วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2559

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: ปัญหาความท้าทายของสังคมไทย



คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: ปัญหาความท้าทายของสังคมไทย
สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๙

          รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
          ผมอ่านบทสัมภาษณ์ของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐหน้า 8 ได้กล่าวถึงปัญหาและความท้าทายที่คนในสังคมไทยและประเทศชาติ กำลังเผชิญไว้หลายประเด็นที่น่าสนใจมากกับอ่านเอกสารแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (พ.ศ.2555-2559)ซึ่งปัจจุบัน (ตุลาคม 2559) เริ่มเข้าสู่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่12 แล้วแต่ประเด็นที่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 เขียนไว้น่าสนใจในหัวข้อการเปลี่ยนแปลงภาวะด้านสังคมหลายประการที่เป็นปัญหาความท้าทายของสังคมไทยต้องเผชิญ
          ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวถึงปัญหาและความท้าทายสำคัญที่คนไทยสังคมไทยและประเทศชาติกำลังเผชิญหลายประการดังนี้
1. มีการสูญเสียที่ดินทำกินประชาชนบางส่วนไม่มีอาชีพไม่มีรายได้
2. ผู้คนขาดความรู้ทั้งยังไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของกระแสโลกาภิวัตน์และเศรษฐกิจยุคใหม่ได้
3. ขาดโอกาสในการเข้าถึงและไม่ได้รับความคุ้มครองจากหลักประกันความมั่นคงทางสังคม
4. มีปัญหายาเสพติดตลอดจนมีความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
5. เกิดความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท
6. เกิดความเสื่อมถอยของเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทยที่กระทบต่อความสามัคคีของคนในชาติ
7. เกิดปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้
8. มีปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วภายใต้การจัดการฟื้นฟูที่ทำได้อย่างจำกัด
9. เกิดภัยพิบัติต่างๆจากธรรมชาติ
10. การเมืองภายในประเทศมีแนวโน้มอ่อนไหวและไม่แน่นอน
11. ยังมีการขูดรีดเอาเปรียบของประเทศทุนนิยมขนาดใหญ่
          ทุกปัญหาเหล่านี้มีความเกี่ยวโยงกันและล้วนต้องการเวลาในการแก้ไขปรับปรุง อย่างไรก็ตาม ดร.สุเมธกล่าวว่า การทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ มาตลอดระยะเวลาการครองราชย์อันยาวนานทำให้เกิดแนวคิดหลายอย่างที่เป็นประโยชน์สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆได้
          การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศทรงมุ่งพัฒนาเรื่องน้ำและป่าไม้โดยตลอด เพราะทรงประจักษ์ชัดว่าการทำให้ภาคเกษตรรุ่งเรืองธรรมชาติและสภาพแวดล้อมดีเป็นจุดแข็งของประเทศแต่แทนที่ประเทศไทยจะพัฒนาไปในแนวทางที่ยึดจุดแข็งของตนก็กลับหันไปพัฒนาในหนทางที่ตัวเองไม่มีความพร้อม
          สำหรับแผนพัฒนาฉบับที่ 11 ได้ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงภาวะด้านสังคมในหลายประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
          ประเด็นประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุจากการมีโครงสร้างประชากรที่วัยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ขณะที่การย้ายถิ่นของประชากรส่งผลให้ความเป็นเมืองสูงขึ้นและโครงสร้างประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่องอันเนื่องมาจากภาวะเจริญพันธุ์ของสตรีไทยลดต่ำลงอยู่ที่ 1.6 ในปี 2551 ส่งผลให้สัดส่วนประชากรวัยเด็ก:วัยแรงงาน:ผู้สูงอายุลดลงจากร้อยละ 20.5:67.6:11.9 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 18.3:66.9:14.8 ในปี2559 ทำให้ประเทศไทยเผชิญภาวะขาดแคลนกำลังคนในอนาคตที่อาจส่งผลกระทบต่อผลิตภาพการผลิตของประเทศ นอกจากนี้ประชากรจากชนบทอพยพเข้ามาทำงานในเมืองอย่างต่อเนื่องทำให้สัดส่วนประชากรในเขตเมืองเพิ่มขึ้น
          จากร้อยละ 31.1 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 45.7 ในปี 2553 หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 46.9 ความเป็นเมืองที่ขยายไปอย่างรวดเร็วส่งผลให้วิถีชีวิตมีลักษณะต่าง
          คนต่างอยู่การอยู่อาศัยแบบเครือญาติเปลี่ยนไปสู่การเป็นปัจเจกมากขึ้นโครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนไปสู่ครัวเรือนที่อยู่คนเดียวครัวเรือนที่อยู่ด้วยกันแบบไม่ใช่ญาติและครัวเรือนที่มีอายุรุ่นเดียวกันสองรุ่นและรุ่นกระโดด(ตายาย-หลาน)หรือครัวเรือนที่เป็นเพศเดียวกันสัมพันธภาพระหว่างสมาชิกในครอบครัวมีความเปราะบางจนนำไปสู่ปัญหาทางสังคมเพิ่มขึ้นเช่น อัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้นจาก 4.5 คู่ต่อพันครัวเรือนในปี 2545 เป็น 5.5 คู่ต่อพันครัวเรือนในปี 2553 ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศต่อเด็กและสตรีเพิ่มขึ้น
          ประเด็นประเทศไทยทุนทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมจากการเพิ่มขึ้นของประชากรการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งการเจริญเติบโตและการแข่งขันทางด้าน
          การค้าและการลงทุนซึ่งทำให้มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติเกินศักยภาพและกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 53.3 ในปี 2504 เหลือร้อยละ 33.6 ใน ปี2553 อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่จะรักษาสมดุลของระบบนิเวศพื้นที่ป่าต้นน้ำอยู่ในขั้นวิกฤติถึง 14 ล้านไร่ส่งผลให้เกิดอุทกภัยและปัญหาภัยแล้งรวมทั้งการขาดแคลนน้ำมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นปัจจุบันมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียง 2 ใน 3 ของความต้องการใช้น้ำเท่านั้น การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพมีแนวโน้มสูงขึ้นจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์การกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่หลายแห่งอยู่ในภาวะวิกฤติปี 2550 แนวชายฝั่งทะเลทั่วประเทศถูกกัดเซาะ 155 แห่งรวมเป็นความยาวประมาณ 600 กิโลเมตรเกิดการสูญเสียที่ดินไปถึง 113,042 ไร่คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเฉพาะที่ดินประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนพื้นที่แนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนในทั้งหมดซึ่งได้รับการจัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติมีอัตราการกัดเซาะรุนแรงมากกว่า5เมตรต่อปีขณะที่ทรัพยากรดินที่เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญมีความเสื่อมโทรมและมีปัญหาความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่ดินเสื่อมโทรมในระดับรุนแรงระดับวิกฤติเท่ากับ 36 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 11.2 ของพื้นที่ประเทศการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่และปัญหาการกระจายการถือครองมีการเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่อนุรักษ์ รวมทั้งการขยายตัวของเมือง พื้นที่อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม รุกพื้นที่เกษตรกรรมมากขึ้น
          ประเด็นความเสี่ยงด้านโครงสร้างประชากรที่มีวัยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นขณะที่ประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลงประชากรผู้สูงอายุมีสัดส่วนร้อยละ 11.9 ในปัจจุบันและจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14.8 เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ประเทศไทยจึงจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2568 ขณะที่ประชากรวัยเด็กมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 20.5 ในปัจจุบันเหลือร้อยละ18.3 ในปี 2559 เป็นผลมาจากภาวะเจริญพันธุ์ของสตรีไทยที่ลดลงต่ำกว่าระดับทดแทนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าวทำให้สัดส่วนประชากรวัยแรงงานลดลงในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จากสัดส่วนประชากรวัยเด็ก:แรงงาน:ผู้สูงอายุ 20.5:67.6:11.9 ในปี 2553 เป็น 18.3:66.9:14.8 ในปี2559 แม้สัดส่วนประชากรวัยแรงงานจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 แต่ในอนาคตความต้องการแรงงานในระบบเศรษฐกิจอาจเพิ่มขึ้นการขาดแคลนแรงงานจะเป็นปัญหาสำคัญไม่เฉพาะแต่ประเทศไทยภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศต่างๆเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและการเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นไปอย่างเสรีการแข่งขันเพื่อแย่งชิงแรงงานจะมีมากขึ้นโดยเฉพาะแรงงานคุณภาพจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังมีข้อจำกัดด้านการบริหารจัดการแรงงานต่างชาติ
          นอกจากนี้ ภาครัฐ และครัวเรือนจะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในด้านต่างๆ ส่งผลต่อภาระงบประมาณของภาครัฐ และค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ในการดูแลสุขภาพอนามัย และการจัดสวัสดิการทางสังคม เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ หากไม่มีการเตรียมความพร้อมที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์
          ปัญหาและความท้าทาย ความเสี่ยงทางสังคมที่สังคมไทยกำลังเผชิญผมได้หยิบยกประเด็นสำคัญๆมาฉายภาพให้เห็น ซึ่งก็มีอีกหลายปัญหาที่ยังไม่ได้กล่าวไว้เป็นต้นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ ปัญหาความรุนแรง เป็นต้น และในบรรดาประเด็นปัญหาต่างๆรัฐบาลมีกลไกของรัฐส่วนราชการและผู้เกี่ยวข้องต้องตระหนักเพื่อวางยุทธศาสตร์ทั้งในระยะสั้นระยะยาวแก้ไขปัญหาต่างๆให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปตามเป้าหมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น