วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ส่อวุ่นค่าจัดเก็บขยะขั้นต่ำเดือนละ150บาทท้องถิ่นมึนตึ้บพ.ร.บ.ฉบับใหม่หวั่นขัดแย้งชาวบ้าน-ใช้จริงยาก

ส่อวุ่นค่าจัดเก็บขยะขั้นต่ำเดือนละ150บาทท้องถิ่นมึนตึ้บพ.ร.บ.ฉบับใหม่หวั่นขัดแย้งชาวบ้าน-ใช้จริงยาก 

ประชาชาติธุรกิจ  ฉบับวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

          ขึ้นค่าเก็บขยะขั้นต่ำเดือนละ 150 บาท ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ฉบับใหม่ส่อเค้าวุ่น นายกสมาคม อบต.เผยยังขาดความชัดเจน แนะรัฐทำความเข้าใจชาวบ้านก่อน หวั่นบังคับใช้แล้วขัดแย้งกับท้องถิ่น ขณะที่ เทศบาลนครรังสิตคาดหากเก็บได้จริงจะช่วยเพิ่มรายได้ท้องถิ่น ด้านหัวหิน-ชะอำเสนอแบ่งค่าจัดเก็บตามประเภทพื้นที่พาณิชย์-อุตสาหกรรม
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2560 ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2560 (ฉบับที่ 2) โดยได้กำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ในการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย และกำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นสามารถนำขยะที่จัดเก็บได้ไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการการเก็บและขนขยะมูลฝอย โดยกรณีที่มีปริมาณมูลฝอยไม่เกิน 120 กิโลกรัม (กก.) หรือ 600 ลิตร หรือ 0.6 ลบ.ม. เดือนละ 150 บาท กำหนดอัตราค่ากำจัดมูลฝอยเดือนละ 200 บาท
          ส่วนกรณีที่มีปริมาณมูลฝอยต่อเดือนเกิน 120 กก. หรือ 600 ลิตร หรือ 0.6 ลบ.ม. จะคิดเป็นหน่วย หน่วยละ 120 กก. คิดหน่วยละ 150 บาท และกำหนดอัตราค่ากำจัดมูลฝอยหน่วยละ 200 บาท ซึ่งการกำหนดเกณฑ์เหล่านี้เพื่อให้อำนาจแก่ราชการส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มที่ในการจัดการขยะ รวมทั้งแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะของท้องถิ่นที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง อย่างไรก็ตามสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะผู้ดำเนินงาน แล้ว หลายแห่งมองว่าอาจมีหลายปัญหาเกิดขึ้นเมื่อนำมาใช้ปฏิบัติจริง
          อปท.หวั่นขัดแย้งชุมชน
          นายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 ที่เพิ่งประกาศใหม่นั้น มองว่าฉบับเดิมยังไม่สามารถเก็บค่าขยะได้ตามเป้าหมาย แล้วฉบับใหม่จะเป็นอย่างไร แม้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นการจัดหารายได้เพิ่มของท้องถิ่น แต่จะคุ้มต่อการบริการ หรือทำให้ ชาวบ้านเดือดร้อนมากขึ้นหรือไม่ ซึ่ง ขั้นตอนหลังจากนี้ท้องถิ่นจะต้องไปออกข้อกำหนดขึ้นมาเพื่อบังคับใช้ ตอนนี้ยัง ไม่ชัดเจนว่าถูกบังคับให้ออกข้อกำหนดทั้งประเทศหรือไม่ หรือถ้าออกข้อบังคับแล้วใช้ไม่ได้จริง รัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไร
          "ส่วนตัวมองว่ารัฐบาล หรือกระทรวงสาธารณสุข ต้องประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านเข้าใจก่อน ไม่ใช่ให้ท้องถิ่นทำแล้วไปขัดแย้ง กับชาวบ้าน แบบนั้นไม่เกิดประโยชน์ โดยปกติชาวบ้านบางแห่งมีขยะไม่มากก็จะกำจัดเอง ตรงนี้จะไปบังคับให้จ่ายได้ไหม หากชาวบ้านไม่จ่ายตามที่กำหนด จะไม่เกิดการฟ้องร้องวุ่นวายทั้งประเทศหรือ อีกทั้งพื้นที่ท้องถิ่นไม่เหมือนกันทั้งประเทศ บางแห่งอยู่ในเขตอุทยาน บางแห่งอยู่ในพื้นที่รัฐ แล้วจะทำอย่างไร" นายนพดลกล่าว
          อีกปัญหาใหญ่ในปัจจุบันคือ บางจังหวัดไม่มีที่ทิ้งขยะแล้ว เมื่อกฎหมายมาบังคับให้เก็บขยะ แต่ไม่มีที่ทิ้งจะทำอย่างไร และพื้นที่อื่น ๆ เช่น อุทยานแห่งชาติ หรือพื้นที่ทหาร สามารถให้เช่าเป็นที่ทิ้งขยะได้หรือไม่ อย่างกรณีจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งคาดว่าปีหน้าต้องประสบปัญหาไม่มีที่ ทิ้งขยะ เพราะพื้นที่ทิ้งเต็มหมดแล้ว เป็นต้น
          ด้านนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น กล่าวว่า ตอนนี้กำลังให้ทีมงานศึกษากฎหมายให้ละเอียดก่อน จึงยังไม่อยากจะ คอมเมนต์ใด ๆ แต่มองว่าการขึ้นค่าเก็บขยะรวดเร็วเดือนละ 150 บาท เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ
          เร่งสร้างความเข้าใจประชาชน
          ด้านนายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีเทศบาลนครรังสิต กล่าวว่า ที่ผ่านมา เทศบาลนครรังสิตกำหนดจัดเก็บค่าธรรมเนียมกำจัดขยะอยู่ที่ 40 บาท แต่สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้ปีละราว 10 ล้านบาทเท่านั้น แต่ทุกปีจะต้องใช้งบประมาณในการกำจัดขยะโดยไม่รวมงบฯลงทุนกลุ่มเครื่องจักรปีละ 40 ล้านบาท ซึ่งมองว่าหากบังคับใช้ได้ตามเป้าหมาย จะสามารถช่วยซัพพอร์ตรายได้ของท้องถิ่น ได้มากกว่าที่ผ่านมา และสามารถนำไปลงทุน โครงสร้างพื้นฐานด้านอื่น ๆ ได้ นอกจากนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังเปิดโอกาสให้ อปท. มอบอำนาจให้เอกชนเข้ามาดำเนินการได้ ซึ่งหากพบว่าเอกชนมีประสิทธิภาพกว่าหรือทำได้ ต้นทุนถูกกว่า ก็จะส่งผลดีต่อการกำจัดขยะ
          "พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯประกาศใช้แล้ว แต่ตอนนี้ทางท้องถิ่นต้องรอมหาดไทย ประกาศกฎกระทรวงออกมาก่อนแล้วท้องถิ่น จะนำไปออกข้อกำหนดให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ซึ่งการจะสามารถจัดเก็บได้ตามอัตราที่กำหนดต้องอาศัยกฎหมายอื่น ๆ ประกอบด้วย อีกทั้งหน่วยงานส่วนกลางยังควรให้องค์ความรู้และทำความเข้าใจกับชาวบ้านด้วย เพื่อลดปัญหาในการจัดเก็บ" นายธีรวุฒิกล่าว
          แนะแยกอัตราจัดเก็บชนบท-เมือง
          นายนุกูล พรสมบูรณ์ศิริ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับเรื่องจากกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยส่วนตัวมีความเห็นว่าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา จะต้องพิจารณาการจัดเก็บเป็นบางพื้นที่ เช่น พื้นที่โซนอุตสาหกรรมหรือโซนพาณิชย์ ควรมีการจัดเก็บในอัตราที่สูงกว่าชนบท เพราะสังคมชนบทมีการทิ้งขยะในปริมาณที่น้อยกว่าสังคมเมือง
          เช่นเดียวกับ นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า หากมองในแง่ดีก็จะทำให้ อปท.จัดเก็บรายได้เข้ารัฐเพื่อนำเงินให้ท้องถิ่นนำมาพัฒนาสาธารณูปโภค แต่ในแง่ของแผนการดำเนินงานต้องมีความละเอียดในการจัดโซนในการจัดเก็บ เพราะแต่ละชุมชนมีการทิ้งขยะในปริมาณที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นควรมีการทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศก่อน เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ และจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมาทีหลัง
          ด้านนายบุญเสริม จิตเจนสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดของตัวกฎหมาย พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ปัจจุบันการจัดการขยะของจังหวัดเชียงใหม่แบ่งออกเป็น 3 โซน จากทั้ง 25 อำเภอ โซนเหนือเป็นพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลตำบลเวียงฝาง พื้นที่นี้มีปริมาณขยะค่อนข้างน้อย ส่วนโซนใต้มีพื้นที่การกำจัดขยะที่ อ.ฮอด และโซนกลาง อบจ.เชียงใหม่รับผิดชอบ มีปริมาณขยะราว 600-700 ตันต่อวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น