือห้ามมิให้ออกทำงานนอกสถานที่ การปฏิบัติของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ อีกทั้งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวก็สามารถเสร็จลุล่วงไปเป็นผลสำเร็จ ประกอบกับมิได้ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ทางราชการ และเป็นที่รับทราบของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ฟ้องคดีมิได้ปิดบังซ่อนเร้นใดๆ และมิได้มีผู้ใดทักท้วงว่าไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ การลงนามอนุมัติ และฎีกาเบิกเงินต่างๆ ก็ถูกต้องเป็นไปตามขั้นตอนของทางราชการทั้งสิ้น โดยผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีได้ลงนามอนุมัติตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง อันแสดงให้เห็นว่าผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่โดยชอบและถูกต้องแล้ว สำหรับในเรื่องการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลนั้นก็เป็นเรื่องการตรวจรักษาจริง และเป็นการตั้งเบิกเงินของทางโรงพยาบาลต่อหน่วยงานของผู้ฟ้องคดี มิใช่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ที่เบิกเงินดังกล่าวด้วยตนเอง จึงมิใช่เป็นการเบียดบังหรือยักยอกทรัพย์ของทางราชการแต่อย่างใด

ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้
     ๑. เพิกถอนคำสั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ๑๒๗๓/๒๕๔๕ เรื่อง ลงโทษภาคทัณฑ์ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕
      ๒. เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี
       ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า  เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคมซึ่งสถานที่ทำงานตามปกติจะปฏิบัติงานอยู่ที่กองสวัสดิการสังคม ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีลงเวลามาปฏิบัติหน้าที่ราชการในสมุดลงเวลาแล้วนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ จึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการมาปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติ  ส่วนประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นได้ลงนามหรืออนุมัติเอกสารหนังสือราชการและผู้บังคับบัญชาทราบว่านอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ หากการกระทำไม่ถูกต้องก็น่าจะมีการทักท้วงนั้น เห็นว่า การที่ผู้บังคับบัญชาลงนามหรืออนุมัติเอกสารหนังสือราชการและไม่ทักท้วงนั้น เป็นคนละประเด็นกับการยื่นใบลาป่วยและผู้บังคับบัญชาอาจจะไม่ทราบว่ามีการยื่น
ใบลาป่วยหรือไม่ก็ได้ และประเด็นผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีได้ลงนามในเอกสารการตรวจรับเอกสารใบฎีกาเบิกเงินถ้าถือว่าในวันที่ ๒๓ ถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๕ ผู้ฟ้องคดีไม่มาปฏิบัติงานตามหน้าที่และการลงนามอนุญาตให้พนักงาน ลูกจ้างในกองสวัสดิการสังคมไปประชุมในที่ต่างๆ ก็ถือว่า เอกสารที่ลงนามเป็นโมฆะ นั้น เห็นว่า การลงนามในเอกสารดังกล่าวถือเป็นหน้าที่ของพนักงานเทศบาลที่จะต้องกระทำ เพื่อให้การบริหารงานและการบริการสาธารณะไม่หยุดชะงัก  ดังนั้น การลงนามของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ทำให้เป็นโมฆะ  สำหรับประเด็นการพิจารณาลงโทษทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนมีความขัดแย้งกันเอง กล่าวคือ การกระทำดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและการกระทำของผู้ฟ้องคดีกระทำการเป็นประโยชน์ต่อทางราชการนั้น เห็นว่า ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีเป็นเพียงเหตุบรรเทาโทษเท่านั้น จึงไม่รับพิจารณา และในกรณีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในคราวประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗ พิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และร้องทุกข์เสนอ จึงมีมติให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี

     ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า  เทศบาลนครเชียงใหม่ได้รับหนังสือแจ้งจากจังหวัดเชียงใหม่ ตามหนังสือจังหวัดเชียงใหม่ ลับ ที่ ชม ๐๐๑๘.๒/๓๑๔ ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๕ เรื่อง ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ ความว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีผู้ร้องเรียนว่าผู้ฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่เทศบาลนครเชียงใหม่มีพฤติการณ์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหลายประการ และต่อมาจังหวัดเชียงใหม่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเข้ารับการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน ณ โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ ถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๔ รวม ๘ วัน โดยไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานการลาป่วยตามวันเวลาดังกล่าว และผู้ฟ้องคดีได้เบิกเงินค่ารักษาพยาบาลตามหลักฐานฎีกาเบิกเงินของเทศบาลนครเชียงใหม่ เลขที่ ๒๑๖/๔๔ เลขรับที่ ๑๑๔๗๑ วันที่คลังรับ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๔ จำนวนเงิน ๑๑,๑๕๐ บาท โดยในเรื่องนี้ ผู้ฟ้องคดีและพยานบุคคลจำนวนมาก
ให้การตรงกันว่าผู้ฟ้องคดีได้ลงลายมือชื่อในบัญชีลงเวลาการปฏิบัติราชการของพนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ เฉพาะวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๔ ณ สำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ สำหรับวันที่ ๒๔ ถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๔ รวม ๕ วัน (วันที่ ๒๕ ถึงวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๔ เป็นวันหยุดราชการ) มีเจ้าหน้าที่ของกองสวัสดิการสังคม เช่น นายบุญรัตน์ เมืองด้วง พนักงานขับรถยนต์ นำสมุดลงเวลาการปฏิบัติราชการของพนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่และเอกสารอื่นๆ ไปให้ผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อในขณะที่ผู้ฟ้องคดีนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่พิจารณาแล้ว เห็นว่า พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีอาจเข้าข่ายกระทำผิดวินัย ฐานไม่ปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการและฐานทอดทิ้งหรือละทิ้งหน้าที่ราชการ ตามมาตรา ๙๑ และมาตรา ๙๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้วรายงานผลให้จังหวัดเชียงใหม่ทราบ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ฟ้องคดี ตามคำสั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ที่ ๔๕๒/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๕ จากการดำเนินการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวน ได้ข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๒๓ ถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเข้ารับการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน ณ โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ยื่นเอกสารการลาป่วยต่อผู้มีอำนาจอนุญาต และผู้ฟ้องคดีได้เบิกค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิที่พึงได้รับ และในระหว่างที่ป่วยผู้ฟ้องคดีได้ลงลายมือชื่อในบัญชีลงเวลาการปฏิบัติราชการของพนักงานเทศบาล เฉพาะวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๔ ณ สำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ สำหรับวันที่ ๒๔ ถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๔ รวม ๕ วัน (วันที่ ๒๕ ถึงวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๔ เป็นวันหยุดราชการ) มีผู้นำสมุดบัญชีลงเวลาการปฏิบัติราชการของพนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่และเอกสารอื่นไปให้ผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อในขณะที่ผู้ฟ้องคดีนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่
         ในเรื่องนี้ ผู้ฟ้องคดีรับว่าได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาแต่ผู้ฟ้องคดีชี้แจงว่า ในระหว่างที่ป่วยรักษาตัวที่โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ ผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติราชการ เช่น ลงนามในเอกสารราชการต่างๆ และได้ไปร่วมปฏิบัติราชการนอกโรงพยาบาล ณ สถานที่ต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา และได้ลงลายมือชื่อปฏิบัติราชการครบทุกวัน และอ้างว่าโรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ถือเป็นสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ด้วย และการกระทำดังกล่าวมิได้เกิดความเสียหายต่อราชการ คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีไม่มาปฏิบัติหน้าที่ ณ กองสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานปกติตั้งแต่วันที่ ๒๓ ถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๔ เนื่องจากมีเหตุผลอันควรคือ ป่วยต้องรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่กรณีดังกล่าวจึงไม่ถือว่า เป็นการละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ ตามมาตรา ๙๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙ แต่การที่ผู้ฟ้องคดีป่วยไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ตามปกติ ไม่ได้ยื่นเอกสารการลาป่วยต่อผู้มีอำนาจอนุญาตและการที่ผู้ฟ้องคดีไม่มาลงลายมือชื่อปฏิบัติราชการ ณ สำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ แต่ลงลายมือชื่อ ณ โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยมีผู้ใต้บังคับบัญชานำสมุดลงเวลาไปให้ลงนามนั้น เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ก.ท. ว่าด้วยการลาของพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๑๗ วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดไว้ว่า พนักงานเทศบาลซึ่งประสงค์จะลาป่วยเพื่อรักษาตัว ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจก่อนในวันที่ลา เว้นแต่กรณีจำเป็นจะเสนอหรือจัดส่งใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการก็ได้ ซึ่งตามระเบียบดังกล่าวก่อนป่วยหรือในระหว่างป่วย ผู้ฟ้องคดีจะต้องยื่นใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต แต่หากในระยะดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีมีความจำเป็นที่ไม่สามารถยื่นใบลาได้เมื่อหายป่วยแล้วในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการ ผู้ฟ้องคดีจะต้องยื่นใบลาตามระเบียบดังกล่าว แต่ผู้ฟ้องคดีหาได้ทำให้ถูกต้องตามระเบียบไม่ การที่ผู้ฟ้องคดีไม่มาลงลายมือชื่อปฏิบัติราชการ ณ สำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ แต่ลงลายมือชื่อปฏิบัติราชการ ณ โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ ไม่ถือว่าผู้ฟ้องคดีได้มาปฏิบัติราชการที่สถานที่ทำงานปกติซึ่งหมายถึงกองสวัสดิการสังคม และจะถือว่าโรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นสถานที่ทำงานปกติของผู้ฟ้องคดีหาได้ไม่ รวมทั้งจะถือว่าผู้ฟ้องคดีมาปฏิบัติราชการตามปกติโดยไม่ต้องลาป่วยหาได้ไม่ เนื่องจากกรณีดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีเข้ารับการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยในและผู้ฟ้องคดียังคงใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิที่พึงได้รับอยู่ คณะกรรมการสอบสวนจึงมีความเห็นว่า พฤติการณ์และการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงฐานไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการ อันเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ตามมาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙ สมควรได้รับโทษตัดเงินเดือนร้อยละ ๕ เป็นเวลา ๑ เดือน แต่โดยที่การกระทำของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ และในระหว่างที่ป่วย ผู้ฟ้องคดีได้กระทำการที่เป็นประโยชน์ต่อราชการ
เช่น ลงนามในเอกสารราชการต่างๆ และปฏิบัติราชการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ซึ่งแม้จะไม่สามารถลบล้างความผิดได้ แต่ก็เป็นเหตุบรรเทาโทษ ทั้งจากการตรวจสอบประวัติการรับราชการของผู้ฟ้องคดีแล้ว ไม่ปรากฏว่าเคยกระทำผิดวินัยมาก่อน จึงมีมติให้ลงโทษภาคทัณฑ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้มีคำสั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ๑๒๗๓/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕ ลงโทษภาคทัณฑ์ผู้ฟ้องคดี ตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน โดยได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ และได้รายงานการดำเนินการทางวินัยผู้ฟ้องคดีไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสืออุทธรณ์ไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีมติให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ส่วนตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำหน้าที่จัดเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจนกว่าน้ำท่วมจะสิ้นสุดลง ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงมิได้ยื่นใบลาป่วยในระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล โดยได้แจ้งให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำเอกสารต่างๆ ไปให้ตรวจลงนามอนุมัติและสมุดลงเวลาทำงานไปให้ผู้ฟ้องคดีลงนามที่โรงพยาบาล นั้น เห็นว่า โดยปกติลักษณะของงานจัดเตรียมเครื่องอุปโภค บริโภค สำหรับแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น ผู้ปฏิบัติหน้าที่น่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ ณ บริเวณสถานที่ที่จัดเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคดังกล่าว เพื่อใกล้ชิดกับสถานการณ์ เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการเนื่องจากมีอาการป่วยโดยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานที่ที่จัดเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคดังกล่าวแล้ว ผู้ฟ้องคดีน่าจะต้องมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดรักษาราชการแทนเพื่อให้งานดังกล่าวสำเร็จลุล่วง ซึ่งกรณีนี้ผู้ฟ้องคดีได้ยอมรับว่า ในระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่ ณ โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ นั้น ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นผู้นำเอกสารต่างๆ ตลอดจนสมุดลงเวลาไปให้ผู้ฟ้องคดีลงนาม กรณีนี้น่าจะถือได้ว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว เนื่องจากเป็นการไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการเพราะตามระเบียบของทางราชการที่ได้ถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานนั้น เมื่อผู้ใดป่วยก็ต้องมีการลาป่วย โดยได้เสนอหรือจัดส่งใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการ แต่ผู้ฟ้องคดีหาได้ปฏิบัติตามไม่  ตามที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดียังคงปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีเสมอมา โดยมิได้ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการตามที่ถูกกล่าวหา แม้จะเป็นการนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลก็ตาม ทั้งนี้ มิได้มีระเบียบหรือคำสั่งใดๆ
ที่จะให้ผู้ฟ้องคดีจะต้องทำงานในห้องทำงานแต่เพียงอย่างเดียว และห้ามมิให้ออกทำงานนอกสถานที่แต่อย่างใด นั้น แม้จะไม่มีระเบียบหรือคำสั่งใดๆ ที่จะให้ผู้ฟ้องคดีจะต้องทำงานในห้องทำงานแต่เพียงอย่างเดียว และห้ามมิให้ออกทำงานนอกสถานที่แต่อย่างใด แต่กรณีถือได้ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ได้ประพฤติปฏิบัติมาเป็นเวลานานว่าเมื่อผู้ใดป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ผู้นั้นน่าจะไม่ใช่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในขณะนั้น และตามความรู้สึกนึกคิดของวิญญูชนโดยทั่วไปและข้าราชการโดยรวมน่าจะทราบดีอยู่แล้วว่าตนอยู่ในภาวะเช่นใด จะต้องประพฤติปฏิบัติตนอย่างไร อีกทั้งการลาป่วยในฐานะผู้ป่วยในนั้น ตามปกติแล้วเมื่อผู้ใดผู้หนึ่งเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน ผู้นั้นมักจะขอให้ทางโรงพยาบาลนั้นๆ ออกหนังสือส่งตัวเพื่อจะได้แจ้งให้ต้นสังกัดทราบ และเพื่อให้ทางโรงพยาบาลนั้นๆ เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากต้นสังกัดโดยตรง โดยตนเองมิต้องทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนแต่อย่างใด การที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ในขณะที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ ผู้ฟ้องคดียังคงปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีเสมอมานั้น เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้ว่า มีการขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด คือ มีกรณีที่ข้าราชการผู้หนึ่งป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยในแต่ไม่มีการลาป่วย และยังถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่ในระหว่างที่พัก
รักษาตัวอยู่ ณ โรงพยาบาลด้วยนั้น กรณีเช่นนี้หาได้สมเหตุสมผลไม่ ตามที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า การกระทำดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทางราชการ นั้น แม้จะมิได้ก่อความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทางราชการ แต่ก็อาจก่อความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อระบบการบริหารงานบุคคลของเทศบาลนครเชียงใหม่ เนื่องจากการที่ผู้ฟ้องคดีป่วยและเข้ารับการรักษาในฐานะผู้ป่วยใน ณ โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยไม่ได้ยื่นใบลาป่วยนั้น หากถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ชอบแล้ว และมีบุคคลอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง กรณีนี้อาจจะส่งผลทำให้เกิดการได้เปรียบ และไม่เป็นธรรมต่อพนักงานเทศบาลคนอื่นๆ ในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนได้ เนื่องจากเทศบาลนครเชียงใหม่มีหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้กำหนดไว้อย่างชัดเจนและได้ถือปฏิบัติมาโดยตลอด
         ผู้ฟ้องคดีคัดค้านคำให้การว่า  กรณีที่ผู้ฟ้องคดีเข้ารับการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน ณ โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยไม่มีเอกสารการลาป่วย และผู้ฟ้องคดีได้เบิกเงินของเทศบาลนครเชียงใหม่ค่ารักษาพยาบาลจำนวนเงิน ๑๑,๑๕๐ บาท โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อ้างว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวอาจเข้าข่ายกระทำผิดวินัย ฐานไม่ปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการและฐานทอดทิ้งหรือละทิ้งหน้าที่ราชการ แต่ปรากฏว่าเมื่อมีการตั้งกรรมการสอบสวนแล้วมีคำวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีไม่มาปฏิบัติหน้าที่ ณ กองสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานปกติเนื่องจากมีเหตุผลอันควร คือ ป่วยต้องรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล กรณีดังกล่าว จึงไม่ถือว่าเป็นการละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ เพียงแต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ยื่นใบลาป่วยเนื่องจากเหตุผลที่ว่าในขณะที่เข้ารับการรักษาตัวอยู่นั้น ผู้ฟ้องคดียังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามปกติ โดยมีการลงนามอนุมัติในเอกสารต่างๆ และลงเวลาทำงานตลอดมา ซึ่งผู้ฟ้องคดีถือว่าผู้ฟ้องคดียังคงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเอาผลประโยชน์ของทางราชการเป็นที่ตั้งมาโดยตลอด ดังนั้น หากมีการยื่นใบลาป่วยในขณะนั้น การปฏิบัติงาน ปฏิบัติหน้าที่ และการลงนามในเอกสารต่างๆ ของผู้ฟ้องคดีก็จะเป็นการไม่ชอบ เนื่องจากจะต้องถือว่าผู้ฟ้องคดีได้ลาป่วยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ ผู้ฟ้องคดียังคงปฏิบัติหน้าที่ราชการและยังคงสั่งงานอยู่ จึงไม่ยื่นใบลาป่วย ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการผิดวินัยหรือผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด แต่ต้องถือว่าผู้ฟ้องคดีได้รักษาผลประโยชน์ของทางราชการเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ให้การและรับรองในประเด็นนี้ไว้แล้วในคำให้การว่า การลงนามในเอกสารต่างๆ ของผู้ฟ้องคดีนั้น เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ทำให้เป็นโมฆะ สำหรับการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลนั้นเป็นเพียงเรื่องที่ผู้ฟ้องคดี
ได้ลงนามในหนังสือเบิกเงินตามระเบียบราชการเท่านั้น ส่วนเรื่องเงินดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีมิได้เป็นผู้รับเงินเอง แต่เป็นเรื่องของทางเทศบาลนครเชียงใหม่และโรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ได้เบิกจ่ายกันเองในสังกัดหน่วยงานเดียวกัน ดังนั้น การปฏิบัติงานทั้งหลายของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำโดยชอบ มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการแต่อย่างใด แต่การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นั้น เป็นเจตนาที่จะกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เพราะเหตุว่าผู้ฟ้องคดีไม่ยินยอมเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้แก่กลุ่มผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงหาเหตุกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีตลอดมา โดยปัจจุบันได้ทำการกลั่นแกล้งย้ายผู้ฟ้องคดีจากตำแหน่งเดิม คือ ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม ระดับ ๗ ไปเป็นพนักงานประจำเทศบาล อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ฟ้องร้องในคดีนี้ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องถูกระงับการเลื่อนขั้น เลื่อนระดับ อันแสดงให้เห็นเจตนาที่ไม่สุจริตอย่างชัดเจนแท้จริง  สำหรับประเด็นที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีมติยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี นั้น ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๕ ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ตามหนังสือ ลับ ที่ มท ๐๘๒๗.๔/๓๔๘ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๗ ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้พิจารณาในคราวประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗ มีมติให้ยกอุทธรณ์ ซึ่งเมื่อนับระยะเวลาจากที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๕ จนถึงวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗ เป็นเวลานานถึง ๑ ปี ๑๐ เดือน อันเป็นการประวิงเวลาให้เนิ่นนานเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย และเกินกว่าระยะเวลาตามที่ข้อ ๑๑๓ ของประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ กำหนดไว้  ดังนั้น มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่ได้กำหนดไว้ มติดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ
             ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การเพิ่มเติมว่า  ตามข้อ ๑๑๓ ของประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ บัญญัติว่า การพิจารณาอุทธรณ์ให้พิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสืออุทธรณ์ แต่หากมีความจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าวให้ขยายระยะเวลาได้อีกสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน และให้บันทึกแสดงเหตุผลความเห็นที่ต้องขยายเวลาไว้ด้วย นั้น ระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ดังกล่าวเป็นกระบวนการภายในของหน่วยงานทางปกครองก่อนที่หน่วยงานทางปกครองจะมีคำสั่งทางปกครอง และเป็นระยะเวลาที่เร่งรัดเท่านั้น  ดังนั้น เมื่อล่วงเลยระยะเวลาการพิจารณาแล้วก็ตามก็ต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ถือได้ว่าจังหวัดเชียงใหม่ได้ปฏิบัติถูกต้องตามประกาศดังกล่าวแล้วผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การเพิ่มเติมว่า  การกระทำของผู้ฟ้องคดีในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดวินัยฐานไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการอันเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ตามมาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙ ถึงแม้ว่าในระหว่างผู้ฟ้องคดีรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล และหลังจากนั้นจะไม่มีผู้ทักท้วงถึงความไม่ถูกต้องของการกระทำของผู้ฟ้องคดีตามที่ผู้ฟ้องคดีอ้าง ก็หาทำให้ผู้ฟ้องคดีพ้นความรับผิดทางวินัยไม่ และตามที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เพราะเหตุว่าผู้ฟ้องคดีไม่ยินยอมเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้แก่กลุ่ม
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงหาเหตุกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีตลอดมาโดยปัจจุบันได้กลั่นแกล้งย้ายผู้ฟ้องคดีจากตำแหน่งเดิม คือ ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม ระดับ ๗ ไปเป็นพนักงานประจำเทศบาล อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ฟ้องร้องในคดีนี้นั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เป็นความเข้าใจผิดที่คลาดเคลื่อนของผู้ฟ้องคดีแต่เพียงผู้เดียว เหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ย้ายผู้ฟ้องคดีไปดำรงตำแหน่งประจำเทศบาลนั้น เนื่องมาจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับหนังสือร้องเรียนจากผู้นำชุมชนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ว่า ประสบปัญหาในการทำงานร่วมกับผู้ฟ้องคดี ซึ่งหน่วยงานของผู้ฟ้องคดีเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาชุมชนต้องประสานงานในทุกๆ ด้าน แต่ไม่เคยได้รับการตอบสนองความต้องการของชุมชน ประกอบกับการทำงานที่ผ่านมา ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคมซึ่งเป็นผู้กำกับดูงานด้านการฝึกอาชีพ ด้านการสงเคราะห์ต่างๆ ด้านเด็กและเยาวชน ด้านเงินอุดหนุนชุมชนจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รวมไปถึงการประชุมอบรมทุกเรื่อง แต่ผู้ฟ้องคดีไม่เคยเข้าร่วมประชุมในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนทุกๆ แขวง แม้แต่ครั้งเดียว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้มีคำสั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ๑๖๐๔/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๗ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้น ซึ่งจากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงมีมูลตามที่ประธานชุมชนร้องเรียน ถ้าให้ผู้ฟ้องคดีคงอยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไปอาจเกิดการเสียหายแก่ราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงขอความเห็นชอบไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีประจำเทศบาลดังกล่าว ตามคำสั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ๒๑๙๓/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๗ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า  ผู้ฟ้องคดีมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงฐานไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการ และฐานละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ฟ้องคดีตามคำสั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ๔๕๒/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๕ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๕ และมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับข้อ ๒๓ ของประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ ในการดำเนินการสอบสวนทางวินัย คณะกรรมการสอบสวนได้แจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบตามบันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหา (แบบ สว. ๒) ลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๕ และได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบตามบันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา (แบบ สว. ๓) ลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๕ โดยให้โอกาสผู้ฟ้องคดีชี้แจง ให้ถ้อยคำแก้ข้อกล่าวหาตลอดจนนำสืบแก้ข้อกล่าวหา และได้สอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติมตามที่ผู้ฟ้องคดีอ้างเป็นพยานด้วยแล้ว ต่อมาเมื่อคณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนแล้วเสร็จ ได้เสนอรายงานผลการสอบสวนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยมีความเห็นว่าพฤติการณ์และการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำผิดวินัยฐานไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการ อันเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ตามมาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙ สมควรได้รับโทษตัดเงินเดือนร้อยละ ๕ เป็นเวลา ๑ เดือน แต่เนื่องจากการกระทำของผู้ฟ้องคดีไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ และในระหว่างที่ป่วยผู้ฟ้องคดีได้กระทำการ
ที่เป็นประโยชน์ต่อราชการ และปฏิบัติราชการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถลบล้างความผิดได้ แต่ก็เป็นเหตุบรรเทาโทษทั้งจากการตรวจสอบประวัติการรับราชการของผู้ฟ้องคดีแล้ว ไม่ปรากฏว่าเคยกระทำผิดวินัยมาก่อน คณะกรรมการสอบสวนจึงมีความเห็นควรลงโทษภาคทัณฑ์ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาแล้วเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๕ และมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับข้อ ๖๙ และข้อ ๑๗๒ ของประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ มีคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ผู้ฟ้องคดีตามคำสั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ๑๒๗๓/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕ กรณีจึงฟังว่า การดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประกอบกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานเทศบาลสามัญ
สังกัดเทศบาลนครเชียงใหม่ ผู้ฟ้องคดีจึงอยู่ในบังคับที่จะต้องยึดถือและปฏิบัติตามระเบียบ ก.ท. ว่าด้วยการลาของพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นระเบียบที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องการลาป่วยของพนักงานเทศบาลไว้ โดยเมื่อผู้ฟ้องคดีป่วย ก่อนป่วยหรือในระหว่างที่ป่วยผู้ฟ้องคดีจะต้องยื่นใบลาต่อผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีตามลำดับชั้นจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต แต่หากผู้ฟ้องคดีมีความจำเป็นไม่สามารถยื่นใบลาป่วยในช่วงระยะดังกล่าวได้ เมื่อผู้ฟ้องคดีหายจากอาการป่วย และสามารถกลับมาปฏิบัติราชการได้ตามปกติแล้ว ผู้ฟ้องคดีจะต้องยื่นเอกสารการลาป่วยในวันแรกที่ผู้ฟ้องคดีมาปฏิบัติราชการ แต่ในกรณีของผู้ฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง เข้ารับการรักษาในฐานะผู้ป่วยใน ณ โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๔ รวม ๘ วัน ผู้ฟ้องคดีกลับไม่ดำเนินการยื่นเอกสารการลาป่วยตามวันดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจอนุญาตแต่อย่างใด อีกทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า ในระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีป่วยนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ ผู้ฟ้องคดีได้ลงลายมือชื่อในสมุดบัญชีลงเวลาการปฏิบัติราชการของพนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ เฉพาะวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๔ สำหรับวันที่ ๒๔ ถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๔ รวม ๕ วัน เว้นวันที่ ๒๕ และวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๔ ที่เป็นวันหยุดราชการ ผู้ฟ้องคดีได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กองสวัสดิการสังคมซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชานำสมุดบัญชี
ลงเวลาการปฏิบัติราชการของพนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ไปให้ผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อ
ที่โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งพฤติการณ์และการกระทำดังกล่าว นอกจากจะเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติไม่ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมปฏิบัติของทางราชการแล้ว ยังแสดงให้เห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีมีเจตนาจงใจไม่ถือปฏิบัติตามระเบียบ ก.ท. ว่าด้วยการลาของพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๓๕ อย่างชัดแจ้ง กรณีจึงถือได้ว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำผิดวินัยฐานไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการตามมาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙ อันเป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ซึ่งระดับโทษทางวินัยสูงสุดที่ผู้ฟ้องคดีพึงจะได้รับในกรณีนี้คือ ลดขั้นเงินเดือน แต่เนื่องจากการกระทำของผู้ฟ้องคดีไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ และในระหว่างที่ป่วยผู้ฟ้องคดีได้กระทำการที่เป็นประโยชน์ต่อราชการ และได้ปฏิบัติราชการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถลบล้างความผิดได้ แต่ก็เป็นเหตุบรรเทาโทษ ทั้งจากการตรวจสอบประวัติการรับราชการของผู้ฟ้องคดีแล้ว ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีเคยกระทำผิดวินัยมาก่อน จึงได้รับการลดหย่อนเป็นลงโทษภาคทัณฑ์ ซึ่งเป็นการให้ความเป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดีตามสมควรแก่กรณีแล้ว  ดังนั้น จึงเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ๑๒๗๓/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕ ลงโทษภาคทัณฑ์ผู้ฟ้องคดี เป็นการใช้ดุลพินิจสั่งลงโทษที่ถูกต้อง เหมาะสมกับพฤติการณ์การกระทำของผู้ฟ้องคดี คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบ
ด้วยกฎหมายแล้ว
               ในส่วนประเด็นที่ว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ใช้เวลาพิจารณาเรื่องอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีนานถึง ๑ ปี ๑๐ เดือน ซึ่งเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ตามข้อ ๑๑๓ ของประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นโมฆะ นั้น เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีแล้วในคราวประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗ โดยมีมติยกอุทธรณ์ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งมีขึ้นภายหลังจากเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎหมายไปแล้ว เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ก่อให้เกิดผลในทางกฎหมาย มติดังกล่าว
จึงย่อมมีผลบังคับผูกพันอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามที่กฎหมายกำหนด และย่อมมีผลผูกพันกับผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์ โดยเมื่อปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี มติดังกล่าวจึงมีผลกระทบต่อสถานภาพแห่งสิทธิของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ อยู่ภายใต้อำนาจการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของศาลปกครอง  นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว ยังเป็นการก่อตั้งสิทธิของผู้ฟ้องคดีในการยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอีกด้วย  ดังนั้น มติดังกล่าวจึงหาได้เป็นโมฆะดังที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างไม่ และเมื่อคดีนี้ได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่สั่งลงโทษทางวินัยภาคทัณฑ์ผู้ฟ้องคดี เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับเมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ชอบ
ด้วยกฎหมายในประการอื่น จึงเห็นว่ามติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี เป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วเช่นกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ๑๒๗๓/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕ ลงโทษภาคทัณฑ์ผู้ฟ้องคดี และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้องผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า  ในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ ณ สำนักงานเทศบาล เป็นปกติ ต่อมาเวลาประมาณ ๑๔.๐๐ นาฬิกา ผู้ฟ้องคดีมีอาการวิงเวียนศีรษะและปวดหลัง จึงได้เดินทางไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งสังกัดสำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครเชียงใหม่ และแพทย์ได้ทำการตรวจรักษาแล้วพบว่าผู้ฟ้องคดีมีความดันโลหิตสูงกว่าปกติและแนะนำให้ผู้ฟ้องคดีนอนพักในโรงพยาบาลเพื่อดูอาการและอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด จึงทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องนอนพักอยู่ในโรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๔ จนถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๔ รวม ๘ วัน เพื่อรอฟังผลการตรวจ แต่เนื่องจากนับแต่วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๔ เป็นต้นมานั้น ได้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ขึ้นในพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำหน้าที่จัดเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจนกว่าภาวะน้ำท่วมจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน ๒๕๔๔  ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงมิได้ยื่นใบลาป่วยในระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเนื่องจากมีความสำนึกในหน้าที่และไม่ประสงค์ที่จะให้ผู้ประสบอุทกภัยซึ่งเป็นชาวบ้านต้องเดือดร้อนจึงยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ตลอดมาโดยได้แจ้งให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำเอกสารต่างๆ ไปให้ตรวจลงนามอนุมัติและสมุดลงเวลาทำงานไปให้ผู้ฟ้องคดีลงนามที่โรงพยาบาลดังกล่าวในฐานะความสำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ราชการ ตามมาตรา ๘๓ และมาตรา ๙๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕  ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงยังคงปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีเสมอมาโดยมิได้ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใดไม่ แม้จะเป็นการนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลก็ตาม ทั้งนี้มิได้มีระเบียบหรือคำสั่งห้ามใดๆ ที่จะให้ผู้ฟ้องคดีจะต้องทำงานในห้องทำงานแต่เพียงอย่างเดียวหรือห้ามมิให้ออกทำงานนอกสถานที่แต่อย่างใดไม่ การปฏิบัติของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวจึงยังถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่ ทั้งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวก็สามารถเสร็จลุล่วงไปเป็นผลสำเร็จประกอบกับมิได้ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ทางราชการแต่อย่างใด การปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวก็เป็นที่ทราบของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยผู้ฟ้องคดีมิได้ปิดบังซ่อนเร้นใดๆ รวมตลอดถึงเทศมนตรี ปลัดเทศบาล ก็ทราบอาการป่วยตลอดมา แม้แต่พนักงานและลูกจ้างในกองสวัสดิการสังคมที่ผู้ฟ้องคดีบังคับบัญชาอยู่ก็ทราบดีและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยดีตลอดมาจนกระทั่งผู้ฟ้องคดีออกจากโรงพยาบาล โดยมิได้มีผู้ใดทักท้วงว่าไม่ถูกต้องและไม่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการแต่อย่างใดไม่ การลงนามอนุมัติและฎีกาเบิกเงินต่างๆ ก็ถูกต้องเป็นไปตามขั้นตอนของทางราชการทั้งสิ้นโดยเทศมนตรีและปลัดเทศบาล
ก็ได้ลงนามอนุมัติตามขั้นตอนถูกต้อง อันแสดงให้เห็นว่าผู้ฟ้องคดียังปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยความถูกต้อง อีกทั้ง กรณีของผู้ฟ้องคดีนี้ได้ทำการชี้แจงมาแต่ต้นแล้วว่ามิได้ประสงค์จะลาป่วยแต่เนื่องจากเหตุสุดวิสัยมีอาการวิงเวียนศีรษะจึงได้ไปตรวจ และแพทย์มีความเห็นให้รอดูอาการ แต่ด้วยสำนึกในหน้าที่ราชการซึ่งจะต้องอุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการ ประกอบกับได้เกิดอุทกภัยขึ้นในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ และผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังที่ได้กราบเรียนมาข้างต้น ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ประสงค์ที่จะลาป่วยและได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อเนื่องไป แม้กระทั่งอยู่ในระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาลก็ตาม เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ประสงค์ที่จะลาป่วยและยังคงปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่ก็จึงไม่จำต้องยื่นใบลาป่วยต่อผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๑๗ วรรคหนึ่ง ของระเบียบ ก.ท. ว่าด้วยการลาของพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๓๕ การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงมิได้เป็นการกระทำผิดวินัยตามที่ถูกกล่าวหา และคำสั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ๑๒๗๓/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕ ลงโทษภาคทัณฑ์ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ส่วนในเรื่องการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลนั้นก็เป็นเรื่องการตรวจรักษาจริงและเป็นการตั้งเบิกเงินของทางโรงพยาบาลเบิกต่อหน่วยงานของผู้ฟ้องคดีกันเองมิใช่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เบิกเงินดังกล่าวมาด้วยตนเองจึงจะเป็นการเบียดบังยักยอกทรัพย์ของทางราชการแต่อย่างใดไม่  ประเด็นต่อมาที่ว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้น ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๕ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีหนังสือที่ มท ๐๘๒๗.๔/๓๔๘ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๗ ถึงผู้ฟ้องคดี โดยแจ้งว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ประชุมในครั้งที่ ๗/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗ มีมติให้ยกอุทธรณ์ซึ่งเมื่อนับระยะเวลาจากที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๕ จนถึงวันที่ประชุมมีมติวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗ เป็นเวลานานถึง ๑ ปี ๑๐ เดือน อันเป็นการประวิงเวลาให้เนิ่นนานเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายและเกินกว่าระยะเวลาตามระเบียบที่ได้กำหนดไว้ ในเมื่อกฎหมายได้กำหนดกรอบเวลาไว้ชัดเจนแล้วหากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ปฏิบัติตามอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยย่อมหมดไป ทั้งนี้ หากมีการกลั่นแกล้งถ่วงเวลาการพิจารณาให้เนิ่นนานออกไปผลเสียก็จะต้องตกอยู่กับผู้ฟ้องคดีแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยจะไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณา
เลื่อนขั้นใดๆ และเป็นผู้มีมลทินอยู่ตลอดไปตราบเท่าที่ยังไม่มีการพิจารณาวินิจฉัยหนังสืออุทธรณ์ดังกล่าว  ดังนั้น มติและคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่ได้กำหนดไว้ มติดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดได้โปรดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้เพิกถอนคำสั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ๑๒๗๓/๒๕๔๕ เรื่อง ลงโทษภาคทัณฑ์ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕ และให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี
             ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แก้อุทธรณ์โดยยืนยันตามคำให้การเดิมที่ได้ยื่นต่อศาลปกครองชั้นต้นไว้แล้ว
             ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แก้อุทธรณ์ว่า  จากข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ จริง ในฐานะผู้ป่วยใน โดยได้เข้ารับการรักษาพยาบาลตั้งแต่วันที่ ๒๓ ถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๔ แต่ผู้ฟ้องคดีได้อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำหน้าที่จัดเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจนกว่าน้ำท่วมจะสิ้นสุดลง  ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงมิได้ยื่นใบลาป่วยในระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล โดยได้แจ้งให้ผู้ใต้บังคับบัญชา
นำเอกสารต่างๆ ไปให้ตรวจลงนามอนุมัติ และสมุดลงเวลาทำงานไปให้ผู้ฟ้องคดีลงนาม
ที่โรงพยาบาล นั้น กรณีนี้จะเห็นได้ว่า โดยปกติลักษณะของงานจัดเตรียมเครื่องอุปโภค บริโภคสำหรับแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น ผู้ปฏิบัติหน้าที่น่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่
ณ บริเวณสถานที่ที่จัดเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคดังกล่าว เพื่อใกล้ชิดกับสถานการณ์
แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการเนื่องจากมีอาการป่วย โดยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานที่ที่จัดเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคดังกล่าว ตามปกติของธรรมเนียมปฏิบัติของทางราชการนั้น ผู้ฟ้องคดีน่าจะต้องมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดรักษาราชการแทน เพื่อให้งานดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และกรณีนี้ผู้ฟ้องคดีได้ยอมรับว่า ในระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่ ณ โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ นั้น ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นผู้นำเอกสารต่างๆ ตลอดจนสมุดลงเวลาไปให้ผู้ฟ้องคดีลงนาม กรณีนี้น่าจะถือได้ว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว เนื่องจากเป็นการไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการ เพราะตามระเบียบของทางราชการที่ได้ถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานนั้น เมื่อผู้ใดป่วยก็ต้องมีการลาป่วย โดยให้เสนอหรือจัดส่งใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการ แต่ผู้ฟ้องคดีหาได้ปฏิบัติตามไม่ และแม้จะไม่มีระเบียบหรือคำสั่งใดๆ ที่จะให้ผู้ฟ้องคดีจะต้องทำงานในห้องทำงานแต่เพียงอย่างเดียว และห้ามมิให้ออกทำงานนอกสถานที่แต่อย่างใด แต่กรณีนี้ถือได้ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ได้ประพฤติปฏิบัติมาเป็นเวลานาน
ว่าเมื่อผู้ใดป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ผู้นั้นน่าจะไม่ใช่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในขณะนั้น และตามความรู้สึกนึกคิดของวิญญูชน โดยทั่วไปและข้าราชการโดยรวม น่าจะทราบดีอยู่แล้วว่าตนอยู่ในภาวะเช่นใด จะต้องประพฤติปฏิบัติตนอย่างไร อีกทั้งการลาป่วยในฐานะผู้ป่วยในนั้น ตามปกติแล้วเมื่อผู้ใดผู้หนึ่งเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน ผู้นั้นมักจะขอให้ทางโรงพยาบาลนั้นๆ ออกหนังสือส่งตัว เพื่อจะได้แจ้งให้ต้นสังกัดทราบ และเพื่อให้ทางโรงพยาบาลนั้นๆ เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากต้นสังกัดโดยตรง โดยตนเองมิต้องทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนแต่อย่างใด และคำว่า “โรงพยาบาล” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมายถึง สถานที่ให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย คือ ทั้งตรวจ รักษาและป้องกันโรคให้แก่ประชาชน และมีเตียงสำหรับคนไข้เข้าพักรักษาตัวด้วย เมื่อพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่ามีการขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด คือ มีกรณีที่ข้าราชการผู้หนึ่งป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน แต่ไม่มีการลาป่วย และยังถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่ในระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่ ณ โรงพยาบาล ด้วยนั้น กรณีเช่นนี้จึงไม่เป็นการสมเหตุสมผล ข้าราชการย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องรักษา “วินัย” อย่างเคร่งครัด หากเมื่อใดที่ประพฤติหรือปฏิบัติฝ่าฝืน “วินัย” แล้ว จักต้องได้รับโทษตามสมควรแก่กรณี การที่ผู้ฟ้องคดีได้ฝ่าฝืนข้อห้ามหรือข้อปฏิบัติ และได้รับโทษ จึงเป็นการสมควรแก่เหตุแล้ว การที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า การกระทำดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทางราชการ นั้น เห็นว่า แม้จะมิได้ก่อความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทางราชการ แต่ก็อาจก่อความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อระบบการบริหารงานบุคคลของเทศบาลเชียงใหม่  การที่ผู้ฟ้องคดีเข้ารับการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน ณ โรงพยาบาล เป็นเวลาถึง ๘ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒๓ ถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๐ (ที่ถูกคือ ๒๕๔๔) นั้น แสดงให้เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ป่วยที่จำต้องเข้ารับการรักษาอาการป่วยดังกล่าวและพักฟื้น ณ โรงพยาบาล ซึ่งการเข้ารับการรักษาดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถที่จะมาปฏิบัติราชการตามปกติได้ ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงต้องปฏิบัติตามระเบียบ ก.ท. ว่าด้วยการลาของพนักงานเทศบาล
พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๑๗ วรรคหนึ่ง ที่จะต้องเสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชา ผู้ฟ้องคดี
จะกล่าวอ้างว่าผู้ฟ้องคดีไม่ประสงค์จะลาป่วย จึงไม่จำต้องส่งใบลามิได้ เนื่องจากในขณะนั้นผู้ฟ้องคดียังอยู่ที่โรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการป่วยอยู่ เมื่อผู้ฟ้องคดีเองทราบเป็นอย่างดีว่า
ผู้ฟ้องคดีป่วย แล้วจะอ้างว่าไม่ประสงค์จะลาป่วยได้อย่างไร คำกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดี
เป็นเพียงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและตีความเข้าข้างตนเอง จึงไม่มีเหตุเพียงพอและ
รับฟังมิได้  ดังนั้น เมื่อระเบียบ ก.ท. ว่าด้วยการลาของพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๓๕
เป็นระเบียบของทางราชการที่ออกโดยอาศัยอำนาจของคณะรัฐมนตรี ข้าราชการจึงต้องยึดถือตามระเบียบดังกล่าว การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวด้วยการไม่ยื่นใบลาป่วย ย่อมเป็นการผิดวินัยและอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงได้

         ศาลปกครองสูงสุดออกนั่งพิจารณาคดี โดยได้รับฟังสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวน และคำชี้แจงด้วยวาจาประกอบคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดี
        ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดี กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว
        ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  ผู้ฟ้องคดีรับราชการเป็นพนักงานเทศบาลสามัญเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม (นักบริหารงานสวัสดิการสังคม ๗) ประจำกองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครเชียงใหม่ มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยฐานไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบและธรรมเนียมของทางราชการ และฐานละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ อันเป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ตามมาตรา ๙๑ และมาตรา ๙๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยมีเหตุสืบเนื่องมาจากได้มีผู้ร้องเรียนว่าผู้ฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่เทศบาลนครเชียงใหม่มีพฤติการณ์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จังหวัดเชียงใหม่จึงได้มีคำสั่งที่ ๒๗๕๐/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจากผลการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏมีมูลว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
หลายประการ กล่าวคือ ผู้ฟ้องคดีป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเข้ารับการรักษาในฐานะผู้ป่วยใน ณ โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๔ จนถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๔ รวม ๘ วัน โดยไม่ปรากฏเอกสารการลาป่วยตามวันดังกล่าวแต่อย่างใด และในระหว่างที่ป่วย ผู้ฟ้องคดีได้ลงลายมือชื่อในสมุดบัญชีลงเวลาการปฏิบัติราชการของพนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ เฉพาะวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๔ สำหรับวันที่ ๒๔ถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๔ รวม ๕ วัน เว้นวันที่ ๒๕ และวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ มีเจ้าหน้าที่กองสวัสดิการสังคมนำสมุดบัญชีลงเวลาการปฏิบัติราชการของพนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่และเอกสารราชการอื่นๆ ไปให้ผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อในขณะที่ผู้ฟ้องคดีนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีในลักษณะดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบธรรมเนียมของทางราชการ และเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดวินัยฐานละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ จึงรายงานผล
การตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อจังหวัดเชียงใหม่ โดยเห็นควรแจ้งให้เทศบาลนครเชียงใหม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ จังหวัดเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเห็นว่า พฤติการณ์และการกระทำของผู้ฟ้องคดีเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบและธรรมเนียมของทางราชการ และละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ ตามมาตรา ๙๑ และมาตรา ๙๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙ จึงมีหนังสือจังหวัดเชียงใหม่  ลับ ที่ ชม ๐๐๑๘.๒/๓๑๔ ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๕ แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้วรายงานผลการดำเนินการให้จังหวัดเชียงใหม่ทราบ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ๔๕๒/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๕ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ฟ้องคดี คณะกรรมการสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนโดยได้แจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบตามบันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหา (แบบ สว. ๒) ลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๕ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ให้ถ้อยคำ
ในเบื้องต้นว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีไม่เป็นความผิดวินัยตามข้อกล่าวหา และจะขอนำพยานบุคคลรวมทั้งพยานเอกสารมาชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา และได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ตามบันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา (แบบ สว. ๓) ลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๕ และให้โอกาสผู้ฟ้องคดีชี้แจงหรือให้ถ้อยคำแก้ข้อกล่าวหา ตลอดจนนำสืบแก้ข้อกล่าวหา และได้สอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติมตามที่ผู้ฟ้องคดีอ้างเป็นพยานด้วยแล้วต่อมา เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้วเสร็จ ผลการสอบสวนคณะกรรมการมีความเห็นว่า พฤติการณ์และการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำผิดวินัยฐานไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบธรรมเนียมของทางราชการ อันเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ตามมาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีกา
ระเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙ สมควรได้รับโทษตัดเงินเดือนร้อยละ ๕ เป็นเวลา ๑ เดือน แต่เนื่องจากการกระทำของผู้ฟ้องคดีไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ และในระหว่างที่ป่วยผู้ฟ้องคดีได้กระทำการที่เป็นประโยชน์ต่อราชการ เช่น ลงนามในเอกสารราชการต่างๆ และปฏิบัติราชการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถลบล้างความผิดได้ แต่ก็เป็นเหตุบรรเทาโทษ ทั้งจากการตรวจสอบประวัติการรับราชการของผู้ฟ้องคดีแล้ว ไม่ปรากฏว่าเคยกระทำผิดวินัยมาก่อน คณะกรรมการสอบสวนจึงมีความเห็นให้ลงโทษภาคทัณฑ์ผู้ฟ้องคดี โดยเสนอรายงานผลการสอบสวนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามรายงานการสอบสวน ลงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๕ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้พิจารณาแล้วเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนจึงมีคำสั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ๑๒๗๓/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕ ลงโทษภาคทัณฑ์ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามหนังสือลงวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๕ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗ มีมติให้ยกอุทธรณ์ และจังหวัดเชียงใหม่ได้มีหนังสือจังหวัดเชียงใหม่ ลับ ที่ มท ๐๘๒๗.๔/๓๔๘ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๗ แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ลงโทษภาคทัณฑ์ผู้ฟ้องคดี ตามคำสั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ๑๒๗๓/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕ และเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี
           คดีนี้มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ๑๒๗๓/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕ ลงโทษภาคทัณฑ์ผู้ฟ้องคดี และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยมีมติสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี นั้น เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า  ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๓๘ บัญญัติว่า ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับแก่พนักงานเทศบาลโดยอนุโลม โดยให้ ก.ท. กำหนดตำแหน่ง การแต่งตั้ง การให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของพนักงานครูเทศบาลให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครู ทั้งนี้ เว้นแต่ในพระราชกฤษฎีกานี้จะได้บัญญัติไว้ไว้เป็นอย่างอื่น  ซึ่งตามมาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องถือและปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการและจรรยาบรรณของข้าราชการพลเรือนตามข้อบังคับที่ ก.พ. กำหนด  และตามข้อ ๑๗ วรรคหนึ่ง ของระเบียบ ก.ท. ว่าด้วยการลาของพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดว่า พนักงานเทศบาลซึ่งประสงค์จะลาป่วยเพื่อรักษาตัว ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตก่อนในวันที่ลา เว้นแต่กรณีจำเป็นจะเสนอหรือจัดส่งใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการก็ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า  ในการปฏิบัติราชการโดยปกติทั่วไป ข้าราชการต้องมาปฏิบัติราชการยังสถานที่ปฏิบัติราชการของหน่วยงานนั้นๆ และเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้มาปฏิบัติราชการจึงได้มีระเบียบและธรรมเนียมปฏิบัติให้ข้าราชการลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ณ สถานที่ปฏิบัติราชการเป็นประจำทุกวัน ในกรณีของผู้ฟ้องคดี ข้อเท็จจริงเป็นที่ยอมรับแล้วว่า ผู้ฟ้องคดีป่วยเข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาล แต่เพื่อสร้างหลักฐานว่ามาปฏิบัติราชการจึงได้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำสมุดลงลายมือชื่อมาให้ผู้ฟ้องคดีลงนาม ณ สถานพยาบาล โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่ามีงานเร่งด่วนต้องปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมจึงต้องกระทำการเช่นนั้น ศาลเห็นว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ฟ้องคดีเองจะได้ไม่ต้องเสียวันลาซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนของผู้ฟ้องคดี และในฐานะที่ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการระดับบริหารที่ต้องปกครองดูแลผู้ใต้บังคับบัญชายิ่งเป็นการไม่สมควรที่จะประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ที่จะให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเอาเยี่ยงอย่าง  นอกจากนี้ การที่ผู้ฟ้องคดีป่วยก็มีระเบียบกฎหมายอยู่แล้วที่จะต้องมีผู้ปฏิบัติราชการแทนหรือรักษาราชการแทน อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจรับฟังได้  ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กองสวัสดิการสังคมซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีนำสมุดบัญชีลงเวลาการปฏิบัติราชการของพนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ไปให้ผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อที่โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ ในระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีพักรักษาตัวเป็นระยะเวลารวม ๕ วัน ซึ่งเป็นวันเปิดทำการของราชการโดยไม่ยื่นใบลาป่วยตามข้อ ๑๗ วรรคหนึ่ง ของระเบียบ ก.ท. ว่าด้วยการลาของพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติไม่ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมปฏิบัติของทางราชการ และจงใจไม่ปฏิบัติตามข้อ ๑๗ วรรคหนึ่ง ของระเบียบ ก.ท. ว่าด้วยการลาของพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๓๕ กรณีจึงถือได้ว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำผิดวินัยฐานไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการอันเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงตามมาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบกับมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๓๘ ซึ่งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ๑๒๗๓/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕
ลงโทษภาคทัณฑ์ผู้ฟ้องคดี ก็เป็นโทษสถานเบาอยู่แล้ว คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีอีกต่อไป การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องของผู้ฟ้องคดีนั้น ชอบแล้ว
พิพากษายืน

นายหัสวุฒิ  วิฑิตวิริยกุล                                                     ตุลาการเจ้าของสำนวน
ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด

นายไพบูลย์  เสียงก้อง
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

นายนพดล  เฮงเจริญ
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

นายวรวิทย์  กังศศิเทียม
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

นายวราวุธ  ศิริยุทธ์วัฒนา
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

                                                         ตุลาการผู้แถลงคดี : นายไชยเดช  ตันติเวสส

1 ความคิดเห็น:

  1. ประเด็นที่น่าสนใจ

    ๑. "ในการปฏิบัติราชการโดยปกติทั่วไป ข้าราชการต้องมาปฏิบัติราชการยังสถานที่ปฏิบัติราชการของหน่วยงานนั้นๆ และเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้มาปฏิบัติราชการจึงได้มีระเบียบและธรรมเนียมปฏิบัติให้ข้าราชการลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ณ สถานที่ปฏิบัติราชการเป็นประจำทุกวัน" ประเด็นนี้เป็นอุทธาหรณ์สำหรับผู้ที่มาปฏิบัติราชการแต่ไม่ค่อยยอมลงชื่อในสมุดลงเวลา โดยเแพาะผู้ที่ทำตัวเป็นนายๆทั้งหลาย ระวังนะครับ ไม่มีระเบียบยกเว้นไว้ว่าท่านไม่ต้องลงชื่อทำงาน ระวังจะ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ
    ๒."พนักงานเทศบาลซึ่งประสงค์จะลาป่วยเพื่อรักษาตัว ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตก่อนในวันที่ลา เว้นแต่กรณีจำเป็นจะเสนอหรือจัดส่งใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการก็ได้"

    ตอบลบ