วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

ขึ้นเขาประชุมที่ ฮาลา-บาลา

         เมื่อวันศุกร์ ที่ ๕ เมษายน  ๒๕๕๖ ก่อนวันหยุดราชการยาวสามวัน ผมได้รับเชิญจากเจ้าหน้าที่กองสวัสดิการสังคม สำนักงานเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ว่าทางกองจะจัดประชุมคณะกรรมการชุมชน ระหว่างวันที่ ๖ - ๗ เมษายน ๒๕๕๖ เพื่อให้ความรู้และร่วมกันจัดทำแผนชุมชนของแต่ละชุมชน ก่อนนำเสนอเทศบาลเพื่อรวบรวมบรรจุเข้าแผนพัฒนาเทศบาลประจำปี จึงอยากให้ผมซึ่งเป็นปลัดเทศบาลไปรับฟังการนำเสนอแผนของแต่ละชุมชน ในวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๖ ซึ่งในการจัดอบรมและจัดทำแผนชุมชนครั้งนี้ ทางกองได้จัดให้มีขึ้นที่ ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา (คำว่าฮาลา-บาลานี่ ตอนแรกผมก็งงเหมือนกันระหว่าง ฮาลา-บาลา กับ บาลา-ฮาลา ว่าใช้คำไหนกันแน่  อะไรขึ้นก่อน อะไรตามหลัง แต่เมื่อสอบถามอาจารย์กรูเกิ้ล แล้ว จึงสรุปได้ว่า ไม่ผิดทั้งสองคำเพราะว่า ฮาลา - บาลา เป็นการรวมเอาคำเรียกของป่าสองป่า คือป่า ฮาลา กับป่า บาลา มาไว้ด้วยกัน
         (อาจารย์กรูเกิ้ล ได้ลงประวัติของการประกาศจัดตั้งเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าไว้ดังนี้ครับ  เนื่องจากป่าฮาลาและป่าบาลาในท้องที่ตำบลจะแนะ ตำบลแว้ง ตำบลแม่ดง ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง ตำบลมาโมง ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส และตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เนื้อที่ประมาณ 270,725 ไร่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อนกันเป็นป่าดิบชื้นที่อุดม สมบูรณ์ เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำหลายสาย มีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองที่สำคัญหลายชนิดอาศัยอยู่อย่างชุกชุม ฉะนั้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งพันธุ์ของสัตว์ป่าและให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของ สัตว์ป่าโดยปลอดภัย รวมทั้งเป็นการช่วยป้องกันรักษาต้นน้ำลำธารและป่าไม้ที่มีอยู่ในพื้นที่แห่ง นี้ให้คงอยู่ถาวรตลอดไป สมควรกำหนดบริเวณที่ดินป่าแห่งนี้ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้ม ครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้กำหนดที่ดินป่าฮาลาและบาลา ในท้องที่ตำบลจะแนะ อำเภอจะแนะตำบลแว้ง ตำบลแม่ดง ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง ตำบลมาโมง ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส และตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ. 2539 ประกาศ ณ วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2539)
          ว่าเรื่องของเราต่อครับ เป็นอันว่าผมก็ตอบตกลงว่าจะไปร่วม โดยทำเป็นเล่นตัวพอเป็นพิธีว่าถ้าถึงเวลาแล้ว ไม่เจอผมก็ดำเนินการได้เลยไม่ต้องรอ (แบบ ลับ ลวง พราง ทำนองนั้น) หลังจากนั้นเย็นวันเสาร์ก็โทร.ไปบอกคนขับรถให้มาขับรถในวันอาทิตย์ตอน ๙ โมงเช้า โดยไม่บอกและชวนคนอื่นไปด้วย เมื่อถึงวันเดินทาง เราก็ออกเดินทางไปกันสองคนกันคนขับรถ ผ่านเทศบาลตำบลแว้ง เทศบาลตำบลบูเก๊ะตา ขึ้นเขาเข้าสู่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา มุ่งหน้าสู่ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะว่าไปแล้วที่นี่ผมเองก็เคยขึ้นมา ๒ หนแล้ว หนแรก ขึ้นมาประชุมสันนิบาตเทศบาลจังหวัดนราธิวาส ตามคำเชิญของเทศบาลตำบลแว้ง ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนั้น และขึ้นมาครั้งที่สอง ก็ตามคำเชิญของกองสวัสดิการสังคมที่จัดอบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยง ในเรื่องของยาเสพติด สำหรับครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม ครับ เมื่อขึ้นไปถึงเจ้าหน้าที่กำลังประชุมกับกรรมการชุมชนอยู่ ก็ยังไม่เข้ไปกวนได้แต่แอบถ่ายรูปเอาไว้ก่อน


         ส่วนตัวผมก็ไปเดินถ่ายรูปเล่นตามประสาของคนชอบถ่ายรูป(แต่ไม่มีฝีมือและไม่ มีกล้องครับ เพราะถ่ายจากมือถือตลอด) สำหรับบริเวณที่ทำการของสถานีรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ จะมีที่ทำการโครงการสำรวจและรวบรวมพันธ์ไม้ดอกไม้ประดับภาคใต้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ซึ่งทำการศึกษาวิจัยเพื่อ รวบรวมพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับในป่าภาคใต้ มาปลูกรวมไว้ในพื้นที่โครงการฯ เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมของไม้ดอกไม้ประดับในป่าภาคใต้ และขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มปริมาณให้มากขึ้น ตั้งอยู่ด้วย แต่ก็ไม่กล้าเดินไปไกลมาก ไม่ใช่เพราะกลัวหรอกครับ แต่พื้นที่เป็นพื้นที่ป่าเขา เดินขึ้นๆลงๆ เป็นหลัก กลัวหมดแรงก่อน บริเวณแห่งนี้จะมีชื่อพันธ์พืชที่มีชื่อเสียงมากคือมีต้นดาหลาขึ้นอยู่มาก ทั้งขึ้นเองตามธรรมชาติ และนำมาปลูกประดับ โดยเฉพาะดอกดาหลาดอกสีขาว ซึ่งมีชื่อเสียงมาก นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งที่มีนกเงือกอาศัยอยู่มาก เป็นที่นิยมของบรรดานักดูนกทั้งหลาย จะมาพักเพื่อดูนกเงือกโดยเฉพาะ


       สำหรับผมเองยังได้เคยลิ้มลองชาดอกดาหลา ซึ่งทางโครงการสำรวจฯ ได้ทดลองผลิต เพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับพืชพันธุ์ของไทยอีกด้วย รดชาดไม่เลวทีเดียว ประมาณออกเผ็ดนิดๆ แปลกไปอีกแบบครับ นอกจากดาหลาดอกสีขาวแล้ว ดอกไม้อีกชนิดที่ผมติดใจก็เป็นยี่โถปีนังครับ เคยขอพันธ์ลงไมปลูกที่บ้าน แต่ต้นไม่ยอมโต เข้าใจว่าดินคงไม่ดีเท่าบนเขา

        หลังจากนั้นก็เป็นกระบวนการเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังแผนพัฒนาชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาข้อข้องใจที่สอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของคณะ กรรมการชุมชนเสียมากกว่า (ส่วนตัวแผนของชุมชนนั้น ทางคณะกรรมการชุมชนบอกเมื่อทำเป็นเอกสารเสร็จจะนำมามอบให้อีกครั้งหนึ่ง) ผมเองก็ยังมองปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของคณะกรรมการชุมชนในเขตเทศบาลมา โดยตลอด เช่น การรับรองสถานะของคณะกรรมการชุมชน ในปัจจุบันในเขตเทศบาลต่างๆมีการจัดตั้งชุมชนและคณะกรรมการชุมชนกันอย่าง แพร่หลาย สถานะของคณะกรรมการชุมชน กฎเกณฑ์กติกา การจัดตั้งชุมชน สมควรมีระเบียบ กฎหมายออกมารองรับแล้วหรือยัง เพราะในปัจจุบันในส่วนของเทศบาลเองก็ใช้คณะกรรมการชุมชนเองเป็นองค์กรหลักใน การดูแลพื้นที่ รัฐบาลเองก็ใช้โดยการพัฒนาตามโครงการต่างๆของรัฐบาล เช่น โครงการ SML กองทุนชุมชนเมือง ฯลฯ ผมคิดว่าในอนาคต สตง.อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมการชุมชน เหมือนกับหลายๆกิจกรรมที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดนท้วงติงมาแล้ว ก็ได้
         อีกปัญหาหนึ่งที่เรียกร้องกันมานาน ก็คือค่าตอบแทนของคณะกรรมการชุมชน ได้หรือไม่ได้ มีหรือไม่มี เบิกจ่ายเป็นค่าเบี้ยประชุมได้หรือไม่  อันนี้เราเองก็ต้องยอมรับในประเด็นที่ว่าในโลกปัจจุบัน หลายๆหน่วยงานของรัฐ ได้ใช้เงินเป็นตัวขับเคลื่อนการทำงาน (ผมไม่ใช้คำว่าขับเคลื่อนการพัฒนานะครับ) จนเกิดการเปรียบเทียบ ทำไมองค์กรนั้นได้เงินค่าตอบแทน องค์กรนั้นมีค่าเบี้ยประชุม องค์กรนั้นมีค่าน้ำมันรถให้ ทำไมผมไม่มีอะไรเลย งานก็หนัก ทำนองนี้ครับ
          เทศบาลสร้างที่ทำการชุมชนให้ได้หรือไม่ ถ้าสร้างแล้วสภาพหรือสถานะของที่ทำการชุมชนจะอยู่อย่างไร อันนี้ก็เป็นปัญหามาตลอดเหมือนกัน คือชุมชนก็อยากได้ที่ทำการชุมชน เทศบาลเองก็ไม่กล้าสร้าง เพราะ งบประมาณตั้งได้หรือไม่ (ไม่แน่ใจระเบียบ) ที่ดินถ้าเป็นที่ดินเอกชน สร้างไปแล้วมีปัญหาหรือไม่ วันดีคืนดี เจ้าของที่ดินไม่อยากให้ใช้ที่ดินแล้ว เดือดร้อนต้องรื้อต้องย้ายกันอีก อะไรทำนองนี้ แหมปัญหามันยังเยอะอยู่เลย
           ทำไมแผนชุมชนทำกันทุกปี แต่ไม่ค่อยจะได้รับงบประมาณสนับสนุนเลย  ทางชุมชนก็น้อยใจเหมือนกัน ถามทุกปีก็ได้รับคำตอบว่าอยู่ในแผนพัฒนาของเทศบาลแล้ว อันนี้คำถามออกแนวน้อยใจปนบ่นเล็กๆ ก็มันอยู่ในแผนพัฒนาของเทศบาลจริงๆนี่น่า แต่มันไม่อยู่ในงบประมาณอะครับ  เทศบาลมีงบพัฒนาเทศบาลประมาณปีละยี่สิบล้านบาท แต่แผนที่เสนอมาตัดแล้วตัดอีก จากแปดร้อยล้านเหลือร้อยกว่าล้าน ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด นะครับ จะไปกู้แบบรัฐบาลสักล้านล้านๆ ก็คงทำไม่ได้
           ถามกันไป ตอบกันไป เครียดบ้าง สนุกสนานกันบ้าง จนเที่ยงครึ่ง เลยเวลาอาหารไปเยอะ ก็เลยต้องขอจบ เพื่อให้ทุกท่านได้รับประทานอาหารกลางวันกัน ก่อนขึ้นรถเดินทางกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ
และต้องขออภัยต่อท่านปลัดเทศบาลตำบลแว้ง และปลัดเทศบาลตำบลบูเก๊ะตา ด้วยนะครับที่ผ่านพื้นที่โดยไม่ขออนุญาต ไม่บอกกล่าว เนื่องจากเกรงใจครับ วันหยุดหลายวันไม่กล้ารบกวน

วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2556

ให้ถ้อยคำเป็นพยาน .... สุดท้ายกลายเป็นผู้รับผิด


ให้ถ้อยคำเป็นพยาน .... สุดท้ายกลายเป็นผู้รับผิด

จัดทำโดยนางสาวนิตา บุณยรัตน์พนักงานคดีปกครองชำนาญการ
กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร
สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง

ในทางปฏิบัติของการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยในกรณีข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานภาครัฐถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 หรือตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลภาครัฐอื่นๆ หรือในขั้นตอนการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

กฎหมายเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจหน้าที่สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานต่างๆ ทั้งจากการสอบสวนบุคคลที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้มีพฤติการณ์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากระทำความผิด หรือจากพยานบุคคลและจากเอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาหรือไม่ อย่างไร หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐมีการกระทำละเมิดเกิดขึ้นหรือไม่และใครต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพียงใด ซึ่งในขั้นตอนดังกล่าวเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่สอบสวนจะต้องให้โอกาสคู่กรณีได้ชี้แจงข้อเท็จจริง โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ก่อนที่ผู้มีอำนาจจะทำคำสั่งทางปกครอง มาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 อันเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิของคู่กรณีให้ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการพิจารณาทางปกครองก่อนมีคำสั่งทางปกครอง ซึ่งในทางวิชาการจะเรียกสิทธิชนิดนี้ว่า
“สิทธิได้รับการรับฟัง” (Droit de présentation de la défense ou droit d’être entendu) หรือ “สิทธิที่จะถูกรับฟัง” (Right to be heard) และสิทธิของคู่กรณีชนิดนี้ถือเป็นขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดบังคับให้ฝ่ายปกครองต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนจะมีผลทำให้คำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการสอบสวนทางวินัยหรือสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดอาจพบว่ามีการกระทำความผิดอื่นๆ อีก เช่น พบว่าพยานบุคคลที่เป็นผู้เข้ามาให้ปากคำต่อคณะกรรมการในฐานะพยานเป็นผู้กระทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงานของรัฐนั้นด้วยก่อนออกคำสั่งทางปกครองให้บุคคลดังกล่าวชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะต้องให้โอกาสชี้้แจงข้อเท็จจริง โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้หรือไม่ ? และหากก่อนออกคำสั่งได้มีการเรียกบุคคลดังกล่าวมาสอบปากคำเพิ่มเติม การสอบปากคำเพิ่มเติมที่ยังคงระบุสาระสำคัญว่า เป็นการสอบปากคำในฐานะพยาน ถือเป็นการให้โอกาสคู่กรณีชี้แจงข้อเท็จจริง โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน หรือไม่

อุทาหรณ์คดีปกครองที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังฉบับนี้ เป็นเรื่องของการใช้อำนาจออกคำสั่งทางปกครองให้ผู้ที่ถูกเรียกเข้ามาให้ปากคำเป็นพยานชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยข้อเท็จจริงในคดีนี้สืบเนื่องจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กระทรวงการคลัง) มีหนังสือแจ้งไปยังปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่า นาย ร. ผิดสัญญาลาศึกษาแพทย์ต้องชดใช้ทุนทั้งหมดจ านวน 560,306.85 บาท แต่หน่วยงานต้นสังกัดเรียกให้ชดใช้ทุนได้เพียง 373,537.89 บาท ท าให้รัฐได้รับความเสียหาย จำนวน 186,768.96 บาท ซึ่งความเสียหายดังกล่าวอาจเกิดจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการทำสัญญาลาศึกษาต่อที่ไม่ได้จัดให้นาย ร. ทำสัญญาใหม่ตามที่ได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลังทำให้หน่วยงานไม่สามารถเรียกเงินค่าปรับซึ่งเป็นส่วนต่างตามสัญญาเดิมกับสัญญาใหม่ได้

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีษะเกษ) จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการทำสัญญาลาศึกษาต่อ ในชั้นสอบข้อเท็จจริง คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้สอบปากคำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ฟ้องคดีในฐานะพยาน ผลการสอบสวนเป็นข้อยุติว่า ไม่มีผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่หลังจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมบัญชีกลาง) ได้รับรายงานก็ได้มีความเห็นให้สอบข้อเท็จจริงผู้ฟ้องคดีซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการทำสัญญาลาศึกษาต่อเพิ่มเติม ต่อมาหลังจากได้รับรายงานแล้วได้มีความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ดำเนินการจัดให้มีการทำสัญญาลาศึกษาใหม่กับนาย ร. เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหายผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงมีคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เบี้ยปรับจ านวน 186,768.96 บาท ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่เคยได้รับหนังสือเวียนของกระทรวงการคลังและไม่ได้รับโอกาสชี้แจง โต้แย้ง แสดงพยานหลักฐานใดๆ

การที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้มีการสอบปากคำผู้ฟ้องคดีเพิ่มเติม จะถือว่าได้ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีชี้แจงโต้แย้งแล้วหรือไม่และคำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีรับฟังได้หรือไม่ ?

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อการสอบข้อเท็จจริงได้สอบปากคำผู้ฟ้องคดีโดยระบุว่าสอบปากคำในฐานะพยานเท่านั้น ซึ่งไม่ปรากฏว่าได้มีการแจ้งสิทธิให้ผู้ฟ้องคดีทราบเพื่อให้มีโอกาสได้ชี้แจงข้อเท็จจริง โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะข้ออ้างเกี่ยวกับการที่ไม่เคยได้รับหนังสือเวียนของกระทรวงการคลังและไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่จนทำให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานต้นสังกัด อันเป็นขั้นตอนที่สำคัญตามหลักทั่วไป ในการพิจารณาทางปกครองก่อนออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และข้อ 15 ของระเบียบส านักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และถึงแม้จะมีการสอบปากคำผู้ฟ้องคดีเพิ่มเติมแต่ก็เป็นการสอบปากคำในฐานะพยาน การออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตามความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่  อ. 399/2555)

คดีนี้ถือเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีเกี่ยวกับการด าเนินการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดหรือแม้กระทั่งการสอบสวนทางวินัยโดยก่อนที่ผู้มีอำนาจจะออกคำสั่งทางปกครองที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของบุคคลใดในกระบวนการพิจารณาทางปกครองจำเป็นจะต้องให้โอกาสบุคคล
ดังกล่าวได้ชี้แจง โต้แย้ง แสดงพยานหลักฐานเพื่อปกป้องสิทธิของเขา และยังเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับ
หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ตระหนักรู้และระมัดระวังในการทำหน้าที่สอบปากคำบุคคล
ในฐานะพยานในกระบวนการสอบข้อเท็จจริงหรือสอบสวนทางวินัยว่า เป็นเพียงการแสวงหาข้อเท็จจริง
เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นประกอบคำวินิจฉัยของผู้มีอำนาจเท่านั้น หากฝ่ายกครอง
จะใช้อำนาจออกคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของบุคคลที่เข้ามาเป็นพยาน ก็จำเป็นจะต้องคุ้มครองสิทธิของบุคคลดังกล่าวตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระส าคัญที่กฎหมายกำหนดไว้การที่ฝ่ายปกครองไม่ได้แจ้งสิทธิและหน้าที่ให้บุคคลดังกล่าวได้ทราบและไม่เปิดโอกาสให้ได้ชี้แจง โต้แย้งหรือแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอเพื่อปกป้องสิทธิของตนก่อนมีคำสั่งทางปกครอง นอกจากจะเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการแสวงหาข้อเท็จจริงในกระบวนการสอบข้อเท็จจริงหรือกระบวนการสอบสวนในอันที่จะได้รับความร่วมมือและความไว้วางใจจากพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกด้วย