วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: หนึ่งท้องถิ่น หนึ่งแบบอย่างคำสอน

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: หนึ่งท้องถิ่น หนึ่งแบบอย่างคำสอน

สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

          รองศาสตราจารย์ดร.โกวิทย์  พวงงาม
          คนไทยทั้งชาติในห้วงเวลานี้มีความรู้สึกตรงกัน นั่นก็คือการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในหลวงรัชกาลที่ 9 และคนไทยทุกหมู่เหล่าดูเหมือนที่จะประกาศอย่างพร้อมเพรียงกัน ว่าจะสืบสานพระราชปณิธานและน้อมนำคำสอนของพระองค์ท่านไปสู่การปฏิบัติให้เป็นจริงอย่างเป็นรูปธรรมไม่ว่า จะเป็นการประกาศในระดับตนเอง หน่วยงาน องค์กร ชุมชนท้องถิ่น สังคม และประเทศชาติ เพื่อเป็นการทดแทนคุณแผ่นดินแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ ทั้งนี้ เห็นว่าพสกนิกรชาวไทยทั้งปวงได้เรียนรู้คุณค่าคำสอนของพระองค์ ที่ทรงคิด ตรัส และทรงวางหลักปฏิบัติต่างๆไว้อย่างครบถ้วน อันเป็นประโยชน์สุขของประชาชนทั้งมวล
          กล่าวสำหรับหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผมเคยมีข้อเสนอเพื่อสืบสานปณิธานการน้อมนำคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน้อมนำคำสอนที่เป็นแบบอย่างที่ดีของพระองค์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ"หนึ่งท้องถิ่น หนึ่งแบบอย่างคำสอน" เพื่อจะให้ทุกท้องถิ่นนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติตามแบบอย่างคำสอนซึ่งมีอยู่มากมาย เป็นต้นว่า แบบอย่างของเศรษฐกิจพอเพียง แบบอย่างของครัวเรือนและชุมชนพึ่งตนเอง แบบอย่างความซื่อสัตย์สุจริต แบบอย่างของการประหยัด และแบบอย่างของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่าให้มีความยั่งยืน เป็นต้น
          มีแนวทางปฏิบัติที่จะก่อให้เกิดตัวอย่างในหลายประเด็น ที่ท้องถิ่นสามารถเลือกนำมาใช้ในการส่งเสริมประชาชนให้เห็นเป็นแนวทาง ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน หรือหมู่บ้าน ซึ่งมีแนวทางในการปฏิบัติดังนี้
          1) ยึดแนวทางความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลด ละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต ซึ่งในส่วนนี้สามารถกระทำได้ทั้งในระดับบุคคล และระดับครอบครัว
          2) ยึดแนวทางการประกอบอาชีพที่ก่อให้เกิดการพึ่งตนเองในส่วนนี้กระทำได้ทั้งระดับตนเอง ครอบครัว และระดับชุมชน เช่นประกาศเป็นชุมชนจัดการตนเอง หรือชุมชนพึ่งตนเอง
          3) ยึดแนวทางความซื่อสัตย์สุจริต ยึดความถูกต้อง ซึ่งแนวทางนี้สามารถปฏิบัติได้ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน
          4) ยึดแนวทางและแบบอย่างการส่งเสริมการเสียสละเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม และมีส่วนร่วมเพื่อประโยชน์สาธารณะรวมทั้งก่อให้เกิดความสามัคคีหรือความเป็นปึกแผ่นของชุมชนซึ่งในส่วนนี้ทำได้ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน
          5) ยึดถือปฏิบัติในแนวทางที่ดี ประพฤติตนตามหลักศาสนาลด ละในสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ เช่น อบายมุข และการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งสามารถกระทำได้ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน
          6) ยึดแนวทางที่ทำให้เป็นตัวอย่าง ซึ่งท้องถิ่นสามารถประกาศให้มีบุคคลที่เป็นแบบอย่างตามคำสอนของในหลวงรัชกาลที่9 ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือมีแบบอย่างชุมชนตัวอย่างที่เดินตามคำสอนของพระองค์
          ในการนำเสนอให้ท้องถิ่นดำเนินการ "หนึ่งท้องถิ่นหนึ่งตัวอย่าง" นั้น เท่ากับให้ท้องถิ่นได้มีการสืบสานปณิธาน ทั้งนี้เพราะพระองค์ท่าน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นผู้ทำให้ดูเป็นแบบอย่างไว้มากมาย ซึ่งท้องถิ่นสามารถที่จะน้อมนำไปปฏิบัติเป็นต้นว่า แบบอย่างของการเข้าถึงปัญหาประชาชนคนไทย ซึ่งท้องถิ่นก็สามารถนำปรับใช้โดยต้องเรียนรู้ปัญหาของชุมชนอย่างเข้าใจและเข้าถึง แบบอย่างของการกระทำให้เป็นตัวอย่าง เช่นการมีศูนย์ศึกษาตามแนวทางพระราชดำริ ซึ่งท้องถิ่นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องของการจัดให้มีศูนย์เรียนรู้ในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และศูนย์เรียนรู้ในรูปแบบอื่นๆที่อยู่บนพื้นฐานตามแนวทางของพระองค์ท่าน
          อย่างไรก็ตาม เสนอให้ท้องถิ่นมีการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนสืบสานปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 และส่วนหนึ่งให้ท้องถิ่นศึกษา ค้นหาประชาชนหรือครัวเรือนที่ได้กระทำเป็นแบบอย่างเพื่อสืบสานปณิธานของพระองค์ท่าน โดยการนำบุคคลหรือชุมชนนั้นๆมายกย่อง ประกาศเกียรติคุณ และให้กำลังใจ ซึ่งท้องถิ่นจะได้บุคคลที่สืบสานปณิธานคำสอนของพระองค์ โดยการรวบรวมบุคคลต่างๆนั้นจัดทำเป็นทำเนียบเพื่อให้มีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้
          ในส่วนของการรณรงค์ขับเคลื่อนการสืบสานพระราชปณิธาน ท้องถิ่นสามารถกระทำได้หลายรูปแบบ เป็นต้นว่า การให้ชุมชนหรือหมู่บ้านได้ดำเนินกิจกรรมตามแนวทางของพระองค์ท่านในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมในชุมชนนั้นๆหรือในอีกแนวทางหนึ่ง ก็ให้ชุมชนมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อการสืบสานปณิธานของพระองค์ท่านตามบริบทของแต่ละชุมชนเอง
          ถึงกระนั้นก็ตาม อยากเสนอให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งมีเอกลักษณ์ของแบบอย่างคำสอน ซึ่งคิดว่าท้องถิ่นมีแนวทางอยู่หลายประการที่จะน้อมนำแนวทางคำสอน พระราชดำริ หรือการนำพระบรมราโชวาทมาประยุกต์ ให้เกิดผลในการปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งเราเห็นแบบอย่างหลายหน่วยงาน องค์กร ชุมชน ได้กระทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้ว เป็นต้นว่า การเกิดขึ้นของโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง นั่นก็คือ "หนึ่งท้องถิ่น หนึ่งเศรษฐกิจพอเพียง"หรือแบบอย่างของอาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) ซึ่งได้จัดทำศูนย์เรียนรู้แบบศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ หรือการเกิดขึ้นของโรงเรียนคุณธรรม เพื่อเป็นแบบอย่างการสร้างคนดีให้แก่ชุมชนท้องถิ่น
          ในส่วนของงานพัฒนาของท้องถิ่นซึ่งสามารถสร้าง "หนึ่งท้องถิ่น หนึ่งแบบอย่าง" ได้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น แบบอย่างของชุมชนต้นแบบ แบบอย่างของการจัดการน้ำ การจัดการป่า ซึ่งในส่วนนี้เข้าใจว่าท้องถิ่นสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ดำเนินการได้เป็นอย่างดี ซึ่งที่ผ่านมามีแบบอย่างท้องถิ่นที่ได้ดำเนินการตามแนวทางนี้เป็นจำนวนไม่น้อย แม้กระทั่งการบริหารจัดการทรัพยากรป่า ซึ่งหลายท้องถิ่นก็ดำเนินการได้เป็นอย่างดีเช่นกัน นอกจากนี้ก็ยังมีแบบอย่างที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา การออกกำลังกาย การสาธารณสุข เป็นต้น
          การสืบสานพระราชปณิธานที่ก่อให้เกิด "หนึ่งท้องถิ่น หนึ่งแบบอย่างคำสอน" นั้น จะเป็นการตอบโจทย์ในการสืบสานพระราชปณิธาน ของในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นจริงได้ง่ายที่สุด เพราะท้องถิ่นมีพื้นที่ในการดำเนินงานอย่างชัดเจนมีประชาชนที่มีความมุ่งหวังอยู่ในขณะนี้ ที่มีความคิดตรงกันว่าจะนำแนวทางคำสอนของพระองค์ไปปฏิบัติร่วมกัน รวมทั้งเป็นการตอบโจทย์การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นว่า เป้าหมายของการปกครองท้องถิ่น คือ การจัดการตนเอง การพึ่งตนเอง ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น นั่นก็คือ การสอนให้ประชาชนรู้จักการพึ่งตนเอง และสอนให้ชุมชนจัดการตนเอง ในส่วนนี้เห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของการน้อมนำคำสอนไปสู่การปฏิบัติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น