วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2560

บทความพิเศษ: มหาดไทยต้องมีมาตรฐานในการกำกับดูแล อปท.ด้วยความสุจริตและโปร่งใส

บทความพิเศษ: มหาดไทยต้องมีมาตรฐานในการกำกับดูแล อปท.ด้วยความสุจริตและโปร่งใส  

ไทยโพสต์  ฉบับวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๐

          ถวิล ไพรสณฑ์
          หัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่งที่ 8/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 โดยอ้างเหตุผลว่า
          ปัจจุบันปัญหาการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ อบจ. เทศบาล และ อบต. มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจาก
          - การใช้ระบบอุปถัมภ์ในการสอบแข่งขัน การเลื่อนตำแหน่ง การโอน และการย้าย
          - มีการเรียกรับผลประโยชน์
          - ปรากฏปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น และกลุ่มผู้นำชุมชนในพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถโอนข้าราชการส่วนท้องถิ่นระหว่าง อปท. ตามหลักความสมัครใจได้
          จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยให้คณะกรรมการกลางข้าราชการ อบจ. คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลและคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบลตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มีอำนาจสอบแข่งขัน สอบคัดเลือก หรือคัดเลือก หรือการโอน ย้าย เมื่อมีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นตามที่เขียนมาแล้ว
          ทั้งนี้ คณะกรรมการกลางทั้ง 3 องค์กร อาจมอบให้คณะกรรมการข้าราชการ อบจ. จังหวัด คณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดดำเนินการแทนได้ตามมาตรฐานทั่วไป
          และในกรณีจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในแต่ละองค์กรอันเนื่องมาจากไม่สามารถโอนได้ ให้คณะกรรมการข้าราชการ หรือพนักงานเทศบาล หรือพนักงานส่วนตำบลจังหวัด แล้วแต่กรณี มีมติให้โอนไปสังกัดองค์กรอื่นได้ และให้นายก อบจ. นายกเทศมนตรี หรือนายก อบต. แล้วแต่กรณี ออกคำสั่งตามนั้น
          สำหรับกรณีนี้ ผมทราบว่าต่อไปการสอบบุคลากร อปท. กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้สอบ โดยระหว่างนี้กำลังอยู่ในขั้นดำเนินการ
          ก่อนที่ผมจะวิพากษ์วิจารณ์คำสั่ง คสช. ผมขอสรุปประเด็นสำคัญของกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคำสั่ง คสช. เพื่อผู้อ่านได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น
          กฎหมายฉบับนี้ไม่รวมถึงข้าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะต่างหาก แต่ให้รวมพนักงานเมืองพัทยาด้วย
          องค์กรบริหารบุคคล อบจ. เทศบาล และ อบต. มี 2 ระดับ เรียกว่า
          1.ระดับชาติ คือ คณะกรรมการกลางข้าราชการ อบจ. คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล คณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล คณะกรรมการกลางทั้ง 3 องค์กร จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน มีปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รวมแล้ว 6 คน ผู้แทน อบจ. 6 คน มาจากนายก อบจ. 3 คน และปลัด อบจ. 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 6 คน รวม 18 คน
          กรณีพนักงานเทศบาลและพนักงานส่วนตำบล มีคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล จำนวน 18 คน โดยองค์ประกอบเช่นเดียวกับคณะกรรมการกลาง อบจ.
          คณะกรรมการกลางทั้ง 3 คณะ มีอำนาจและหน้าที่โดยทั่วไป คือ การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข การคัดเลือกผู้แทน อปท. มาเป็นคณะกรรมการกลาง การกำหนดมาตรฐานต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของ อปท.
          2.ระดับจังหวัด จะมี 3 องค์กร คือ คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด คณะกรรมการพนักงานเทศบาลร่วมกันและ คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลร่วมกัน ในแต่ละอำเภอ (ทุกอำเภอมีคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลเท่าจำนวนอำเภอ)
          คณะกรรมการทั้ง 3 องค์กร มีองค์ประกอบในลักษณะเดียวกัน คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นประธาน มีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มีผู้แทนขององค์กรทั้งฝ่ายการเมืองท้องถิ่นและฝ่ายเจ้าหน้าที่ประจำตามสัดส่วน และมีผู้ทรงคุณวุฒิโดยมีจำนวนเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน
          คณะกรรมการระดับจังหวัด มีอำนาจหน้าที่1.กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่มีความจำเป็น     สำหรับองค์กรนั้น
          2.กำหนดจำนวนและอัตราตำแหน่ง อัตราเงินเดือน และวิธีการจ่ายเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่น
          3.กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการคัดเลือก บรรจุ แต่งตั้ง ย้าย โอน การเลื่อนระดับ เลื่อนขั้นเงินเดือน การสอบสวนวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์
          4.กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการบริหารและปฏิบัติการ5.กำกับ ดูแล ตรวจสอบ แนะนำและชี้แจง ส่งเสริมและพัฒนา
          การดำเนินการตามทั้ง 5 ข้อ ต้องได้รับความ เห็นชอบจากคณะกรรมการกลางของแต่ละองค์กร แล้วแต่กรณี
          การออกคำสั่งเกี่ยวกับการบรรจุและแต่งตั้ง การย้าย การโอน และการอื่นใดที่เกี่ยวกับการบริหารบุคคล ให้เป็นอำนาจของนายก อบจ. นายกเทศมนตรีหรือนายก อบต. แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการระดับจังหวัดกำหนด คณะกรรมการคณะนี้จึงมีอำนาจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดและผู้กำกับ อปท. ด้วย
          ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่ คสช.ได้ออกคำสั่งนี้มา เพราะเท่าที่ผ่านมาได้เกิดกรณีเช่นว่านี้จริงๆ คือ มีการเรียกรับผลประโยชน์จากการสอบแข่งขัน มีการใช้ระบบอุปถัมภ์ในการเลื่อนตำแหน่ง มีความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น และบางแห่งกับกลุ่มผู้นำชุมชนในพื้นที่ด้วย
          คำสั่งของ คสช.นี้ กำหนดให้คณะกรรมการกลางของแต่ละองค์กรเป็นผู้รับผิดชอบ 4 เรื่อง คือ การสอบแข่งขัน การสอบคัดเลือก การคัดเลือก และการโอนย้าย
          การโอน หมายถึง การโอนระหว่าง อปท.ด้วยกัน หรือกับข้าราชการพลเรือน หรือข้าราชการอื่นๆ ด้วย
          โดยความเป็นจริง การบริหารงานบุคคลไม่ว่าองค์กรใดก็มีพฤติกรรมคล้ายๆ กัน คือ
          - มีการทุจริตหรือหาผลประโยชน์กันทุกองค์กร
          - มีการซื้อขายตำแหน่งกันเกือบทุกองค์กร โดยพฤติกรรมเหล่านี้ก็เหมือนกับเหตุผลที่ คสช. อ้างถึงเพื่อแก้ไขปัญหาของ อปท. นั่นเอง
          - มีการใช้ระบบอุปถัมภ์ค้ำชูกันทุกองค์กรของรัฐ โดยเฉพาะในราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคก็มีมากมายเช่นกัน
          แต่ที่มีข่าวว่าการทุจริตจะเกิดขึ้นใน อปท.มากนั้น ถ้าผมมองในมุมของสถิติเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว อปท. อาจจะอยู่ในระดับเดียวกันหรือน้อยกว่าก็ได้ ทั้งนี้ เพราะ อปท. มีเกือบ 8,000 แห่ง แต่ส่วนราชการอื่นมีจำนวนองค์กรน้อยกว่ามาก และที่สำคัญองค์กรอื่นๆ นั้น มีฝ่ายตรวจสอบน้อยกว่าเพราะ อปท.มีสภาท้องถิ่น นักการเมืองที่แพ้การเลือกตั้ง ประชาชนมีความใกล้ชิดและเข้าถึงง่ายไม่เหมือนหน่วยงานอื่น การร้องเรียน การกล่าวหา จึงมีโอกาสทำได้มากกว่า
          อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าคำสั่งนี้มีปัญหาในทางปฏิบัติและขัดหลักการกระจายอำนาจ กล่าวคือ
          1.หลักการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็คือ หลักการของความเป็นอิสระในด้านการบริหาร ซึ่งหมายความรวมถึงการใช้อำนาจโดยทั่วไป การบริหารบุคคล และการบริหารการเงินตามที่กฎหมาย ระเบียบการหรือข้อบังคับกำหนด
          การแก้ไขโดยวิธีการที่ คสช. ออกคำสั่งนั้น ถึงแม้ผมจะเห็นด้วย แต่ก็ไม่คิดว่าจะแก้ปัญหาได้จริงๆ ถ้าไม่แก้ไขการใช้อำนาจของมหาดไทยในฐานะผู้กำกับดูแลพร้อมกันด้วย เพราะข้อเท็จจริงสมัยก่อนมีรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 การแต่งตั้งพนักงานเทศบาล อำนาจอยู่ที่กรมการปกครอง (ขณะนั้นไม่มีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) พนักงานเทศบาลจึงวิ่งเต้นโดยใช้วิธีการต่างๆ ที่กรมการปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านบุคคลของ อปท.ทั้งหมด เพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งและหน่วยงานที่ต้องการ ซึ่งในครั้งนั้น การสอบแข่งขันและการคัดเลือก กรมการปกครองดำเนินการเอง โดย อปท. เจ้าสังกัดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
          ก็หวังว่าเหตุการณ์เช่นนั้นคงไม่เกิดขึ้นตามคำสั่งของ คสช. และถ้าจะเอาตัวอย่างการแต่งตั้ง โอน ย้าย เลื่อนตำแหน่ง ของราชการส่วนกลางที่มีการรวมศูนย์อำนาจทุกอย่างมาเป็นตัวอย่างเช่นคำสั่งนี้แล้ว อปท. ก็ไม่ใช่ อปท. อีกต่อไป
          2.การสอบแข่งขัน หรือสอบคัดเลือก หรือคัดเลือก โดยหลักการของ อปท.แล้ว ต้องกำหนดคุณสมบัติให้คน ในท้องถิ่นนั้นๆ มา สอบหรือคัดเลือก เพราะจะไม่มีปัญหาเรื่องที่พักอาศัย การเดินทางมาทำงาน การรู้จักคน การรู้จักวัฒนธรรมของท้องถิ่น เป็นต้น
          สมมติว่าสอบแข่งขันหรือสอบคัดเลือกโดยคณะกรรมการกลางฯ ที่สำนักงานอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย และถึงแม้องค์ประกอบของคณะกรรมการกลางฯ จะมีตัวแทน อปท. ทุกประเภทเป็นกรรมการในคณะกรรมการกลางฯ นั้นๆ ก็ตาม แต่เมื่อสอบแข่งขันหรือสอบคัดเลือกที่ส่วนกลางก็เท่ากับว่าใครอยู่ที่จังหวัดใดก็สมัครสอบได้
          ถามว่า ถ้าเป็นคนจังหวัดเชียงใหม่สอบได้และต้องบรรจุแต่งตั้งที่จังหวัดสงขลา ปัญหาก็จะเกิดขึ้นกับผู้นั้นอย่างแน่นอน เพราะต้องไปเช่าบ้านอยู่ ค่าเช่าก็เบิกไม่ได้ เพราะเป็นการบรรจุครั้งแรก ทำให้เกิดปัญหาเงินไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายและปัญหาอื่นๆ ตามมา ซึ่งจะมีผลถึงกำลังใจและการเสียสละทำงานเพื่อท้องถิ่นนั้นด้วย และเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาหนึ่งก็จะต้องขอย้ายหรือไปรับราชการที่ภูมิลำเนาตัวเอง ซึ่งจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น ตำแหน่งไม่ว่างรับ เป็นต้น
          ถ้าผมจะเห็นด้วยกับคำสั่งนี้ก็ต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครสอบแข่งขันหรือสอบคัดเลือกว่าต้องสมัครเพื่อบรรจุใน อปท. ที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้นๆ เป็นต้น
          หากไม่ทำเช่นนั้น อปท. ก็มีสภาพเหมือนข้าราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
          ผมมีคำถามในทางปฏิบัติถึง คสช. ผู้ออกคำสั่งนี้ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะหนึ่งใน คสช. และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอที่กำกับ ดูแล อปท. 7,853 แห่งทั่วประเทศว่า
          ในกรณีที่มีการสอบแข่งขันหรือสอบคัดเลือกที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการกลางทั้ง 3 องค์กรแล้ว เมื่อประกาศผลการสอบแข่งขันหรือผลการสอบคัดเลือกเรียงตามลำดับในแต่ละตำแหน่งแล้ว
          ถามว่าการบรรจุและแต่งตั้งซึ่งเป็นอำนาจของหัวหน้าผู้บริหารท้องถิ่น (นายก อบจ. นายกเทศมนตรี และ นายก อบต.) จะดำเนินการอย่างไร หรือคณะกรรมการกลางฯ แต่ละคณะเป็นผู้ส่งบัญชีรายชื่อที่สอบได้ไปให้ อปท.ออกคำสั่งแต่งตั้ง โดยระบุชื่อบุคคลที่สอบได้ ซึ่งถ้าทำเช่นนั้นถามว่าจะได้คนที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้นๆ หรือ
          ขอยกตัวอย่างการสอบแข่งขัน ถามว่าผู้สอบได้ที่ 1 ของ อบจ. หรือเทศบาล หรือ อบต. แล้วแต่กรณี จะบรรจุที่ อบจ.ใด หรือเทศบาลใด หรือ อบต.ใด เพราะไม่ได้ระบุไว้ในคุณสมบัติของผู้สมัครและจะใช้เกณฑ์อะไรในการบรรจุที่ อปท.ใด ซึ่งจะกำหนดหลักเกณฑ์อย่างไร ผมยังคิดไม่ออก
          เพื่อให้ชัดเจนขึ้น ผมขอยกตัวอย่าง ถ้ามีการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการ อบจ. สมมติว่ามีตำแหน่ง จำนวน 50 ตำแหน่ง ถามว่าผู้ที่สอบได้ลำดับ 1 ถึงลำดับ 50 นั้นจะให้บรรจุ อบจ.ใด หรือว่าคณะกรรมการกลางฯ  ของ อบจ. ผู้จัดสอบคัดเลือกเป็นผู้เลือกแล้วส่งไปให้นายก อบจ. ออกคำสั่งบรรจุตามความพอใจของคณะกรรมการกลางฯ ซึ่งทางปฏิบัติก็คือ กรมส่งเสริมฯ
          ถ้าเช่นนั้นคณะกรรมการกลางฯ อบจ. จะใช้หลักเกณฑ์อะไรที่จะสั่งผู้สอบได้ลำดับที่ 1 ไปจังหวัดนั้นหรือผู้สอบได้ลำดับที่ 2 ไปจังหวัดนี้ เป็นต้น
          ผมจึงเสนอว่าการสมัครสอบแข่งขันจะต้องการประกาศคุณสมบัติว่าผู้สมัครสอบที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดใดต้องสมัครสอบจังหวัดนั้น ถ้าจะขยายไปหน่วยก็จังหวัดใกล้เคียง และถ้าสอบได้ก็ต้องบรรจุใน อบจ.จังหวัดนั้น ที่ผมเสนออย่างนี้ก็เพราะผมเห็นว่าโดยหลักการข้าราชการส่วนท้องถิ่นควรจะมีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณี อบจ. เทศบาล หรือ อบต. เพราะถ้าไม่ใช่คนในจังหวัดนั้นแล้ว ปัญหาจะมีตามมามากมาย
          2.โดยหลักการกระจายอำนาจแล้วข้าราชการส่วนท้องถิ่นควร จะเป็นภูมิลำเนาใน อปท.นั้น หรืออย่างมากก็ภายในจังหวัด หรือภายในภาคนั้น เพราะไม่มีภาระเรื่องที่พักอาศัย หรือถ้ามีก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการชั้นผู้น้อยหรือข้าราชการระดับกลางๆ
          3.ผมเกรงว่าถ้าไม่กำหนดหลักเกณฑ์สมัครสอบให้เป็นคนใน ภูมิลำเนาในจังหวัดนั้นที่มีตำแหน่งว่างแล้ว เมื่อประกาศผลออกมาว่าสอบได้ลำดับที่บรรจุได้ทันที ก็จะมีการวิ่งเต้นโดยการให้ผลประโยชน์เป็นเงินหรืออื่นใดกับผู้มีอำนาจในกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (เหมือนข่าวการอนุมัติเงินอุดหนุนเฉพาะกิจในแต่ละปีงบประมาณซึ่งมีอยู่ปีละประมาณ 60,000 บาท ที่มีเรื่องผลประโยชน์ในการวิ่งเต้นเข้ามาเกี่ยวข้องในการอนุมัติด้วย) เพื่อให้ได้บรรจุใน อปท. ที่เขาเห็นว่าดีหรือชอบ โดยไม่คำนึงว่าจะอยู่ในจังหวัดใดก็ได้ เช่น สมมติว่ามีภูมิลำเนาอยู่ในภาคอีสานหรือภาคเหนือ และสอบได้ลำดับที่ต้นๆ อาจจะวิ่งเต้นไปอยู่ อปท. ที่จังหวัดภูเก็ตก็ได้
          3.พล.อ.อนุพงษ์เคยทราบหรือไม่ว่าการสอบแข่งขัน หรือสอบคัดเลือก หรือการคัดเลือก การแต่งตั้ง โอนย้ายและอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารบุคคลของ อปท. ที่ผ่านมาไม่ใช่มีแต่ อปท.อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีฝ่ายกำกับดูแล คือผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ กรณี อบต. และเทศบาลตำบลบางคนบางแห่งก็มีการใช้ระบบอุปถัมภ์เข้าไปเกี่ยวข้อง หรือเรียกร้องผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีส่วนได้-เสีย มีการต่อรองลับๆ อะไรกันอยู่ เพราะลำพังแต่ผู้บริหารท้องถิ่นเองจะไม่สามารถทำได้ เพราะบางกรณีต้องนำเข้าประชุมคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด เช่น การขยายระดับตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น
          และที่มีข่าวคราวจาก อปท. บางแห่งว่า แม้แต่การ เสนอเรื่องบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมของ คณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อพิจารณาอนุมัติเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเลขานุการที่ประชุมของคณะนี้ ซึ่งโดยปกติจะแต่งตั้ง  ผู้ดำรงตำแหน่งท้องถิ่นจังหวัด ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัด และเป็นข้าราชการ สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นก็มีข่าวว่ามีผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งด้วย ถึงแม้อาจจะไม่ใช่ทุกจังหวัด แต่ก็เป็นส่วนมาก
          ตำแหน่งท้องถิ่นจังหวัดทำหน้าที่เหมือนฝ่ายอำนวยการของผู้ว่าราชการจังหวัดที่กำกับดูแล อปท. ในจังหวัด และยังมี ท้องถิ่นอำเภอ ตามอำเภอต่างๆ ด้วย และโดยปกติจะทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการ
          ท่านผู้อ่านลองถามผู้บริหารท้องถิ่นดูก็จะได้คำตอบที่ชัดเจนเพราะไม่ได้คลุกคลี อปท. เหมือนผม คงไม่ทราบว่า อปท.ส่วนใหญ่เกรงอก เกรงใจ ท้องถิ่นอำเภอและท้องถิ่นจังหวัดมาก ทั้งนี้ น่าจะมีสาเหตุมาจากมีกรณี อปท. ต้องขออนุมัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ซึ่งปีหนึ่งๆ จะมีประมาณ 60,000 ล้านบาท ที่ อปท.ต้องขออนุมัติตามลำดับจากนายอำเภอ กรณี อบต. และเทศบาลตำบล ผู้ว่าราชการจังหวัด กรณี อบจ. เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ต้องผ่านเจ้าหน้าที่เหล่านั้นก่อน
          และผู้ว่าราชการจังหวัด โดย ท้องถิ่นจังหวัด พิจารณาเสนอเพื่อผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามถึงอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพิจารณาขั้นสุดท้าย และทราบว่าเกือบตลอดเส้นทางต้องทำอย่างไรบ้างจึงจะผ่านได้ โดยเฉพาะจุดสุดท้ายที่กรมส่งเสริมฯ ซึ่งผมเป็นห่วงว่า กรณีการสอบดังกล่าวก็คงเช่นเดียวกัน คือต้องวิ่งเต้นที่กรมส่งเสริมฯ ซึ่งสถานการณ์คงเช่นเดียวกับการขออนุมัติเงินอุดหนุนเฉพาะกิจที่ดำเนินการมาก่อน ท่านรัฐมนตรีไม่สนใจเรื่องนี้บ้างหรือ
          ผมจึงขอเรียนข้อมูลที่ พล.อ.อนุพงษ์ ซึ่งอาจจะเคยทราบมาก่อน เพราะท่านอยู่ในท่ามกลางวงล้อมของข้าราชการมหาดไทยมาช้านาน ซึ่งใครก็ตามมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้ก็จะถูกระบบนี้ค่อยๆ ครอบงำเสมอ ขอความกรุณาเรียกปลัดกระทรวง อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำชับให้ข้าราชการในสังกัด ปรับปรุง แก้ไข ในเรื่องนี้เพื่อให้ภาพพจน์ของกระทรวงนี้ดีขึ้นด้วย ไม่ใช่กล่าวหาแต่ฝ่าย อปท. ฝ่ายเดียว
          อีกเรื่องหนึ่งที่ผมขอเรียน พล.อ.อนุพงษ์ ก็คือ เมื่อไหร่กระทรวงมหาดไทยที่ท่านเป็นผู้นำสูงสุดองค์กรนี้ จะดำเนินการร่างกฎหมายว่าด้วย มาตรฐานการกำกับดูแล อปท. ตามที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550  เพราะบทบาทการกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ รวมทั้งรัฐมนตรีมหาดไทยเองนั้นมีข้อครหาเสมอเพราะไม่มีมาตรฐานเดียวกัน และขึ้นอยู่กับการใช้ดุลยพินิจ จริงอยู่แม้กฎหมายที่เกี่ยวข้องจะได้บัญญัติเอาไว้ให้นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจอย่างไรบ้าง แต่ในทางปฏิบัติมีการใช้ดุลยพินิจต่างกัน ทั้งๆ ที่ใช้กฎหมายเดียวกันหรือมาตราเดียวกัน
          อย่าลืมว่าการพิจารณาปฏิบัติตามกฎหมายนั้นบางครั้งมองประเด็นไม่เหมือนกัน เพราะแม้แต่การพิจารณาของศาลก็ยังมีศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา ซึ่งมีหลายคดีที่พิพากษาไม่ตรงกัน จึงต้องมาสรุปที่ศาลฎีกา
          ผมจึงเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยช่วยพิจารณาสั่งให้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ร่าง กฎหมายมาตรฐานกำกับ อปท. เพื่อให้การกำกับ (ไม่ใช่ควบคุม) เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และในกฎหมายนี้ต้องกำหนดให้ องค์กรประชาชนตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้กำกับ อปท. โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอด้วย ผมเรียนท่านรัฐมนตรีเพิ่มเติมว่าอะไรที่จะเป็นการส่งเสริมการทำงานของ อปท. ให้เข้มแข็งขึ้น กรมนี้หรือกระทรวงนี้แทบจะไม่มีผลงานให้ปรากฏเห็นเลย
          และที่สำคัญไม่ควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจในการใช้ดุลยพินิจเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย เช่น การขาดคุณสมบัติของผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น เป็นต้น ทั้งนี้ โดยอำนาจเหล่านี้ควร ให้เป็นอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพราะอำนาจสุดท้ายเป็นของ ศาลปกครองสูงสุด องค์กรเดียวกันจึงถือได้ว่าจะมีมาตรฐานเดียวกันได้ทั้งประเทศ แต่ถ้าให้ผู้ว่าราชการที่เป็นผู้ใช้อำนาจก็ไม่แน่ว่า 76 จังหวัดจะใช้ดุลยพินิจไปในทางเดียวกันได้ ในที่สุด อปท. ก็ถูกกำกับที่แตกต่างกันก็ได้ ซึ่งก็เท่ากับว่าเป็นการกำกับที่ไม่มีมาตรฐานเดียวกัน
          ผมขอสรุปปิดท้ายว่า ต่อไปนี้จะมีกรณีนี้เกิดขึ้นในอนาคต คือ1.การวิ่งเต้นขอเงินอุดหนุนเฉพาะกิจประจำปีงบประมาณ อปท.ที่ขอเงินรู้ดีว่าต้องวิ่งเต้นและทำอย่างไรบ้าง กรมส่งเสริมฯ จึงจะอนุมัติ ก็คงอยู่ต่อไป
          2.การสอบแข่งขัน การสอบคัดเลือก การคัดเลือก เมื่อมหาวิทยาลัยที่กรมส่งเสริมฯ จ้างสอบดำเนินการเสร็จและประกาศผลแล้ว ผู้สมัครที่สอบได้ก็ต้องวิ่งเต้นด้วยวิธีการต่างๆ เช่นเดียวกับข้อ 1 กับกรมส่งเสริมฯ เพื่อสั่งให้ อปท. แต่งตั้งตามที่ตนต้องการ
          3.กรมส่งเสริมฯ คงขออัตรากำลังไปยัง ก.พ. หรือ ก.พ.ร. ตั้งหน่วยงานเพิ่มในกรมส่งเสริมฯ อีก โดยอ้างว่ามีความจำเป็นเพราะต้องทำเรื่องบุคลากร อปท.
          4.กระทรวงมหาดไทยอาจจะถือโอกาสรวมอำนาจอย่างอื่นอีก โดยไม่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ที่ต้องกระจายอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเอง
          นี่แหละครับยุคที่มีทหารมาบริหารกระทรวงนี้ ซึ่งในที่สุดจะหนีไม่พ้นการครอบงำจากฝีมือลูกไม้มหาดไทยของข้าราชการมหาดไทยกลุ่มใกล้ชิดและมีอำนาจ ซึ่งก็เป็นมาอย่างนี้โดยตลอด.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น