วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

พายุพัด-เพดานอาคารเรียนพัง เหตุสุดวิสัยหรือช่างทำไว้ไม่ดี : วัดกันที่ตรงไหน ?



 ครบเครื่องคดีปกครองวันนี้ มาว่ากันด้วยเรื่องข้อพิพาทเกี่ยวกับ สัญญาทางปกครองซึ่งเป็นสัญญาที่จะต้องมีคู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้กระทำการแทนรัฐ และสัญญานั้นจะต้องมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มี สิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐตกลงให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการหรือร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองซึ่งก็คือการบริการสาธารณะบรรลุผล
 
ก่อนที่จะเข้าเนื้อหาของคดี... เรามารู้จักลักษณะของสัญญาทางปกครองประเภทต่างๆ กัน
 
- สัญญาสัมปทาน คือ สัญญาที่รัฐมอบหมายให้เอกชนเข้ามาจัดทำบริการสาธารณะอย่างหนึ่งอย่างใด ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยเอกชนผู้รับสัมปทานต้องลงทุนและรับความเสี่ยงภัยเอง ซึ่งผู้รับสัมปทานจะมีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมผู้ใช้บริการ และเมื่อสิ้นสุดสัญญาแล้วสิ่งก่อสร้างต่างๆ จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ สัญญาสัมปทานอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ สัญญาสัมปทานบริการสาธารณะ และสัญญาสัมปทานการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น สัญญาสัมปทานเดินรถประจำทาง สัมปทานรถไฟฟ้ามหานคร สัมปทานทำไม้ป่าชายเลน 

- สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ (รวมถึงสัญญาซึ่งมีวัตถุแห่งสัญญาเกี่ยวกับการจัดให้มีเครื่องมือสำคัญที่จำเป็นในการทำให้การบริการสาธารณะบรรลุผล) กล่าวคือ หน่วยงานทางปกครองทำสัญญาให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน อันมีลักษณะเป็นการบริการสาธารณะ เช่น สัญญาจ้างเอกชนกำจัดขยะมูลฝอย สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเรียน สัญญาให้ดำเนินการจัดเก็บรายได้และดูแลพัฒนาตลาดสดของเทศบาล สัญญาจ้างพนักงานราชการ ในตำแหน่งครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียน เพื่อจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแก่ประชาชนหรือชุมชน สัญญาจ้างจัดหาและติดตั้งเครื่องช่วยการเดินอากาศของกรมการบินพาณิชย์ซึ่งเป็นเครื่องมือในการควบคุมการบินเวลาสภาพอากาศไม่ปกติ อันเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะบรรลุผล 

- สัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค คือ การบริการสาธารณะที่จัดทำเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนใน สิ่งอุปโภคที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต อาทิ ไฟฟ้า ประปา การชลประทาน การคมนาคม การสาธารณสุข การสื่อสาร เช่น สัญญาจ้างติดตั้งไฟฟ้าในเขตทางหลวง สัญญาจ้างก่อสร้างระบบระบายน้ำ สัญญาจ้างปรับปรุงแหล่งน้ำธรรมชาติ สัญญาจ้างก่อสร้างถนน สะพาน สวนสาธารณะ สัญญาซื้อขายที่ดินที่จะถูกเวนคืนเพื่อขยายทาง หลวงแผ่นดิน สัญญาจ้างก่อสร้างโรงพยาบาล สถานีอนามัย 

- สัญญาแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คือสัญญาที่รัฐอนุญาตให้เอกชนแสวงหาประโยชน์ต่างๆ จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีการจ่ายค่าตอบแทนแก่รัฐ เช่น สัญญาอนุญาตให้ขุดเจาะน้ำมัน สัญญาให้เก็บมูล ค้างคาว สัญญาให้เอกชนขุดลูกรังในที่ดินของรัฐ 

- สัญญาที่ให้เอกชนเข้าดำเนินการหรือร่วมดำเนินการบริการสาธารณะ เช่น สัญญาเข้าร่วมงานและ ดำเนินกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ภารกิจความรับผิดชอบด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งเพื่อให้ความบันเทิงแก่ประชาชน 

- สัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ เช่น สัญญาของข้าราชการที่ ไปศึกษาต่างประเทศ โดยในข้อสัญญากำหนดว่า เมื่อผู้รับทุนสำเร็จการศึกษาหรือถูกเรียกตัวกลับก่อนสำเร็จ การศึกษา จะต้องเข้ารับราชการตามแผนงานหรือโครงการที่ทางราชการกำหนดต่อไปเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่า ของระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาและในกรณีที่ผิดสัญญาจะต้องชดใช้เงินเดือน เงินทุนที่ได้รับระหว่างการศึกษาและ เงินอื่นใดที่ทางราชการจ่ายให้ในระหว่างการศึกษา พร้อมทั้งต้องชำระเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินที่จะต้องชดใช้คืน จึงเห็นได้ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่หน่วยงานคู่สัญญามีเอกสิทธิ์ที่จะกำหนดข้อสัญญาได้อย่างอิสระเพื่อ ให้บริการสาธารณะบรรลุผล

โดยสัญญาทางปกครองใน 1 สัญญานั้น อาจมีลักษณะของสัญญาทางปกครองมากกว่า 1 ลักษณะ
รู้จักลักษณะของสัญญาทางปกครองแล้ว เรามาต่อกันด้วยตัวอย่างคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่น่าสนใจกันครับ คดีแรก คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ว่าจ้างบริษัทขุนทองให้ก่อสร้างอาคารเรียน 2 ชั้น 1 หลัง หลังจากก่อสร้างเสร็จ บริษัทจึงส่งมอบงาน โดยคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับงานเรียบร้อย แล้ว จากนั้น 2 ปีตามเวลารับประกันผลงาน ผู้อำนวยการโรงเรียนก็ได้แต่งตั้งกรรมการขึ้นเพื่อตรวจสอบความ เรียบร้อยของอาคาร ผลการตรวจสอบไม่ปรากฏว่ามีความชำรุดเสียหายเกิดขึ้น จึงอนุมัติคืนหลักประกันสัญญาแก่ บริษัทขุนทอง

สองปีให้หลัง...ได้เกิดเหตุพายุฝนตกหนักทำให้รางน้ำฝน เชิงชายและฝ้าเพดานของอาคารเรียนทางทิศ เหนือพังลงมา สพฐ.เห็นว่า ความเสียหายดังกล่าวน่าจะเกิดจากการที่ช่างทำไว้ไม่ดี ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงมี หนังสือแจ้งให้บริษัทขุนทองรับผิดชอบซ่อมแซม ตามข้อ 6 วรรคสองของสัญญาจ้าง ที่กำหนดว่า ถ้างานที่จ้างเกิด ชำรุดบกพร่องเสียหายขึ้นเกินระยะเวลา 2 ปี ผู้รับจ้างยังต้องรับผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 600 วรรคหนึ่ง แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือหากมีความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นแก่งานจ้างภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันส่ง มอบงาน บริษัทยังต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงมีหนังสือไปถึงบริษัทขุนทองให้มาดำเนินการซ่อมแซม แต่บริษัทกลับเพิกเฉย โรงเรียนจึงได้ว่าจ้างบริษัทอื่นมาซ่อมแซมแทนและได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัทขุนทองจ่ายค่าซ่อมแซมดังกล่าวตามสัญญา บริษัทขุนทองชี้แจงว่าได้พ้นเวลาประกันผลงาน 2 ปีแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการก่อสร้างไว้ไม่ดี หากแต่เป็นไปตามสภาพการใช้งานที่มิได้หมั่นดูแลรักษาเป็นเหตุให้รางน้ำฝนเกิดการอุดตันจากการ หมักหมมของเศษใบไม้ ประกอบกับในวันเกิดเหตุมีลมพายุและฝนตกหนักจึงทำให้รางน้ำฝนและเพดานไม่สามารถต้านทานน้ำหนักได้ อันถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่มีผู้ใดต้องรับผิด

สพฐ.ไม่เห็นด้วย จึงนำเรื่องให้ศาลปกครองชี้ขาด คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า บริษัทขุนทองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเพื่อความชำรุดบกพร่องของอาคารเรียนหรือไม่ ?

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า บริษัทขุนทองต้องรับผิดตามที่กำหนดไว้ในข้อ 6 วรรคสองของสัญญาจ้าง โดยข้อโต้แย้งที่ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากสภาพการใช้งานที่ไม่หมั่นดูแลรักษา มีการหมกหมมของเศษใบไม้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงอาคารดังกล่าวสูง 2 ชั้น ต้นไม้อยู่ในระดับต่ำกว่าตัวอาคาร จึงไม่อาจมีการ หมกหมมของเศษใบไม้ อีกทั้งแม้ว่าจะมีฝนตกหนักและลมพัดแรง แต่ก็กลับไม่ปรากฏว่ามีอาคารบ้านเรือนราษฎรในบริเวณเดียวกันได้รับความเสียหายแต่อย่างใด เมื่อรางน้ำฝน เชิงชาย และฝ้าเพดานเป็นส่วนของอาคารที่จะต้องมีความแข็งแรงทนทาน ใช้งานได้นาน การที่เกิดกรณีชำรุดเสียหายในเวลาเพียง 4 ปี ทั้งที่เป็นการใช้งานตามปกติ อันแสดงว่าเกิดจากการก่อสร้างไว้ไม่ดี ฉะนั้น บริษัทขุนทองจึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายในความชำรุดบกพร่องของงานจ้างดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย (.498/2556) 

นอกจากนี้ ยังมีกรณี อบต.จ้างก่อสร้างขยายเขตท่อเมนประปาในหมู่บ้าน โดยมีการตรวจรับงานและจ่ายเงินค่าจ้างกันเรียบร้อยแล้ว ต่อมาจึงพบว่ายังมีท่อบางส่วนที่ก่อสร้างไม่ครบถ้วนตามสัญญา แต่ผู้รับจ้างไม่ยอมมาดำเนินการ อบต.จึงต้องว่าจ้างผู้รับจ้างรายอื่นมาดำเนินการแทน ซึ่งกรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดท่านวินิจฉัยว่า ผู้รับจ้างต้องคืนเงินในส่วนที่ก่อสร้างท่อเมนประปาไม่ครบถ้วนตามสัญญาให้แก่ อบต. จะอ้างว่าผู้ตรวจรับงานประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงมาเป็นประโยชน์กับตนมิได้ เนื่องจากเป็นคนละส่วนกัน ผู้รับจ้างจึงต้องรับผิดอันเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างให้ครบถ้วนอันถือเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาต่อผู้ว่าจ้าง (.233/2553) 

สัญญาต้องเป็นสัญญา.....” ฉะนั้น ข้อตกลงที่กำหนดในสัญญาจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผูกพันคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตาม ถึงตรงนี้เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะรู้จักลักษณะของสัญญาทางปกครองกันมากขึ้น ซึ่งข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองนี้ เป็นเรื่องที่อยู่ไมไกลตัวเราเลยครับ...
ครองธรรม ธรรมรัฐ