วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อนุมัติให้จัดประชุม ... ต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ ?

อนุมัติให้จัดประชุม ... ต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ ?

นางสาววชิราภรณ์ คงกัลป์ พนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ

กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร

สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง

พระราชบัญญัติเทศบาล พ.. ๒๔๙๖ มาตรา ๔๘ จตุทศ ได้บัญญัติให้ นายกเทศมนตรีรองนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี และเลขานุการนายกเทศมนตรี ต้องไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ... () เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่เทศบาลนั้นเป็นคู่สัญญา หรือในกิจการที่กระทำให้แก่เทศบาลนั้น หรือที่เทศบาลนั้นจะกระทำหากนายกเทศมนตรีได้กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรี (ตามมาตรา ๔๘ ปัญจทศ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน)

แต่ด้วยเหตุที่พระราชบัญญัติเทศบาล พ.. ๒๔๙๖ ไม่ได้ให้ความหมายของการกระทำในลักษณะของการเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่เทศบาลเป็นคู่สัญญาไว้ การวินิจฉัยจึงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของพฤติการณ์ในแต่ละกรณีประกอบกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัติของกฎหมายเป็นหลักอย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาวางแนวทางการวินิจฉัยไว้หลายคดี ซึ่งหน่วยงานของรัฐหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถนำไปเทียบเคียงหรือปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ดังเช่นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี และได้คะแนนลำดับสองรองจากนาง ป. ได้ร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดี (ผู้ว่าราชการจังหวัด) กล่าวหานาง ป. ว่า ในขณะดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี(ในวาระที่ผ่านมา) มีพฤติการณ์หรือการกระทำที่เข้าข่ายเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาหรือกิจการที่เทศบาลกระทำกับบริษัท อ. จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ประกอบกิจการโรงแรม อ. ซึ่งแม้นาง ป. จะลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทแล้วแต่ได้ให้สามีและบุตรดำเนินการแทน โดยในการประชุม สัมมนาตามโครงการต่างๆ ของเทศบาลได้จัดที่โรงแรมดังกล่าว

ผู้ถูกฟ้องคดีได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามข้อร้องเรียนซึ่งสรุปผลการสอบสวนว่า เทศบาลได้ทำสัญญากับโรงแรม อ. ซึ่งมีนาง ด. บุตรของนาง ป. เป็นกรรมการมีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัท อ. จำกัด และไม่ปรากฏว่านาง ป. เป็นผู้ถือหุ้นหรือมีอำนาจบริหารจัดการบริษัท อ. จำกัด และมิได้มีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใดๆที่แสดงว่านาง ป. ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกเทศมนตรีสั่งการหรือดำเนินการอย่างใด เพื่อให้เทศบาลทำสัญญากับโรงแรม อ. ในการจัดประชุมสัมมนา ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีคำวินิจฉัยว่า นาง ป. ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่เทศบาลกระทำกับโรงแรม อ.

ผู้ฟ้ องคดีเห็นว่าคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีที่จะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีหากนาง ป. เป็นผู้ขาดคุณสมบัติ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าว

ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของบริษัท อ. จำกัด และความเกี่ยวพันระหว่างบริษัท อ. จำกัดและนาง ป. ว่า

นาง ป. เป็นผู้เริ่มก่อการและจัดตั้งบริษัท อ. จำกัด และบริหารกิจการของบริษัท อ. จำกัด และธุรกิจโรงแรม อ. มาโดยตลอดก่อนที่จะโอนหุ้นทั้งหมดให้บุตร ต่อมาบริษัท อ. จำกัด ได้รับการพิจารณาอนุมัติจากธนาคารให้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยมีข้อกำหนดให้โอนหลักทรัพย์จำนองเป็นที่ดินรวม ๑๗ แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรม อ. ชำระหนี้ธนาคาร โดยธนาคารให้สิทธิแก่ลูกหนี้ซื้อคืนหลักทรัพย์ภายใน ๕ ปี และกรรมสิทธิ์ในโรงแรม อ. ได้โอนเป็นของธนาคาร แต่ธนาคารให้สิทธิกับบริษัท อ. จำกัด เช่าที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรม อ. ได้ภายในกำหนดระยะเวลา บริษัท อ. จำกัด จึงสามารถประกอบกิจการโรงแรม อ. ภายในขอบวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัทได้ นาง ด. บุตรของนาง ป. ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจจัดการแทนบริษัทจึงมีอำนาจบริหารกิจการของบริษัท อ. จำกัด และโรงแรม อ. ภายใต้เงื่อนไขตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว

การที่นาง ป. ขณะดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีอนุมัติโครงการประชุมสัมมนาต่างๆ ของเทศบาลให้จัดขึ้นที่โรงแรม อ. โดยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นจะถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่เทศบาลนั้นเป็นคู่สัญญาหรือไม่ ?

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า แม้ว่าบริษัท อ. จำกัด จะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้นโดยมีกรรมการเป็นผู้แทนนิติบุคคล ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามมติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นตามมาตรา ๑๑๔๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่และนาง ด. ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทต่างก็เป็นบุตรของนาง ป. แม้นาง ป. และสามีจะไม่มีหุ้นอยู่ในบริษัทแล้ว แต่โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรบิดามารดาย่อมต้องให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลบุตรของตนอยู่เสมอแม้บุตรจะบรรลุนิติภาวะหรือมีครอบครัวแล้วก็ตามส่วนบุตรก็มีหน้าที่ทางศีลธรรมจรรยาที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา และเมื่อพิจารณาถึงภาระหนี้สินตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก ประกอบกับการที่นาง ป. เป็นผู้เริ่มก่อการและจัดตั้งบริษัท อ. จำกัดและบริหารกิจการของบริษัทและบริหารธุรกิจโรงแรม อ. ก่อนที่จะโอนหุ้นให้แก่บุตร ย่อมไม่อาจยอมให้นาง ด.บุตรของตนซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทต้องเดือดร้อนเสียหาย อีกทั้งทรัพย์สินของบริษัท อ. จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวอาจจะต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลภายนอกตลอดไปหากผู้บริหารบริษัทไม่สามารถชำระหนี้ดังกล่าวได้ทั้งหมด และการผิดนัดชำระหนี้ตามเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีผลให้ธนาคารมีสิทธิเลิกสัญญาดังกล่าวได้ ดังนั้น นาง ป. จึงต้องให้ความช่วยเหลือแก่บริษัท อ. จำกัด และโรงแรม อ.ทางอ้อม เพื่อให้กิจการมีรายได้มากขึ้นหรือเพียงพอที่จะปลดเปลื้องภาระหนี้สินทั้งหมดและซื้อหลักทรัพย์จำนองรวมทั้งธุรกิจโรงแรม อ. คืนจากธนาคารก่อนครบกำหนดเวลาซื้อคืนภายใน ๕ ปี ด้วยวิธีการพิจารณาอนุมัติโครงการประชุมสัมมนาต่างๆ ของเทศบาลให้จัดขึ้นที่โรงแรม อ. ดังกล่าวเมื่อการอนุมัติได้กระทำในขณะนาง ป. ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี และนาง ป. ก็เลือกที่จะจัดประชุมสัมมนาที่โรงแรม อ. จึงเป็นการใช้อำนาจในการพิจารณาเลือกสถานที่จัดประชุมสัมมนา โดยมีเจตนาที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท อ. จำกัด เพื่อให้มีรายได้เพียงพอที่จะปลดเปลื้องภาระหนี้สินมิให้ผิดสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคาร และสามารถซื้อหลักทรัพย์จำนองรวมทั้งธุรกิจโรงแรม อ. คืนจากธนาคารก่อนครบกำหนดเวลาซื้อคืน

นาง ป. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยทางอ้อมในสัญญาที่เทศบาลเป็นคู่สัญญากับโรงแรม อ. (มาตรา ๔๘จตุทศ วรรคหนึ่ง () แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.. ๒๔๙๖) อันเป็นผลให้นาง ป. ต้องตกเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี (มาตรา ๔๕ (๑๗) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.. ๒๕๔๕ ประกอบมาตรา ๔๘ เบญจ () แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.. ๒๔๙๖) และต้องพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๘ เบญจ และกระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๔๘ จตุทศ (ตามมาตรา ๔๘ ปัญจทศ วรรคหนึ่ง () และ () แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.. ๒๔๙๖)พิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๕๐๙/๒๕๕๔)

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วางบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดี ไม่เพียงแต่เฉพาะข้าราชการส่วนท้องถิ่นเท่านั้นที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการใช้อำนาจของตนไปในทางที่จะเป็นการเอื้อประโยชน์ทั้งต่อตนเองและบุคคลอื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แม้การกระทำดังกล่าวจะมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการโดยตรงก็ตาม ที่สุดแล้วก็ถือเป็นการกระทำที่มีความผิดทางวินัยทั้งสิ้น และโดยเฉพาะข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ดำรงตำแหน่งทางบริหารดังเช่นนายกเทศมนตรีย่อมจะต้องตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่า การเข้าไปมีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่เทศบาลเป็นคู่สัญญา แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับคู่สัญญาโดยตรงในฐานะเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นก็ตาม แต่หากการกระทำนั้นมีลักษณะที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กิจการที่บุคคลใกล้ชิดในครอบครัวควบคุมดูแล ย่อมถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียอันจะเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวต้องพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีและต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีอีกด้วย

วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

นายทะเบียนราษฎรรับรองข้อมูลไม่ถูกต้อง ... ต้องรับผิดหรือไม่ ?


นายทะเบียนราษฎรรับรองข้อมูลไม่ถูกต้อง ... ต้องรับผิดหรือไม่ ?

นางสาวจารุณี กิจตระกูล พนักงานคดีปกครองชำนาญการ
กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร
สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง

เป็นที่ทราบว่าหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมาย ให้อำนาจไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งทาหน้าที่ติดต่อและให้ข้อมูล แก่ประชาชน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องตรงกับความต้องการ แต่ถ้าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นเหตุให้ประชาชนที่มาติดต่อขอทราบข้อมูลได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นปัจจุบัน ประชาชนหรือบุคคลที่ได้รับ ความเดือดร้อนเสียหายจากการให้ข้อมูลหรือรับรองข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนั้น จะมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองหรือไม่ และหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดต่อบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด ?

มีตัวอย่างที่น่าสนใจซึ่งเป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งต่อสำนักทะเบียนท้องถิ่นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2542 เพื่อขอย้ายที่อยู่จากจังหวัดราชบุรีไปอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และได้แจ้งต่อสำนักทะเบียนท้องถิ่นกรุงเทพมหานครเพื่อย้ายเข้าตามที่อยู่ใหม่แล้ว ต่อมา พันเอก ช. ได้เป็นโจทก์ฟ้องผู้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดราชบุรี โดยได้ระบุที่อยู่ใหม่ในคำฟ้องคดีดังกล่าว ซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว พันเอก ช. จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้บังคับคดีและได้มีหนังสือยื่นคำขอยึดทรัพย์ ต่อสานักงานบังคับคดีจังหวัดราชบุรี โดยได้นำแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรที่สำนักทะเบียนท้องถิ่น จังหวัดราชบุรีออกให้ไปยื่น ซึ่งตามแบบรับรองดังกล่าวระบุว่าผู้ฟ้องคดีอยู่ที่บ้านเลขที่เดิมในจังหวัดราชบุรี สำนักงานบังคับคดีจึงได้ส่งหมายบังคับคดีไปยังที่อยู่ดังกล่าวซึ่งเป็นที่อยู่เดิมของผู้ฟ้องคดี เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่ทราบถึง การบังคับคดี โดยผู้ฟ้องคดีได้รับทราบภายหลังซึ่งล่วงพ้นระยะเวลาไปแล้ว 4 เดือน และเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีต้องชำระค่าดอกเบี้ยจากการผิดนัดชำระหนี้เต็มจำนวน

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการที่ตนต้องเสียดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลานับแต่วันแจ้งหมายบังคับคดีถึงวันที่ทราบว่ามีการออกหมายบังคับคดีนั้น เกิดจากความบกพร่องของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง) ที่ออกใบรับรองรายการทะเบียนราษฎรไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง จึงได้มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย แต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้เงินค่าดอกเบี้ยที่ผู้ฟ้องคดีต้องเสียเพิ่มขึ้นโดยไม่สมควร เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องของเจ้าพนักงาน ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1

ข้อกฎหมายสำคัญในคดีนี้ คือ พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.. 2534 มาตรา 8 บัญญัติว่าให้มีสำนักทะเบียนและนายทะเบียนเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนี้ (1) สำนักทะเบียนกลางมีอธิบดีกรมการปกครองเป็นผู้อำนวยการทะเบียนกลาง มีหน้าที่รับผิดชอบและควบคุมการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎร ทั่วราชอาณาจักร ... (5) สำนักทะเบียนท้องถิ่น มีนายทะเบียนท้องถิ่นและผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่นเป็นนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนท้องถิ่น มีหน้าที่รับผิดชอบและควบคุมการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรในเขตปกครอง ท้องถิ่นนั้นๆ” 

มาตรา 12 บัญญัติว่าเพื่อประโยชน์ในการเก็บรักษาและควบคุมการทะเบียนราษฎร การตรวจสอบพิสูจน์ตัวบุคคลและประมวลผลข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร ให้สำนักทะเบียนกลางดำเนินการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรตามที่ผู้อำนวยการสานักทะเบียนกลางกำหนด และปรับปรุงข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรให้ตรง ต่อความเป็นจริงอยู่เสมอ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

การกระทำของสำ นักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้ องคดีหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าเป็นหน้าที่ของสำนักทะเบียนกลางที่จะต้องปรับปรุงข้อมูล การทะเบียนราษฎรให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้แจ้งย้ายที่อยู่โดยปรากฏ หลักฐานจากใบแจ้งการย้ายที่อยู่ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2542 ซึ่งสำนักทะเบียนท้องถิ่นจังหวัดราชบุรีเป็นผู้ออกให้แก่ ผู้ฟ้องคดี แต่ในการออกใบรับรองรายการทะเบียนราษฎรจากฐานข้อมูลการทะเบียน สำนักทะเบียนกลาง ให้แก่พันเอก ช. (เจ้าหนี้ตามคำ พิพากษาของผู้ฟ้องคดี) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2546 สำนักทะเบียนท้องถิ่นจังหวัดราชบุรีกลับระบุว่า ผู้ฟ้องคดียังคงมีที่อยู่เดิม ข้อมูลการทะเบียนราษฎรที่ออกให้แก่พันเอก ช. จึงเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นปัจจุบันและไม่ถูกต้อง ตามความเป็นจริง ดังนั้น เมื่อมีการนำ หนังสือรับรองดังกล่าวไปแสดงต่อสา นักงานบังคับคดีจังหวัดราชบุรีเพื่อใช้เป็น ที่อยู่ในการแจ้งหมายบังคับคดี จึงทำ ให้ผู้ฟ้ องคดีไม่ได้รับหมายบังคับคดีภายในระยะเวลาอันสมควร เป็นเหตุให้ ต้องชาระค่าดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไปเป็นจำนวนมากกว่าที่จะต้องจ่ายหากได้รับทราบถึงหมายบังคับคดี ในกรณีที่มีการส่งหมายตามที่อยู่จริง
กรณีจึงถือได้ว่าการกระทำของนายทะเบียนท้องถิ่นจังหวัดราชบุรี สังกัดสำนักทะเบียนกลาง เป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายต่อผู้ฟ้องคดี และการที่ผู้ฟ้ องคดีต้องเสียดอกเบี้ยมากกว่า ที่จะต้องเสียนั้น ถือเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นและเป็นผลโดยตรงจากการที่เจ้าหนี้ตามคำ พิพากษาได้นำแบบรับรอง รายการทะเบียนราษฎรจากฐานข้อมูลการทะเบียนที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ไปแสดงต่อสำนักงานบังคับคดีเพื่อใช้เป็น ที่อยู่ในการแจ้งหมายบังคับคดี

กรมการปกครองในฐานะหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของนายทะเบียนท้องถิ่น จะต้องรับผิดชดใช้ เงินดอกเบี้ยที่ผู้ฟ้ องคดีต้องเสียไปหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้ องคดีที่ 2 (กรมการปกครอง) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่นายทะเบียนดังกล่าวอยู่ในสังกัด ต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการ ปฏิบัติหน้าที่ตามนัยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.. 2539 และการที่มีการ แจ้งหมายบังคับคดีโดยระบุที่อยู่ไม่ถูกต้องตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2546 และผู้ฟ้องคดีทราบเหตุดังกล่าวประมาณ เดือนตุลาคม 2546 จึงถือเอาวันที่ 31 ตุลาคม 2546 เป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีทราบ ซึ่งคิดเป็นระยะเวลา 120 วัน รวมค่าเสียหาย เป็นเงิน 18,085 บาท (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 302/2554)

คดียังปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่า ผู้ฟ้องคดีมิได้มีคำขอเพื่อเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าเสียหาย เข้ามาในคดี ศาลปกครองจึงไม่สามารถวินิจฉัยให้ดอกเบี้ยจากจำนวนเงินค่าเสียหายนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา จนถึงวันที่ชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ เนื่องจากศาลไม่อาจมีคำพิพากษาเกินคำขอ ดังนั้น หากผู้ฟ้องคดีต้องการ ได้รับดอกเบี้ยในคดีที่ฟ้องขอให้มีการชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่าใด ก็ควรต้องมีคำขอเข้ามาในคำฟ้องเพื่อให้ ศาลวินิจฉัยในส่วนของเงินดอกเบี้ยให้ นอกจากนั้น คดีนี้ยังเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสาหรับหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและให้อำนาจไว้ โดยต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ และระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ประชาชนที่มาใช้บริการจากหน่วยงานของรัฐได้รับบริการที่ดี ถูกต้อง ตามความต้องการ และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของประชาชนผู้มาใช้บริการ

วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ขับรถยนต์เกิดอุบัติเหตุ (ไม่) “เบี่ยงเบน” จากมาตรฐาน



ขับรถยนต์เกิดอุบัติเหตุ (ไม่) “เบี่ยงเบนจากมาตรฐาน

(วารสารกรมประชาสัมพันธ์ คอลัมน์กฎหมายใกล้ตัว ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕)
นางสาวจารุณี กิจตระกูล พนักงานคดีปกครองชำนาญการ
กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร
สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง

ย่างเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ชาวไร่ชาวนาหรือผู้ที่ประกอบอาชีพกสิกรรมอาจรู้สึกดีใจที่จะได้เริ่มเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรกันอย่างจริงจังเสียที แต่สำหรับผู้ที่ต้องใช้รถใช้ถนนในการสัญจรไปมาอาจจะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการขับขี่ยวดยานพาหนะ เพื่อมิให้เกิดอุบัติเหตุในระหว่างการเดินทางอันจะนามาซึ่งความสูญเสียทั้งแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่นก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะของทางราชการหรือผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงในการใช้รถยนต์ของทางราชการแล้ว ยิ่งจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นกว่าในกรณีปกติหลายเท่า เพราะการเกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายจากการใช้รถยนต์ของทางราชการอาจต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และอาจพ่วงความผิดทางวินัยเข้าไปด้วยก็ได้

ดังเช่นคดีตัวอย่างที่จะนำมาเป็นอุทาหรณ์ฉบับนี้ เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ (ผู้ฟ้องคดี) ได้รับมอบหมายให้ขับรถยนต์ของทางราชการไปราชการที่ต่างจังหวัด และเกิดอุบัติเหตุขึ้นในระหว่างการเดินทางที่มีฝนตก ถนนเปียกตลอดทาง และผลของการเกิดอุบัติเหตุทำให้ข้าราชการที่นั่งในรถยนต์ได้รับบาดเจ็บหลายคน ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้รับโทษ ทางอาญาข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้รถของผู้อื่นได้รับความเสียหายและมีผู้ได้รับอันตรายแก่กายและได้รับอันตรายสาหัส โดยหน่วยงานของรัฐได้มีคำสั่งให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทางราชการ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่ง

ข้อเท็จจริงในคดีรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีซึ่งรับราชการทหาร ตำแหน่งพลขับรถ สังกัดหมวดรถยนต์บรรทุก กองทัพเรือ ได้รับคำสั่งให้ขับรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่เพื่อรับส่งเจ้าหน้าที่สรรพาวุธไปซ่อมยุทโธปกรณ์จาก ฐานทัพเรือสัตหีบไปปฏิบัติราชการที่ฐานทัพเรือสงขลา โดยมีพันจ่าเอก ท. เป็นพลขับ ส่วนผู้ฟ้องคดีทำหน้าที่ผู้ช่วยพลขับ และในเวลากลางคืนของวันเกิดเหตุซึ่งผู้ฟ้องคดีทาหน้าที่พลขับ มีฝนตกพรำๆ ตลอดทาง ถนนเปียก บริเวณที่เกิดเหตุไม่มีแสงสว่าง ผู้ฟ้องคดีขับรถอยู่ในช่องทางเดินรถด้านซ้าย มีรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่จอดอยู่ไหล่ทางด้านซ้ายและ มีรถจักรยานยนต์วิ่งสวนมาบนไหล่ทางในช่องทางเดินรถทางด้านซ้าย และขับตัดหน้ารถยนต์ที่ผู้ฟ้องคดีขับมา ในช่องทางเดินรถด้านขวาอย่างกระชั้นชิด ผู้ฟ้องคดีจึงเหยียบห้ามล้อและหักหลบรถจักรยานยนต์ไปทางซ้าย ทำให้รถยนต์ที่ผู้ฟ้องคดีขับมาไถลลื่นไปเฉี่ยวชนท้ายรถยนต์บรรทุกที่จอดอยู่และเสียการทรงตัวพลิกคว่ำตกลงไปข้างทาง ทำให้ผู้ที่โดยสารมากับรถยนต์คันดังกล่าวบาดเจ็บและรถยนต์ของทางราชการได้รับความเสียหาย

กองทัพเรือได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแล้วมีความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทางราชการ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (กระทรวงการคลัง) โดยคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งมีความเห็นว่า พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทางราชการร้อยละ ๗๕ ของค่าเสียหายทั้งหมด พร้อมค่าเสียหายอื่น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (ผู้บัญชาการทหารเรือ) จึงมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ตามความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และปลัดกระทรวงกลาโหมไม่เห็นด้วย

ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ทางราชการหรือไม่ ? พระราชบัญญัติความรับผิด ทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.. ๒๕๓๙ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง วางหลักการสำคัญไว้ว่า หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐได้ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และการเรียกค่าสินไหมทดแทนจะต้องคำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณี และความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดำเนินงานส่วนรวมประกอบด้วยดังนั้น พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีถือเป็นการกระทาโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ ?

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า จากบทบัญญัติมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.. ๒๕๓๙ การกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หมายถึง การกระทำโดยมิได้เจตนา แต่เป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้อง มีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่ไม่ได้ใช้อย่างเพียงพอ โดยมีลักษณะ ไปในทางที่บุคคลนั้นได้กระทำไปโดยขาดความระมัดระวังที่เบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับ การกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เมื่อพิจารณาจากสภาพแวดล้อมในช่วงเวลาการเกิดอุบัติเหตุอันเป็นเวลากลางคืน มีฝนตก ถนนเปียกและไม่มีแสงสว่าง ประกอบกับมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์วิ่งสวนทางบนไหล่ทางแล้วขับตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด การที่ผู้ฟ้องคดีเหยียบห้ามล้อและหักหลบรถจักรยานยนต์ เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกคันที่จอดอยู่ จึงเป็น การกระทำโดยประมาทเลินเล่อที่ปราศจากความระมัดระวังที่บุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์

แต่การที่มีรถจักรยานยนต์วิ่งสวนมาบนไหล่ทางและขับตัดหน้ารถยนต์ที่ผู้ฟ้องคดีขับสวนมา ในระยะกระชั้นชิด ย่อมอยู่ในวิสัยและพฤติการณ์ที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องใช้ความระมัดระวังเฉกเช่นคนขับรถที่ดีในการ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยการห้ามล้อให้รถหยุดหรือช้าลงเพื่อลดความรุนแรงลงหรือให้พ้นจากอุบัติเหตุ การที่ผู้ฟ้องคดี ห้ามล้อและหักหลบรถจักรยานยนต์ที่มีบุคคลภายนอกขับขี่ผิดช่องทางเดินรถและตัดหน้ารถยนต์คันที่ผู้ฟ้องคดีขับ อย่างกะทันหัน เป็นเหตุการณ์ตามปกติที่ผู้ขับขี่รถยนต์ที่ดีพึงต้องกระทำ

ฉะนั้น จึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อที่เบี่ยงเบนไปจากมาตรฐาน ที่บุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ อันจะถือเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทางราชการ

พิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายแก่ทางราชการ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ. ๗๑๖/๒๕๕๔) คดีนี้นอกจากจะเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีสาหรับหน่วยงานของรัฐทั่วไปในการออกคำสั่ง ให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องจากการกระทำละเมิดว่า จะต้องเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรงเท่านั้น ส่วนอย่างไรเรียกว่าร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงให้พิจารณาโดยเปรียบเทียบภาวะวิสัยและพฤติการณ์ ของผู้กระทำละเมิดกับบุคคลอื่นในภาวะวิสัยและพฤติการณ์เช่นเดียวกันนั้นว่าเบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานที่บุคคล ในภาวะเช่นเดียวกันนั้นต้องปฏิบัติหรือไม่ และถือเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้รับมอบหมายให้ ครอบครองหรือขับขี่ยานพาหนะของทางราชการหรือใช้รถยนต์ของทางราชการว่า แม้ในทางกฎหมายจะต้องใช้ ความระมัดระวังในระดับเดียวกับวิญญูชนพึงปฏิบัติก็ตาม แต่ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่าปกติ ธรรมดา เนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือ ไม่ร้ายแรง ย่อมนำมาซึ่งความสูญเสียหรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการไม่มากก็น้อย และผู้กระทำละเมิดอาจต้องรับผิดในทางอาญาหากการเกิดอุบัติเหตุนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่นด้วย