วันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: ข้อเสนอในโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของ อปท

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: ข้อเสนอในโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของ อปท.

สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๐

          รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
          ผมได้รับมอบหมายจากจังหวัดร้อยเอ็ด โดยท้องถิ่นจังหวัดร้อยเอ็ดให้ทำการประเมินโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) จังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปีพ.ศ.2558 ซึ่งคณะนักวิจัยได้ลงพื้นที่ภาคสนามทั้ง อปท.201 แห่ง เพื่อทำ
          การสำรวจตามแบบสำรวจ และนำข้อมูลในเชิงคุณภาพบางส่วนที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไว้จำนวนหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ครบทั้งหมดก็ตาม ซึ่งข้อมูลเชิงคุณภาพนี้จะช่วยเสริมข้อมูลเชิงปริมาณได้ดีซึ่งจะนำมาเป็นข้อเสนอเพื่อทบทวนและพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีการบริหารจัดการที่จะนำไปสู่การมีคุณธรรมและความโปร่งใสมากขึ้น ดังนี้
          1. การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและช่องทางในการเผยแพร่ จากการที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังคงมีทัศนคติที่ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของท้องถิ่นให้แก่ประชาชนนั้น ดังนั้นแล้ว ย่อมมีความจำเป็นที่ต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นให้ ไปถึงประชาชนให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจเป็นตัวชี้วัดในการประเมินการทำงาน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามปกติอยู่แล้วก็ตาม แต่เมื่อความเห็นของประชาชนออกมาเช่นนี้ นั่นย่อมหมายความว่าในทางปฏิบัติประชาชนยังเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงอาจจำเป็นต้องทบทวนถึงช่องทางที่ยังอาจมีความเหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่น เช่นยังอาจจำเป็นต้องใช้ช่องทางพื้นฐานแบบเดิมๆ อย่างเสียงตามสาย หรือการจัดเทศบาล หรือ อบต. เคลื่อนที่เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้บริหารหรือบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้พบปะและพูดคุยกับประชาชนให้มากยิ่งขึ้น หรืออาจต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ หากว่าประชาชนสามารถเข้าถึงได้ เป็นต้น
          2. การให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการบริหาร ตรวจสอบ และประเมินผลการทำงานของท้องถิ่น แม้ว่าโดยกฎหมาย ระเบียบ รวมถึงแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องจะได้มีการกำหนดให้ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารงานอยู่แล้วก็ตาม แต่เพื่อให้การบริหารงานของท้องถิ่นมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงอาจจำเป็นต้องดึงเครือข่ายภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น โดยการดึงเอาเครือข่ายภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนั้น อาจจำเป็นต้องทำมากกว่าที่กฎหมายหรือระเบียบที่กำหนดไว้เป็นภาคบังคับ เช่น ในบางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจมีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการบริหารงานของท้องถิ่น ในการดำเนินการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีการให้ค่าตอบแทน แต่อาจเน้นการให้เกียรติ หรือการยกย่องประชาชนที่มาร่วมในสภาที่ปรึกษาดังกล่าวเพื่อให้ผู้ที่มาเข้าร่วมรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนในกรณีของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ระเบียบ หรือกฎหมายได้บังคับไว้อยู่แล้ว กระบวนการการมีส่วนร่วมก็ควรต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นการดำเนินการแต่เพียงเฉพาะรูปแบบหรือในทางเอกสารเท่านั้น เช่น กระบวนการทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ความเห็นของประชาชนก็ควรต้องมีการนำมาเป็นหลักสำคัญในการจัดทำแผนอย่างจริงจัง
          สำหรับในประเด็นของการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและประเมินผลนั้น เนื่องจากประชาชนจำนวนหนึ่งยังมีทัศนคติที่มองว่า บุคลากรบางส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังขาดสำนึกที่ดีในการให้บริการแก่ประชาชนนั้น ดังนั้นแล้วเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อาจจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย ทั้งนี้ แต่เดิมที่ผ่านมา การประเมินความดีความชอบในการปฏิบัติงานของบุคลากรของท้องถิ่นอาจเป็นอำนาจหรือบทบาทหลักของผู้บริหาร แต่ทั้งนี้เพื่อทำให้บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลประชาชนได้ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องให้ภาคประชาชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประเมิน เช่น อาจมีการแบ่งค่าน้ำหนักการประเมินบางส่วนให้เป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานจากภาคประชาชน เป็นต้น ซึ่งแนวทางการดำเนินการที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติอาจต้องหารือและพิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป
          3. การปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากการที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ตอบแบบประเมินสำรวจมีความเห็นว่า บุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีจำนวนที่มากเกินความจำเป็น และในการคัดเลือกบุคลากรอาจมีแนวโน้มของการทุจริตดังนั้นแล้วจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนและปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อาจจำเป็นที่คณะกรรมการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับจังหวัดจะต้องมีการพิจารณากรอบอัตรากำลังของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความเหมาะสมและรอบคอบมากยิ่งขึ้น รวมทั้งอาจต้องมีการกำกับการจ้างเหมาบุคลากรเพื่อมาปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความรัดกุมเคร่งครัดโดยในการจ้างเหมาจะต้องเป็นการดำเนินการเท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น
          สำหรับในกระบวนการสอบคัดเลือก อาจจำเป็นต้องเป็นระบบที่มีการออกแบบเพื่อป้องกันการทุจริตในการสอบคัดเลือก หรือหากพบว่ามีการทุจริตแล้วอาจจำเป็นต้องมีบทลงโทษที่เฉียบขาดและรุนแรงทั้งในส่วนของบุคลากรที่มีอำนาจและเกี่ยวข้องในกระบวนการคัดเลือก และฝั่งของผู้สมัครสอบเอง โดยอาจจำเป็นต้องมีการดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมด้วย
          4.การอบรมและพัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากประชาชนมีทัศนคติว่าบุคลากรของท้องถิ่นจำนวนหนึ่งยังขาดจิตสำนึกในการให้บริการที่ดีแก่ประชาชนดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงอาจจำเป็นต้องมีการจัดการฝึกอบรมเพื่อปลูกฝังและพัฒนาจิตสำนึกในการให้บริการที่ดีต่อประชาชน โดยการฝึกอบรมนี้ควรจัดให้มีขึ้นอย่างสม่ำเสมอและให้เป็นลักษณะของภาคบังคับที่บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องผ่านหลักสูตรการฝึกอบรม การฝึกอบรมที่จัดขึ้นนี้ยังอาจรวมไปถึงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ และทักษะบางอย่างที่มีความจำเป็นต่อการปฏิบัติงานบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย ทั้งนี้การฝึกอบรมดังกล่าวอาจเป็นการจัดหลักสูตรร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัด ก็จะช่วยในการประหยัดค่าใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ด้วยทางหนึ่ง
          อย่างไรก็ดี การฝึกอบรมเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกและเพิ่มพูนความรู้ให้แก่บุคลากรที่กล่าวถึงนี้ ได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานที่ให้น้ำหนักกับภาคประชาชนเป็นผู้ประเมินด้วยแล้ว น่าจะมีส่วนช่วยทำให้บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน และมีสำนึกในการให้บริการแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น
          ผมเข้าใจว่า ข้อเสนอจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้น ทีมงานคณะนักวิจัยได้พยายามประมวล เพื่อทำเป็นข้อเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดร้อยเอ็ด ได้นำไปประยุกต์ใช้และนำไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง เพื่อเป็นประโยชน์ในการบริหารงานของท้องถิ่น ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้การประเมินนี้เกิดการสะท้อนกลับคืนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะนำไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเองต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น