วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ AAA สู่องค์กรท้องถิ่น

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ AAA สู่องค์กรท้องถิ่น 

สยามรัฐ ฉบับวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

          รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
          ยุทธศาสตร์ AAA: Accessibility for All Act หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิของบุคคลที่ทุกคนจะเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเสมอภาค ทั้งการเคลื่อนไหว การเดินทาง (freedom of movement) และสิ่งอำนวยความสะดวก รวมไปถึงการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สะท้อนให้เห็นถึงความเสมอภาค ความเท่าเทียม และความมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
          ส่วนคำที่ใช้ว่า ทุกคน (for all) หมายถึง คนทุกคนหรือเพื่อคนทั้งมวล นับตั้งแต่เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสตลอดจนคนทุกเพศทุกวัย แต่โดยจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนยุทธศาสตร์AAA นั้น เห็นว่าเบื้องต้นเข้าใจว่า มีความพยายามที่จะให้ความสำคัญกับเรื่อง
          คนพิการและผู้สูงอายุ ที่จะให้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ควรจะคำนึงถึงสวัสดิการที่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกนับตั้งแต่การเดินทาง ยานพาหนะ ระบบขนส่งสาธารณะ อาคารสถานที่ความปลอดภัย และรวมไปถึงเทคโนโลยี เป็นต้น
          อย่างไรก็ตาม การจะขับเคลื่อนให้เกิดการเข้าถึง Accessibility เพื่อคนทั้งมวลนั้น เห็นว่าเป็นหลักสากลที่จะต้องตระหนักในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ เป็นอารยสถาปัตย์ที่สอดคล้องกับความต้องการ ความจำเป็นของแต่ละคน เพื่อให้มีความสะดวก ปลอดภัย ทั่วถึง เป็นธรรม เท่าเทียม และทันสมัยเป็นปัจจุบันเสมอ
          ผมต้องขอขอบคุณคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ ในคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ได้จัดสัมมนาระดับชาติเรื่อง "เดินหน้ายุทธศาสตร์ AAA สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" ขึ้น เพื่อทำให้ผมเห็นความสำคัญและความตระหนักของการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะเพื่อคนทั้งมวล แม้จุดเริ่มต้นจะให้น้ำหนักไปที่คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส
          ก็ตาม ซึ่งเวทีสัมมนาที่เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2559 นี้ ผมในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เข้ามาร่วมสัมมนาในครั้งนี้ด้วยนั้น ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะนำไปขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ AAA สู่องค์กรท้องถิ่น
          สิ่งที่ผมประทับใจในการสัมมนาครั้งนี้ ผมขอชื่นชมคุณมณเฑียร บุญตัน รองประธานคณะกรรมาธิการสังคมฯ คนที่ 1 ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนหนึ่งในการจัดสัมมนาที่มีประเด็นหัวข้อและโปรแกรมที่น่าสนใจ ทั้งๆที่คุณมณเฑียรเป็นผู้พิการทางสายตาแต่ก็มุ่งมั่นและตั้งใจอย่างดียิ่ง นับตั้งแต่การเชิญ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้ช่วยปาฐกถาสร้างความเข้าใจ เดินหน้าประเทศไทย ยุทธศาสตร์ AAA สู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศไทย
          นอกจากนี้ ยังตามด้วยการจัดให้มีคณะผู้อภิปรายที่มาจากหลากหลายความเชี่ยวชาญ เพื่อจัดอธิบายเรื่องเดินหน้ายุทธศาสตร์AAA สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในเวทีมีทั้ง ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้ภาพความตระหนักด้านระบบคมนาคม ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกุล ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ให้ภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ให้ภาพการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก
          ด้านผู้สูงอายุ นายมณเฑียร บุญตัน ชี้ให้เห็นความสำคัญของความจำเป็นที่จะรณรงค์ให้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ และนายศักดิ์ชัย ยวงตระกูล อดีตอุปนายกสภาสถาปนิกคนที่ 1 ได้ให้ภาพด้านการจัดสภาพอาคารสถานที่เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ และได้กล่าวถึงพระราชบัญญัติการควบคุมอาคารของประเทศไทยที่มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในเชิงปฏิบัติ โดยมีนายกฤษนะละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตถ์เพื่อคนทั้งมวล หรือเราอาจจะรู้จักในนามของนักสื่อสารมวลชนและนักจัดรายการที่โดดเด่นคนหนึ่ง
          ผมประทับใจกรณีตัวอย่างที่ผู้ร่วมอภิปรายแต่ละท่านนำเสนอ ที่สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมของสังคมไทยกับคนบางกลุ่ม บางประเภท และกระตุ้นให้คนในสังคมตระหนักถึงการร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์AAA สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงขอยกตัวอย่างที่ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ ได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพถึงกรณีที่อาจารย์ได้พาคุณแม่ด้วยวัย 84 ปี ซึ่งถือว่าเป็นวัยที่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุไปเที่ยวที่ประเทศอิตาลีในหลายเมืองและชี้ให้เห็นถึงแต่ละเมืองที่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคุณแม่ของอาจารย์ที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้สำหรับผู้สูงอายุ ทั้งในแง่ของการเข้าชมอาคารสถานที่และการเดินทาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ผมย้อนนึกถึงประเทศไทย ว่ากลุ่มผู้สูงอายุของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคตจะสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานที่ ทางเดิน ทางลาด และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆได้อย่างไรที่สังคมไทยจะต้องเตรียมการรองรับกับสังคมผู้สูงอายุ
          ผมเคยมีโอกาสไปประเทศออสเตรีย ได้เห็นการออกแบบการคมนาคมทางถนนที่จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกกับคนทุกเพศทุกวัย เป็นต้นว่าการสร้างถนนที่ต้องมีทางเดินเท้า มีทางคนพิการ มีทางจักรยาน เป็นต้น ซึ่งในเวทีก็ได้มีการกระแทกถึงสังคมไทยที่ "ทางเดินเท้าที่เป็นสิทธิของทุกคนกลายเป็นแหล่งค้าขายสิ่งของต่างๆ"
          นอกจากนี้ แม้แต่การออกแบบรถเมล์และรถโดยสารสำหรับผู้คนที่ควรจะได้รับบริการและเข้าถึง หลายประเทศก็ยังออกแบบให้มีความคล่องตัว เป็นต้นว่าการจอดรถเมล์และบันไดทางขึ้นรถเมล์ที่เป็นแนวระนาบเดียวกัน และก่อให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกต่อกลุ่มคนต่างๆไม่ว่าจะเป็นเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น
          ผมจึงมีข้อเสนอว่าการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ AAA ก็ควรจะให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลในทางปฏิบัติ และผมเห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในฐานะองค์กรท้องถิ่น น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ AAA ในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก จัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ให้คนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งน่าจะเป็นรูปธรรมที่จะเป็นไปได้มากที่สุด โดยเฉพาะการคิดจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นต่อการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากสวัสดิการสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น