วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560

บทความพิเศษ: จับกระแสท้องถิ่นสุดท้าย 2560 ตอนที่ 1: แนวคิดการทำงาน

บทความพิเศษ: จับกระแสท้องถิ่นสุดท้าย 2560 ตอนที่ 1: แนวคิดการทำงาน
สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๐

          ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย
          เป็นเรื่องจริงตามสำนักข่าว Voice TV ว่า นับจากปี 2557 ยุค "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ คสช.ประเทศไทยมีต้นทุนเม็ดเงินในการปฏิรูปประเทศคิดจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)ที่สูงมากถึง 794 ล้าน แต่จากการสำรวจพบว่าในหลายประเด็นของการปฏิรูปประเทศกลับเป็นเรื่องเก่าๆ เดิมๆ ที่เป็นปัญหาทั่วไปที่พบเห็นกันมาตลอด ประหนึ่งว่าปัญหาเหล่านั้นได้ถึง "ทางตัน" มาแล้วในระดับหนึ่ง ที่จำเป็นต้องนำมาปัดฝุ่นและปฏิรูปเปลี่ยนแปลงหนึ่งในนั้นคงไม่พ้น "การปฏิรูปท้องถิ่น" อันเป็นหัวในของการปฏิรูปด้วยหลักที่ว่า "การปฏิรูปท้องถิ่นคือการปฏิรูประเทศ" ในท่ามกลางความสับสนอลหม่านของฝ่ายคู่กรณีที่มีส่วนได้เสียหลายกลุ่มหลายฝ่าย จึงเกิดกระแสต่อต้าน คัดค้าน ดึง ดัน กันมาตลอดในตลอดช่วงการปฏิรูปที่ผ่านมา หลายคนบ่นเสียดายเวลา 3 ปีที่ผ่านไป เรายังไม่ตกผลึกทางความคิด
          นอกจากนี้ในคำถาม 4 ข้อเมื่อ 26 พฤษภาคม 2560 ของนายกรัฐมนตรีที่ให้ประชาชนตอบเกี่ยวกับ "ธรรมาภิบาล" จากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น มีการหยอดคำถามเรื่อง "ยุทธศาสตร์" ไว้ด้วย เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก ประหนึ่งว่า เรากำลัง "รออัศวินขี่ม้าขาว มาแก้ปัญหาให้ประเทศใช่หรือไม่" ย้อนมาเก็บตกในส่วนของ "ท้องถิ่น" หรือ"องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" (อปท.) กันสักนิดแบบ "จับฉ่าย" นั่นนิดนี่หน่อย เพราะด้วยกรอบความคิดที่ยังไม่กระชับ ยังแตกกระจายหลากหลายอยู่ทั่วไป มาเริ่มสำรวจกันที่แนวคิดในการทำงาน
          ต้นเหตุปัญหาหลักที่เกิดบ่อยใน อปท. เท่านั้น
          ข้อสรุปไม่มีอะไรมาก ส่วนใหญ่ อปท. มีปัญหาความขัดแย้งกันในเรื่อง "ผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว" คำว่า "ผลประโยชน์" (Interest) ไม่ได้หมายเพียง "เงิน" แต่อย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงอย่างอื่นด้วย
          (1) ในตำแหน่งหน้าที่การงานด้วย โดยเฉพาะในการเมืองท้องถิ่น ตำแหน่งทางการเมืองที่ฝ่ายบริหารจัดสรร ในทางที่เอื้อผลประโยชน์ เช่น ตำแหน่งรองนายกฯ ที่ปรึกษาเลขาฯ และ ตำแหน่งของข้าราชการ "ฝ่ายประจำ" ที่ทำงานให้ฝ่ายการเมือง ที่ต้องมีขวัญและกำลังใจภายใต้ "ระบบความเป็นธรรม" หรือที่เรียกว่า "ระบบคุณธรรม" (Merit System) ในการบริหารงานบุคคล อาทิ การเลื่อนขั้น เลื่อนระดับ ปรับตำแหน่ง โอนย้าย ฯลฯ หากทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำเข้าใจกันด้วยดี ปัญหาการทำงานขับเคลื่อนนโยบายการปฏิบัติไปสู่ประชาชนก็จะไม่มี การแก้ไขก็ง่าย อันส่งผลต่อ "งานบริการสาธารณะ" ในหน้าที่ของ อปท. ที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนมีความพึงพอใจ และก่อให้เกิดการพัฒนาในภาพรวมนั่นเอง
          (2) ผลประโยชน์ในการดำเนิน "การจัดซื้อจัดจ้าง" หรือที่เรียกว่า "การพัสดุ"(Procurement) ที่ฝ่ายการเมืองมิได้ให้นโยบายฝ่ายประจำก็ไปดำเนินการให้สำเร็จ แต่ฝ่ายการเมืองกลับลงมาทำงานแทน หรือ "ล้วงลูก" ฝ่ายประจำ ในหลายกรณีเช่น จัดหา
          ผู้รับจ้างมาเองและต้องจ้างบริษัทนี้ด้วย ด้วยเกรงว่าหากให้ข้าราชการประจำ ฝ่ายพัสดุเข้าทำตามระเบียบฯ มันอาจจะไม่ได้รายนี้ก็ได้ อันเป็นการส่อผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งเป็นลักษณะของการกระทำการที่ "ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วน
          รวม" หรือ "การขัดกันแห่งผลประโยชน์" หรือ "ผลประโยชน์ทับซ้อน" (Conflict of Interests - COI)
          (3) ที่เป็นรากเหง้าของปัญหา "ตัวจริงเสียงจริง" คือ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน(Corruption) โดยเฉพาะในโครงการงบประมาณใหญ่ๆ ที่ฝ่ายการเมืองรับไป เล็กๆกระจิ๊บกระจ้อย เศษเสี้ยวแบ่งให้ฝ่ายประจำรับไป พร้อมกับมอบความเสี่ยงในตำแหน่งหน้าที่การงาน และ "คดีความแพ่งอาญา ละเมิดฯ" ไว้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ข้าราชการผู้ภักดีทั้งหลายด้วย เหตุนี้การพัฒนาระดับท้องถิ่นมันจึงไปไม่ถึงไหน เมื่อท้องถิ่นไม่พัฒนา
          แล้วประเทศมันจะพัฒนาไปได้อย่างไร เพราะหากคนทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำต่างคิดเพียงว่า "ฉันจะได้เท่าไร" แต่ไม่ได้คิดว่า "งานจะดีแค่ไหนหากฉันรับมาเท่านี้"
          (4) ในลำดับสุดท้ายที่สำคัญ ที่ต้องพูดถึงคือ ปัญหาด้านศีลธรรมจรรยา หรือที่เรียกว่า "จริยธรรมคุณธรรม" (Ethics) ระหว่างผู้บริหารกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายประจำ จนเป็นค่านิยมเป็นแฟชั่นไป การขาดสำนึกรับผิดชอบและคุณธรรมจริยธรรมในการทำงาน
          ในทุกรูปแบบทั้งการใช้ระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) แบบไร้ขอบเขต เมื่อได้เป็นนักการเมืองมีผลประโยชน์มีเงินมีตำแหน่ง การเหลิงอำนาจ ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ เด็กของนายมันมีมากเหลือเกิน สูญเสียเสียการปกครอง เปรียบเสมือน
          แมลงหวี่แมลงวันที่บินมาเกาะมาตอมของชอบ เละเทะไปหมด ประมาณนั้น
          ข้อคิดการทำงานของฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ
          อปท. เอาแค่ อบจ. อบต. เทศบาล รวมเมืองพัทยา (ที่จริงต้องรวมกรุงเทพมหานครด้วย) มีแค่ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายการเมืองท้องถิ่น และ ฝ่ายประจำหรือข้าราชการประจำตั้งแต่ ปลัด อปท. เรื่อยไปจนถึงนักการภารโรง และลูกจ้าง พนักงานจ้างทั้งหมดทีเดียว
          (1) ฝ่ายประจำทุกคนมีหน้าที่ทำงานตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายการเมือง และงานประจำที่ต้องทำเป็นปกติในสำนึกของความเป็นข้าราชการ การดูแลให้การ
          บริการประชาชนที่มาติดต่อในที่ทำงานหรือหน้าที่อย่างอื่นๆ ตามปกติทั้งหมด
          (2) ฝ่ายการเมืองที่มีระยะเวลาทำงานวาระแค่ 4 ปี ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายสภาท่านทั้งหลายเหล่านี้เข้ามาทำหน้าที่เมื่อลงเลือกตั้งได้รับชัยชนะในการแข่งขันลงเลือกตั้งทั่วไปที่มีระยะเวลาการทำหน้าที่เพียง 4 ปีเท่านั้น เมื่อหมดวาระก็ต้องเลือกตั้งใหม่ ปัญหา
          การบริหารงาน อปท. ย่อมจะต้องมีแน่นอน หากแต่จะมากหรือน้อยก็อยู่ที่องค์กรนั้นๆว่าตัวนายกฯ และทีมที่ปรึกษา ทีมบริหารจะวางแผนการทำงานได้ดีมีระบบที่ชัดเจนอย่างไร หากวางแผนไว้ดีและรู้ปัญหาท้องถิ่น ปัญหาก็จะมีน้อย ในการหาเสียงจะทำให้ได้
          รับรู้ปัญหา จึงสามารถวางแผนการทำงานได้ ส่วนปัญหาจุกจิกจิปาถะเป็นปัญหาปกติในการทำงานของคนหมู่มากอย่าไปใส่ใจ
          มาเริ่มต้นสำรวจและยอมรับในข้อสรุปความจริงเหล่านี้กัน เหมือนจิ้งจกทักก็ให้ฟังด้วย เพราะการรับฟังเสมือนเป็น "กระจกเงาส่องตัวเอง" ได้เป็นอย่างดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น