วันจันทร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2560

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: ก้าวสู่ท้องถิ่นต้นแบบโปร่งใส

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: ก้าวสู่ท้องถิ่นต้นแบบโปร่งใส  

สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐

          รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
          ผมเข้าใจว่า "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" (อปท.) จำนวนไม่น้อยที่มีความพยายามทำให้ อปท.ของตนเอง "มีความโปร่งใส" และทำงานโดยใช้กระบวนการ "มีส่วนร่วมของประชาชน" ซึ่งกล่าวได้ว่าความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการท้องถิ่นที่ควรให้ทุก อปท.วางแนวทางส่งเสริมและพัฒนาที่ก่อให้เกิดเป็น "ต้นแบบ" ของความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน
          ผมเห็นว่า หลายๆ ท้องถิ่นมีความตระหนักและเห็นความสำคัญ โดยเฉพาะความต้องการเรียนรู้ "ต้นแบบ" เพื่อจะได้นำมาประยุกต์ใช้ใน อปท. ของตนเอง จึงขอเสนอแนวทางพัฒนา อปท. ให้เป็น อปท.ต้นแบบ ความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งพอจะเป็นตัวอย่างได้ดังนี้
          1) การบริหารจัดการ อปท. ที่ต้องให้ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และภาคประชาชนต้องกระทำดังนี้
          1.1) ผู้บริหารท้องถิ่น: ต้องมีมาตรฐานที่ต้องกระทำคือ
               (1) ผู้บริหาร อปท. ต้องเปิดเผยงบประมาณรายรับ-รายจ่ายของ อปท. ให้ประชาชนทราบ
               (2) ผู้บริหาร อปท. ต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการกิจกรรมที่ดำเนินการทุกโครงการในรอบปี
               (3) ผู้บริหาร อปท. ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง
               (4) ผู้บริหาร อปท. ต้องเปิดเผยข้อมูลแผนพัฒนาของอปท.ประจำปี และมีวิธีการแจ้งให้ประชาชนทราบ
               (5) ผู้บริหาร อปท. ต้องเปิดเผยข้อมูลข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
               (6) ผู้บริหาร อปท. ต้องเข้าฝึกอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งบริหาร อปท. หลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่ง
               (7) ผู้บริหาร อปท. ต้องรายงานผลการทำงานและรายงานประจำปีให้สภาท้องถิ่นและประชาชนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และให้จัดทำเป็นรายงานประจำปี
               (8) ผู้บริหาร อปท.จะต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการบริหารงานท้องถิ่น การจัดซื้อจัดจ้าง และการมีผลประโยชน์ทับซ้อน
          1.2) สภาท้องถิ่น : ต้องมีการกระทำ คือ
               (1) สภาท้องถิ่นต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการฟังการประชุมสภา
               (2) สภาท้องถิ่นต้องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสภา หรือการประชุมสภา โดยถ่ายทอดเสียงช่องทางใดช่องทางหนึ่ง หรือเผยแพร่การประชุมทางสื่อ วารสาร หนังสือพิมพ์ เป็นต้น
               (3) สภาท้องถิ่นต้องเปิดโอกาสให้มีการอภิปราย ยื่นญัตติ ตั้งกระทู้ถามอย่างใดอย่างหนึ่ง
               (4) สภาท้องถิ่นต้องจัดให้มีคณะกรรมการ กิจการสภาของ อปท. ทั้งสามัญและวิสามัญ โดยเฉพาะกิจการสภาวิสามัญ เปิดโอกาสให้ปราชญ์ชาวบ้านข้าราชการบำนาญ นักวิชาการท้องถิ่นร่วมเป็นกรรมการ
               (5) สภาท้องถิ่นต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
               (6) สภาท้องถิ่นต้องมีจรรยาบรรณ
          ของผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น
          1.3) องค์กรภาคประชาชน : ต้องมีการกระทำ คือ
               (1) การแต่งตั้งตัวแทนประชาคมเป็นกรรมการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น
               (2) การตั้งตัวแทนประชาคมเป็นกรรมการการจัดซื้อจัดจ้าง ตรวจรับงานจ้าง และได้ผ่านการให้ความรู้ ความเข้าใจในการจัดซื้อจัดจ้าง
               (3)อปท. ต้องส่งเสริมขีดความสามารถของประชาชนอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การจัดอบรมสัมมนา การจัดให้มีศูนย์เรียนรู้ และมีห้องสมุด เป็นต้น
               (4) อปท. ต้องปิดให้ประชาคมติดตามและประเมินผลงาน
               (5) อปท. มีกลุ่มองค์กรประชาชนในรูปอาสาสมัคร เพื่อป้องกันการทุจริตใน อปท.
          2) การบริหารจัดการ อปท. ที่ต้องใช้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ ดังนี้
          2.1) ส่งเสริมรูปแบบวิธีการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการเปิดพื้นที่ หรือเปิดเวทีให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารกิจการของ อปท. เช่น เวทีท้องถิ่นสัญจร เวทีประชุมประชาคม หรือเวทีลานความคิด เวทีส่งเสริมอาสาสมัครพลเมือง ให้ผู้อาวุโส นักปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิในชุมชน คอยเป็นหูเป็นตาหาแนวทางในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
          2.2) ส่งเสริมให้มีการเปิดช่องทางเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง เช่น การจัดให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมสภาท้องถิ่น เช่น วิทยุชุมชน ถ่ายทอดเสียงตามสาย หรือหอกระจายข่าว หรือช่องทางอื่นๆ ที่ประชาชนจะรับฟังได้ รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์การดำเนินโครงการกิจกรรมผ่านสื่อต่าง ๆ การปิดประกาศ หรือมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลงบประมาณ รายรับ-รายจ่าย ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างรวมทั้งข้อมูลอื่น ๆ ของ อปท. ผ่านทางสื่อเช่น แผ่นพับ วารสาร เป็นต้น
          2.3) ส่งเสริมกลุ่มภาคประชาชนและเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังป้องกันการทุจริตของ อปท. โดยให้ อปท. สำรวจกลุ่ม องค์กร พื้นที่ และจัดทำเนียบกลุ่ม/องค์กรประชาชนแยกประเภทบุคคลให้ชัดเจนโดยเฉพาะการค้นหาบุคคลที่เป็นผู้นำ หรือนักวิชาการท้องถิ่นครู อาจารย์ พระสงฆ์ ปราชญ์ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความสนใจให้เข้ามามีส่วนร่วมพิทักษ์ผลประโยชน์ของ อปท.
          3) การบริหารจัดการโดยให้ อปท. ส่งเสริมโครงการกิจกรรมต้นแบบส่งเสริมให้มีการจัดโครงการ/กิจกรรมเป็นต้นแบบในกระบวนการการเนินการจัดการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น โครงการมาตรการเพชรธรรมาภิบาล โครงการมาตรการโรงเรียนธรรมาภิบาล โครงการมาตรการธนาคารความดี ภายใต้เมนู ความดี คนดี มีส่วนร่วม สร้างความโปร่งใส ไร้ทุจริต และโครงการมาตรการองค์กรระบบเปิด (OPEN SYSTEM) โครงการ อปท. ใสสะอาด ซึ่งนับเป็นมาตรการที่ให้การบริหารจัดการขององค์กรเกิดความโปร่งใส จำเป็นที่จะต้องให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย เข้าถึงข้อมูลข่าวสารทั้งในระดับหมู่บ้านและระดับตำบล
          ผมเข้าใจว่า การจะก้าวสู่ท้องถิ่นต้นแบบโปร่งใส นอกจากการเรียนรู้จากแหล่งข้อมูล ประสบการณ์เรียนรู้จากแหล่งต่างๆ แล้วผู้บริหารท้องถิ่นและบุคลากรของท้องถิ่น ต้องร่วมคิดร่วมทำให้เกิดโครงการและกิจกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้เป็นต้นแบบหรือให้เป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะทำให้เป็นจุดเด่นของท้องถิ่นตนเองให้เห็นเป็นรูปธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น