วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

คลังหนุนอีเพย์เมนต์เบรกราชการใช้เงินสดจ่ายเบี้ยประชุม

คลังหนุนอีเพย์เมนต์เบรกราชการใช้เงินสดจ่ายเบี้ยประชุม  

ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

          กรม บัญชีกลางออกระเบียบห้ามส่วนราชการกว่า 250 แห่งใช้เงินสด แจงให้โอนผ่าน "KTB Corporate Online" ในการจ่ายเบี้ยประชุม ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าโอที และค่าเดินทางแทน เริ่ม 1 ต.ค.นี้ มั่นใจปีงบประมาณ 2560 การรับ-จ่ายเงินภาครัฐเข้าสู่อีเพย์เมนต์ 100%
          นางสาวอรนุช ไวนุสิทธิ์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตามที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง มีนโยบายต้องการให้ระบบการรับ-จ่ายเงินภาครัฐต้องดำเนินการผ่านระบบ อิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) แบบ 100% จากปัจจุบันดำเนินการแล้วราว 70% นั้น กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยมั่นใจว่าในปีงบประมาณ 2560 ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 นี้ จะสามารถผลักดันการรับ-จ่ายภาครัฐให้ผ่านระบบ e-Payment แบบ 100% ได้
          "ตอน นี้ส่วนที่เหลือ 30% ก็คือ พวกการจ่ายเบี้ยประชุมต่าง ๆ จ่ายค่าล่วงเวลา (โอที) จ่ายค่าการศึกษาบุตร และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งรายการเหล่านี้ปัจจุบันจ่ายเป็นเงินสด ส่วนอีก 70% ที่ดำเนินการไปแล้วก็คือ การจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ลูกจ้างส่วนราชการ ผู้รับบำนาญ ค่ารักษา พยาบาล พวกนี้เราจ่ายตรงเข้าบัญชี อยู่แล้ว รวมถึงการโอนเงินให้กับผู้รับจ้างก็เช่นกัน" นางสาวอรนุชกล่าว
          ล่า สุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมบัญชีกลางได้ออกระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการรับ หรือนำส่งเงิน และจ่ายเงินโดยผ่านระบบ "KTB Corporate Online" ของธนาคารกรุงไทย เพื่อให้ส่วนราชการถือปฏิบัติในการโอนจ่ายค่าเบี้ยประชุมให้กับผู้ร่วม ประชุมห้ามจ่ายเป็นเงินสด ซึ่งกำลังทดลองระบบ จะเริ่มใช้จริงตั้งแต่ 1 ต.ค. 2559 เป็นต้นไป
          "เรามีการออกกฎระเบียบห้ามใช้เงินสด แต่ให้ดำเนินการผ่านระบบ KTB Corporate Online โดยเมื่อ 21 ก.ค. เราก็ได้ทดสอบ โดยเรียกตัวแทนส่วนราชการประมาณ 600 คน มาประชุมเพื่อทำความเข้าใจที่สำนักงบประมาณ คือช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องสร้างความเข้าใจ และปีงบประมาณ 2560 ก็จะดำเนินการให้ได้ 100%" นางสาวอรนุชกล่าว
          นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางจะต้อง หารือกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่ต้องรับเงินจากประชาชน เพื่อผลักดันพัฒนาให้จ่ายทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อไปด้วย เช่น กรมสรรพากรที่รับจ่ายภาษี หรือตำรวจจราจรที่ต้องรับจ่ายค่าปรับจราจร หรือค่าธรรมเนียมกรมที่ดิน เป็นต้น
          "เชื่อว่าเมื่อคนไม่ต้อง จับเงินก็จะไม่ทุจริต โดยเราใช้การดำเนินการผ่านระบบธนาคาร เพราะเราเชื่อมั่น อย่างการเบิกจ่ายงบประมาณก็ทำผ่านระบบ GFMIS ซึ่งการที่เราใช้ระบบของธนาคารกรุงไทย ก็เพราะ ว่าเป็นผู้ให้บริการส่วนราชการอยู่แล้ว เขาแค่พัฒนาต่อยอด และไม่ได้มีการคิดค่า ใช้จ่ายเพิ่ม จากปกติส่วนราชการแต่ละแห่งอาจจะต้องจ่ายค่าบริการตก 4,000 บาท/เดือน แต่นี่กว่า 250 ส่วนราชการไม่ต้องจ่ายเลย" นางสาวอรนุชกล่าว
          นอก จากนี้ โฆษกกรมบัญชีกลางกล่าวด้วยว่า ในเดือน ก.ย.นี้ กรมบัญชีกลางจะเริ่มจ่ายสวัสดิการสังคมผ่านเลขบัตรประชาชน 13 หลัก หรือพร้อมเพย์ กรณีการจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 400 บาท/เดือน เป็นเวลา 36 เดือน ซึ่งมีผู้ได้รับสิทธิ์อยู่กว่า 4.1 หมื่นราย และตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นไปจะจ่ายเพิ่มเป็น 600 บาท/เดือน
          ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า เมื่อ 2 ส.ค. คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การ พัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ 4 ประเด็น ได้แก่ 1.การยื่นแบบแสดงรายการภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) 2.การหักภาษีและนำส่งภาษีทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) 3.การจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีและใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice/ e-Receipt) และ 4.การนำส่งข้อมูลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น