วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

บิ๊กตู่สั่งมท.แปรญัตติเพิ่มเงินอปท.

บิ๊กตู่สั่งมท.แปรญัตติเพิ่มเงินอปท.  

มติชน  ฉบับวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๙

          รัฐบาล พยายามแก้ไขปัญหาสำนักงบประมาณตัดงบประมาณในส่วนเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในปีงบประมาณ 2560 เป็นวงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้สมาคมและผู้บริหาร อปท.ต่างๆ เรียกร้องให้จัดสรรเงินเพิ่มเติม เนื่องจากจะเป็นอุปสรรคต่อการให้บริการและการบริหารท้องถิ่นอย่างมาก โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีดังกล่าว ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ วันที่ 5 กรกฎาคม ว่า ความจริงแล้วที่มีการพิจารณาในชั้นต้น ปกติต้องจัดสรรงบประมาณให้แก่ อปท.ปีละ 35% ของวงเงินงบประมาณ แต่ไม่สามารถจัดสรรได้ครบเพราะรายได้ประเทศน้อยลง จึงมองเรื่องการปรับภาษีโรงเรือนที่ไม่เคยปรับมานานแล้ว ซึ่งคาดว่า อปท.จะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 4 หมื่นล้านบาท จึงพิจารณาว่าในช่วงนี้ให้ปรับลดไปก่อน แต่เพื่อความสบายใจ จะให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ไปหารือว่าจะแปรญัตติอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ แต่คงต้องสอดคล้องกับเม็ดเงินที่จะเพิ่มขึ้นมาในวันหน้าด้วย "ขอให้ อปท.สบายใจ ต้องช่วยกันหารือ ถ้ามีปัญหาอะไร ก็พูดกันในช่องทาง ผมก็ดูให้หมด" นายกฯกล่าว
          ด้านนายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเงินอุดหนุนเฉพาะกิจมีวัตถุประสงค์ เพื่อเติมเต็มให้เฉพาะ อปท.ที่มีรายได้น้อย ให้มีการพัฒนาที่สมดุล ให้บริการอย่างทั่วถึง เทียบเท่ากับ อปท.ขนาดใหญ่ที่มีงบประมาณจำนวนมาก แต่ในข้อเท็จจริงที่ผ่านมาพบว่าการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ จะได้รับการจัดสรรเฉพาะ อปท.ที่ผู้บริหารมีเส้นสาย มีการวิ่งเต้น ส่วนใหญ่ได้รับเฉพาะ อปท.พื้นที่ที่มีความเจริญแล้ว มีรายได้ มาก ขณะที่ อปท.ขนาดเล็กในชนบทจะไม่ได้รับงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจดังกล่าวมากนัก
          "ที่ ผ่านมา หลายฝ่ายเรียกร้องให้ตัดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ แต่ให้รัฐบาลนำมาจัดสรรเพิ่มในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปแทน โดยเฉพาะนำมาเติมในส่วนที่เป็นภารกิจการจัดการด้านการศึกษา เช่น การพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก เนื่องจากสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ ท้องถิ่นเน้นภารกิจด้านการศึกษามากกว่าการนำงบประมาณไปพัฒนาโครงสร้างพื้น ฐาน" นาย ศักดิพงศ์กล่าว
          นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า การตัดงบประมาณของ อปท.เป็นเรื่องปกติ ทำให้ที่ผ่านมามีข้อเรียกร้องของสมาคมผู้บริหาร อปท. ขอให้รัฐบาลกลางจัดสรรงบให้เพียงพอกับภารกิจตามอำนาจหน้าที่ ประเมินว่าทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่มาจากการใช้อำนาจ พิเศษ ไม่ได้สนใจแนวทางในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ อปท.เท่าที่ควร ทั้งที่การกระจายอำนาจในประเทศที่พัฒนาแล้วมีการใช้กลไกลของท้องถิ่นซึ่ง ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนในฐานะตัวแทนของรัฐบาลกลาง ดังนั้น สังคมควรได้รับทราบว่าการตัดงบเกิดจากสาเหตุใดบ้าง ใช้หลักการและเหตุผลอย่างไร เพราะประชาชนจะได้รับผลกระทบโดยตรงหากสัดส่วนงบ อปท.ลดลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น